สาธารณรัฐมัลดีฟส์
Republic of Maldives
เมืองหลวง มาเล
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณเส้นละติจูดที่ 3 องศา 15 ลิปดาเหนือ
เส้นลองจิจูดที่ 73 องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 298 ตร.กม.
อาณาเขต อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย และทางตะวันตกของศรีลังกา มีพื้นที่ชายฝั่งยาว 644 กม.
ภูมิประเทศ ประกอบด้วยหมู่เกาะปะการัง 26 กลุ่ม รวม 1,190 เกาะ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ
200 เกาะ และได้รับการพัฒนาเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวประมาณ 80 เกาะ
ภูมิอากาศ ภาพอากาศร้อนชื้น ช่วง พ.ย.-มี.ค. และมีฝนชุกช่วง มิ.ย.-ส.ค. อุณหภูมิเฉลี่ย 27-30 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี
ศาสนา อิสลาม (ซุนนี) 98.6% พุทธ 0.6% คริสต์ 0.5% และฮินดู 0.3%
ภาษา มัลดิเวียนดิเวฮี (Dhivehi) เป็นภาษาราชการ แต่เจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือมากกว่า 99.4% (ปี 2566) เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกเขียนได้ งบประมาณด้านการศึกษา 11.91% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) (ปี 2564)
วันชาติ 26 ก.ค. (ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2508)
นายโมฮาเหม็ด มูอิซซู
Mohamed Muizzu)
(ประธานาธิบดีมัลดีฟส์)
ประชากร 573,180 คน (ต.ค.2566) ประกอบด้วย เชื้อชาติสิงหล ดราวิเดียน อาหรับ และแอฟริกา อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 22% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 73% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 5% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวมประมาณ 81.07 ปี ชาย 72 ปี หญิง 77 ปี อัตราการเกิด 15.33 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 4.2 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.1%
ศาสนา อิสลาม (ซุนนี) 98.6% พุทธ 0.6% คริสต์ 0.5% และฮินดู 0.3%
ภาษา มัลดิเวียนดิเวฮี (Dhivehi) เป็นภาษาราชการ แต่เจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือมากกว่า 99.4% (ปี 2566) เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกเขียนได้ งบประมาณด้านการศึกษา 11.91% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) (ปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ มัลดีฟส์เคยปกครองโดยสุลต่านมานาน และเดิมอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร และจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐเมื่อ 26 ก.ค.2511 มีนายโมมูน อับดุล เกยูม ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 6 สมัย ด้วยระบบพรรคเดียวเป็นเวลา 30 ปี และ ให้คำมั่นปฏิรูปประชาธิปไตย รวมทั้งระบบการเมืองแบบมีผู้แทน และส่งเสริมเสรีภาพทางการเมือง โดยมีการจัดตั้งพรรคการเมืองหลายพรรคเมื่อปี 2548 และเมื่อปี 2551 รวมทั้งจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกเมื่อ ต.ค.2551 โดยที่มีผู้สมัครหลายคนจากหลายพรรคการเมือง
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ใช้กฎหมายอิสลามเป็นพื้นฐาน ผสมกับระบบกฎหมายจารีตประเพณี มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ไม่เกิน
2 วาระ และเป็นผู้แต่งตั้ง ครม.
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภามัลดีฟส์มีสมาชิกจำนวน 85 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี เป็นระบบสภาเดียว
ฝ่ายตุลาการ : ประธานศาลสูงสุดมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี
พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรค Adhaalath Party (AP) พรรค Dhivehi Quamee Party (DQ) พรรค Dhivehi Rayyithunge Party (DRP) พรรค Gaumiilthihaad (GI) พรรค Islamic Democratic Party (IDP) พรรค Maldivian Democratic Party (MDP) พรรค Maldives National Congress (MNC)
พรรค Maldives Social Democratic Party (MSDP) พรรค People’s Alliance (PA) พรรค People’s Party (PP) พรรค Poverty Alleviation Party (PAP) พรรค Republican (Jumhooree) Party (JP) และพรรค Social Liberal Party (SLP
เศรษฐกิจ มัลดีฟส์สามารถพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นสู่ระดับประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้อย่างรวดเร็ว โดยการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของมัลดีฟส์ รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนสร้างรีสอร์ตจำนวนมาก เพื่อรองรับการท่องเที่ยว รองลงมาคือ การประมง โดยมัลดีฟส์เป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่าที่สำคัญ สำหรับภาคการเกษตรและภาคการผลิตมีบทบาทน้อย เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูก และการขาดแคลนแรงงานในประเทศ รัฐบาลมีนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายกระจายรายได้และยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้แก่ประชาชน รัฐบาลจึงมุ่งเน้นการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยมีแผนให้เอกชนเข้ามาบริหารในบางกิจการ รวมทั้งสนับสนุนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนด้วยมาตรการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศตั้งแต่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้
ปีงบประมาณ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รูฟิยา (Rufiyaa/MVR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 15.40 รูฟิยา
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 0.43 รูฟิยา (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 6,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 6.10%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 1,148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 16,439 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 260,527 คน
อัตราการว่างงาน : 4.9%
อัตราเงินเฟ้อ : 4.36%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 283.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 24.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ค.2566)
สินค้าส่งออกสำคัญ : ปลาทูน่า ผลิตภัณฑ์จากทะเล เครื่องยนต์ เศษโลหะ
คู่ค้าสำคัญ : ไทย ศรีลังกา บังกลาเทศ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร
มูลค่าการนำเข้า : 307.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ค.2566)
สินค้านำเข้าสำคัญ : ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เสื้อผ้า อากาศยาน ไม้ สิ่งปลูกสร้างสำเร็จรูป เหล็ก อุปกรณ์สื่อสาร
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย สิงคโปร์ จีน ศรีลังกา และมาเลเซีย
สินค้าเกษตรที่สำคัญ : มะพร้าว ข้าวโพด มันเทศหวาน และปลาทะเล
สินค้าอุตสาหกรรม : การท่องเที่ยว การแปรรูปปลาทะเล การขนส่งทางทะเล การต่อเรือ การแปรรูปมะพร้าว
การทหาร กกล.ความมั่นคงแห่งชาติมัลดีฟส์ (Maldives National Defense Force-MNDF) ประกอบด้วย กกล.ทางทะเล (Marine Corps) กกล.ป้องกันชายฝั่ง (Coast Guard) กกล.รักษาความมั่นคง (Security Protection Group) งบประมาณด้านการทหารประมาณ 92.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.5% ของ GDP (ปี 2559) กกล.ความมั่นคงแห่งชาติมัลดีฟส์มีขนาดเล็ก และมียุทโธปกรณ์ไม่เพียงพอที่จะใช้ในการป้องกันการรุกรานจากภายนอก ยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่จะมีเพื่อให้หน่วยงานตำรวจใช้ในการป้องกันความปลอดภัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ปัญหาการค้ามนุษย์จากแรงงานอพยพ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบังกลาเทศ และบางส่วนมาจากอินเดีย เพื่อประกอบอาชีพเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาคบริการ และการขายบริการทางเพศของผู้หญิงและเด็ก
2) มัลดีฟส์มีแนวโน้มจะเผชิญปัญหาก่อการร้ายจากกลุ่มหัวรุนแรงมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง
จากเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดหัวรุนแรง ซึ่งได้รับการบ่มเพาะแนวคิดทางอินเทอร์เน็ต โดยมีการประเมินว่า ชาวมัลดีฟส์มากกว่า 1,400 คนมีแนวคิดหัวรุนแรง นอกจากนี้ มัลดีฟส์มีพลเรือนไปร่วมรบกับกลุ่ม Islamic State (IS) จำนวน 173 คน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ทั้งนี้ มัลดีฟส์จับกุมสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงที่วางแผนก่อเหตุร้ายในประเทศได้เมื่อ พ.ย.65
3) การเมืองของมัลดีฟส์ยังคงอยู่ในสภาวะเปราะบาง ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจเก่า (พรรค Progressive Party of Maldives หรือ PPM ของอดีตประธานาธิบดีอับดุลลา ยามีน อับดุล เกยูม) กับขั้วอำนาจใหม่ (พรรค MDP ของอดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด นาชีด)
4) ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อมัลดีฟส์ โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจทำให้ชาวมัลดีฟส์จำนวนมาก
ต้องกลายเป็นผู้อพยพ
ความสัมพันธ์ไทย-มัลดีฟส์
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 2 มิ.ย.2524 และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน มาโดยตลอด ทั้งในระดับรัฐบาล และประชาชน
ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-มัลดีฟส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากลงนามความตกลงความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกันเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายที่ต้องการจะขยายมูลค่าทางการค้าระหว่างกันเป็น 2 เท่า (200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2561 ทั้งนี้ ไทยและมัลดีฟส์ยังเห็นพ้องจะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะการขยายความร่วมมือด้านประมง และอุตสาหกรรมแปรรูปด้านการประมงระหว่างกัน เนื่องจากมัลดีฟส์เป็นแหล่งนำเข้าปลาทูน่าที่สำคัญของไทย รวมถึงด้านการท่องเที่ยวที่เป็น จุดแข็ง ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทย-มัลดีฟส์ ห้วง ม.ค.-ก.ค.2566 คิดเป็น 144.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้าไปมัลดีฟส์มูลค่า 52.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากมัลดีฟส์มูลค่า 92.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปมัลดีฟส์ ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากมัลดีฟส์ ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ
ในอนาคต หากมีการเชื่อมโครงการท่าเรือทวายมาที่มัลดีฟส์จะเอื้อประโยชน์ต่อระบบการขนส่งทางทะเล นอกจากนี้ ไทยพร้อมร่วมมือในด้านความมั่นคงกับมัลดีฟส์ เพื่อจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญและส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของทั้งสองประเทศ โดยมัลดีฟส์เคยขอความร่วมมือกองทัพเรือไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและปัญหาโจรสลัด ซึ่งกองทัพเรือไทยได้ส่งเรือรบ 2 ลำ เข้าร่วมกับกองเรือนานาชาติ Combined Task Force 151 ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2552 เพื่อแก้ไขปัญหาโจรสลัดในน่านน้ำสากล
ปัจจุบัน มีคนไทยในมัลดีฟส์มากกว่า 700 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการบริการ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับมัลดีฟส์ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการเดินอากาศ (ปี 2532) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข (ปี 2546) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ (ปี 2556) ความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ปี 2556) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการหารือร่วมไทย-มัลดีฟส์ (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพาณิชย์ อุตสาหกรรม และการธนาคาร (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ (ปี 2556) และบันทึกความเข้าใจด้านโทรคมนาคม (ปี 2556)