สถิติเชิงปริมาณที่ยืนยืนความสำคัญของกรณีการเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎร คือการที่เครื่องบิน Boeing C-40C ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลำที่แนนซี เพโลซี นั่งจากมาเลเซียไปไต้หวันเมื่อ 2 สิงหาคม 2565 มีผู้ติดตามสถานะการบินผ่านเว็บไซต์ Flightradar24 ประมาณ 2.92 ล้านคน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเว็บไซต์ที่ว่าที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปติดตามสถานะการบินของเครื่องบินทุกลำในโลกตั้งแต่ปี 2549
การที่มีคนสนใจเข้าไปติดตามมาก คงเพราะความไม่ชัดเจนว่าเพโลซีจะเยือนไต้หวันจริงหรือไม่ หลังจากที่ประกาศว่าจะเยือนแล้วมีเสียงตอบกลับจากฝั่งจีนอย่างดุดันว่าถ้าทำจริง ๆ จีนจะโต้ตอบ รวมไปถึงคำขู่จากสื่อมวลชนสายชาตินิยมของทางการจีนที่ว่าจะยิงเครื่องบินของเพโลซี นอกจากนั้น กำหนดการเยือนเอเชียอย่างเป็นทางการที่ประกาศออกมา ก็มีเพียงชื่อเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยไม่มีชื่อไต้หวันเป็นปลายทาง ทำให้ผู้ติดตามข่าวต้องมาลุ้นกันหน้างาน (และลุ้นสด ๆ ผ่าน Flighradar24) ว่าเพโลซีจะเยือนไต้หวันจริงหรือไม่
เสียงตอบรับของการเยือนจากฝั่งจีนก็ไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย จีนอาจไม่ได้ยิงเครื่องบินจริงตามที่สื่อขู่ แต่ก็ประณามอย่างรุนแรง และใช้มาตรการทางทหารตอบโต้ด้วยการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวัน ที่น่าสนใจในอีกมุมหนึ่งคือเสียงตอบรับจากสาธารณชนอเมริกัน ต้องเท้าความกันก่อนว่าแนนซี เพโลซี ไม่ใช่นักการเมืองที่ชาวอเมริกันนิยมชมชอบสักเท่าไหร่ ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนัก YouGov เมื่อพฤษภาคม 2565 บอกว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 37 ที่ชื่นชอบเพโลซี ขณะที่ร้อยละ 49 บอกว่าไม่ชอบเพโลซี
แนนซี เพโลซี อายุ 82 ปี ชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส.พรรคเดโมแครต จากรัฐแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ปี 2530 และไม่เคยแพ้การเลือกตั้งเลยนับจากนั้นมา เพโลซีเป็นที่รักของประชาชนในเขตเลือกตั้ง ดูได้จากผลการเลือกตั้งที่ชนะคู่แข่งขาดลอยตลอด แต่ถ้าว่ากันในระดับชาติ ชื่อเสียงของเพโลซีไม่ได้ดีนัก
ข้อกล่าวหาที่เพโลซีโดนโจมตีบ่อย ๆ คือสถานะทางการเงินที่ประมาณการว่ามีทรัพย์สินรวมกับสามีประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นสมาชิกสภาคองเกรสที่รวยเป็นอันดับที่ 6 ทรัพย์สินของเพโลซีส่วนใหญ่มาจากการเล่นหุ้นของสามี ที่รวยเอา ๆ เพราะลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีเติบโตเร็วอย่าง Amazon Apple Microsoft Google และ Facebook ฝ่ายตรงข้ามของเพโลซีโจมตีว่าเธอมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมาธิการของสภา ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งอาจทำให้เพโลซีเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการออกกฎเกณฑ์ที่กระทบต่อราคาหุ้น จึงชิงซื้อหรือขายได้ก่อนนักลงทุนรายอื่น ความนิยมของเพโลซียิ่งตกต่ำเมื่อเธอมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการออกกฎจำกัดการลงทุนในตลาดหุ้นของสมาชิกสภาคองเกรส เพราะ “สหรัฐฯ เป็นตลาดเสรี” ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นจุดยืนเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเองและสามี
กระแสโจมตีต่อตัวเพโลซีมาจากทั้งฐานเสียงฝ่ายตรงข้ามคือพรรครีพับลิกันและจากพรรคเดโมแครตของเธอเอง แต่การเยือนไต้หวันในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรในเที่ยวนี้ เสียงตอบรับจากประชาชนอเมริกันออกมาในเชิงบวกจากทั้งสองฝ่าย ทั้งที่สังคมสหรัฐฯ อยู่ในช่วงแตกแยกอย่างรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายเป็นฝ่ายซ้าย (เดโมแครต) และฝ่ายขวา (รีพับลิกัน) รวมทั้งเกลียดชังกันด้วยประเด็นอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมที่ทั้งสองฝ่ายยืนอยู่คนละข้างในหลายประเด็น เช่น สีผิว อาวุธปืน การทำแท้ง ผู้อพยพ สวัสดิการ และ LGBT
การต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นประเด็นที่นักการเมืองสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน และประชาชนสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายก็เห็นด้วยเหมือนกัน นโยบายแข็งกร้าวต่อจีนของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่นโยบายที่ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ไม่ได้รื้อทิ้ง ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเพโลซีเองก็มีจุดยืนชัดเจนตลอดชีวิตทางการเมืองของเธอว่าไม่เอาพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเพโลซีเคยไปยืนถือป้ายผ้าประณามเหตุการณ์เทียนอันเหมินถึงสถานที่จริงเมื่อปี 2534 ที่เธอยังเป็นเพียง ส.ส.หน้าใหม่
ความน่าตื่นเต้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงคนแรกของสหรัฐฯ ที่เยือนไต้หวันในรอบ 25 ปี กระทู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเยือนไต้หวันของเพโลซีบนเว็บไซต์ Reddit (เว็บบอร์ดของชาวอเมริกัน คล้าย ๆ Pantip ของบ้านเรา) จึงมีประชาชนเข้าไปคอมเมนท์มากมายทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา เสียงส่วนใหญ่ออกมาเชิงบวก สนับสนุนการเยือนของเพโลซี แต่สถานะเชิงลบของเธอก็ทำให้เสียงแซะยังปะปน โดยเฉพาะในห้องย่อย r/conservative ที่เป็นห้องสนทนาของชาวอเมริกันฝ่ายขวา ฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน
“จากคนที่เกลียดเพโลซี, บอกเลยว่านี่คือการกระทำที่เท่มาก”
“นี่คือสิ่งแรกเลยนะที่เพโลซีทำแล้วผมชอบ”
“เกลียดพรรคคอมมิวนิสต์จีน, เพื่อนผมทุกคนก็เกลียด บอกไปเลยว่าคำขู่ทั้งหลายของจีนล้วนเหลวไหล และแสดงความแข็งแกร่งสหรัฐฯ ให้เห็นไปเลย”
“เพโลซีเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ เป็นมนุษย์หิวเงิน เป็นขี้ขโมยระดับสูงสุด แต่ถ้าเธอไปไต้หวันจริง ๆ ผมก็มีความเคารพเธอขึ้นมาเล็กน้อย”
“ผมเกลียดเธอมาก แต่ถ้าจีนแตะตัวเธอ ผมจะกรีดร้องเลยนะ ผมเกลียดพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากกว่า ไม่คาดคิดเลยว่าผมจะพูดอะไรแบบนี้ เอาเลยเพโลซี จัดการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเลย”
“ผมเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม และผมสนับสนุนการเยือนมาก ๆ เลย เราต้องเห็นตรงกันว่าเราจะไม่ยอมให้จีนมาบอกว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้”
“สหรัฐฯ ก็เหมือนครอบครัวใหญ่ เราตีกันเอง แต่ถ้ามีคนนอกครอบครัวมายุ่งกับเราเมื่อไหร่ เราจะสามัคคีตีมันราบคาบในไม่กี่นาที”
“สหรัฐฯ จะแสดงออกว่ากลัวจีนไม่ได้ การไปไต้หวันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เราต้องแสดงให้พันธมิตรเห็นว่าเราสนับสนุน และทำให้โลกเห็นว่าเราไม่กลัวใคร ถ้าเพโลซีไปไต้หวัน ผมก็ให้เครดิตเธอ”
“ผมเกลียดเพโลซี แต่เธอเป็นชาวอเมริกัน และเป็นผู้แทนของชาวอเมริกัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะทำให้ตัวเองพินาศ ถ้าคิดว่าจะทำร้ายประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ แม้ว่าประธานสภาฯ คนที่ว่าจะห่วยแค่ไหนก็ตามทีเถอะ”
“เกลียดเพโลซี และยังอยากให้เธอพ้นจากตำแหน่ง แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเธอได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้างแล้ว ทำดีก็ต้องชื่นชม”
“เราด่าเพโลซีได้ เพราะเธอคือคนของเรา แต่จีนจะมาทำอะไรเธอไม่ได้”
“หลังจากทำร้ายประเทศชาติมาหลายทศวรรษ ในที่สุดเพโลซีก็ทำตัวเป็นประโยชน์แล้ว”
“ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาแบ่งแยกกันจนเริ่มพูดถึงการทำสงครามกลางเมืองแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาเห็นตรงกัน คือจีนห่วยแตก”
บริบททางการเมืองระหว่างประเทศที่การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงจนเริ่มขยายตัวจนกลายเป็นการใช้กำลังทหาร (กรณีสงครามยูเครน) ทำให้โลกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา การขยับตัวของตัวแสดงทุกระดับจึงมีความหมาย ถูกติดตามและตีความว่าจะเป็นเหตุผลที่ว่าหรือไม่ แสงจากทั่วโลกจึงส่องหาแนนซี เพโลซี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขยับสถานะทางการเมืองระหว่างประเทศของเธอขึ้นไปอีกระดับ และปรับสถานะทางการเมืองภายในประเทศที่เคยย่ำแย่ให้ดีขึ้นจากการเป็นแนวหน้าที่ออกไปท้าทายศัตรูร่วมกันของคนทั้งชาติ