ในขณะที่สื่อต่างประเทศทั่วโลกกำลังจดจ่ออยู่กับวิกฤตในยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวของประเทศแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ อย่างศรีลังกากำลังได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น จากการออกมาประท้วงตามท้องถนนของประชาชนภายในประเทศที่วันนี้กำลังลุกลามบานปลาย จนรัฐบาลต้องส่งกำลังทหารออกมาควบคุมฝูงชน
คำถามที่เกิดขึ้นคือ อะไรทำให้ประชาชนศรีลังกาพากันออกมาประท้วงรัฐบาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลชุดเดียวกันนี้ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างถล่มทลายจากประชาชนในการเลือกตั้งก่อนหน้านี้
สถานการณ์ที่กลับหัวกลับหางเช่นนี้ของศรีลังกานั้นเป็นผลสำคัญมาจากปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศที่นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 เป็นต้นมา ราคาอาหารและสิ่งของจำเป็นก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบ
ยิ่งไปกว่านั้นการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจำเป็นหลายชนิดจากภายนอกทั้งอาหาร พลังงาน และยา ส่งผลให้ค่าเงินของศรีลังกาตกลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เมื่อทั้งสองปัจจัยผนวกกันวิกฤตการณ์ในศรีลังกาจึงรุนแรงมากยิ่งขึ้น และนำมาสู่การประท้วงของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ถึงขนาดที่ว่าการสอบของนักเรียนต้องยกเลิกเนื่องจากขาดแคลนกระดาษ
น่าสนใจว่าประเทศแห่งนี้ที่กำลังเผชิญวิกฤตอยู่ในตอนนี้นั้น นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2491 และผ่านเหตุการณ์สงครามกลางเมืองภายในประเทศมากกว่า 26 ปี หลังสิ้นสุดทุกปัญหาในปี 2549 รัฐบาลหลายชุดก็ได้ผลักดันการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง
ศรีลังกากลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งเอเชียใต้ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตัวเลข GDP แต่ละปีพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลข GDP ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นจาก 1,436 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2549 เป็น 3,819 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าของประเทศอย่างยูเครน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเสียอีก
ความสำเร็จในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาส่งผลให้ศรีลังกาสามารถผลักประชากรของตัวเองกว่า 1.6 ล้านคนออกจากความยากจน หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 8.5 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างมากอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2562 ศรีลังกายังได้รับการยกระดับทางเศรษฐกิจจากธนาคารโลกให้ไปอยู่ในกลุ่มประเทศ “รายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle-income)” ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับประเทศไทย
แน่นอนว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจของศรีลังกาในครั้งนี้มาพร้อมกับต้นทุนจำนวนมหาศาลที่กลายเป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจของประเทศในเวลานี้ เพราะศรีลังกาต้องกู้เงินจากภายนอกประเทศจำนวนมากมาพัฒนาประเทศ ส่งผลให้ระหว่างปี 2549 ถึง 2555 หนี้สาธารณะต่อGDP ของประเทศเพิ่มสูงถึงร้อยละ 119
แม้รัฐบาลหลายชุดจะพยายามหยุดการกู้ยืมจากภายนอกประเทศ แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะกลับไม่มีแนวโน้มลดลง
จุดพลิกผันสำคัญของเศรษฐกิจศรีลังกานั้นเกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ระบาด ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากหายไปจากประเทศ ทำให้รายได้กว่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหายไปในชั่วพริบตา ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนรัฐบาลได้ลดหย่อนการเก็บภาษีซึ่งส่งผลให้รายได้ในคลังหายไปเป็นจำนวนมาก
ผนวกกับยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนคิดเป็นกว่าร้อยละ 72 ของจำนวนรายได้ของรัฐบาลที่จัดเก็บในปี 2563 สถานการณ์นี้เลวร้ายมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2564 เมื่อรัฐบาลเริ่มมาตรการจำกัดการนำเข้าและส่งออกสินค้า ส่งผลให้กระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
และปัจจัยสุดท้ายที่กลายเป็นแรงกระทุ้งการประท้วงของประชาชนคือปัญหาวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลให้ราคาข้าวสาลี และพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างมากทั่วโลก ซึ่งสำหรับศรีลังกานี่คือหายนะ เพราะก่อนหน้านี้ราคาสินค้าเหล่านี้ก็สูงมากอยู่แล้ว และมีไม่เพียงพอต่อความต้องการเสียด้วย
และนี่ก็คือเรื่องราวทั้งหมดที่พอจะสรุปได้เกี่ยวกับวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาในเวลานี้ ที่ประชาชนออกมาเดินประท้วงขับไล่รัฐบาล จนสุดท้ายรัฐมนตรีหลายคนตัดสินใจลาออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อลดความไม่พอใจของประชาชน