รัฐปาเลสไตน์
State of Palestine
เมืองหลวง รอมัลลอฮ์ ตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ (มีสถานะเป็นเมืองหลวงโดยพฤตินัย จนกว่าเยรูซาเลมตะวันออกจะได้รับการปลดปล่อยจากการยึดครองโดยอิสราเอล)
ที่ตั้ง ตะวันออกกลาง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนแยกจากกัน คือ 1) เขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ระหว่างเส้นละติจูดที่ 31-33 องศาเหนือ และระหว่างเส้นลองจิจูดที่ 35-36 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 5,860 ตร.กม. และ 2) ฉนวนกาซา (Gaza Strip) ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บนพิกัดเส้นละติจูดที่ 31 องศา 25 ลิปดาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 34 องศา 20 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ 360 ตร.กม. ทั้งนี้ พื้นที่รวมกันของเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา มีขนาดเล็กกว่าไทยประมาณ 82 เท่า
อาณาเขต
เขตเวสต์แบงก์
ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ติดกับอิสราเอล 330 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับจอร์แดน 148 กม. โดยมีแม่น้ำจอร์แดนและ ทะเลสาบเดดซีเป็นเส้นกั้นอาณาเขต
ฉนวนกาซา
ทิศเหนือ และทิศตะวันออก ติดกับอิสราเอล 59 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 40 กม.
ทิศใต้ ติดกับอียิปต์ 13 กม.
ภูมิประเทศ เวสต์แบงก์ตั้งอยู่บนที่ราบสูงจูเดีย ส่วนใหญ่เป็นภูเขา แต่มีพื้นที่ลาดเป็นชั้น ๆ เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นไม้ สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารได้เป็นอย่างดี ส่วนในฤดูร้อนสามารถปลูกผักผลไม้ได้ ขณะที่ฉนวนกาซามีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล สลับเทือกเขาเป็นบางส่วน
มีอากาศหนาวมาก อุณหภูมิอาจติดลบถึง 4 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณที่ราบ อากาศร้อนจัด อุณหภูมิ 34-43
ศาสนา ในเวสต์แบงก์ อิสลาม (ส่วนใหญ่เป็นซุนนี) 80-85% ยูดาย 12-14% คริสต์ (ส่วนใหญ่เป็นกรีกออร์ทอดอกซ์) 1-2.5% และอื่น ๆ ไม่ถึง 1% ส่วนในฉนวนกาซา อิสลาม (ส่วนใหญ่เป็นซุนนี) 98-99% คริสต์ และอื่น ๆ 1%
ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ แต่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถสื่อสารภาษาฮีบรูและภาษาอังกฤษได้ดี
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 97.5% การที่เขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล ส่งผลให้การศึกษาตั้งแต่ระดับต้นจนถึงอุดมศึกษาอยู่ภายใต้การจัดการของอิสราเอล การศึกษาภาคบังคับของปาเลสไตน์มีระยะ 10 ปี โดยเด็กต้องเข้าเรียนเมื่ออายุ 6 ปี จนถึงอายุ 16 ปี เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว มีสิทธิเลือกเรียนได้ 2 ทาง คือ สายวิทยาการ2 ปี หรือสายวิชาชีพ 2 ปี เมื่อจบแล้วจึงมีสิทธิเข้าเรียนต่อในระดับวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย
วันชาติ 15 พ.ย.
นายมะห์มูด อับบาส
Mahmoud Abbas
(ประธานาธิบดีปาเลสไตน์)
ประชากร เวสต์แบงก์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 3.25 ล้านคน เป็นเชื้อสายอาหรับ 83% และชาวยิว 17% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 34.07% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 61.94% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.99% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 76.63 ปี เพศชาย 74.55 ปี และเพศหญิง 78.84 ปี อัตราการเกิด 24.02 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 3.38 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.66%
ฉนวนกาซามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2.23 ล้านคน เป็นเชื้อสายอาหรับ 100% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 39.75% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 57.34% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 2.91% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 75.66 ปี เพศชาย 73.92 ปี และเพศหญิง 77.50 ปี อัตราการเกิด 27.2 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 2.88 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.99%
การก่อตั้งประเทศ ปาเลสไตน์เคยอยู่ใต้การปกครองของชาวยิว โรมัน เปอร์เซีย และอาหรับ แต่ปัจจุบันเผชิญกับการรุกรานของชนชาติยิว หรืออิสราเอล จากการที่ชาวยิวเชื่อในพระคัมภีร์ว่า พระเจ้าได้ประทานดินแดนแห่งนี้ให้เป็นมาตุภูมิของชาวยิว ดังนั้น เมื่อปี 2440 ชาวยิวในสหรัฐฯ และยุโรปจึงรวมตัวกันตั้งองค์การยิวสากล หรือไซออนนิสต์ (Zionist) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งชาวยิวกลับไปตั้งถิ่นฐานและสร้างชาติยิวขึ้นใหม่ในปาเลสไตน์ จนนำไปสู่การสถาปนารัฐยิว หรืออิสราเอลขึ้นบนดินแดนปาเลสไตน์ได้สำเร็จ
เมื่อปี 2491 ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยรัฐปาเลสไตน์ที่เรียกว่า “องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์” (Palestine Liberation Organization-PLO) ภายใต้การนำของนายยัสเซอร์ อาราฟัต (ยาซิร อะเราะฟาต) และประกาศตั้งรัฐเอกราชปาเลสไตน์เมื่อ 15 พ.ย.2531 ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ จนกระทั่งมีการลงนามใน “ข้อตกลงสันติภาพออสโล ฉบับที่ 1” เมื่อปี 2536 ที่ถือเป็นการยอมรับว่ามีดินแดนปกครองตนเองที่ชื่อปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา อีกทั้งคาดหวังว่าจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ในอนาคตได้สำเร็จ จนกระทั่งเมื่อ 29 พ.ย.2555 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ผ่านข้อมติที่67/19 ยกสถานะปาเลสไตน์จากองค์กรผู้สังเกตการณ์ (observer entity) เป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ถาวรที่มิใช่สมาชิก (non-member permanent observer state) ซึ่งถือเป็นการรับรองโดยปริยายว่าปาเลสไตน์มีสถานะเป็นรัฐ ปัจจุบัน มี 139 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศรับรองสถานะของรัฐปาเลสไตน์
การเมือง
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฟัตตะห์ภายใต้การนำของนายมะห์มูด อับบาส กับกลุ่มฮะมาสภายใต้การนำของนายอิสมาอีล ฮะนียะฮ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ส่งผลให้การปกครองของปาเลสไตน์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยพฤตินัยมาตลอด เนื่องจากเขตเวสต์แบงก์อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฟัตตะห์ ขณะที่ฉนวนกาซาอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฮะมาส โดยทั้งเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาต่างก็มีผู้นำคณะผู้บริหารของตนเอง จนกระทั่งเมื่อ 2 มิ.ย.2557ทั้งสองกลุ่มสามารถยุติความขัดแย้งที่มีต่อกันด้วยการลงนามข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติร่วมกัน ต่อมา เมื่อ 17 มิ.ย.2558 นายรอมี ฮัมดัลลอฮ์ นรม.ในขณะนั้น ประกาศลาออก ประกอบกับกลุ่มฟัตตะห์และกลุ่มฮะมาสมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส จึงตัดสินใจยุติบทบาทรัฐบาลแห่งชาติชุดดังกล่าว และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเป็นการดำเนินการฝ่ายเดียวที่กลุ่มฮะมาสไม่ยอมรับ อย่างไรก็ดี เมื่อ 17 ก.ย.2560 กลุ่มฮะมาสตัดสินใจยุบคณะกรรมการบริหารฉนวนกาซา (รัฐบาลที่กลุ่มฮะมาสตั้งขึ้นฝ่ายเดียวในฉนวนกาซา) และยินยอมส่งมอบฉนวนกาซาให้กลับไปอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลแห่งชาติที่ประธานาธิบดีอับบาสจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ เขตเวสต์แบงก์จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อ 11 ธ.ค.2564 และการเลือกตั้งเทศบาลเมื่อ 26 มี.ค.2565 ขณะที่ในฉนวนกาซาไม่มีการจัดการเลือกตั้ง
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีเป็นประมุขของชาวปาเลสไตน์ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง นรม. และ ครม. ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายมะห์มูด อับบาส ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ม.ค.2548 และขยายวาระการดำรงตำแหน่งออกไปจนกว่าจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ ส่วน นรม.คนปัจจุบัน คือ นาย Mohammad Shtayyeh ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 10 มี.ค.2562 สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 14 เม.ย.2562
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาแบบสภาเดี่ยว คือ สภานิติบัญญัติปาเลสไตน์(Palestinian Legislative Council-PLC) มีสมาชิก 132 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีอำนาจในการออกกฎหมายจำกัดเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลเรือนและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในการเลือกตั้งสมาชิก PLC ครั้งหลังสุดจัดขึ้นเมื่อ 25 ม.ค.2549 และไม่สามารถจัดประชุมสภาได้ตั้งแต่ปี 2550 หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฟัตตะห์กับกลุ่มฮะมาสจนถึงปัจจุบัน ส่วนการเลือกตั้งสมาชิก PLC ชุดใหม่ ยังไม่สามารถกำหนดวันจัดการเลือกตั้งได้เช่นกัน
ฝ่ายตุลาการ : มีศาลสูงสุด โดยรัฐสภามีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Fatah (Liberation Movement of Palestine) พรรคHamas (Islamic Resistance Movement) พรรค Martyr Abu Ali Mustafa (Popular Front for the Liberation of Palestine) พรรค Palestine Democratic Union พรรค Palestinian People พรรค Democratic Front for the Liberation of Palestine พรรค Palestinian National Initiative และพรรค Third Way
เศรษฐกิจ การที่อิสราเอลปิดล้อมเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาก่อให้เกิดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานและสินค้าเข้า-ออกปาเลสไตน์ และส่งผลให้เศรษฐกิจปาเลสไตน์ต้องพึ่งพาอิสราเอลและเงินบริจาคจากนานาชาติ ปัจจุบัน ปาเลสไตน์เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากสหรัฐฯ ตัดงบประมาณช่วยเหลือทางทหาร และ สนง.บรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East-UNRWA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องการบริการทางด้านการศึกษาและสาธารณะสุขแก่ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์
ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาเมื่อปี 2561 รวมทั้งอิสราเอลได้ระงับการจ่ายเงินที่ได้จากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้ามูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนแก่ปาเลสไตน์ ตั้งแต่เมื่อ ก.พ.2561 ทำให้ปาเลสไตน์ประสบปัญหาด้านมนุษยธรรมและวิกฤตทางการเงินอย่างมาก รวมทั้งได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศลดลงจาก 32% ของ GDP เมื่อปี 2551 เหลือ 3.5% เมื่อปี 2562 และปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจปี 2563 ของปาเลสไตน์ตกต่ำลง ทั้งนี้ เหตุโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอลเมื่อ 7 ต.ค.2566 จะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในปาเลสไตน์ โดยเฉพาะในฉนวนกาซาตกต่ำลงอีก รวมทั้งทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง
ภาคการเกษตร มีผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ มะกอก พืชตระกูลมะนาว ผักกาด กะหล่ำปลี ฟักทอง มะเขือเทศ ข้าวโพด องุ่น แตงโม แอปเปิ้ล ทับทิม ลูกแพร์ สาลี่ และอินทผลัม ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ สิ่งทอ สบู่ น้ำมันมะกอก เครื่องหนัง และของที่ระลึกทำจากไม้แกะสลัก ซึ่งรับงานมาจากอิสราเอลเป็นส่วนใหญ่
สกุลเงิน : ปัจจุบัน ปาเลสไตน์ยังไม่มีระบบเงินตราเป็นของตนเอง เนื่องจากอิสราเอลไม่ยินยอม เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกราช เงินตราที่ใช้จึงเป็นสกุลเงินเชคเกลของอิสราเอล และสกุลเงินดีนาร์
ของจอร์แดน
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2565) (ที่มา : สำนักงานสถิติกลางปาเลสไตน์)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 15,354 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.6%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,046 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 1.5 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 27.4%
อัตราเงินเฟ้อ : 4.9%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 6,613 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 1,584 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ หิน มะกอก ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และปลา
มูลค่าการนำเข้า : 8,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : อาหาร สินค้าบริโภค วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเลียม เชื้อเพลิง และเคมีภัณฑ์
ประเทศคู่ค้า : อิสราเอล จอร์แดน และอียิปต์
การทหาร
กองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Forces-NSF) เป็นกองกำลังกึ่งทหารของรัฐบาล มีสถานะเป็นกองกำลังแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2536 ภารกิจของ NSF ในปัจจุบัน ได้แก่ การรักษาความมั่นคงภายใน ปราบปรามสมาชิกกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ และรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดีและผู้นำระดับสูง ผบ.NSF
กำลังพล กองกำลังป้องกันประเทศประมาณ 10,000 นาย ส่วนใหญ่มาจากกองทัพปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestinian Liberation Army-PLA) ซึ่งเป็นปีกทางทหารขององค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO)
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังความมั่นคงอื่น ๆ ที่มีสายบังคับบัญชาแยกต่างหากจาก NSF
เช่น หน่วยข่าวกรองต่างประเทศ (Palestinian General Intelligence Service) ไม่ทราบจำนวนกำลังพล
หน่วยข่าวกรองในประเทศ (Palestinian Preventive Security) ประมาณ 4,000 คน กองกำลังตำรวจ 9,000 นาย กองกำลังพิเศษ (Special Force) ประมาณ 1,200 นาย กองกำลังพิทักษ์ประธานาธิบดี (Presidential Guard) ประมาณ 3,000 นาย หน่วยข่าวกรองทหาร (Military Intelligence) และหน่วยประสานภารกิจทางทหาร (Military Liaison) ไม่ทราบจำนวน และกองกำลังป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (Civil Defense) ประมาณ 1,000 คน
อย่างไรก็ดี ปาเลสไตน์ยังมีกองกำลังติดอาวุธสำคัญที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังของรัฐบาล คือ กองกำลังติดอาวุธภายใต้กองกำลัง Izz al-Din al-Qassam ของกลุ่มฮะมาส ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหนึ่งของปาเลสไตน์ มีกำลังพลประมาณ 15,000-20,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ อาวุธต่อสู้รถถัง ปืนใหญ่ประเภทยิงระเบิด (MRL) เครื่องยิงลูกระเบิด และขีปนาวุธพิสัยสั้น (Short-range ballistic missile-SRBM)
ปัญหาด้านความมั่นคง
๑. ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อ เช่นเดียวกับการขยายนิคมชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกที่แม้จะมีกระแสต่อต้านจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีการสร้างที่อยู่อาศัยของชาวยิวในเขตดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 มีผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออก มากกว่า 700,000 คน โดยตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายระหว่างประเทศในชุมชนชาวอิสราเอลเกือบ 300 แห่ง ทั้งสองฝ่ายมีการเผชิญหน้ากันเป็นระยะโดยใช้ความรุนแรง ทำให้ความสัมพันธ์มีความตึงเครียดในระดับสูง ขณะที่ด้านฉนวนกาซาถูกอิสราเอลปิดล้อมนานกว่า 12 ปี โดยจำกัดการเคลื่อนไหวของคนและสินค้าที่เข้า-ออกฉนวนกาซา ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข และสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น มีไฟฟ้าใช้เพียงวันละ 12 ชม. ขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ โดยมีชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและอยู่ใต้เส้นความยากจนเป็นจำนวนมาก
๒. ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนถึงเหตุการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซาตั้งแต่ 7 ต.ค.66 ซึ่งกลุ่มฮะมาสวางแผนการโจมตีมาอย่างดี โดยยกระดับปฏิบัติการทางทหารต่ออิสราเอลจากเดิมที่ใช้การโจมตีทางอากาศและการปะทะขนาดเล็กบริเวณพรมแดน ด้วยการเข้าโจมตีทั้งทางบก อากาศ และทะเล ครอบคลุมหลายพื้นที่ของอิสราเอล ปัจจุบัน ณ 31 ต.ค.2566 กลุ่มฮะมาสยังโจมตีทางอากาศต่อพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของอิสราเอลต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถสร้างความเสียหายแก่อิสราเอลมากนัก เนื่องจากอิสราเอลมีระบบป้องกันขีปนาวุธ Iron dome ระบบแจ้งเตือนภัยโจมตีทางอากาศ และที่หลบภัยสำหรับพลเรือนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเตรียมรับมือปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินของอิสราเอล โดยจะใช้ประโยชน์จากอุโมงค์ใต้ดินและกลยุทธ์ซุ่มโจมตีแบบสงครามกองโจรในการตอบโต้อิสราเอล
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ UNCTAD, UNESCO, UNIDO, OIC, ICC, OPCW, Arab League และ Interpol นอกจากนี้ ยังมีสถานะเป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ของ UN และ UNGA
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และแข่งขันกับสังคมโลก โดยได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากกลุ่มมิตรประเทศ อย่างไรก็ตาม ปาเลสไตน์ยังขาดแคลนเงินทุนและบุคลากรที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากความไม่สงบภายในดินแดน
การขนส่งและโทรคมนาคม มีท่าอากาศยานที่เวสต์แบงก์ 2 แห่ง และที่ฉนวนกาซา 1 แห่ง มีท่าเรือสำคัญที่ฉนวนกาซา 1 แห่ง ถนน 3,469 กม. (ไม่รวมฉนวนกาซา) โดยอิสราเอลตั้งด่านตรวจบนถนนสายต่าง ๆ หรือมีการปิดกั้นถนน ด้านโทรคมนาคม มีโทรศัพท์พื้นฐาน 457,706 เลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 4.4 ล้านเลขหมาย (ที่มา : สำนักงานสถิติกลางปาเลสไตน์) รหัสโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ +970 จำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 3.73 ล้านคน รหัสอินเทอร์เน็ต .ps
การเดินทาง การบินไทยไม่มีเที่ยวบินตรงไปยังปาเลสไตน์ ขณะที่สายการบินปาเลสไตน์ปัจจุบันปิดดำเนินการ การเดินทางไปปาเลสไตน์จึงต้องใช้สายการบินอิสราเอล และเดินทางจากอิสราเอลทางรถเพื่อเข้าสู่ปาเลสไตน์ ซึ่งอาจต้องขออนุญาตจากทางการอิสราเอลก่อน เวลาที่ปาเลสไตน์ช้ากว่าไทย 5 ชม.
ความสัมพันธ์ไทย-ปาเลสไตน์
ไทยและปาเลสไตน์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันโดยไทยรับรองรัฐปาเลสไตน์ตามมติ ครม. เมื่อ 29 พ.ย.2554 ก่อนที่คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ
ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ มีหนังสือแจ้งการตัดสินใจอย่างเป็นทางการเมื่อ 17 ม.ค.2555 และเมื่อ11 ก.ค.2555 นายรียาฎ อัลมาลิกี รมว.กต.ปาเลสไตน์ ซึ่งเดินทางมาร่วมการประชุม United Nations Asian Pacific Meeting in Support of Israeli-Palestinian Peace ที่กรุงเทพฯ (ระหว่าง 10-12 ก.ค.2555) ได้พบหารือกับนายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผช.รมว.กต.ไทย และตกลงร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ 1 ส.ค.2555 โดยไทยมอบหมายให้ สอท. ณ กรุงอัมมาน จอร์แดน
มีเขตอาณาครอบคลุมปาเลสไตน์ และเมื่อ 12 ก.พ.2556 ที่ประชุม ครม. มีมติรับรอง ออท.ปาเลสไตน์ประจำประเทศไทย โดยมีถิ่นพำนักที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ดูแลเขตอาณาไทยเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะเปิด สอท.ถาวร ในแต่ละฝ่ายต่อไป ขณะที่ประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ เคยเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่าง 19-20 ก.พ.2559 โดยถือเป็นการเยือนของผู้แทนระดับสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นครั้งแรก
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
เมื่อปี 2565 การค้าระหว่างไทย-ปาเลสไตน์ มีมูลค่า 4.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (178.38) ซึ่งเป็นการส่งออกให้ปาเลสไตน์ทั้งหมด สินค้าที่ไทยส่งออกไปปาเลสไตน์ ปี 2565 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผักกระป๋อง และผักแปรรูป
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) สถานการณ์สู้รบระหว่างกลุ่มฮะมาสกับอิสราเอล ซึ่งกำหนดการสู้รบเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดิน เพื่อกำจัดและทำลายโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มฮะมาส และแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธ ระยะที่ 2 การต่อสู้ที่มีระดับความรุนแรงต่ำ ส่วนระยะที่ 3 คือ การสร้างระบอบ
การปกครองในฉนวนกาซา
2) เสถียรภาพทางการเมืองของ Palestinian Authority (PA) ของเขตเวสแบงก์ จากการประท้วงต่อต้านอิสราเอลของชาวปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส ที่ครองตำแหน่งมายาวนาน ลาออกจากตำแหน่ง