ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมของทุกปีนั้นจะมีอยู่ 2 วันที่มีความน่าสนใจ วันแรกคือวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งถูกกำหนดให้เป็น “วันแมวสากล” โดยกองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิการสัตว์ (International Fund for Animal Welfare) เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เพื่อต้องการรณรงค์ให้เหล่าทาสแมวทั้งหลายได้ตระหนักถึงการช่วยเหลือพิทักษ์แมว แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้าวันแมวสากล 1 วัน นั่นคือวันที่ 7 สิงหาคม วันนี้ถูกกำหนดให้เป็นวันเกิดของ 1 ในตัวการ์ตูนญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าโด่งดังในระดับสากลอีกตัว เด็กชายคนนี้เขาไม่ได้เป็นทาสแมว ทว่าเขากลับใช้งานแมว (หุ่นยนต์) เยี่ยงทาสแทน นั่นคือ “โนบิ โนบิตะ” ตัวละครเอกจาก “Doraemon” เด็กที่อาจเรียกได้ว่าไม่เอาไหนที่สุดในประวัติศาสตร์การ์ตูนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ซึ่งเพราะเหตุนี้แหละที่ทำให้เพื่อนซี้อย่างโดราเอมอนต้องยอมตามใจช่วยเหลือด้วยของวิเศษอยู่ทุกครั้ง
ด้วยอายุของซีรี่ส์ Doraemon ที่ยาวนานถึง 50 กว่าปีแล้ว charactersหลักของการ์ตูนเรื่องนี้นอกเหนือจากโดราเอมอนและโนบิตะ หลาย ๆ ท่านคงจะรู้จักนิสัยใจคอกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของเด็กสาวในอุดมคติ สวย เก่ง เรียบร้อยอย่าง “ชิซุกะ” เด็กหัวโจกบ้าพลังอย่าง “ไจแอนท์” หรือลูกคุณหนูขี้โม้อวดรวยอย่าง “ซึเนโอะ” และเมื่อได้ลองสังเกตการวางลักษณะนิสัยของตัวละครกลุ่มนี้ มันคือการจำลองภาพของเด็กแบบต่าง ๆ ให้มาอยู่รวมกัน เด็กที่ถูกปลูกฝังเลี้ยงดูจากครอบครัวมาคนละแบบ ซึ่งล้วนเป็นเด็กที่พบได้ในความเป็นจริง และถูกนำมาทำให้เด่นชัดขึ้นผ่านการนำเสนอในการ์ตูน โดยเด็กรูปแบบหนึ่งที่โดดเด่นนั่นคือ “เด็กที่โดนกลั่นแกล้ง” และคนที่มาแบกรับcharacterนี้ตลอดเวลา 50 กว่าปีก็คือตัวโนบิตะนั่นเอง
บุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของโนบิตะมากที่สุดก็คือ “ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ” 1 ใน 2 ผู้แต่งการ์ตูนเรื่องนี้ร่วมกับ “อาบิโกะ โมโตโอะ” (ใช้นามปากการ่วมกันว่า “ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ”) ซึ่งอาจารย์ฟูจิโมโตะเคยเปิดเผยว่าในสมัยเด็กเขามีบางส่วนคล้ายกับโนบิตะ นั่นคือถูกเพื่อนที่ตัวโตกว่ากลั่นแกล้ง ไม่ต่างจากโนบิตะที่ถูกไจแอนท์รังแก แต่วิธีที่อาจารย์ฟูจิโมโตะใช้เอาตัวรอดก็คือวาดรูปการ์ตูนให้กับเด็กคนนั้น จุดนี้เองที่ต่างกัน ฟูจิโมโตะใช้ฝีมือทางศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เพื่อนยอมรับ ส่วนโนบิตะนั้นไม่มีอะไรเลย ทั้งฝีมือต่อสู้ชกต่อย การเรียน (และวาดรูปได้ห่วยแตกอีกเช่นกัน) ไม่มีความสามารถอะไรที่จะไปเอาชนะพวกบูลลี่ในทางอื่นได้เลย ยกเว้นการพึ่งพา “ของวิเศษ” จากโดราเอมอนเพื่อไปเอาคืน ซึ่งต้องยอมรับว่าถึงโนบิตะจะเป็นเด็กหัวทึบในเรื่องเรียน แต่เวลาที่ต้องการเอาของวิเศษไปล้างแค้นนั้นจะหัวไวมากเป็นพิเศษ
สาเหตุที่โดราเอมอนต้องนั่งไทม์แมชชีนจากศตวรรษที่ 22 เพื่อมาคอยช่วยเหลือโนบิตะนั้น เป็นเพราะฐานะทางการเงินในบ้านของ “โนบิ เซวาชิ” เหลนของโนบิตะนั้นฝืดเคืองมาก เพราะความไม่เอาไหนของตัวปู่ทวดอย่างโนบิตะที่เคยทำธุรกิจล้มละลาย แต่สิ่งสำคัญที่เซวาชิน่าจะต้องการอีกอย่างหนึ่งคือ การทำให้โนบิตะมีความมั่นใจในตนเอง เพราะไม่ว่าจะมีโดราเอมอนหรือไม่มี เด็กอย่างโนบิตะก็คงหนีไม่พ้นการตกเป็นเป้ารังแกอยู่แล้ว ซึ่งมันอาจจะทำให้เขากลายเป็นคนเก็บกด จมอยู่กับความเป็น Loser หรือไอ้ขี้แพ้ ส่งผลให้ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จไปด้วย และปัญหาการกลั่นแกล้งหรือที่สมัยใหม่นิยมเรียกทับศัพท์ว่าบูลลี่ (Bully) มันคือ 1 ในปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมของมนุษย์มาช้านาน
หากนับแค่เฉพาะการบูลลี่ที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย เคยมีการเปิดเผยข้อมูลจาก ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่าประเทศไทยของเรานั้นมีการบูลลี่สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น (เรียกได้ว่าเป็นอีกข้อพิสูจน์ถึงสิ่งที่สะท้อนผ่านการถูกบูลลี่ของโนบิตะได้เป็นอย่างดี) และจากการสำรวจของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เมื่อปี 2563 พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน จำนวนทั้งหมด 1,500 คน มีเด็กถึง 91.79% ที่เคยถูกบูลลี่ โดยการบูลลี่ที่พบในสังคมของโรงเรียนไทยมักจะพบได้หลัก ๆ คือ การทำร้ายร่างกายด้วยการตบหัวหรือชกต่อย ล้อเลียนบุพการี ล้อปมด้อย นินทา ให้ร้าย เสียดสีผ่านโซเชียลมีเดีย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกบูลลี่ยังส่งผลให้เด็กบางคนเกิดอาการเครียด ไม่มีสมาธิกับการเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน หรืออาจถึงขั้นกลายเป็นเด็กเก็บตัวและซึมเศร้า เลวร้ายที่สุดคืออาจไปถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย จบชีวิตตัวเองเพื่อจะไม่ต้องเจอกับสังคมเช่นนั้นอีก
Amnesty International Thailand องค์กรระดับสากลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้เคยเสนอประเด็นเกี่ยวกับการบูลลี่เอาไว้ว่า การบูลลี่นั้นจะเข้าข่ายการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในข้อใดบ้าง จึงพบว่าเข้าข่ายการละเมิดตั้งแต่ข้อที่ 1 คือ “ทุกคนเกิดมามีสิทธิเท่าเทียมกัน” มีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิ์ที่จะเลือกอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ควรถูกทำลายความเป็นมนุษย์ด้วยการทำร้ายร่างกายหรือด้วยคำพูด
ตามมาติด ๆ คือข้อที่ 2 “ทุกคนต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ” กรณีของข้อนี้จะเห็นได้ชัดจากการกีดกันคนที่มีความบกพร่องด้านร่างกาย คนที่มีบุคลิกไม่เหมือนใคร มีทัศนคติที่แตกต่าง ด้วยการทำให้เขาดูแปลกแยก อยู่ร่วมในสังคมเดียวกันไม่ได้
ต่อมาคือข้อที่ 18 “ทุกคนมีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนา” เป็นอีก 1 ข้อที่เห็นได้ชัดเจนในระดับวัยเรียน เมื่อมีนักเรียนที่ต้องเข้าแถวสวดมนต์หน้าเสาธงตอนเช้า แต่เด็กที่นับถือศาสนาอื่นอาจจะต้องยืนสงบนิ่ง หรือไม่ก็ถูกแยกออกมาเป็นอีกแถวหนึ่ง ทั้งนี้การมีหลักปฏิบัติที่ต่างกันก็อาจนำมาสู่การล้อเลียนซึ่งกันและกันได้
ข้อที่ 19 “ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” สิ่งที่เรามักพบเห็นได้ในสังคมไทยคือการไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าออกความคิดเห็น แต่เหตุจริง ๆ แล้วอาจไม่ใช่เพราะเขาเหล่านั้นอายหรือกลัว แต่เมื่อแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากบริบทสังคมเดิม ความคิดเห็นเหล่านั้นมักจะถูกตีตราว่า “ผิด” หรือ “ไม่ถูกต้อง” โดนบอยคอต โดนประณาม ถูกล่าแม่มดแบบที่พบเห็นได้บ่อยครั้งจากการ Cyberbullying บนโลกออนไลน์ ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ควรทำได้หากไม่ได้ทำให้เกิดความเกลียดชังด้วย Hate Speech หรือทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และหากจะลองคิดในทางกลับกัน คนที่ทำการบูลลี่หรือล่าแม่มดเองหรือไม่ที่ใช้ความเกลียดชัง หรือทำให้เกิดการแตกแยกเสียเอง
และข้อสุดท้ายคือข้อที่ 29 ที่สรุปใจความทุกอย่างของการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการบูลลี่คือ “ทุกคนควรเคารพสิทธิของผู้อื่น” และในจุดที่ควรระวังก็คือ เราควรใช้สิทธิและเสรีภาพของเราให้พอเหมาะ ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั่นเอง
เราคงยังไม่สามารถพูดได้ว่ามีหนทางที่จะแก้ปัญหาการบูลลี่ให้หมดไปจากโลกได้แบบเป็น 0 เพราะการบูลลี่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในวัยเด็ก ในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ก็ยังคงมีการบูลลี่กันให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ แต่ถ้าจะช่วยลดปัญหาการบูลลี่โดยเริ่มจากการปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก นั่นอาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่ทำได้ ซึ่งจากข้อมูลที่ถูกทำการรวบรวมมาโดยเว็บไซต์ Mood of the Motherhood ได้แนะนำการหาทางออกโดยครอบครัวไว้ดังนี้คือ
- พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักว่าอะไรคือการกลั่นแกล้ง ทั้งการทำร้ายร่างกาย การด่าทอ การกีดกันหรือรวมหัวกันแบน การเหยียดหยามกันด้วยความคิดเห็นทางออนไลน์
- สังเกตอาการเมื่อลูกถูกกลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะด้วยบาดแผลบนร่างกาย หรืออาการซึมเศร้า และไม่ใช่แค่สังเกตว่าเขาถูกแกล้ง แต่ยังต้องสังเกตว่าเขาเป็นผู้กลั่นแกล้งคนอื่นหรือไม่ด้วย โดยดูจากทัศนคติแง่ลบเช่น การล้อเลียนผู้อื่น ไม่เห็นใจผู้อื่น เป็นต้น
- พูดคุยอย่างเปิดใจกับลูกถึงการโดนบูลลี่ รับฟังและช่วยส่งเสริมความมั่นใจ ให้กล้าปฏิเสธหรือแยกตัวออกห่างจากคนเหล่านั้น หรือถ้าลูกเป็นฝ่ายกลั่นแกล้ง ต้องอธิบายว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือแสดงความเห็นแง่ลบ เพราะจะทำให้เด็กยิ่งไม่เปิดใจพูดคุย
- เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับบุตรหลานของท่านเอง และไม่เลี้ยงดูโดยการใช้อำนาจมากดทับเขา
- สอนทักษะการเข้าสังคมให้เด็ก การวางตัว การเข้าหาคนอื่น การเคารพในความแตกต่างของแต่ละคน
เมื่อกลับมามองไปที่ตัวของโนบิตะ จะมีอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์ของผู้ถูกบูลลี่กับผู้ที่บูลลี่ โนบิตะซึ่งถูกแกล้งมานับ 100 กว่าตอนยังสามารถคบกับไจแอนท์และซึเนโอะได้จนโตเป็นผู้ใหญ่ ดังเช่นที่เห็นจากตอนที่พวกเขาไปเฉลิมฉลองในปาร์ตี้สละโสดของโนบิตะ ก่อนที่จะแต่งงานกับชิซุกะ ในภาพยนตร์ตอนพิเศษ “Doraemon: Nobita’s the Night Before a Wedding” (2542) ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ต่างกลั่นแกล้งโนบิตะมาแล้วสารพัดทุกรูปแบบ ไจแอนท์คือตัวแทนของการทำร้ายร่างกาย ชกต่อยโนบิตะจนสะบักสะบอมมานับครั้งไม่ถ้วน ส่วนซึเนโอะคือตัวแทนของการใช้วาจาเหยียดหยาม การกดโนบิตะให้ต่ำกว่าด้วยฐานะทางบ้าน และยังรวมถึงการกีดกันโนบิตะ ไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มเวลาตนเองจัดทริปไปเที่ยววันหยุดในหลาย ๆ ตอน
คำตอบที่น่าจะอธิบายถึงความสัมพันธ์แบบ 3 คนนี้ได้ดีที่สุดคือ ซีรี่ส์ Doraemon นั้นไม่ได้แสดงแค่ด้านที่เป็นเด็กเกเรของไจแอนท์กับซึเนโอะ ถึงไจแอนท์จะโมโหโกรธาทุกครั้งที่โนบิตะเล่นเบสบอลห่วยแตก ทำให้ทีมแพ้อยู่บ่อย ๆ แต่ไจแอนท์ก็ยังคงมาชวน (กึ่ง ๆ บังคับ) ให้โนบิตะไปซ้อมไปเล่นด้วยกัน แถมทั้งคู่ยังเคยช่วยโนบิตะจากการถูกเด็กเกเรของเมืองอื่นรังแก ในวันที่โดราเอมอนติดธุระสำคัญ ยิ่งในภาพยนตร์ตอนพิเศษหรือ The Movie การผจญภัยสุดแฟนตาซีหลากหลายที่ฉีกไปจากการใช้ชีวิตประจำวันในซีรี่ส์ปกติ มันได้หล่อหลอมให้ความสัมพันธ์ของเด็กกลุ่มนี้แน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้นโดยไม่รู้ตัว จากการเสี่ยงตาย จากประสบการณ์ต่าง ๆ ถึงขนาดเกิดวลีติดตลกในหมู่แฟน ๆ ของโดราเอมอนว่า “ไจแอนท์จะเป็นคนดีเฉพาะภาคหนังโรงเท่านั้นแหละ”
ส่วนในชีวิตจริง หลายท่านน่าจะเคยมีประสบการณ์ที่ได้กลับมาเจอกับผู้ที่บูลลี่คุณในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นในงานเลี้ยงรุ่น งานแต่งงานของเพื่อน หรือในเหตุการณ์ใดก็ตามที่มีโอกาสทำให้เพื่อนเก่าได้กลับมาพบปะกัน หากไม่เคยปรับความเข้าใจ ไม่เคยสานสัมพันธ์ที่ดีกันมาก่อน อาจจะเกิดเป็นความกระอักกระอ่วน ท่านอาจจะได้รับคำขอโทษจากเขา หรือไม่อาจจะโดนเหยียบซ้ำด้วยการนำเรื่องน่าอายในวัยเด็กมาขยี้ ซึ่งการที่ท่านจะ “ไม่ให้อภัย” แม้ได้รับคำขอโทษแล้วก็ย่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะแต่ละคนได้ประสบกับเรื่องราวมาไม่เหมือนกัน มันอาจจะเป็นสิ่งที่ฝังใจมากจนต้องให้เวลาช่วยเยียวยา และตัวผู้ที่บูลลี่เอง หากสำนึกในความผิดด้วยใจจริง สิ่งที่คุณควรทำก็ย่อมต้องเป็นการ “ขอโทษ” ไม่ว่าจะได้รับการให้อภัยหรือไม่
……นั่นน่าจะเป็นบทสรุปของทั้ง 2 ฝ่ายที่ดีกว่าลงเอยด้วยความรุนแรง เพราะสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ย่อมเกิดจากการเคารพให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
อ้างอิง
https://thethaiger.com/th/news/621472/
https://today.line.me/th/v2/article/GLVLY6
https://research.eef.or.th/bullying-in-thailand/
https://www.amnesty.or.th/latest/blog/733/
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2044287
https://www.sosthailand.org/blog/5-tips-to-prevent-child-bullying