สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Lao People’s Democratic Republic
เมืองหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane Capital)
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 14-23 องศาเหนือ กับลองจิจูดที่
100-108 องศาตะวันออก เวลาเร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนิช 7 ชม. (เช่นเดียวกับไทย) มีพื้นที่ประมาณ 236,800
ตร.กม. (ประมาณครึ่งหนึ่งของไทย) เป็นพื้นดิน 230,800 ตร.กม. พื้นน้ำ 6,000 ตร.กม. ลาวเป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked Country) ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดนกับไทยและเมียนมา
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจีน 508 กม.
ทิศใต้ ติดกับไทย 1,835 กม. และกัมพูชา 535 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับเวียดนาม 2,337 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับเมียนมา 236 กม.
ภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น 3 เขต คือ เขตภูเขาสูง อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศ เขตที่ราบสูง พื้นที่ ตอ.ต. ของประเทศ มีที่ราบสูงขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ราบสูงเมืองพวน ที่ราบสูงนากาย และที่ราบสูงบอละเวน และ เขตที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ลาวมีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสำคัญ ระยะทาง 1,898 กม. มีความสำคัญทั้งด้านเกษตรกรรม ประมง การผลิตกระแสไฟฟ้า การคมนาคม และเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างลาวกับเพื่อนบ้าน
วันชาติ 2 ธ.ค.
นายสอนไซ สีพันดอน
SONEXAY SIPHANDONE
(นายกรัฐมนตรี)
ประชากร ประมาณ 7.58 ล้านคน (ปี 2565) ประกอบด้วย 50 ชนเผ่า ทางการลาวใช้คำกลางเรียกคนลาวทั่วไปว่า “คนสัญชาติลาว ชนเผ่าลาว” ความหนาแน่น 30 คนต่อ ตร.กม. ประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 36.73% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 59.57% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.7% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรประมาณ 62 ปี (ปี 2565) อัตราการเติบโตของประชากร 1.66% (ปี 2565)
ศาสนา ศาสนาพุทธ 66% นับถือผี (Animism)/ความเชื่อดั้งเดิม 30.8% คริสต์ 1.5% และอื่น ๆ 1.7%
ภาษา ภาษาลาวเป็นภาษาราชการ ชนเผ่าใช้ภาษาประจำเผ่าควบคู่กับภาษาลาว ยังคงใช้ภาษาฝรั่งเศสในวงราชการและการค้า สำหรับการศึกษาภาษาอังกฤษ และภาษาจีนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และนิยมใช้ในการติดต่อกับต่างประเทศและการค้า
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 79.86% (ปี 2565) งบประมาณด้านการศึกษา 2.3% ของ GDP (ปี 2563) การศึกษาภาคบังคับ 5 ปีในระดับประถมศึกษา ส่วนระบบการศึกษา แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา 5 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี และมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี ส่วนระดับอุดมศึกษา 4 ปี สำหรับระดับวิชาชีพชั้นกลาง 2 ปี และชั้นสูง 3 ปี มีมหาวิทยาลัย ทั้งสิ้น 5 แห่ง และวิทยาลัย 39 แห่ง
การก่อตั้งประเทศ เมื่อปี 1896 พระเจ้าฟ้างุ้ม (มหาราชองค์แรกของลาว) รวบรวมดินแดนก่อตั้งเป็นอาณาจักรล้านช้าง ศูนย์กลางอยู่เมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ต่อมาย้ายเมืองหลวงมายังนครเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างรุ่งเรืองราว 450 ปี และเริ่มเสื่อมลงในศตวรรษที่ 18 จากการแย่งชิงอำนาจ ทำให้อาณาจักรล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ส่วน คือ ล้านช้างหลวงพระบาง ล้านช้างเวียงจันทน์ และล้านช้างจำปาสัก ก่อนตกเป็นของไทยตั้งแต่ปี 2321 (สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ต่อมาเมื่อปี 2365 เจ้าอนุวงศ์กษัตริย์แห่งอาณาจักรเวียงจันทน์ (วีรบุรุษของลาว) พยายามกอบกู้เอกราชแต่ทำไม่สำเร็จ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ส่งกองทัพไปตีนครเวียงจันทน์ ขณะที่อาณาจักรหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองออกของไทยส่งทูตไปอ่อนน้อมต่อเวียดนามเมื่อปี 2374 ทำให้ฝรั่งเศสซึ่งยึดครองเวียดนามใช้เป็นข้ออ้างในการรุกเข้าครอบครองลาว ส่งผลให้ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส รวมระยะเวลาที่ลาวอยู่ภายใต้การปกครองของไทยประมาณ 115 ปี (ระหว่างปี 2321-2436)
ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2536 ต่อมาประชาชนลาวรวมตัวต่อสู้ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน (ก่อตั้งปี 2473) และฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามอินโดจีนครั้งแรก ที่เมืองเดียนเบียนฟู เวียดนาม เมื่อปี 2497 ลาวจึงได้รับเอกราช รวมระยะเวลาที่ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส 61 ปี (ปี 2436-2497) และหลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสตามข้อตกลง Geneva Accord ปี 2497 อาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 แห่ง ถูกผนวกเข้าเป็นราชอาณาจักรลาวมีเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์เป็นกษัตริย์ แต่การเมืองลาวยังไร้เสถียรภาพเพราะการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้นำลาวซึ่งแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายขวา ฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายซ้าย รวมถึงการแทรกแซงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ผ่านเวียดนาม จากนั้นลาวฝ่ายซ้ายซึ่งมีเจ้า สุพานุวงและพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นแกนนำยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จและเปลี่ยนระบอบการปกครองลาวเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ใช้ชื่อประเทศว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” (สปป.ลาว) เมื่อ 2 ธ.ค. 2518
การเมือง ปกครองในระบอบสังคมนิยม มีประธานประเทศเป็นประมุข และจอมทัพภายใต้การควบคุมของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (พปปล.)
ฝ่ายบริหาร : ประกอบด้วย 1) ประธานประเทศ ดำรงตำแหน่งประมุขรัฐและจอมทัพ วาระ 5 ปี มีหน้าที่ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายแต่งตั้ง/ถอดถอน นรม. และ ครม. รวมทั้งเจ้าแขวงและตำแหน่งสำคัญในกองทัพ โดยคำแนะนำของ นรม. ให้สัตยาบันหรือยกเลิกสัญญาที่ทำกับรัฐอื่นโดยความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติ โดยทั่วไปประธานประเทศเป็นบุคคลเดียวกับผู้นำพรรค ปัจจุบัน คือ ดร.ทองลุน สีสุลิด และ 2) ครม. มีหน้าที่บริหารประเทศตามนโยบายพรรคฯ ครม.ชุดปัจจุบันจัดตั้งเมื่อ มี.ค.2564 มี ดร.สอนไซ สีพันดอน (สมาชิกกรมการเมืองอันดับ 5) เป็น นรม. (ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 30 ธ.ค.2565 ต่อจากนายคำพัน วิพาวัน
ซึ่งประกาศลาออกในวันเดียวกัน)
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสภาเดียว คือ สภาแห่งชาติ สมาชิก 164 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 21 ก.พ.2564 วาระ 5 ปี (พ.ศ.2564-2569) ประชุมสามัญปีละ 2 ครั้ง มีหน้าที่ออกกฎหมาย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายตุลาการ รับรองแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม
และงบประมาณตามรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งประธานประเทศ นรม. ครม. ประธานสภา และอัยการประชาชนสูงสุด จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญลาวฉบับปี 2558 ระบุให้มีสภาประชาชนระดับแขวง (สมาชิก 492 คน) ทำหน้าที่พิจารณา รับรองนิติกรรมที่สำคัญของท้องถิ่น ติดตามตรวจตราการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายขององค์กรระดับท้องถิ่น
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย ศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ระบบศาลมี 3 ชั้น คือ ศาลประชาชนเขตหรือศาลชั้นต้น ศาลประชาชนแขวง/นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และศาลประชาชนสูงสุดหรือศาลฎีกา
พรรคการเมือง : มีพรรคเดียวคือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว (พปปล.) เป็นองค์กรทางการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด บริหารประเทศตั้งแต่ปี 2518 มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์ทุกด้านของประเทศ ภายใต้หลักการ “พรรคนำพา รัฐคุ้มครอง ประชาชนเป็นเจ้าของ” รวมถึงคัดเลือกและเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและกองทัพ อาทิ ประธานประเทศ นรม. และ ครม. โดย ดร.ทองลุน สีสุลิด ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ พปปล. ตั้งแต่ปี 2564
โครงสร้างพรรคที่สำคัญ ได้แก่ 1) กรมการเมืองศูนย์กลางพรรค (Politburo) เป็นคณะบริหารงานสูงสุด ทำหน้าที่ตัดสินใจประเด็นสำคัญ มี ดร.ทองลุน สีสุลิด เป็นกรมการเมืองลำดับที่ 1 พร้อมดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ พปปล. ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 12 ตำแหน่ง เนื่องจากนายคำพัน วิพาวัน ลาออก เมื่อ 30 ธ.ค.2565 2) กรรมการศูนย์กลางพรรค (Central Committee) เป็นองค์กรนำสูงสุด เมื่อสมัชชาพรรคไม่อยู่ในสมัยประชุม ทำหน้าที่ดูแลตรวจสอบระบบการทำงานและการเงินของพรรค รวมทั้งการปฏิบัติตามมติพรรค กำหนดประชุมสมัยสามัญ 2 ครั้งต่อปี ปัจจุบันมีสมาชิก 70 คน และสำรอง 10 คน และ 3) สมัชชาพรรค เป็นองค์กรนำสูงสุดทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของพรรค รวมทั้งเลือกตั้งคณะผู้บริหารพรรค ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศจำนวน 758 คน วาระการประชุมใหญ่ 5 ปีต่อครั้ง ล่าสุด จัดเมื่อ ม.ค.2564 เป็นสมัยที่ 11 (การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 12 จะจัดขึ้นในปี 2569)
เศรษฐกิจ ลาวปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบกลไกตลาดตามนโยบายจินตนาการใหม่ (New Economic Mechanism-NEM) ตั้งแต่ปี 2529 เน้นเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมการค้าเสรี เป้าหมายสำคัญเพื่อให้หลุดพ้นจากสถานะการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDCs) ภายในปี 2569 และเป็นประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2573 ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศ คือ การเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานไฟฟ้าของภูมิภาค (Battery of Asia) การเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Land-linked country) ปัจจุบัน ลาวใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 9 (ปี 2564-2568) รัฐบาลกำหนดชัดเจนในการส่งเสริมกสิกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ และให้ GDP ขยายตัวเฉลี่ยอย่างน้อย 4% ต่อปี
ปัญหาทางเศรษฐกิจของลาว อาทิ การขาดดุลงบประมาณภาครัฐ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศจำกัด หนี้สาธารณะสูง อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง เงินกีบอ่อนค่า การขาดแคลนเชื้อเพลิง รวมถึงภาคการผลิตภายในประเทศยังไม่เข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลลาวมีมาตรการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับผู้นำรัฐบาล การจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ การจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล มาตรการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดการรายรับและรายจ่ายของรัฐ เข้มงวดโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยกำกับให้ทำธุรกรรมผ่านธนาคารพาณิชย์ของลาว การส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : กีบ (LAK)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : ประมาณ 20,480 กีบ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : ประมาณ 575 กีบ : 1 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2565)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 15,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.7% (ปี 2565) และคาดว่าจะเป็น 3.9% ในปี 2566
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 2,088 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 2.5 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 2.6%
อัตราเงินเฟ้อ : 23%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุลประมาณ 954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 8,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : พลังงานไฟฟ้า แร่ธาตุ (ทองคำ ทองแดง สังกะสี เงิน และถ่านหิน) สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากไม้ ไม้แปรรูป และเครื่องอุปโภคบริโภค
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : จีน เวียดนาม และไทย
มูลค่าการนำเข้า : 7,244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และส่วนประกอบ
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : ไทย จีน และเวียดนาม
การทหาร กองทัพประชาชนลาว (ทปล.) ขึ้นตรงต่อกระทรวงป้องกันประเทศ (เทียบเท่า กห.) โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นผู้ชี้นำและกำหนดนโยบายป้องกันประเทศ ทปล. มีกำลังพลทั้งสิ้น 62,600 นาย ประกอบด้วย กำลังทางบก 58,000 นาย กำลังทางอากาศ 4,000 นาย กำลังทางเรือ (ปัจจุบันขึ้นตรงต่อกระทรวงป้องกันความสงบ (ปกส.) ประมาณ 600 นาย ทั้งยังมีกำลังกึ่งทหาร/กองหลอนมากกว่า 100,000 นาย
กำลังทางบก แบ่งออกเป็น 1) กำลังรบหลัก (ทหารประจำการ) ประมาณ 35,000 นาย ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงปฏิบัติงานทุกพื้นที่ และ 2) กำลังประจำถิ่นประมาณ 23,000 นาย เป็นกำลังเคลื่อนที่เร็วของท้องถิ่น ใช้กองหลอนเป็นผู้นำ ปัจจุบันมี 17 บก.ทหารแขวง 1 บก.ทหารนครหลวง และกรมทหารชายแดน (กทด.) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการรักษาอธิปไตยทั้งเขตแดนทางบกและทางน้ำ ปัจจุบัน ทปล.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการทหารกับกองทัพรัสเซียในการฝึกร่วมกับรัสเซีย รหัส “LAROS-2022” เมื่อ พ.ย.2565 ที่แขวงเชียงขวาง ลาว การฝึกร่วมกับจีน รหัส “โล่กำบังมิตรภาพ” (Friendship Shield-2023) ที่ลาว และการฝึกร่วมเพื่อมนุษยธรรมกับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ เช่น เวียดนาม และกัมพูชา
ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ : ปพ. 6.33 มม. (MAKAROF) ปลย.AK-47 ปตอ. 12.7 มม. ปตอ.37-2 จรวดสแตนล่า ถ.T-34 ถ.T-72 B1MS ยานยนต์หุ้มเกราะ BTR-152 ป.85 D4 ป.อัตตาจร ขนาด 152 มม. จรวดหลายลำกล้อง BM-21 (40 ท่อยิง) บ.ฝึก/โจมตีขนาดเบา Yak-130 และ ฮ.ลำเลียง รวมทั้งเรือตรวจการณ์
ในแม่น้ำโขงซึ่งได้รับมอบจากจีนตามแผนปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยในแม่น้ำโขง
ปัญหาด้านความมั่นคง
ลาวยังมีปัญหาการปักปันเขตแดนและพื้นที่ทับซ้อนทั้งทางบกและทางน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับไทยและกัมพูชา ไทย การปักปันเขตแดนทางบกคืบหน้ามากกว่า 96% ขณะที่เขตแดนทางน้ำ ยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ กัมพูชา การปักปันเขตแดนทางบกคืบหน้า 86% มีพื้นที่คงค้างกว่า 9 แห่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังเน้นแนวทางการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนอย่างสันติวิธี โดยส่งเสริมพื้นที่ชายแดนเป็นชายแดนแห่งสันติภาพ
ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ อาทิ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่มีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ลาวเป็นประเทศทางผ่าน (ยาบ้า ไอซ์ และเฮโรอีนจากเมียนมา) แหล่งพักคอย และปลายทางของขบวนการลักลอบค้ายาเสพติด รวมถึงเป็นเส้นทางลำเลียงสารตั้งต้นเข้าสู่พื้นที่ผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ และลำเลียงผ่านไปยังประเทศที่ 3 ทั้งไทย เวียดนาม กัมพูชา ออสเตรเลีย และไต้หวัน โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลาย
ปัญหาขบวนการต่อต้านรัฐบาลลาว (ขตล.) หรือ “กลุ่มคนบ่ดี” ที่บางส่วนอาจลักลอบใช้พื้นที่ชายแดนไทยเป็นทางผ่านหรือหลบซ่อนตัว นอกจากนี้ พบการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลาวในต่างประเทศ ทั้งในไทย ยุโรป และสหรัฐฯ โดยกลุ่มเหล่านี้เคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลลาวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ลักษณะวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีรัฐบาลลาว ในประเด็นการจำกัดสิทธิการแสดงความเห็นทางการเมือง
การใช้ความรุนแรงต่อนักเคลื่อนไหว การทุจริต การเอื้อประโยชน์ให้จีน รวมถึงความไร้เสถียรภาพ
ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคมลาว
ปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขง ลาวยังยึดมั่นในเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตและส่งออกกระแสไฟฟ้าของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยผลักดันการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงให้เป็นไปตามแผน อาทิ เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนซะนะคาม ซึ่งสร้างความกังวลให้ประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อผลกระทบข้ามแดนและประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
ความสัมพันธ์ไทย-ลาว
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 19 ธ.ค.2493 ภาพรวมความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดบนพื้นฐานของการเคารพและผลประโยชน์ร่วมกัน นับเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีดีที่สุด โดยสถาบันกษัตริย์ของไทยมีบทบาทช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี เช่นเดียวกับผู้นำลาวชุดปัจจุบันมีทัศนคติที่ดีต่อไทยเช่นกัน ที่ผ่านมา ไทยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนลาวทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะในห้วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่รัฐบาลไทยสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของในลาว นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังต้องการให้ไทยดูแลแรงงานลาวที่ทำงานอยู่ในไทย และต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนในลาวเพิ่มขึ้น
ประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี อาทิ การปักปันเขตแดนทางบกและทางน้ำ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มหมิ่นสถาบันฯ ไทยที่อยู่ในลาว และความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลาวในไทย ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการลักลอบค้ายาเสพติด และขบวนการค้ามนุษย์ การฉ้อโกงทางออนไลน์ นอกจากนี้ ปัญหาจากการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและบทบาทของสื่อมวลชนไทย โดยต้องคำนึงถึงเอกลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรม
ด้านการค้า ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของลาว และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของลาว การค้าทวิภาคีระหว่างไทย-ลาว ปี 2565 มีมูลค่ารวม 274,461 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 คิดเป็น 19.56% โดยไทย
ส่งออก 157,458 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.37% และนำเข้า 117,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.54% ไทยได้ดุลการค้า 40,455 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยและลาวตั้งเป้าหมายการค้าทวิภาคี ให้เติบโตกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 360,525 ล้านบาท) ภายในปี 2568
การค้าชายแดนระหว่างไทยกับลาว ปี 2565 มูลค่าการค้าชายแดนรวม 260,018 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 คิดเป็น 21.08% แบ่งเป็นไทยส่งออก 156,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.64% และนำเข้า 103,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.77% ไทยได้ดุลการค้า 53,395 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่น ๆ ผักและของปรุงแต่งจากผัก เครื่องรับ-ส่งภาพและเสียงฯ เป็นต้น
สำหรับการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว ห้วง ม.ค.-ส.ค.2566 มีมูลค่าการค้ารวม 169,355 ล้านบาท โดยไทยส่งออกมูลค่า 104,839 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 64,516 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 40,323 ล้านบาท สำหรับด่านการค้าที่มีมูลค่าการค้าสูงสุด (ทั้งการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน) ได้แก่ ด่านศุลกากรมุกดาหาร มูลค่าการค้ารวม 210,264 ล้านบาท
การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.ไทย เยือนลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อ ก.ย.2559 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28 และ 29 ที่นครหลวงเวียงจันทน์
– ดร.ทองลุน สีสุลิด นรม.ลาว พร้อมภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ ต.ค.2559
เพื่อถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
– นายบุนยัง วอละจิด เลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว และประธานประเทศลาว พร้อมภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ ต.ค.2560 เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.ไทย พร้อมคณะ เยือนลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อ ธ.ค.2561 เพื่อเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat-JCR) ครั้งที่ 3
– ดร.ทองลุน สีสุลิด นรม.ลาว เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ มิ.ย.2562 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดการปัญหาหมอกควันร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยยึดหลัก “Two Countries One Destination”
– ดร.ทองลุน สีสุดลิด นรม.ลาว พร้อมภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง 2-4 พ.ย.2562 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯ
– นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รมว.กต.ลาว เยือนไทยระหว่าง 2-5 พ.ย.2564 เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission: JC) ไทย-ลาว ครั้งที่ 22 ที่กรุงเทพฯ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นการเยือนไทยครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
– ดร.พันคำ วิพาวัน นรม.ลาว พร้อมภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ 1-2 มิ.ย.2565 โดย นรม.ลาวและภริยา ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน และเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสระปทุม รวมถึงหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม. เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-ลาว
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของชาติลาว ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 9 (ปี 2564-2568) มุ่งรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับ 4% ต่อปี และเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาติ ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และ 2) การแก้ไขปัญหายาเสพติด
ความร่วมมือระหว่างลาวกับต่างประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน มีบทบาทสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในลาวอย่างมาก รวมถึงการรักษาสมดุลอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทั้งจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม และไทยที่ต้องการแข่งขันอิทธิพลในลาวและพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
แนวทางการดำเนินการสำหรับเป็นประธานอาเซียนในปี 2567 โดยเฉพาะบทบาทและท่าทีต่อการแก้ไขปัญหาในภูมิภาค อาทิ ปัญหาพิพาททะเลจีนใต้ สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ภาวะเศรษฐกิจซบเซา การขยายอิทธิพลของมหาอำนาจในภูมิภาค ฯลฯ