เมื่อปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้เกิดข่าวเศร้าติดต่อกันสำหรับคอการ์ตูนมังงะและแอนิเมชันในยุค 90 ด้วยการสูญเสีย 2 บุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ให้ความสุขกับเด็ก ๆ ในยุคสมัยนั้น และหลาย ๆ คนน่าจะเติบโตมาเป็นเด็กหนวดในยุคสมัยนี้พร้อมกับผลงานของทั้ง 2 ท่าน คนแรกคือนักพากย์อาวุโสชาวไทย “คุณไกวัล วัฒนไกร” หรือ น้าไก เจ้าของเสียงพากย์ไทยของตัวการ์ตูนมากมาย ชนิดที่ว่าถ้านึกถึงเสียงพากย์ไทยของเบจิต้าและผู้เฒ่าเต่าจากเรื่อง Dragon Ball โรโรโนอา โซโล จาก One Piece หรือจะเป็นสารวัตรเมงุเระจากยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ต้องนึกถึงเสียงของน้าไกเป็นคนแรก ส่วนอีกท่านหนึ่งนั้นคือนักเขียนการ์ตูนมังงะระดับตำนาน “อาจารย์คาซุกิ ทาคาฮาชิ” ผู้เขียนเรื่อง “Yu-Gi-Oh!” หรือ “เกมกลคนอัจฉริยะ” (ชื่อแปลไทยฉบับของสยามอินเตอร์คอมิกส์) การ์ตูนต้นตำรับที่ให้กำเนิด Yu-Gi-Oh! Trading Card Game ซึ่งถือเป็นแบรนด์การ์ดเกมที่ได้รับความนิยมระดับโลก
เริ่มจาก ไกวัล วัฒนไกร นักพากย์ผู้มีพื้นเพอยู่ที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี น้าไกเริ่มต้นเข้าสู่วงการนักพากย์ด้วยการฝึกพากย์หนังกลางแปลงของวัฒนไกรภาพยนตร์ซึ่งเป็นธุรกิจทางบ้าน จากนั้นจึงได้สั่งสมประสบการณ์พากย์หนังต่างประเทศ หนังจีน จนกระทั่งได้เข้ามาพากย์ในสายงานการ์ตูนแอนิเมชันให้กับ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในปี 2529 และยังเป็นนักพากย์ประจำของบริษัทวิดีโอสแควร์ ซึ่งในช่วงแรกนั้น น้าไกจะได้รับบทของตัวละครสมทบ ก่อนที่จะได้พากย์เป็นตัวละครเอกในภายหลัง แต่เอกลักษณ์ที่ผู้ชมจะจดจำเสียงของน้าไกได้คือการใส่สำเนียงสุพรรณลงไปในตัวละครที่พากย์ ทำให้มุกตลกของตัวการ์ตูนญี่ปุ่นเข้าใจได้ง่ายขึ้นในฉบับเสียงไทย เช่นตัวละครซูเปอร์แมนจู๋จาก ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ เป็นต้น
สำหรับตัวละครเบจิต้าที่น้าไกเป็นผู้พากย์ มักจะเป็นภาพจำที่มาคู่กับ “น้าต๋อย เซมเบ้” (นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์) นักพากย์ระดับตำนานของช่อง 9 อ.ส.ม.ท. อีกท่านที่ให้เสียงตัวละครโกคู เนื่องจากตัวละครทั้ง 2 ตัวนี้นับว่าเป็นตัวเอกของซีรี่ส์ Dragon Ball เหมือนกัน ทำให้ทั้ง 2 ท่านมีความสนิทสนมจากการร่วมงานกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งในวันที่น้าไกเสียชีวิตจากอาการตับวายเมื่อ 28 มิถุนายน 2565 ด้วยวัย 71 ปี น้าต๋อยได้กล่าวไว้อาลัยเอาไว้ในโพสต์จาก Facebook “น้าต๋อยเซมเบ้ FanPage” ที่อธิบายถึงตัวตนของน้าไกและประสบการณ์ที่มีร่วมกันเอาไว้ว่า
“น้าไกวัลมักจะพูดอย่างถ่อมตนเสมอว่า แกเป็นแค่นักพากย์การ์ตูนธรรมดาคนนึง ไม่ได้โด่งดังอะไร คงไม่มีใครจำแกได้หรอก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมเชื่อว่าไม่มีใครคิดแบบนั้นนะ แกคือนักพากย์ที่มากไปด้วยความสามารถและเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำเนียงสุพรรณต้นตำหรับของแก มันยากที่จะมีใครเหมือนจริง ๆ สำหรับพวกเราแล้วแกถือเป็นสุดยอด ถือเป็นตำนานคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ครับ ถ้านับจริง ๆ แล้วน้าไกแกพากย์การ์ตูนมามากกว่าผมอีกนะครับ ผมยังมีช่วงหยุดบ้าง แต่แกไม่เคยหยุดเลย การพากย์และการ์ตูนเปรียบเสมือนลมหายใจของแกจริง ๆ”
ภายหลังจากที่วงการนักพากย์การ์ตูนไทยสูญเสีย ไกวัล วัฒนไกร เพียงไม่นาน วงการการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นก็ได้สูญเสีย คาซุกิ ทาคาฮาชิ ในวัย 60 ปี ซึ่งทางตำรวจพบร่างของเขาบริเวณชายฝั่งเมืองนาโงะ จังหวัดโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับชุดอุปกรณ์ดำน้ำ โดยคาดว่าเกิดจากอุบัติเหตุ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565
คาซุกิ ทาคาฮาชิ โด่งดังจากการเป็นทั้งผู้แต่งเรื่องและวาดภาพประกอบมังงะ Yu-Gi-Oh! เกมกลคนอัจฉริยะ ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ลงในนิตยสารการ์ตูน Shonen Jump ของสำนักพิมพ์ Shuesha ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 และอวสานลงในวันที่ 8 มีนาคม 2547 มีฉบับรวมเล่มทั้งหมด 38 เล่ม และยังถูกสร้างเป็นแอนิเมชันถึง 2 ครั้งคือ “เกมกลคนอัจฉริยะ” (2541) โดยบริษัท Toei Animation และครั้งที่ 2 คือ “Yu-Gi-Oh! Duel Monsters” (2543-2547) ซึ่งนับว่าเป็นผลงานที่อาจารย์ทาคาฮาชิประสบความสำเร็จที่สุด
Yu-Gi-Oh! เป็นเรื่องราวของ “มุโต้ ยูกิ” เด็กหนุ่มที่ชื่นชอบการเล่นเกมและได้รับพลังของฟาโรห์ไร้นามจากการต่อตัวต่อปริศนาพันปีได้สำเร็จ ทำให้ต้องพบกับการผจญภัยด้วยการเล่นเกมกับศัตรูต่าง ๆ ที่มีเรื่องราวสนุกสนานและแฟนตาซี แต่เกมจากในมังงะเรื่องนี้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือการ์ดเกม “Magic & Wizards” หรือชื่อ “Duel Monsters” (ชื่อเรียกในแอนิเมชัน) เป็นการ์ดเกมที่มีภาพของเหล่ามอนสเตอร์ที่อาจารย์วาดเอาไว้ในเรื่องด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงรูปแบบกติกาที่เล่นแล้วเข้าใจง่าย (ในสมัยยุคแรก ๆ) ทำให้ถูกผลิตออกมาเป็นการ์ดเกมจริง ๆ โดยบริษัท Konami จากนั้นจึงได้รับความนิยมจากแฟนการ์ตูนและนักเล่นการ์ดไปทั่วโลก
ด้วยความที่มังงะที่อาจารย์ทาคาฮาชิเป็นผู้เขียนจบลงไปแล้ว แต่ความนิยมของตัวซีรี่ส์ Yu-Gi-Oh! และการ์ดเกมยังคงอยู่ จึงมีการสร้างทั้งแอนิเมชันและมังงะภาคต่อของ Yu-Gi-Oh! ตามมาอีกหลายต่อหลายภาคจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการ์ดเกมที่มีการออกแบบการ์ดใหม่ ๆ ของทาง Konami ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงแม้ว่าผู้เขียนมังงะภาคต่อเหล่านั้นจะเป็นลูกศิษย์หรืออดีตผู้ช่วยของอาจารย์ และการ์ดหลายใบก็ไม่ได้ถูกออกแบบภาพประกอบโดยตัวอาจารย์เอง แต่อาจารย์ทาคาฮาชิจะต้องเป็นผู้อนุมัติขั้นสุดท้ายสำหรับการดีไซน์ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์ Yu-Gi-Oh! คาซุกิ ทาคาฮาชิ จึงถือเป็นผู้สร้างการ์ตูนและการ์ดเกมระดับตำนานอย่างแท้จริง ซึ่งอาจารย์ทาคาฮาชิเคยเขียนข้อความถึงแฟน ๆ ในรวมเล่ม Yu-Gi-Oh! ตอนที่ตีพิมพ์ได้ครบ 2 ปีเอาไว้ว่า
“มังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์มาได้ 2 ปีกว่าแล้วครับ ถึงจะมีการ์ดมีแผ่นเกมออกมามากมาย แต่ผมที่ต้องนั่งอยู่บนโต๊ะตลอดเวลา คงไม่สามารถไปดูทุกคนเล่นได้ ผมล่ะอยากจะไปดูทุกคนเล่นจังเลยครับ ถ้าหากว่าคุณสามารถหาเพื่อนเพิ่มขึ้นได้สักคนจากยูกิโอเหมือนกัน ผมคิดว่าผมคิดถูกจริง ๆ ครับที่ได้เขียนมังงะ นั่นเป็นสิ่งที่ผมดีใจที่สุดเลย”
จุดร่วมของตำนานทั้ง 2 ท่านนี้ก็คือ น้าไกนั้นเป็นผู้พากย์เสียงให้กับ “ไคบะ เซโตะ” ตัวละครคู่ปรับของยูกิใน Yu-Gi-Oh! Duel Monsters ฉบับพากย์ไทยที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทไทก้า ซึ่งเป็นการให้เสียงที่มีทั้งความเท่และเย่อหยิ่งตามคาแรคเตอร์ของตัวละครตัวนี้ เรียกได้ว่าน้าไกนั้นเป็นผู้ให้ชีวิตกับตัวละครที่ถูกสร้างโดยอาจารย์ทาคาฮาชิคนหนึ่ง
สิ่งที่ผู้คนต่างพูดถึงเมื่อเสียทั้ง 2 ท่านนี้ไปก็คือ ความรักในการมอบความสุขให้กับเด็ก ๆ ด้วยการ์ตูน ไม่ว่าจะจากงานพากย์หรืองานเขียน เมื่อในวันที่พวกเขาจากไป เพจที่ทำ Content เกี่ยวกับการ์ตูนในประเทศไทยต่างเขียนถึง วาดภาพ โพสต์คลิปรวบรวมเสียงพากย์ ไว้อาลัยให้กับ ไกรวัล วัฒนไกร หรือในกรณีของตัวอาจารย์ทาคาฮาชิ ทั้งแฟนการ์ตูนและผู้เล่นการ์ดเกม Yu-Gi-Oh! ทั่วโลกก็ได้ผุดแคมเปญเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เป็นการ์ดที่ตนชื่นชอบ เพื่อเป็นการระลึกถึง
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของสังคม กลุ่มคนที่มีแนวคิดว่าการ์ตูนและเกมคือสิ่งไร้สาระนั้นก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะเหล่าผู้ปกครองที่ไม่ชอบให้ลูกหลานเสียเวลาในการอ่านการ์ตูนแทนที่จะเป็นหนังสือเรียน และบางรายอาจจะถึงขั้นไม่ให้เด็ก ๆ ได้เสพสื่อเหล่านี้เลย หรือแม้กระทั่งในกลุ่มคนวัยทำงานที่ยังคงชอบดูแอนิเมชัน ชอบอ่าน หรือสะสมของเล่นจากการ์ตูนที่ตนรัก กลับถูกมองว่าเป็นพวกเด็กไม่รู้จักโต
แต่ถ้าหากว่าคนที่มีแนวคิดต่อต้านได้เปิดใจรับรู้ในด้านดี ๆ ของสื่อเหล่านี้บ้าง เราจะพบว่าการเรียนรู้ที่เด็กได้รับจากการ์ตูนหรือเกมก็มี…มิได้น้อยไปกว่าสารานุกรมที่ผู้ปกครองเหล่านั้นอยากให้ลูกหลานอ่าน
ศาสตราจารย์ ยูอิจิ ฮิงูชิ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทามะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เคยออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการของเด็กและการ์ตูนเอาไว้ว่า “การที่เด็กนั้นอ่านการ์ตูนซ้ำไปซ้ำมานั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการเรียนรู้ทักษะด้านภาษา ด้วยความที่เขาอยากจะเข้าใจเนื้อเรื่อง ทำให้เขาพยายามเรียนรู้และเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของคำและประโยคซึ่งอยู่ในการ์ตูน โดยการเปรียบเทียบกับภาพวาดที่ประกอบคำพูด ซึ่งถ้าเป็นหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือล้วน ๆ จะทำให้เข้าใจความหมายของคำและประโยคอย่างกระจ่างได้”
จากบทความนี้ของศาสตราจารย์ ยูอิจิ ฮิงูชิ น่าจะสื่อให้เห็นได้ว่า ถ้าหากเด็กอ่านเนื้อความที่มีแต่ตัวหนังสือ ความหมายที่เขียนเอาไว้ชัดเจนก็จะบอกเด็กไปในตัวอยู่แล้ว แต่เมื่อได้อ่านบทพูดในการ์ตูนควบคู่กับการดูภาพประกอบ เขาจะเห็นอารมณ์ความรู้สึกที่แสดงออกมาร่วมกับสีหน้าท่าทางของตัวละครนั้นด้วย ทำให้สามารถเปรียบเทียบกับอารมณ์ของมนุษย์ที่เขาเห็นในความเป็นจริงได้ง่ายขึ้น และการได้ติดตามจนอยากจะรู้เรื่องราวต่อไป คาดเดาเนื้อเรื่องล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นไปตามที่คิดไว้หรือไม่ นั่นก็เป็นสิ่งที่ส่งเสริมทักษะในการคิดวิเคราะห์และจินตนาการของตัวเด็กด้วย
การ์ตูนยังสามารถเป็นแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพได้ เช่นถ้าหากว่าเป็นสายที่ชอบดูแอนิเมชัน เด็กเหล่านั้นอาจจะอยากโตขึ้นไปเป็นนักพากย์แบบน้าไก หรือถ้ามีความสามารถในการเขียนภาพ เด็กเหล่านั้นจะสามารถไปได้ทั้งสายงานนักเขียนการ์ตูนแบบอาจารย์ทาคาฮาชิ หรือ Amimator ที่เป็นผู้สร้างแอนิเมชัน ต่อยอดไปสู่อาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อีกหลากหลาย แม้แต่การเล่นเกมก็เช่นกัน มีเกมหลายเกมที่ไม่ได้บู๊ล้างผลาญ แต่ยังต้องใช้สมองในการคิด เช่นการ์ดเกม บอร์ดเกม หรือเกมไขปริศนาต่าง ๆ จนกระทั่งในปัจจุบันพัฒนาไปสู่การเป็น E-Sport (กีฬาอิเล็กทรอนิกส์) ที่มีการจัดแข่งขันร่วมกันทั้งในระดับประเทศหรือระดับโลกมากมาย เกิดเป็น Community ที่ทำให้ผู้เล่นได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
อิทธิพลที่เด็กไทยได้รับจากการ์ตูนญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ตีกรอบว่าพวกเขาจะมีความฝันในอาชีพสายการ์ตูนเสมอไป มันเปรียบเสมือนเป็นประตูด่านแรกให้เราได้ไปรู้จักกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เช่นในปัจจุบันที่คนไทยนิยมดูแอนิเมชันที่เป็นเสียงญี่ปุ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ไม่ชอบเสียงพากย์ไทยหรืออยากเรียนรู้ภาษา นั่นก็สามารถนำไปสู่การสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจัง จนอาจจะได้ใช้ในการเป็นล่ามหรือเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นได้
อีกทั้งจะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมด้านบันเทิงของญี่ปุ่นยังเข้ามาสร้างตลาดในประเทศไทยมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือวงไอดอลสาว BNK48 ที่รับรูปแบบการนำเสนอของวงมาจาก AKB48 ทั้งหมด วัฒนธรรมการแต่งชุดคอสเพลย์เลียนแบบตัวการ์ตูน แม้กระทั่งนักวาดการ์ตูนชาวไทยก็ยังคงใช้ลายเส้นและรูปแบบการ์ตูนช่องของมังงะญี่ปุ่นอยู่ ซึ่งถ้ามองในแง่ของ Soft Power การ์ตูนอาจจะนับว่าเป็นสุดยอดสื่อในการเผยแพร่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นก็ว่าได้
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าสังคมจะมองการ์ตูนและเกมในด้านดีหรือร้ายต่อเด็ก แต่สิ่งที่ ไกวัล วัฒนไกร และ คาซุกิ ทาคาฮาชิ แสดงออกมาคือความตั้งใจในผลงานที่ทำ และอยากให้เด็ก ๆ ได้รับความสุขผ่านทางเสียงพากย์ ผ่านทางลายเส้นนั้น ความประทับใจที่ผู้เสพสื่อได้รับจึงไม่ใช่แค่ตัวการ์ตูนที่เห็นในจอหรือบนหน้ากระดาษ เมื่อสามารถทำให้การ์ตูนเรื่องนั้นสนุกได้ แต่ยังมีความประทับใจชื่นชมในความอุตสาหะอดทน บากบั่น อัจฉริยภาพ ตลอดจนความรักในงานของทั้งสองท่าน..ผู้คนจจึงเสาะแสวงหาผู้สร้างที่อยู่เบื้องหลังผลงานนั้นเสมอ
น้าไกจึงไม่ใช่แค่นักพากย์ธรรมดาที่โลกไม่จำอย่างที่ตนเข้าใจ หรือการตั้งใจกับงานวาดการ์ตูนจนไม่ได้ไปร่วมพบปะแฟนคลับ ……นั่นจึงทำให้เกิดผลงานที่ไม่ว่าตัวอาจารย์จะอยู่ที่ไหน ชื่อของ คาซุกิ ทาคาฮาชิ ก็จะยังมีคนจดจำอยู่…. วงการการ์ตูนจึงถือว่าได้สูญเสียศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ดีไปถึง 2 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน และต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของทั้ง 2 ท่าน รวมถึงขอบคุณมากที่สร้างความสุขให้กับเด็ก ๆ ผู้รักการ์ตูนมาอย่างยาวนาน ณ ที่นี้
อ้างอิง
https://www.facebook.com/photo/?fbid=3072557899627531&set=gm.742816173630558
https://www.facebook.com/photo/?fbid=10166270845620562&set=gm.742357240343118
https://thestandard.co/kazuki-takahashi-passed-away-at-the-age-60-years-old/
https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3424083
https://www.facebook.com/natoisembe/photos/a.921229577951153/7489224711151574/
http://thainannyclub.com/article/view.php?id=1239
https://webboard.sanook.com/forum/?topic=4505110
ขอบคุณภาพประกอบจาก
https://www.imdb.com/name/nm1444457/
https://www.posttoday.com/social/general/577127