ราชอาณาจักรไทย
Kingdom of Thailand
เมืองหลวง กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 5 องศา 37 ลิปดาเหนือกับ 20 องศา 27 ลิปดาเหนือ และระหว่างเส้นลองจิจูดที่ 97 องศา 22 ลิปดาตะวันออกกับ 105 องศา 37 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมด 513,120 ตร.กม. (คิดเป็น 0.34% ของพื้นที่โลก) หรือประมาณ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 510,890 ตร.กม. และพื้นที่ทางทะเล 2,230 ตร.กม. มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 51 ของโลก เป็นอันดับที่ 12 ในเอเชีย และอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียและเมียนมา ระยะทางจากจุดเหนือสุดถึงใต้สุด 1,640 กม. ความกว้างจากจุดตะวันตกสุดไปจุดตะวันออกสุด 780 กม. พรมแดนทางบก 5,673 กม. พรมแดนทางทะเล 3,219 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเมียนมาและลาว จุดเหนือสุดอยู่ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ทิศตะวันออก ติดกับลาวและกัมพูชา จุดตะวันออกสุดอยู่ที่ อ.โขงเจียม
จ.อุบลราชธานี
ทิศใต้ ติดกับมาเลเซีย จุดใต้สุดอยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา
ทิศตะวันตก ติดกับเมียนมา จุดตะวันตกสุดอยู่ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ติดกับทะเลอันดามัน
ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ติดกับอ่าวไทย
ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท 94.6% รองลงมา คือ อิสลาม 4.3% คริสต์ 1% ที่เหลือ 0.1% เป็นศาสนาอื่น ๆ เช่น ฮินดู ขงจื้อ ไม่มีศาสนา
ภาษา ภาษาราชการ คือ ภาษาไทย
การศึกษา ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ภาคบังคับ 9 ปี อัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ 94.1%
การคมนาคม การขนส่งทางบกมีเส้นทางถนนยาว 702,989.18 กม. อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง 52,189.44 กม. กรมทางหลวงชนบท 49,123.79 กม. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 224.6 กม. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 597,667 กม. และกรุงเทพมหานคร 3,784.35 กม. เส้นทางรถไฟยาว 4,346 กม. ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินรวม 9 สาย : รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) สายเฉลิมรัชมงคลหรือสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ-หลักสอง)สายฉลองรัชธรรมหรือสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) สายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) สายสุขุมวิท (คูคต-เคหะสมุทรปราการ) สายสีทอง (กรุงธนบุรี-คลองสาน) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน)
นอกจากนี้ มีโครงการรถไฟฟ้า และรถไฟชานเมืองที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง 2 สาย ดังนี้ สายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) และสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)
ทางอากาศ : ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 6 แห่ง โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าหลักและใหญ่ที่สุด ทางน้ำ: ท่า/โป๊ะ เทียบเรือสินค้าริมแม่น้ำ 15 ท่า ท่าเทียบเรือชายฝั่งทะเล 52 ท่า ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะเขต กทม.-ปริมณฑล รวม 93 ท่า ส่วนท่าเทียบเรือขนส่งหลักระหว่างประเทศ ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และท่าเรือเชียงของ
ภูมิประเทศ อยู่ในเขตโซนร้อน ภาคเหนือเป็นพื้นที่สูง มียอดเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญหลายสาย ยอดเขาสูงสุด คือ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ สูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นที่สูงหรือที่ราบสูง ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่และเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ขณะที่ทิศใต้ของภาคกลางติดกับอ่าวไทย ส่วนภาคใต้มีพื้นที่เป็นทิวเขาสูงสลับที่ราบลุ่มและมีชายหาดทะเลทั้งฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) และฝั่งตะวันตก (ทะเลอันดามัน)
นายเศรษฐา ทวีสิน
(นรม. และ รมว.การคลัง)
ประชากร ประมาณ 66.06 ล้านคน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ต.ค.2566) สัญชาติไทย เป็นหญิง 33.82 ล้านคน ชาย 32.23 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ประชากรมากที่สุด : กรุงเทพฯ 5.49 ล้านคน ประชากรน้อยที่สุด: สมุทรสงคราม 189,453 คน จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพฯ นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี บุรีรัมย์ อุดรธานี นครศรีธรรมราช และศรีสะเกษ ตามลำดับ อายุขัยเฉลี่ย: ชาย 74.39 ปี หญิง 80.6 ปี อัตราการเกิด : 10.25 คน/ประชากร 1,000 คน อัตราการตาย: 7.66 คน/ประชากร 1,000 คน
ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ โดยเขตการปกครองแบ่งเป็น 1) การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางตามหลักการรวมอำนาจ(Centralization) ทั้งการตัดสินใจ กำหนดนโยบาย วางแผนจัดสรรงบประมาณ ควบคุมตรวจสอบ และบริหารราชการในกิจการสำคัญให้หน่วยงานต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีหน้าที่รับผิดชอบ 4 ส่วน คือ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม รวมถึงส่วนราชการระดับกรมที่เป็นอิสระ และองค์กรส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองตามกฎหมาย 2) การปกครองส่วนภูมิภาคประกอบด้วย 76 จังหวัด ไม่รวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 3) การปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 2,454 แห่ง (เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 187 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,237 แห่ง) องค์การบริหารส่วนตำบล 5,320 แห่ง และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย.2560 ประกอบด้วย 279 มาตรา 16 หมวด และบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1) ที่มาของ นรม. ไม่ได้กำหนดว่าต้องมาจาก สส. เท่านั้น แต่ต้องมาจากการเสนอชื่อของสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคการเมืองสามารถเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็น นรม. ได้ไม่เกิน 3 คน และต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน สส. ในสภาไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวน สส. ทั้งหมด ขณะที่มาตรา 272 กำหนดว่าหากไม่อาจแต่งตั้ง นรม. ในบัญชีรายชื่อที่เสนอโดยพรรคการเมืองได้ ให้ที่ประชุมรัฐสภา มีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน เสนอชื่อบุคคลภายนอกบัญชีได้ 2) กำหนดให้ปฏิรูปประเทศอย่างน้อย 7 ด้าน โดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการ อีกทั้งกำหนดลักษณะต้องห้ามของทั้ง สส. สว. หรือ รมต. เป็นกลไกป้องกันไม่ให้คนทุจริตเข้าสู่การเมือง และ 3) ที่มา สว. ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี สว. จำนวน 200 คน จากการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพหรือประโยชน์ร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้เลือกกันเอง ส่วนระยะ 5 ปีแรกตามมาตรา 269 กำหนดให้มี สว. จำนวน 250 คน โดยมาจากการสรรหาของคณะกรรมการที่แต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 194 คน ส่วนอีก 50 คน มาจากการคัดเลือกกันเอง และมีผู้เป็น สว. โดยตำแหน่งอีก 6 คน นอกจากนี้ สว.ยังมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือก นรม.ร่วมกับ สส.
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 65 เพื่อเกิดการปฏิบัติให้บรรลุวิสัยทัศน์“ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง(การรักษาความสงบภายในประเทศ/ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง/พัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ/บูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ รวมถึงองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐ/พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบบูรณาการ) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จในปี 2580 ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ ดัชนีชี้วัดความสุขของประชากรไทยอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก การนำเสนอแนวความคิดริเริ่มและหนทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ ตามโอกาสที่เหมาะสม
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาไทยเป็นระบบสองสภา (Bicameral) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
1) สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 500 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี โดยสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง 2 แบบ ดังนี้ (1) แบบแบ่งเขต มีจำนวน 400 คน จาก 400 เขตเลือกตั้ง ในแต่ละเขตเลือกตั้งมี สส. ได้ 1 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สส. และ (2) แบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวน 100คน โดยพรรคการเมืองจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี ซึ่งรายชื่อไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ส่งให้กรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้งเป็นการลงคะแนนด้วยบัตรสองใบ ได้แก่ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยการคำนวณจากคะแนนรวมแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ สส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (คะแนนรวม ที่ทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ หารด้วย 100)
2) วุฒิสภา จำนวน 200 คน ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ในวาระเริ่มแรก วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 250 คน ซึ่งมีที่มา 3 แบบ ดังนี้ (1) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คัดเลือกผู้ได้รับเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ได้ จำนวน 50 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรอง จำนวน 50 คน โดยการคัดเลือกดังกล่าวให้คำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึง (2) คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาให้ได้ จำนวน 194 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบัญชีรายชื่อ ที่ได้รับการสรรหา จำนวน 50 คน และ (3) ผู้ดำรงตำแหน่ง 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกจะหมดวาระในห้วงกลางปี 2567
ฝ่ายตุลาการ : ไทยเป็นระบบศาลคู่ ที่มีการจัดตั้งศาลเฉพาะ เพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนแยกจากศาลยุติธรรม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดศาลไทยไว้ 4 ประเภท คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร การพิจารณาคดีของศาลไทยใช้ระบบกล่าวหา (Accusatorial System) ที่คู่ความดำเนินเรื่องทั้งหมดโดยศาลมีหน้าที่รับฟังตัดสินคดี ขณะที่ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี อำนาจหน้าที่ของแต่ละศาล มีดังนี้
1) ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรต่าง ๆ การวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการการเลือกตั้ง การวินิจฉัยชี้ขาดสมาชิกภาพของ รมต. สส. หรือ สว. รวมถึงการควบคุมตรวจสอบพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
2) ศาลยุติธรรม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลอื่น โดยศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ประเภทคดีตามอำนาจศาล อาทิ คดีแพ่ง คดีอาญา คดีล้มละลาย คดีแรงงาน และอื่น ๆ ตามกฎหมายกำหนด ศาลยุติธรรมมีบทบาทเป็นศาลหลักตามเขตอำนาจเป็นการทั่วไปต้องรับคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดในระบบ ศาลยุติธรรมมีแผนกคดีพิเศษรวม 11 แผนก สำหรับวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่อาศัยความชำนาญพิเศษ ได้แก่ คดีเยาวชนและครอบครัว คดีแรงงาน คดีผู้บริโภค คดีเลือกตั้ง คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีล้มละลาย คดีภาษีอากร คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ คดีสิ่งแวดล้อม และคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกา
3) ศาลปกครอง (Administrative Court) เป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว สัญญาทางปกครอง การกระทำละเมิดทางปกครอง การละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติงานล่าช้าเกินสมควร หรือคดีพิพาททางปกครองอื่น ๆ ตามเขตอำนาจศาล โดยมีการพิจารณา2 ชั้น คือ 1) ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลางและศาลปกครองภูมิภาค) และ 2) ศาลปกครองสูงสุด
4) ศาลทหาร อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม จัดตั้งตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารและความผิดต่อกฎหมายทหารหรือตามบัญชีแนบท้ายกฎอัยการศึก ปกติเป็นคดีที่ทหารประจำการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา ทั้งนี้ คดีนอกอำนาจศาลทหารให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน แม้จะปรากฏภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้
พรรคการเมือง : ข้อมูลเมื่อ เม.ย.2566 พรรคการเมืองที่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครเลือกตั้ง จำนวน 67 พรรค พรรคการเมืองที่แจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคมีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งหมด 43 พรรคการเมือง จำนวน 63 รายชื่อ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี2565)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 495,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565 ข้อมูลธนาคารโลก)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.6%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 6,908.8 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 40.2 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 0.9%
อัตราเงินเฟ้อ : 6.1%
เงินสำรองระหว่างประเทศ : 7,736,506.34 ล้านบาท (ก.ย.2566)
การจัดเก็บรายได้ : 2,368,862 ล้านบาท ช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565-ส.ค.2566)
หนี้ต่างประเทศ : 177,069.16 ล้านบาท (ก.ย.2565)
มูลค่าการค้ากับต่างประเทศ : 20,526,714.55 ล้านบาท (ปี 2565)
มูลค่าการส่งออก : 9,957,072.66 ล้านบาท
มูลค่าการนำเข้า : 10,569,641.89 ล้านบาท
ดุลการค้า : ขาดดุล 612,569.24 ล้านบาท
คู่ค้าสำคัญ : จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอินเดีย
สินค้าส่งออก : 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3) อัญมณีและเครื่องประดับ 4) ผลิตภัณฑ์ยาง และ 5) เม็ดพลาสติก
ตลาดส่งออกสำคัญ : สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง
สินค้านำเข้า : 1) น้ำมันดิบ 2) เคมีภัณฑ์ 3) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 4) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และ 5) แผงวงจรไฟฟ้า
แหล่งนำเข้าสำคัญ : จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
การค้าชายแดนไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ปี 2565 มูลค่าการค้ารวม 1,470,863.37 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 20.95% จากปี 2563) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 864,841.40 ล้านบาท (ลดลง 27.11%) และการนำเข้ามูลค่า 606,021.97 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13.12%) ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าทั้งสิ้น 258,819.43 ล้านบาท โดยมีการค้าชายแดนด้านมาเลเซียสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.36 ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม รองลงมา คือ ลาว เมียนมา และกัมพูชา
ขณะที่การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านห้วงปี 2565 มีมูลค่ารวม 1,058,153 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.37%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 648,030 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13.68%) และการนำเข้ามูลค่า 410,123 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 15.48%) ไทยได้เปรียบดุลการค้า 237,907 ล้านบาท
1) การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย มีมูลค่าการค้ารวม 336,118 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.05%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 183,523 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.62%) และการนำเข้ามูลค่า 152,596 ล้านบาท (ลดลง0.61%) ไทยได้ดุลการค้า 30,927 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางข้น เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่น ๆ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็กฯ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับ ตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า และเม็ดพลาสติก
2) การค้าชายแดนไทย-เมียนมา มีมูลค่าการค้ารวม 263,638 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 28.43%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 143,582 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19.87%) และนำเข้ามูลค่า 120,056 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 40.38%) ไทยได้ดุลการค้า 23,527 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ โทรศัพท์มือถือและสมาร์ตโฟน สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช และสัตว์น้ำ
3) การค้าชายแดนไทย-ลาว มีมูลค่าการค้ารวม 260,081 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21.08%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 156,738 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 25.64%) และการนำเข้ามูลค่า 103,343 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.77%) ไทยได้ดุลการค้า 53,395 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป น้ำมันดีเซล และน้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่น ๆ (พลังงานไฟฟ้า) ผักและของปรุงแต่งจากผัก และเครื่องรับ-ส่งภาพและเสียงฯ
4) การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 198,315 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17.24%)
คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 164,186 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.72%) และการนำเข้ามูลค่า 34,129 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 31.09%) ไทยได้ดุลการค้า 130,058 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์นั่ง (สันดาปภายใน)
รถกระบะ รถประจำทาง และรถบรรทุก (สันดาปภายใน) เครื่องดื่มอื่น ๆ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผักและของปรุงแต่งจากผัก (มันสำปะหลัง) เศษของอะลูมิเนียม และลวดและสายเคเบิล
องค์การระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิก ADB, APEC, ARF, ASEAN, BIMSTEC, BIS, CD, CICA, CP, EAS, FAO, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (national committees), ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC (NGOs), MIGA, NAM, OAS (observer), OIC (observer), OIF (observer), OPCW, OSCE (partner), PCA, PIF (partner), UN, UNAMID, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, UNMOGIP, UNOCI, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO และ WTO