สาธารณรัฐเวเนซุเอลา
Bolivarian Republic of Venezuela
เมืองหลวง
กรุงการากัส
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีพื้นที่ 912,050 ตร.กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ (2,800 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับโคลอมเบีย (2,341 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับกายอานา (789 กม.)
ทิศใต้ ติดกับบราซิล (2,137 กม.)
ภูมิประเทศ รูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม แบ่งเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่ Maracaibo Lowlands ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคเหนือมีภูเขาทอดยาวตั้งแต่พรมแดนโคลอมเบีย ทางตะวันตกไปถึงชายฝั่งทะเลแคริบเบียน ทางตะวันออกของประเทศ เทือกเขาในภาคเหนือเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา Andes จุดที่สูงที่สุดอยู่ที่ภูเขา Pico Bolívar (4,979 ม.) เขต Central Venezuela ในตอนกลางของประเทศ และที่ราบสูง Guiana ทาง ตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ราบกว้างใหญ่ ในภาคใต้ มีที่ราบสูง Guiana ตั้งอยู่ระหว่างลุ่มน้ำแอมะซอนและน้ำตก Angel ซึ่งเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในโลก และภูเขา Tepuis (ซึ่งมีรูปร่างเหมือนโต๊ะ) ตอนกลางของประเทศ (Llanos) เป็นที่ราบกว้างจากพรมแดนโคลอมเบียทางตะวันตก ไปถึงสามเหลี่ยมแม่น้ำ Orinoco ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ดินตะกอนแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีแม่น้ำ Caroní และ Apure เป็นแม่น้ำสำคัญ
ภูมิอากาศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของเวเนซุเอลาตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร สภาพภูมิอากาศมีความหลากหลายตั้งแต่เขตพื้นที่ราบลุ่มที่มีความชื้นสูง อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 35 องศาเซลเซียส จนถึงเขตธารน้ำแข็งและที่ราบสูง (Páramos) ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 8 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนต่อปีอยู่ที่ประมาณ 430 มม. (16.9 นิ้ว) ในเขตพื้นที่แห้งแล้งในภาคเหนือ และมากกว่า 1,000 มม. (39.4 นิ้ว) ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Orinoco พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเขตป่า Amazonian Jungle ในภาคใต้ ปริมาณน้ำฝนจะน้อยที่สุดในช่วง พ.ย.-เม.ย. มีอากาศร้อนชื้น และ ส.ค.-ต.ค. มีอากาศแห้งและเย็น
เวเนซุเอลาแบ่งอากาศตามระดับความสูงของพื้นที่ 4 รูปแบบ ได้แก่ เขตร้อนชื้น พื้นที่มีความสูงต่ำกว่า 800 ม. อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 26-28 องศาเซลเซียส เขตอบอุ่นพื้นที่มีความสูง 800-2,000 ม. อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 12-25 องศาเซลเซียส (เมืองขนาดใหญ่ของประเทศรวมถึงกรุงการากัสอยู่ในกลุ่มนี้) เขตอากาศหนาวเย็น พื้นที่มีความสูงระหว่าง 2,000-3,000 ม. อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 9-10 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในเขตเทือกเขา Andes ขณะที่พื้นที่ที่ราบและทุ่งน้ำแข็งในภูเขาระดับความสูงมากกว่า 3,000 ม. มีหิมะปกคลุมตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส เช่นในเขตภูเขา Páramos ที่ผ่านมาอุณหภูมิสูงที่สุดในประเทศอยู่ที่ประมาณ 42 องศาเซลเซียส ที่เมือง Machiques และต่ำที่สุดประมาณ -11 องศา ที่เขตภูเขา Páramo de Piedras Blancas ใน จ.Mérida
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 96% คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ 2% และอื่น ๆ 2%
ภาษา สเปนเป็นภาษาราชการ ภาษาท้องถิ่น/ภาษาพื้นเมือง
การศึกษา ประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกและเขียนได้ อัตราการรู้หนังสือ 97.5% งบประมาณด้านการศึกษา 1.3% ของ GDP การศึกษาภาคบังคับ 14 ปี
วันชาติ 5 ก.ค. (วันที่ได้รับเอกราชจากสเปนเมื่อปี 2354)
Nicolás MADURO Moros
(ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา)
ประชากร 30,518,260 คน (ปี 2566)
รายละเอียดประชากร
เป็นชาวสเปน อิตาลี โปรตุเกส อาหรับ เยอรมัน แอฟริกัน และชาวอินเดียนพื้นเมือง โครงสร้างอายุของประชากร : อายุ 0-14 ปี 25.13% อายุ 15-64 ปี 65.98% อายุ 65 ปีขึ้นไป 8.9% อัตราการเพิ่มของประชากร 2.4% อัตราการเกิด 16.99 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเสียชีวิต 6.55 คนต่อประชากร 1,000 คน อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 74.25ปี เพศชาย 71.19 ปี เพศหญิง 77.45 ปี
การก่อตั้งประเทศ ช่วงปี 2041-2042 นาย Christopher Columbus และนาย Alonso de Ojeda มาเยือนเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นถิ่นที่ชาว Carib, Arawak และ Chibcha อาศัยอยู่ ต่อมาเมื่อปี 2064 เป็นยุคที่สเปนเริ่มต้นการล่าอาณานิคมทางด้านชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเวเนซุเอลา ปี 2292 เกิดกบฏขึ้นครั้งแรกเพื่อต่อต้านการปกครองของอาณานิคมสเปน ปี 2353 ผู้รักชาติชาวเวเนซุเอลาได้แสวงประโยชน์จากการที่ Napoleon Bonaparte บุกสเปนประกาศเอกราชเมื่อปี2354 โดยมีการลงนามใน Independence Act และต่อมาเมื่อปี 2372-2373 เวเนซุเอลาได้แบ่งแยกดินแดนออกจาก Gran Colombia (เวเนซุเอลาเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่เกิดจากการล่มสลายของ Gran Colombia เมื่อปี 2373 ส่วนอีก 2 ประเทศคือ เอกวาดอร์และ NewGranada ซึ่งต่อมาคือโคลอมเบีย) และกลายเป็นสาธารณรัฐอิสระโดยมีกรุงการากัสเป็นเมืองหลวง
การเมือง
รูปแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal Republic) ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลวาระ 6 ปี และไม่จำกัดวาระ (พรรคฝ่ายค้านซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาแห่งชาติพยายามปรับลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีลงเหลือ 4 ปี)
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารและแต่งตั้ง ครม. วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Nicolas Maduro Moros (ตั้งแต่ 19 เม.ย.2556) การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 20 พ.ค.2561 ผลการเลือกตั้งนาย Nicolas Maduro Moros ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 68% การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2567
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาเดี่ยววาระ 5 ปี (Asamblea Nacional หรือ National Assembly) มีสมาชิก 167 ตำแหน่ง (ในจำนวนนี้ 3 ตำแหน่ง สงวนไว้สำหรับคนพื้นเมืองของประเทศ) การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 6 ธ.ค.2563
ฝ่ายตุลาการ : ระบบกฎหมายของเวเนซุเอลาเป็นระบบประมวลกฎหมายแพ่ง (Civil Law System) ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลสูง (Supreme Tribunal of Justice) ผู้พิพากษาจำนวน 32 คน ได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภา วาระ 12 ปี
พรรคการเมืองสำคัญ : ได้แก่ พรรค United Socialist Party of Venezuela มีนาย Nicolás Maduro เป็นหัวหน้าพรรค Justice First มีนาย Tomás Guanipa เป็นหัวหน้าพรรคพรรค Democratic Action มีนาง Isabel Carmona de Serra และนาย Rubén Antonio Limas Telles เป็นหัวหน้าพรรค พรรค A New Era มีนาย Omar Barboza เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Popular Will มีนาย Leopoldo López เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Radical Cause มีนาย Andrés Velásquez เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Movement for Venezuela มีนาย Simon Calzadilla เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Project Venezuela มีนาย Henrique Salas Römer เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Communist Party of Venezuela มีนาย Óscar Figuera เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Progressive Advance มีนาย Henri Falcon เป็นหัวหน้าพรรค
กลุ่มกดดันทางการเมือง : กลุ่มสหภาพแรงงาน Bolivarian and Socialist Workers’ Union (กลุ่มก่อตั้งพรรคแรงงงาน) กลุ่ม Confederacion Venezolana de Industriales (Coindustria) กลุ่ม Consejos Comunales (Pro-Government Local Communal Councils) Federation of Chambers and Associations of Commerce and Production of Venezuela (FEDECAMARAS) ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่ม Union of Oil Workers of Venezuela (FUTPV) กลุ่ม Venezuelan Confederation of Workers (CTV) กลุ่มตรงข้ามกับกลุ่มสหภาพแรงงาน รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชน
เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก (รายได้หลักของการส่งออกและประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐ) โดยเวเนซุเอลาเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับที่ 25 ของโลก และอันดับที่ 8 ของสมาชิกโอเปก เวเนซุเอลายังส่งออกผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น โลหะ อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
เวเนซุเอลาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ระหว่างปี 2553-2560 เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมัน การบริหารของบริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา (PDVSA) ประกอบกับนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ผิดพลาด ซึ่งทำให้เวเนซุเอลาขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน การที่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลา ทำให้เวเนซุเอลามีกำลังผลิตและส่งออกน้ำมันดิบลดลง ส่งผลให้ค่าเงินถดถอยต่อเนื่อง ส่วนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ค่าแรงในประเทศตกต่ำ และเกิดภาวะขาดดุลงบประมาณ
เศรษฐกิจเวเนซุเอลาเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ปี 2565 จากการส่งออกน้ำมันไปยุโรป ที่ต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับการที่รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 รวมทั้งมีอัตราเงินเฟ้อลดลง ด้านสหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซุเอลาบางส่วน หลังจากประธานาธิบดี Maduro เจรจากับพรรคฝ่ายค้านของเวเนซุเอลาเพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งในปี 2567
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : Bolivars (Venezuelan Bolivar Fuerte-VEF)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 3,500,946 Bolivars(ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 0.000010 Bolivars (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 96,628 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2566)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 4.5%
ทุนสำรองต่างประเทศ : 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้ต่างประเทศ : 110,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 4,832 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,640 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 10.81 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 6.4%
อัตราเงินเฟ้อ : 399.98%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : 22,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 32,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : น้ำมันและผลผลิตน้ำมันแปรรูป แร่บอกไซต์และอะลูมิเนียม แร่ธาตุ เคมีภัณฑ์ ผลผลิตทางการเกษตร
ประเทศคู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ 42% จีน 23% อินเดีย 19% สิงคโปร์ 4.5% และสเปน 1.4%
มูลค่าการนำเข้า : 9,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ วัตถุดิบต่างๆ เครื่องจักรและอุปกรณ์ รถขนาดใหญ่สำหรับขนส่งสินค้า วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าที่แปรรูปจากน้ำมัน ยารักษาโรค เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า
ประเทศคู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ 38% จีน 18% เม็กซิโก 12% บราซิล 5.2% และโคลอมเบีย 3.5%
การทหาร
กำลังพล 123,000 นาย ประกอบด้วย ทบ. 63,000 นาย ทร. 25,500 นาย ทอ. 11,500 นาย กองกำลังรักษาประเทศ 23,000 นาย กำลังรบกึ่งทหาร 220,000 นาย และกำลังพลสำรอง 8,000 นาย งบประมาณด้านการทหาร 4.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยุทโธปกรณ์สำคัญ ประกอบด้วย รถถัง 282 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 319 คัน รถถังปืนใหญ่อัตตาจร 60 คัน ปืนใหญ่ชนิดลาก 104 กระบอก เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง 36 กระบอก บ. 284 เครื่อง บ.โจมตี/สกัดกั้น 48 เครื่อง บ.ลำเลียง 28 เครื่อง บ.ฝึก 73 เครื่อง ฮ. 16 เครื่อง ฮ.โจมตี 6 เครื่อง เรือ 46 ลำ เรือฟริเกต 2 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ เรือต่อต้านเรือดำน้ำ 1 ลำ และเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 25 ลำ
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ Caricom (observer), CD, CDB, CELAC, FAO, G-15, G-24, G-77, IADB, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (national committees), ICCt (signatory), ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ITSO, ITU, ITUC (NGOs), LAES, LAIA, LAS (observer), MIGA, NAM, OAS, OPANAL, OPCW, OPEC, PCA, Petrocaribe, UN, UNASUR, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, Union Latina, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO, WTO
การขนส่งและโทรคมนาคม ท่าอากาศยาน 444 แห่ง ใช้การได้ดี 127 แห่ง เส้นทางรถไฟ 447 กม. ถนน 96,189 กม. เส้นทางน้ำ 7,100 กม. การโทรคมนาคม : โทรศัพท์พื้นฐาน3.39 ล้านเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 16.6 ล้านเลขหมาย รหัสโทรศัพท์ +58 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 20.87 ล้านคน รหัสอินเทอร์เน็ต .ve
การเดินทาง นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องการเดินทางเข้าเวเนซุเอลา ต้องขอตรวจลงตราหนังสือเดินทาง โดยติดต่อที่ สอท.เวเนซุเอลาประจำมาเลเซีย และพำนักได้ไม่เกิน 90 วัน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวไทยควร ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองก่อนการเดินทางไปเวเนซุเอลาอย่างน้อย 10 วัน และมีหลักฐานการฉีดวัคซีนติดตัวเพื่อแสดงระหว่างการเดินทาง
ความสัมพันธ์ไทย–เวเนซุเอลา
ไทยและเวเนซุเอลาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 27 ส.ค.2525 โดย ออท. ณ กรุงลิมา เปรู มีเขตอาณาดูแลเวเนซุเอลา ต่อมาเมื่อปี 2536 ไทยได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเวเนซุเอลา ขณะที่ สอท.เวเนซุเอลา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีเขตอาณาดูแลไทย ทั้งนี้ รัฐบาลเวเนซุเอลาได้ขอเปิด สอท.ประจำประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยได้มีมติอนุมัติคำขอดังกล่าวแล้วเมื่อ 27 เม.ย.2549
ความร่วมมือด้านการค้า ปี 2565 มูลค่าการค้ารวม 1,846.13 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการส่งออกของไทย 727.72 ล้านบาท และนำเข้า 1,118.41 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้า 390.70 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ผ้าผืน ก๊อก วาล์วและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) สถานการณ์การเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในปี 2567 โดยศาลสูงของเวเนซุเอลาสั่งระงับผลการเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านเมื่อ 22 ต.ค.2566 ที่เสนอชื่อนาง María Corina Machado ให้เป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับนาย Maduro ที่จะสมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สาม แม้รัฐบาลเวเนซุเอลาเจรจากับพรรคฝ่ายค้านก่อนหน้านี้ที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้พรรคฝ่ายค้านส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
2) ความสัมพันธ์ระหว่างเวเนซุเอลากับสหรัฐฯ หลังจากสหรัฐฯ ประกาศพิจารณาผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลเวเนซุเอลาบางส่วน โดยสหรัฐฯ อนุญาตให้รัฐบาลเวเนซุเอลาเจรจากับบริษัท Chevron ธุรกิจน้ำมันขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ประกอบกิจการในเวเนซุเอลา ทั้งนี้ วิกฤตรัสเซียยูเครนและการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้สหรัฐฯ ต้องหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่