สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
(United Arab Emirates-UAE)
เมืองหลวง อาบูดาบี
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างเส้นละติจูดที่ 22-26 องศา 5 ลิปดาเหนือ และระหว่างเส้นลองจิจูดที่ 51-56 องศา 5 ลิปดาตะวันออก ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย ริมอ่าวเปอร์เซีย มีพื้นที่ 83,600 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 116 ของโลก และมีขนาดประมาณ 1 ใน 6 ของไทย รัฐที่ใหญ่ที่สุดของ UAE คือ รัฐอาบูดาบีซึ่งมีพื้นที่ 67,340 ตร.กม. (ประมาณ 87% ของ UAE) ส่วนรัฐที่เล็กที่สุด คือ รัฐอัจญ์มานซึ่งมีพื้นที่ 260 ตร.กม. มีชายแดนทางบกยาว 1,066 กม. และมีชายฝั่งยาว 1,318 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับอ่าวเปอร์เซีย (ประมาณ 1,000 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวโอมาน ช่องแคบฮอร์มุซ และโอมาน (609 กม.)
ทิศใต้และตะวันตก ติดกับซาอุดีอาระเบีย (457 กม.)
ภูมิประเทศ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1) พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอาระเบีย เช่น พื้นที่ในภาคเหนือ ซึ่งเป็นชายฝั่งที่ทอดตัวยาวไปตามแนวชายฝั่งตอนล่างของอ่าวอาหรับหรืออ่าวเปอร์เซีย และเหมาะกับการสร้างท่าเรือ ส่วนพื้นที่ภาคใต้ตะวันออก และตะวันตก เป็นทะเลทรายกว้างใหญ่ ซึ่งบรรจบกับอัรรุบอัลคอลี (Empty Quarter) ซึ่งเป็นเขตทะเลทรายทุรกันดารทางใต้ของซาอุดีอาระเบีย และมีโอเอซิสที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ ลีวา และอัลบุรอยมี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่เพียงพอต่อการจัดตั้งเป็นชุมชนถาวร และการเพาะปลูก และ 2) ดินแดนหมู่เกาะในอ่าวเปอร์เซียหลายร้อยเกาะ ซึ่งบางแห่งยังมีปัญหาพิพาทในการอ้างกรรมสิทธิ์กับกาตาร์และอิหร่านซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี เกาะขนาดเล็กและแนวปะการังจำนวนมาก รวมทั้งแนวสันทรายที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามกระแสน้ำและลมพายุ ทำให้การเดินเรือใกล้แนวชายฝั่งต้องใช้ความระมัดระวัง พื้นที่การเกษตรทั้งหมดในประเทศ 4.6%
วันชาติ 2 ธ.ค. (วันสถาปนาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อปี 2514)
เชค มุฮัมมัด บิน ซายิด อาลนะห์ยาน
His Highness Sheikh Mohamed bin Zayed Al Nahyan
(ประธานาธิบดี UAE และเจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี)
ประชากร 9,973,449 คน เป็นชาว UAE 11.6% เอเชียใต้ 59.4% (อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน และอื่น ๆ) อียิปต์ 10.2% และอื่น ๆ (ชาวตะวันตกและเอเชียตะวันออก) 18.9% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ ได้แก่ วัยเด็ก (0-14 ปี) 16.23% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 81.77% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 2% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 79.8 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 78.4 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 81.2 ปี อัตราการเกิด 10.8% คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 1.6% คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.58% (ประมาณการ ปี 2566)
ศาสนา ศาสนาประจำชาติ คือ อิสลาม มีผู้นับถือ 76% (ซุนนีประมาณ 61% และชีอะฮ์ประมาณ 15%) คริสต์ 9% และศาสนาอื่น ๆ (ฮินดู พุทธ ยิว) 15%
ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ แต่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ ในแรงงานชาวต่างชาติ เช่น ภาษาฮินดี ภาษา Malayam (ภาษาท้องถิ่นของรัฐเกรละทางภาคใต้ของอินเดีย) ภาษาอุรดู ภาษาปาทาน ภาษาตากาล็อก และภาษาฟาร์ซี
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 98.13% (ประมาณการปี 2564 ของ United States Agency for International Development) การศึกษาระดับประถมจนถึงระดับอุดมศึกษา อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และจัดตั้งสภาการศึกษาของแต่ละรัฐ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล นักเรียนชาว UAE ที่เข้าศึกษาในโรงเรียนของรัฐได้รับการศึกษาฟรี ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน คือ ภาษาอาหรับ และภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง มีโรงเรียนรัฐและเอกชน รวมถึงโรงเรียนเอกชนนานาชาติทั่วประเทศรวมกว่า 1,260 แห่ง การศึกษาระดับอุดมศึกษา มีมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้แก่ UAE University, Zayed University และ Higher Colleges of Technology และมหาวิทยาลัยเอกชน ได้แก่ American Universities of Sharjah and Dubai, Sharjah University, Abu Dhabi University, Al Hosn University, Khalifa University of Science and Technology และ Masdar Institute for Science and Technology รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยต่างชาติที่เข้าไปจัดตั้งวิทยาเขตใน UAE เช่น มหาวิทยาลัย Sorbonne ของฝรั่งเศส New York University และ Johns Hopkins’ Bloomberg School of Public Health ของสหรัฐฯ
การก่อตั้งประเทศ ดินแดนที่เป็น UAE ในปัจจุบันเคยเป็นส่วนหนึ่งของ Trucial States หรือ Trucial Sheikdoms โดยเรียกตามข้อตกลงหยุดยิงทางทะเลที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2396 ระหว่างสหราชอาณาจักรกับผู้นำ (เชค) ชาวอาหรับเผ่าต่าง ๆ ในดินแดนนี้ รวม 9 รัฐ ได้แก่ กาตาร์ บาห์เรน อาบูดาบี ดูไบ ชาร์จาห์ (ชาริเกาะฮ์) อัจญ์มาน อุมมุลกูวัยน์ รอสอัลคอยมะฮ์ และฟุญัยเราะฮ์ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเส้นทางการค้าทางเรือของสหราชอาณาจักรไปยังอินเดียจะไม่ถูกรบกวน ต่อมาเมื่อปี 2435 ทั้งสองฝ่ายลงนามในสนธิสัญญาที่ระบุว่า สหราชอาณาจักรจะให้การอารักขารัฐเหล่านี้จากการรุกรานทั้งทางบกและทางทะเล จนกระทั่งปี 2511 สหราชอาณาจักรประกาศความต้องการที่จะยุติการอารักขาให้รัฐเหล่านี้ทราบและยืนยันการตัดสินใจดังกล่าวอีกครั้งเมื่อ มี.ค.2514 ผู้นำ Trucial States ทั้ง 9 รัฐ จึงหารือร่วมกันเกี่ยวกับการจัดตั้งเป็นสหภาพแห่งรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Union of Arab Emirates) แต่ไม่ได้ข้อยุติ ทำให้บาห์เรนและกาตาร์ประกาศตัวเป็นรัฐเอกราชฝ่ายเดียวเ มื่อ ส.ค. และ ก.ย.2514 ตามลำดับ ก่อนจะได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อสนธิสัญญาสหราชอาณาจักร Trucial States สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ธ.ค.2514 อย่างไรก็ดี เชค ซายิด บิน สุลฏอน อาลนะห์ยาน เจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี กับเชค รอชิด บิน ซะอีด อาลมักตูม เจ้าผู้ครองรัฐดูไบ ยังมุ่งมั่นจะสถาปนาสหภาพดังกล่าวต่อไป โดยจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนจะเสนอให้เจ้าผู้ครองรัฐที่เหลือเพื่อพิจารณา ผลการพบหารือของผู้นำรัฐที่เหลือ 7 รัฐ (อาบูดาบี ดูไบ ชาร์จาห์ อัจญ์มาน อุมมุลกูวัยน์ รอสอัลคอยมะฮ์ และฟุญัยเราะฮ์) เมื่อ 2 ธ.ค.2514 นำไปสู่การประกาศจัดตั้งประเทศใหม่ในชื่อ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” (United Arab Emirates-UAE) โดยมีอาบูดาบีเป็นเมืองหลวง พร้อมกับประกาศใช้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในคราวเดียวกัน โดยมี 6 รัฐเข้าร่วม ยกเว้นรอสอัลคอยมะฮ์ ที่เข้าร่วมภายหลังเมื่อต้นปี 2515
การเมือง การปกครองของ UAE ผสมผสานระหว่างระบอบสหพันธรัฐ (Federation) กับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2514 กำหนดให้สภาผู้ปกครองสูงสุด (Federal Supreme Council) ซึ่งประกอบด้วย เจ้าผู้ครองรัฐ (อมีร หรือ Emir) ทั้ง 7 รัฐ คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อทำหน้าที่เป็นพระประมุขของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติตำแหน่งประธานาธิบดีจะเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี และตำแหน่ง นรม.จะเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ ประธานาธิบดี UAE พระองค์ปัจจุบันคือ เชค มุฮัมมัด บิน ซายิด อาลนะห์ยาน (พระชนมพรรษา 63 พรรษา/ปี 2567) เจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี ทรงดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 14 พ.ค.2565 โดยสภาผู้ปกครองสูงสุดมีมติเมื่อวันเดียวกันให้ เชค มุฮัมมัด เจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี ทรงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี UAE หลังจาก เชค เคาะลีฟะฮ์ (พระเชษฐา) เจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี และประธานาธิบดี UAE สวรรคตเมื่อ 13 พ.ค.2565 ส่วนรองประธานาธิบดี และ นรม.UAE พระองค์ปัจจุบันคือ เชค มุฮัมมัด บิน รอชิด อาลมักตูม (พระชนมพรรษา 75 พรรษา/ปี 2567) เจ้าผู้ครองรัฐดูไบ ซึ่งสภาผู้ปกครองสูงสุดมีมติให้ เชค มุฮัมมัด เจ้าผู้ครองรัฐดูไบ ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และ นรม.UAE ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน
ฝ่ายบริหาร : มีสภาผู้ปกครองสูงสุด (Federal Supreme Council) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 7 รัฐ เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบีและรัฐดูไบมีสิทธิออกเสียงยับยั้ง จัดประชุมปีละ 4 ครั้ง ทำหน้าที่วางกรอบนโยบาย ตรากฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย และให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศ มีอำนาจในการคัดเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้ง นรม.และ ครม. โดย ครม.มีหน้าที่ดำเนินนโยบายด้านความมั่นคง การทหาร การต่างประเทศ การให้สัญชาติ การเงิน-การธนาคาร แรงงาน การศึกษา การสาธารณสุข การสื่อสารและโทรคมนาคม การควบคุมการจราจรทางอากาศ การออกทะเบียนอนุญาตสำหรับอากาศยาน และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่อื่นใดที่มิได้มอบหมายให้รัฐบาลกลางให้ถือว่าเป็นอำนาจของแต่ละรัฐที่จะดำเนินการเองได้
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นแบบสภาเดี่ยว คือ สภาสหพันธ์แห่งชาติ (Federal National Council หรือ Majlis al-Ittihad al-Watani) มีสมาชิก 40 คน ในจำนวนนี้ 20 คน มาจากการแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองรัฐแต่ละรัฐ ตามที่รัฐของตนได้รับโควตา และอีก 20 คน มาจากการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้ง 337,738 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งครั้งหลังสุดมีขึ้นเมื่อ 7 ต.ค.2566 และครั้งต่อไปจะมีขึ้นใน ต.ค.2570 มีอำนาจที่จำกัดแค่เพียงตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลด้วยการให้คำแนะนำ รวมทั้งอภิปรายร่างงบประมาณประจำปีและร่างกฎหมายอื่น ๆ แต่ไม่มีอำนาจแก้ไขหรือยับยั้งไม่ให้ออกกฎหมายได้ นอกจากนี้ ยังอภิปรายเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ แต่ไม่มีอำนาจในการให้สัตยาบัน ส่วนการจัดตั้งพรรคการเมือง ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากทางการไม่อนุญาต
ฝ่ายตุลาการ : มีความเป็นอิสระตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยมีศาลสูงสุดแห่งสหพันธรัฐ (Federal Supreme Court) ซึ่งประธานศาลสูงสุดและคณะผู้พิพากษารวม 4 คน มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและได้รับการอนุมัติจากสภาผู้ปกครองสูงสุด ระบบศาลสูงสุดแห่งสหพันธ์แบ่งเป็นศาลปกติที่พิจารณาคดีอาญา คดีแพ่ง และพาณิชย์ โดยใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) กับศาลศาสนาอิสลามที่พิจารณาคดีครอบครัวและมรดก รวมทั้งข้อขัดแย้งทางศาสนา โดยใช้บทบัญญัติของศาสนาอิสลาม (ชะรีอะฮ์) อย่างไรก็ดี รัฐดูไบและรอสอัลคอยมะฮ์ไม่ได้ขึ้นกับศาลสูงสุดแห่งสหพันธ์ นอกจากนี้แต่ละรัฐยังมีศาลยุติธรรมของตนแยกจากศาลสูงสุดแห่งสหพันธ์
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี และเป็นประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จัดให้ UAE เป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้สูงมาตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่ World Economic Forum จัดให้ UAE อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุดของโลก ส่วนสถาบันการจัดการนานาชาติหรือ Institute for Management Development (IMD) ในสวิตเซอร์แลนด์ ประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจของ UAE เมื่อ พ.ค.2566 อยู่ที่อันดับ 7 ของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด 64 ประเทศทั่วโลก การค้นพบแหล่งน้ำมันในรัฐอาบูดาบีและผลิตเพื่อส่งออกได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2505 ตามมาด้วยการส่งออกน้ำมันของรัฐดูไบเมื่อปี 2512 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการรวมประเทศ ปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของรัฐเล็ก ๆ เหล่านี้ จากเดิมที่เคยพึ่งพาการค้าไข่มุกและการประมงเป็นหลัก ไปเป็นพึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นรายได้ภาครัฐที่สำคัญที่สุดและถูกนำมาใช้พัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ สภาพที่ตั้งของประเทศที่อยู่ระหว่างภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เป็นปัจจัยที่ทำให้ UAE กลายเป็นศูนย์กลางการค้า การธนาคาร และการคมนาคมในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการเป็นแหล่งขนถ่ายและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค
รัฐบาล UAE กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (Abu Dhabi Economic Vision 2030) ระยะ 25 ปี (ระหว่างปี 2548-2573) แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ระยะที่ 1 (Pre-Vision) ระหว่างปี 2548-2549 ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2550-2556 ระยะที่ 3 ระหว่างปี 2557-2562 และระยะที่ 4 ระหว่างปี 2563-2573 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ Abu Dhabi Economic Vision 2030 รัฐบาลเร่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศ การเพิ่มบทบาทภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมพัฒนาและสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเสรี (Economic Free Zone) โดยเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอะลูมีเนียม ปิโตรเคมี การบินและอวกาศ เวชภัณฑ์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีด้านพลังงานและพลังงานทางเลือก รวมถึงการใช้ UAE เป็นฐานกระจายสินค้า ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลเร่งส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายแห่งรวมมูลค่ากว่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น การก่อสร้างอาคาร Burj Khalifa อาคารสูงที่สุดในโลกที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 4 ม.ค.2553 การสร้างท่าอากาศยานนานาชาติ Al Maktoum ที่ใช้งบประมาณก่อสร้างมากที่สุดในโลก เมื่อปี 2553 และโครงการก่อสร้าง Masdar City เมืองเศรษฐกิจใหม่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐอาบูดาบี โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยพัฒนาและธุรกิจพลังงานทางเลือกแบบครบวงจร พร้อมจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ที่สามารถรองรับประชากรประมาณ 40,000 คน รวมทั้งโรงงานและบริษัทมากกว่า 100 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573
นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมภาคการบริการและการผลิตในอุตสาหกรรม เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันและการส่งเสริมการจ้างแรงงานชาว UAE (Emiratization) เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ : น้ำมันดิบ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 113,000 ล้านบาร์เรล กำลังการผลิตวันละ 3,064 ล้านบาร์เรล และส่งออกได้วันละ 2,717 ล้านบาร์เรล ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้ว 8,210 ล้านลูกบาศก์เมตร กำลังการผลิตวันละ 55,574 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่งออกได้วันละ 7,280 ล้านลูกบาศก์เมตร (ประมาณการปี 2565 ของ OPEC)
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดิรฮัม (Dirham – AED)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 3.67 ดิรฮัม : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 9.81 บาท : 1 ดิรฮัม (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 895,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2566 ของ IMF)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ : 3.4%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 41,567 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 3.1%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 88,960 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและทองคำ: 138,433 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2565 ของธนาคารโลก)
แรงงาน : 6.579 ล้านคน (ประมาณการปี 2566 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ)
อัตราการว่างงาน : 2.75%
ดุลการค้าต่างประเทศ : เกินดุล 174,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2565 ขององค์การการค้าโลก)
มูลค่าการส่งออก : 599,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่น ๆ (56.9%) ผลิตภัณฑ์และสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ (34.5%) เช่น เครื่องจักรกลไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อากาศยาน ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร (4.4%) สินค้าอื่น ๆ รวมถึงการส่งออกสินค้าต่อไปประเทศที่สาม (re-export) (4.2%)
ประเทศส่งออกสินค้าสำคัญ : ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย อิรัก สหภาพยุโรป ฮ่องกง จีน สวิตเซอร์แลนด์ โอมาน อิหร่าน คูเวต สหรัฐฯ เบลเยียม และบาห์เรน
มูลค่าการนำเข้า : 425,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : ผลิตภัณฑ์และสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ (63.3%) ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร (8%) เช่น น้ำตาลทราย ข้าว เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ปีก เชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ (21.6%) และสินค้าอื่น ๆ (7.2%)
ประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ : จีน สหภาพยุโรป อินเดีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี ตุรกี สหราชอาณาจักร อิตาลี ฮ่องกง และฝรั่งเศส
การทหาร เมื่อปี 2565 UAE ใช้งบประมาณด้านการทหาร 20,356 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.04% ของ GDP) นอกจากนี้ UAE ยังเป็นเจ้าภาพจัดงาน International Defence Exhibition & Conference (IDEX) ซึ่งเป็นงานจัดแสดงอาวุธและการประชุมด้านการทหารที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) เป็นประจำทุก 2 ปี ครั้งหลังสุดมีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 20-24 ก.พ.2566 ขณะเดียวกัน UAE เป็นพันธมิตรทางทหาร ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ โดยอนุญาตให้ ทอ. และ ทร.สหรัฐฯ เข้าใช้ฐานทัพอากาศ Al Dhafra ของ ทอ.UAE (ตั้งอยู่ทางใต้ของรัฐอาบูดาบี) และท่าเรือ Jabel Ali ที่รัฐดูไบ เป็นฐานส่งกำลังบำรุงสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี 2534 เพื่อช่วยปลดปล่อยคูเวตจากการรุกรานของอิรัก สงครามอัฟกานิสถานเมื่อปี 2544 เพื่อโค่นล้มกลุ่มตอลิบัน สงครามอิรักเมื่อปี 2546 เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีซัดดัม ฮุเซน และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายใน Horn of Africa โดยมีทหารสหรัฐฯ ประจำการใน UAE ประมาณ 5,000 นาย และทั้งสองประเทศยังลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหม (Defence Cooperation Agreement-DCA) เมื่อ พ.ค.2560 เพื่อยกระดับและส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางการทหาร รวมถึงความร่วมมือด้านการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ปัจจุบัน UAE ยังอนุญาตให้ฝรั่งเศสเข้าไปตั้งฐานทัพถาวร Peace Camp ที่ฐานทัพอากาศ Al Dhafra และฐานทัพเรือที่ท่าเรือ Mina Zayed ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐอาบูดาบี บริเวณชายฝั่งใกล้ช่องแคบฮอร์มุซในอ่าวอาหรับ/อ่าวเปอร์เซียตั้งแต่ พ.ค.2552 โดยมีทหารฝรั่งเศสประจำการประมาณ 650 นาย รวมทั้งกองกำลังต่างชาติจากออสเตรเลีย 400 นาย สหราชอาณาจักร 200 นาย เกาหลีใต้ 170 นาย ประจำการใน UAE ด้วย
กองทัพแห่งชาติของ UAE มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า กองกำลังป้องกันสหภาพ (Union Defence Force) กองบัญชาการอยู่ที่อาบูดาบี กำลังพลรวมประมาณ 63,000 นาย รับผิดชอบการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐทั้ง 7 ของ UAE ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. โดยประธานาธิบดี UAE ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง
ทบ. มีกำลังพล 44,000 นาย อาวุธสำคัญ ได้แก่ ถ. MBT รุ่น Leclerc จำนวน 258 คัน และรุ่น AMX-30 จำนวน 45 คัน ถ. LT/TK รุ่น FV 101 Scorpion จำนวน 76 คัน ยานยนต์ลาดตระเวนหุ้มเกราะ (RECCE) รุ่น AML-90 จำนวน 49 คัน รถทหารราบ (IFV) รุ่น BMP-3 จำนวน 160 คัน และรุ่น Rabdan จำนวน 235 คัน รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะ (APC) รุ่น AAPC จำนวน 136 คัน รุ่น EE-11 Urutu จำนวน 120 คัน รุ่น AMV จำนวน 45 คัน และรุ่น VAB จำนวน 20 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะป้องกันการลาดตระเวน (PPV) รุ่น Caiman จำนวน 460 คัน รุ่น Maxxpro LWB จำนวน 680 คัน รุ่น Nimr Hafeet 630A จำนวน 150 คัน และรุ่น Nimr Hafeet จำนวน 45 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ (AUV) รุ่น M-ATV จำนวน 650 คัน รุ่น VBL จำนวน 24 คัน รุ่น Nimr Adjban และรุ่น Nimr Jais (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อาวุธปล่อยต่อต้านรถถัง (MSL) แบบ self-propelled รุ่น HOT จำนวน 20 ลูก และรุ่น Nimr Adjban 440A จำนวน 115 ลูก และแบบ MANPATS รุ่น FGM-148 Javelin รุ่น Milan และรุ่น TOW (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง (RCL) รุ่น Carl Gustav (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน แบบ self-propelled รุ่น G-6 จำนวน 78 กระบอก รุ่น M109A3 จำนวน 85 กระบอก และรุ่น Mk F3 จำนวน 18 กระบอก แบบลากจูง (TOWED) รุ่น L118 จำนวน 73 กระบอก รุ่น Type-59-I จำนวน 20 กระบอก และรุ่น AH-4 จำนวน 6 กระบอก แบบ MRL รุ่น Firos-25 จำนวน 48 กระบอก รุ่น Jobaria จำนวน 2 กระบอก รุ่น SR5 จำนวน 24 กระบอก รุ่น M142 HIMARS จำนวน 32 กระบอก รุ่น K239 จำนวน 12 กระบอก และรุ่น 9A52 Smerch จำนวน 6 กระบอก แบบ MOR รุ่น Brandt (81 mm) จำนวน 20 กระบอก รุ่น L16 จำนวน 114 กระบอก รุ่น Brandt (120 mm) จำนวน 21 กระบอก และรุ่น RG-31 MMP Agrab Mk2 จำนวน 96 กระบอก ขีปนาวุธแบบพื้นสู่พื้นพิสัยใกล้ (SRBM) รุ่น Hwasong จำนวน 6 ลูก และรุ่น MGM-168 ATACMS (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) แบบ Point-defence รุ่น Mistral (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) และอากาศยานไร้คนขับสำหรับภารกิจรวบรวมข่าวกรอง ตรวจตรา และลาดตระเวน (ISR) รุ่น Seeker II (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
ทร. มีกำลังพล 2,500 นาย มีเรือประเภทต่าง ๆ รวมมากกว่า 40 ลำ ที่สำคัญ ได้แก่ เรือฟริเกตและเรือคอร์เวตติดตั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือและขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ (FSGHM/FSGH) ชั้น Abu Dhabi จำนวน 1 ลำ และชั้น Baynunah จำนวน 6 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่งติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี (PCFGM/PCGM) ชั้น Mubarraz จำนวน 2 ลำ ชั้น Muray Jib จำนวน 2 ลำ และชั้น Ganthoot จำนวน 2 ลำเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (PCFG) ชัั้น Ban Yas จำนวน 6 ลำ เรือตรวจการณ์เร็วติดตั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือ (PBFG) ชั้น Butinah จำนวน 12 ลำ เรือตรวจการณ์เร็ว (PBF) ชั้น Ghannatha จำนวน 12 ลำ เรือทำลายทุ่นระเบิดไกลฝั่ง (MHO) ชั้น Al Murjan (Frankenthal Type-332 ของเยอรมนี) จำนวน 2 ลำ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ (LST) ชั้น Alquwaisat จำนวน 3 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) ชั้น Al Feyi จำนวน 3 ลำ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCP) ชั้น Fast Supply จำนวน 4 ลำ เรือระบายพล/รถถัง (LCT) ชั้นต่าง ๆ จำนวน 9 ลำ เรือส่งกำลังบำรุงและสนับสนุนภารกิจทางเรือ (AFS) ชั้นต่าง ๆ จำนวน 2 ลำ
ทอ. มีกำลังพลประมาณ 4,500 นาย มีอากาศยานประเภทต่าง ๆ ประจำการมากกว่า 156 เครื่อง อากาศยานสำคัญ ได้แก่ บ.ขับไล่และโจมตีภาคพื้นดิน (FGA) รุ่น F-16E จำนวน 54 เครื่อง รุ่น F-16F จำนวน 24 เครื่อง รุ่น Mirage 2000-9DAD จำนวน 15 เครื่อง และรุ่น Mirage 2000-9EAD จำนวน 44 เครื่อง บ.ลาดตระเวน (ISR) รุ่น Mirage 2000 RAD จำนวน 7 เครื่อง บ.ติดตั้งระบบข่าวกรองทางสัญญาณ (SIGINT) รุ่น Global 6000 จำนวน 1 เครื่อง บ.ลำเลียงและเติมน้ำมันกลางอากาศ (TPT/TKR) รุ่น A330 MRTT จำนวน 3 เครื่อง บ.ลำเลียง TPT รุ่น C-17A จำนวน 8 เครื่อง รุ่น C-130H จำนวน 3 เครื่อง รุ่น C-130H-30 จำนวน 1 เครื่อง รุ่น L-100-30 จำนวน 2 เครื่อง รุ่น C295W จำนวน 2 เครื่อง รุ่น CN235 จำนวน 5 เครื่อง และรุ่น DHC-8 จำนวน 4 เครื่อง ฮ.อเนกประสงค์ (MRH) รุ่น AW139 จำนวน 12 เครื่อง และรุ่น Bell 412 จำนวน 9 เครื่อง ฮ.ลำเลียง (TPT) รุ่น AW109K2 จำนวน 3 เครื่อง และรุ่น Bell 407 จำนวน 1 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับสำหรับภารกิจ Combat ISR รุ่น Wing Loong I หรือ GJ-1 (ของจีน) และรุ่น Wing Loong II (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อากาศยานไร้คนขับสำหรับภารกิจรวบรวมข่าวกรอง ตรวจตรา และลาดตระเวน (ISR) รุ่น RQ-1E Predator XP (ของสหรัฐฯ) (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ขีปนาวุธนำวิถีแบบอากาศสู่อากาศ (AAM) รุ่น AIM-9L Sidewinder รุ่น R-550 รุ่น AIM-9X Sidewinder II รุ่น Mica และรุ่น AIM-120B/C (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ขีปนาวุธนำวิถีแบบอากาศสู่พื้น (ASM) รุ่น AGM-65G Maverick และรุ่น Hakeem (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ขีปนาวุธต่อต้านเรดาร์ (ARM) รุ่น AGM-88C HARM (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) จรวดร่อน (ALCM) รุ่น Black Shaheen (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) และระเบิดนำวิถีทำลายภาคพื้นดินรุ่น Al Tariq และรุ่น GBU12/58 Paveway II (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังประจำรัฐ 3 แห่งที่รับผิดชอบการปกป้องอธิปไตยของรัฐเป็นการเฉพาะ โดยมีสถานะเป็นกองบัญชาการระดับภาค (Regional Commands) ของ UDF ได้แก่ 1) Abu Dhabi Defence Force (ADDF) ของรัฐอาบูดาบีี มีกำลังพลประมาณ 15,000 นาย และประจำการเรือตรวจการณ์เร็ว 4 ลำ และเครื่องบินทิ้งระเบิด/ขับไล่รุ่น Hawker Hunter จำนวน 12 เครื่อง 2) Dubai Defence Force (DDF) ของรัฐดูไบ กำลังพลเป็นทหารราบ รวมทั้งสิ้นกว่า 20,000 นาย และ 3) Ras al Khaymah Defence Force (RAKDF) ของรัฐรอสอัลคอยมะฮ์ กำลังพลประมาณ 900 นาย
ส่วนกองกำลังพิเศษอื่น ๆ ได้แก่ 1) กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ ไม่ปรากฏข้อมูลกำลังพล มีการประจำการขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) พิสัยปานกลางรุ่น M902 Patriot PAC-3 ขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) พิสัยใกล้รุ่น Crotale และรุ่น Pantsir-S1 ขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) แบบ Point-defence รุ่น RBS-70 รุ่น Rapier รุ่น Javelin รุ่น 9K38 Igla และรุ่น Mistral รวมทั้งติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธระดับเพดานบินสูง (THAAD) ของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2559 2) กองกำลังพิทักษ์ประธานาธิบดี (Presidential Guard) จำนวน 12,000 นาย โดยมีหน่วย Special Operations Command (SOC) ที่ทำงานด้านต่อต้านการก่อการร้ายภายในประเทศโดยเฉพาะ มีการประจำการรถถัง (MBT) รุ่น Leclerc จำนวน 50 คัน รถทหารราบ (IFV) รุ่น BMP-3 จำนวน 200 คัน และรุ่น BTR-3U จำนวน 90 คัน และอาวุธปล่อยต่อต้านรถถัง (MSL) แบบ self-propelled รุ่น HMMWV (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) 3) กองกำลัง Joint Aviation Command ไม่ปรากฏข้อมูลกำลังพล มีการประจำการอากาศยานและเฮลิคอปเตอร์รวมกว่า 37 เครื่อง รวมถึงขีปนาวุธแบบอากาศสู่พื้น (ASM) และขีปนาวุธต่อต้านเรือ (AShM) หลายรุ่น และ 4) หน่วยรักษาความมั่นคงชายฝั่ง (Critical Infrastructure and Coastal Protection Agency-CICPA) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย ไม่ปรากฏข้อมูลกำลังพล มีการประจำเรือลาดตระเวนและตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวนรวมกว่า 110 ลำ
ปัญหาด้านความมั่นคง
UAE ห่วงกังวลภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มการเมืองที่อิงอุดมการณ์ทางศาสนามาตลอด นับตั้งแต่หน่วยความมั่นคงของ UAE ซึ่งได้รับความร่วมมือจากซาอุดีอาระเบีย สามารถจับกุมสมาชิกข่ายงานก่อการร้ายที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาระเบีย (Al Qaida in the Arabian Peninsula-AQAP) ที่เคลื่อนไหวในเยเมน วางแผนจะดำเนินกิจกรรมที่เป็นภัยต่อเสถียรภาพของ UAE และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ รอบอ่าวอาหรับ เมื่อ ธ.ค.2555 กรณีดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่ UAE ยอมรับว่าเป็นเป้าโจมตีของ AQAP นอกจากนี้ เมื่อห้วงปี 2556 มีการจับกุมสมาชิกกลุ่ม Muslim Brotherhood จากอียิปต์ที่เข้าไปจัดตั้งข่ายงานใน UAE ด้วยข้อหาพยายามโค่นล้มรัฐบาล UAE เนื่องจากตรวจพบการชักชวนชาวอียิปต์ใน UAE เข้าร่วมเป็นสมาชิกผ่านการจัดการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งและวิธีการโค่นล้มระบอบการปกครองเดิม จัดตั้งบริษัทใน UAE เพื่อจัดหาเงินทุนส่งกลับไปอียิปต์ และรวบรวมข้อมูลด้านการทหารของ UAE ขณะที่การขยายตัวของกลุ่ม Islamic State (IS) ในอิรักและซีเรีย เมื่อปี 2557 ยังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่ UAE ให้ความสำคัญและติดตามความเคลื่อนไหวสมาชิกข่ายงานก่อการร้ายของกลุ่ม IS ที่อาจเข้าไปเคลื่อนไหวใน UAE เช่น การจับกุมผู้ต้องหารวม 41 คน ในจำนวนนี้เป็นชาว UAE 38 คน เมื่อ ส.ค.2558 ข้อหาจัดตั้งองค์กรก่อการร้าย ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายใน UAE และเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายทั้งกลุ่ม IS กลุ่มอัลกออิดะฮ์ และกลุ่ม AQAP และการตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปี ชายชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติใน UAE เมื่อ ก.ค.2562 ข้อหาเข้าร่วมและเผยแพร่อุดมการณ์ของกลุ่ม IS ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ UAE มีปัญหาข้อพิพาทดินแดนในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะ Abu Musa เกาะ Lesser Tunb (Tunb al Sughra) และเกาะ Greater Tunb (Tunb al Kubra) ซึ่งอิหร่านใช้กำลังเข้ายึดครองตั้งแต่ 30 พ.ย.2514 อย่างไรก็ดี UAE ปฏิเสธที่จะใช้กำลังตอบโต้อิหร่าน และพยายามแก้ไขข้อพิพาทด้วยการนำปัญหาเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากอิหร่านจนถึงปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ไทยและ UAE สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 12 ธ.ค.2518 ก่อนที่ไทยจะเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครดูไบเมื่อ ม.ค.2535 และเปิด สอท. ณ กรุงอาบูดาบี เมื่อ 3 พ.ย.2537 ขณะที่ UAE เปิด สอท. ณ กรุงเทพฯ เมื่อ เม.ย.2541 โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ด้านการเมือง UAE เป็นหนึ่งในมิตรประเทศที่สนับสนุนไทยในการทำความเข้าใจกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ของไทยเป็นอย่างดีมาตลอด โดยนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ ไทยและ UAE มีการเยือนที่สำคัญระหว่างกันในระดับพระราชวงศ์และรัฐบาลหลายครั้ง
การเยือน UAE อย่างเป็นทางของฝ่ายไทยครั้งหลังสุด คือ การเยือน UAE ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะฯ ตามคำเชิญของคณะกรรมการบริหารสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) เพื่อเข้าร่วมการประชุม Spring Meeting ของ AIPH ระหว่าง 6-2 มี.ค.2565 และพิจารณาข้อเสนอ
ในการสนับสนุนไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ที่ จ.อุดรธานี ในปี 2569 และที่ จ.นครราชสีมา ในปี 2572 และการเยือน UAE ของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน เพื่อคณะฯ เพื่อเยี่ยมคารวะและหารือกับ ดร.Abdulrahman Addulmannan Al Awar รมว.กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ฯ UAE เกี่ยวกับการผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานไทยเข้ามาทำงานใน UAE ฝ่าย UAE เยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งหลังสุด คือ การเยือนไทยของนาย Abdulnasser Jamal Alshaali ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจและการค้า UAE ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศไทย พร้อมคณะผู้แทนภาครัฐและคณะนักธุรกิจ UAE ระหว่าง 18-20 มิ.ย.2565 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน
ความร่วมมือด้านความมั่นคง UAE เป็นฝ่ายริเริ่มขอเปิดความร่วมมือด้านความมั่นคงกับไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนโยบายว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทย-UAE ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 29 ก.ค.-1 ส.ค.2551 ฝ่าย UAE มี ออท.Tariq Ahmed Al Heidan รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ UAE ฝ่ายการเมืองเป็นหัวหน้าคณะ โดยการประชุมมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของแต่ละประเทศ เช่น การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การต่อต้านการก่อการร้าย และการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายริเริ่มการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและวิชาการ ตั้งแต่ปี 2559 โดย UAE เป็นประตูการค้าและคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในตะวันออกกลางมาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน สำหรับการค้าระหว่างไทย-UAE เมื่อปี 2565 มีมูลค่า 20,474.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (718,250.32 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2564 ที่มีมูลค่า 11,974.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (383,126.79 ล้านบาท) โดยปี 2565 ไทยส่งออกมูลค่า 3,444.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (119,794.75 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 17,029.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (598,455.57 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 13,585.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (478,660.83 ล้านบาท) ห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 การค้าระหว่างไทย-UAE มีมูลค่าประมาณ 14,486.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (499,315.84 ล้านบาท) ไทยส่งออกมูลค่า 2,355.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (80,315.91 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 12,130.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (418,999.93 ล้านบาท) และยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และของทำด้วยไม้ ถ่านไม้ ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาหรือสัตว์น้ำ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม ธัญพืช กระดาษและกระดาษแข็ง ของทำด้วยเยื่อกระดาษ สินค้านำเข้าสำคัญจาก UAE ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่น ๆ ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง อัญมณีและเครื่องประดับ อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก สังกะสีและของทำด้วยสังกะสี เหล็กและเหล็กกล้า ยาสูบและผลิตภัณฑ์ที่ใช้แทนยาสูบ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ด้านพลังงาน ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจาก UAE มากเป็นอันดับหนึ่งของน้ำมันดิบที่ไทยนำเข้าจาก
ทั่วโลก (ประมาณ 40%) และจากตะวันออกกลาง (ประมาณ 60%) โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าน้ำมันดิบจาก Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) ด้วยสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐตั้งแต่ปี 2537 ด้านการท่องเที่ยว UAE เป็นตลาดการท่องเที่ยวสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง นอกเหนือจากอิสราเอล
และอิหร่าน โดยมีชาว UAE เดินทางมาไทยปีละมากกว่า 100,000 คน อย่างไรก็ดี ห้วงปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ทั่วโลก รวมถึงไทยและ UAE ใช้มาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทำให้มีชาว UAE เดินทางมาไทย ลดลงอยู่ที่ประมาณ 7,700 คน และห้วงปี 2564 ลดลงอยู่ที่ 2,000-3,000 คน อย่างไรก็ดี ห้วง 2565 มีชาว UAE เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น ประมาณ 45,000 คน ขณะที่ห้วง ม.ค.-ต.ค.2566
อยู่ที่ประมาณ 116,700 คน นอกจากนี้ ยังมีชาวไทยอยู่ใน UAE ประมาณ 7,000 คน ในจำนวนนี้ 5,305 คน (ข้อมูลปี 2564 ของกระทรวงแรงงานไทย) เป็นแรงงานฝีมือที่ทำงานภาคอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ธุรกิจบริการ อาทิ พนักงานนวดสปา และธุรกิจก่อสร้างในรัฐดูไบและรัฐอาบูดาบี นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนและนักศึกษาจำนวนหนึ่ง
การลงทุนใน UAE ของเอกชนไทย เครือโรงแรมดุสิตธานีลงนามสัญญารับบริหารโรงแรมระดับ 5 ดาวที่ดูไบ เป็นระยะเวลา 15 ปี โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ ม.ค.2544 ในชื่อ “ดุสิตดูไบ” ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวแห่งแรกในตะวันออกกลางที่บริหารงานโดยเครือโรงแรมเอเชีย และยังมีโรงแรมเซ็นทารา เดร่า ไอส์แลนด์ บีช รีสอร์ท ดูไบ เครือโรงแรมเซ็นทาราที่ีเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2563 ส่วนภาคธุรกิจบริการด้านการแพทย์ของไทยซึ่งเป็นที่นิยมของชาว UAE โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เข้าไปดำเนินการบริหารโรงพยาบาลรัฐของอาบูดาบี ขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพร่วมทุนกับบริษัท Royal Group ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของราชวงศ์แห่งรัฐอาบูดาบี สร้างโรงพยาบาล Royal Bangkok Hospital ขนาด 300 เตียงในอาบูดาบี เปิดดำเนินการเมื่อปี 2555 รวมทั้งเปิดคลินิก 1 แห่งบนเกาะรีม (Reem) ในอาบูดาบี (เป็นพื้นที่ถมทะเลเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัยครบวงจร) มีแพทย์และพยาบาลเป็นชาวไทยทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในภาคธุรกิจก่อสร้าง ได้แก่ บริษัทสยามซีเมนต์ บริษัทอิตัล-ไทย บริษัทเพาเวอร์ไลน์ และบริษัทชิโน-ไทย โดยทั้งสองฝ่ายมีการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ดูไบ (Thai-Dubai Business Council) เมื่อปี 2553 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการให้ข้อมูลและความช่วยเหลือ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มของภาคเอกชนไทยในดูไบ
การเข้าไปลงทุนของเอกชนไทยในภาคธุรกิจพลังงานที่ UAE ปัจจุบัน บริษัท PTTEP MENA Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สผ. และร่วมทุนกับบริษัท Eni Abu Dhabi B.V. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท Eni ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของอิตาลี ได้รับสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในแปลงสำรวจ Offshore 1 และ Offshore 2 ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอาบูดาบี ของ UAE โดยลงนามสัญญาสัมปทานกับบริษัท Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของ UAE เมื่อ 12 ม.ค.2562
การลงทุนของ UAE ในไทย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และพลังงาน ได้แก่ โครงการสาธรสแควร์ของกลุ่มบริษัท Istithmar Hotel FZE ดูไบ และ Islamic Hotel Chain ของ Al Mulla Group ดูไบ กลุ่มบริษัท Dubai Holdings ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 800 ล้านหุ้น (15%) จากบริษัทธนายง กลุ่มบริษัทดูไบเวิลด์ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (Laem Chabang International Terminal Co.Ltd.) ทำการบริหารจัดการคลังสินค้า C3 ของท่าเรือแหลมฉบัง กลุ่มบริษัท Jumeirah รับหน้าที่บริหารการลงทุนกับโครงการต่าง ๆ ในไทย เช่น โครงการ Jumeirah Private Phuket Island ที่ภูเก็ตและโครงการก่อสร้างโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ ในกรุงเทพฯ ฝั่งเดียวกับโรงแรมแชงกรี-ลา ส่วนการลงทุนในภาคธุรกิจพลังงาน บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นบริษัทด้านธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ของ UAE ได้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในอ่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2547 การลงทุนด้านปิโตรเลียมในไทยมีมูลค่ามากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 54,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีการร่วมทุนกับบริษัทไทยรายอื่น ๆ อาทิ บริษัท Depa United Group ของดูไบกับบริษัทผลิตพรม (ไทปิง)
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับ UAE ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างกัน (20 มี.ค.2533) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (1 มี.ค.2543) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าและวิชาการ (22 เม.ย.2550) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (1 พ.ย.2550) และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคง (19 ก.พ.2552) บันทึกความเข้าใจระหว่างโรงพยาบาลกรุงเทพกับกรมสุขภาพ UAE ว่าด้วยการส่งตัวผู้ป่วยจาก UAE มารับการรักษาในไทย (ส.ค.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง Emirates Securities and Commodities Authority (ESCA) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของไทย (16 ก.ค.2550) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กับบริษัท Dubai World ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งทะเลอันดามัน และสะพานเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (22 พ.ค.2551) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอาชญากรรมระหว่างกัน (23 ก.พ.2558) ความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนชาวต่างชาติในไทย (23 ก.พ.2558) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปรึกษาหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (12 พ.ค.2559) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( 21 มี.ค.2562)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง UAE กับอิสราเอล หลังจาก UAE เป็นประเทศแรกในรัฐรอบอ่าวอาหรับ และประเทศที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาหรับมุสลิมในตะวันออกกลาง ที่ตัดสินใจฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติกับอิสราเอล ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งของประเทศอาหรับมุสลิมในตะวันออกกลางจากปัญหาอิสราเอลยึดครองดินแดนปาเลสไตน์มาตั้งแต่ปี 2510 โดยทั้งสองประเทศลงนามข้อตกลงเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ที่สหรัฐฯ เมื่อ 15 ก.ย.2563 การดำเนินการดังกล่าวของ UAE สะท้อนการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการต่างประเทศต่ออิสราเอล
2) บทบาทของ UAE ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ เฉพาะอย่างยิ่งการที่ UAE จะสนับสนุนเงินเพื่อการฟื้นฟูฉนวนกาซาหลังจากอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสยอมยุติสงคราม และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ
3) การดำเนินการของ UAE ต่อสถานการณ์สู้รบในเยเมน หลังจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเยเมนกับ Southern Transitional Council (STC) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนด้านการทหารจาก UAE คลี่คลายในห้วงปี 2564 ทั้งนี้ UAE ร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปช่วยรัฐบาลเยเมนสู้รบกับกลุ่มกบฏเผ่าฮูษี (เชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน) ตั้งแต่
ปี 2558 และประกาศเมื่อ 30 ต.ค.2562 ว่าจะถอนกองกำลังของตนออกจากเยเมน แต่ยังยืนยันจะร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียเพื่อปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในเยเมนต่อไป