สาธารณรัฐอินเดีย
Republic of India
เมืองหลวง นิวเดลี
ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้พื้นที่ประมาณ 3,287,263 ตร.กม. แบ่งเป็น พื้นดิน 2,973,193 ตร.กม. พื้นน้ำ 314,070 ตร.กม. (ใหญ่กว่าไทยประมาณ 6 เท่า) มีพรมแดนทางบกยาวประมาณ 14,103 กม. และชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 7,000 กม. รวมทั้งมีดินแดนที่เป็นหมู่เกาะในอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และทะเลอาหรับจำนวน 1,197 เกาะ หมู่เกาะที่สำคัญ ได้แก่ หมู่เกาะอันดามันนิโคบาร์และลัคคาดีฟ ส่วนนิวเดลีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,800 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ติดปากีสถานจีนเนปาลภูฏานและเมียนมา
ทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ติดบังกลาเทศเมียนมาและอ่าวเบงกอล
ทิศใต้ ใกล้ศรีลังกา
ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ติดปากีสถาน
ภูมิประเทศ ประกอบด้วย 4 ลักษณะคือ 1) เขตภูเขาสูงตอนเหนือ (เทือกเขาหิมาลัย) เป็นเขตเทือกเขาสูงเป็นแนวยาวตะวันตก-ตะวันออก เริ่มต้นจากเขตแดนอัฟกานิสถานกั้นชายแดนดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียทางตอนเหนือ จนถึงชายแดนจีนและเมียนมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 2) เขตลุ่มน้ำคงคาพรหมบุตรและลุ่มน้ำสินธุ ลุ่มน้ำคงคาและพรหมบุตรเป็นเขตลุ่มน้ำขนาดใหญ่ในแนวตะวันตก-ตะวันออกของประเทศ ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาหิมาลัยและแยกเป็นสาขาอีกหลายสาย เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ ส่วนลุ่มน้ำสินธุ ต้นน้ำอยู่ในทิเบตไหลในแนวจากเหนือไปตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตปากีสถาน แต่มีแม่น้ำสาขาหลายสายอยู่ในเขตอินเดีย 3) เขตพื้นที่ทะเลทราย (ทะเลทราย Thar) อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เขตรัฐราชสถานต่อเนื่องปากีสถาน สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 ม. แห้งแล้งมีภูเขาหินปูนกระจายทั่วไป และ 4) เขตพื้นที่คาบสมุทรตอนใต้ เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งยื่นเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียรายล้อมด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ตอนกลางพื้นที่คาบสมุทรเป็นเขตที่สูงเรียกว่าที่ราบสูง Deccan (Deccan Plateau) มีเทือกเขา Ghats ขนาบอยู่ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ปลายเทือกเขา 2 เทือกนี้ไปบรรจบกันในทางตอนใต้ที่เทือกเขานิลคีรี
วันชาติ 26 ม.ค.
วันประกาศเอกราช 15 ส.ค.
นายนเรนทรา โมดิ
Narendra Modi
(นรม.อินเดีย)
รายละเอียดประชากร 1,428 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.85 ของประชากรโลก มากเป็นอันดับ 1 ของโลกในปี 2566 ซึ่งองค์การสหประชาชาติคาดว่าอินเดียจะมีประชากร 1,500 ล้านคน และ 1,700 ล้านคน ภายในปี 2573 และปี 2593 ตามลำดับ
ศาสนา ฮินดู 79.8% อิสลาม 14.2% (คริสต์ ซิกข์ พุทธ และอื่น ๆ 6.0%)
ภาษา จำนวน 22 ภาษา ภาษาฮินดี และภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ทางราชการ ภาษาฮินดี 43.6% เบงกาลี 8% มาราชี 6.9% เตลูกู 6.7% ทมิฬ 5.7% คุชราต 4.6% อูรดู 4.2% กรรณาฎะ 3.6% โอริยะ 3.1%
มลายาลัม 2.9% ปัญจาบี 2.7% อัสสัม 1.3% และอื่น ๆ 6.7%
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 77.7% แบ่งเป็น เพศชาย 84.7% เพศหญิง 70.3% มีมหาวิทยาลัย 200 แห่ง และสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยมากกว่า 10,000 แห่ง สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวนมากได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ เช่น แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ และมีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในอินเดียจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากประเทศกำลังพัฒนาและตามโครงการแลกเปลี่ยน
การก่อตั้งประเทศ อินเดียตกอยู่ใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษมาโดยตลอด และการรณรงค์เรียกร้องเอกราชโดยสันติวิธีที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2463 นำโดยมหาตมะ คานธี และยาวาหะราล เนรูห์ จนประสบความสำเร็จและได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 15 ส.ค.2490 และสถาปนาสาธารณรัฐอินเดียเมื่อ 26 ม.ค.2493
การเมือง เป็นสาธารณรัฐปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบ่งการปกครองออกเป็น 28 รัฐ และ
8 ดินแดนสหภาพ (Union Territories) มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ รองประธานาธิบดีเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญของอินเดียแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง (Government of India) กับรัฐบาลแห่งรัฐ (State Government) อย่างชัดเจน
ฝ่ายบริหาร นรม. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ขณะที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง นรม. ซึ่งเลือกโดยสมาชิกพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ครม.แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีตามการเสนอของ นรม. ครม.รายงานโดยตรงต่อสภาผู้แทนราษฎร
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบ 2 สภา คือ 1) วุฒิสภา (ราชยสภา) ปัจจุบันมีสมาชิก 245 คน วาระ 6 ปี ในจำนวนนี้ 12 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งทุก 2 ปี และที่เหลือ 233 คน เลือกโดยสภานิติบัญญัติแห่งรัฐหรือดินแดนสหภาพ 2) สภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) สมาชิก 545 คน วาระ 5 ปี ในจำนวนนี้ 543 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (ผู้แทนรัฐ 530 คน และผู้แทนดินแดนสหภาพ 13 คน) ผู้แทน Anglo Community 2 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
ฝ่ายตุลาการ มีอำนาจอิสระ ทำหน้าที่ปกป้องและตีความรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาประจำศาลฎีกามีจำนวนไม่เกิน 25 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ในระดับรัฐมีศาลสูงสุดของรัฐและศาลทั่วไป ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
พรรคการเมือง ระบบหลายพรรค ปัจจุบันคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศอินเดีย คือ กลุ่ม National Democratic Alliance (NDA) มีพรรคภารติยะ ชนตะ (Bharatiya Janata Party-BJP) เป็นแกนนำ ภายหลังได้รับเลือกตั้ง ส.ส. มากเป็นอันดับ 1 จำนวน 353 ที่นั่ง (เมื่อ พ.ศ.2562) พรรคการเมืองสำคัญนอกเหนือจากพรรค BJP ได้แก่ พรรคคองเกรส ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน พรรคชนตะดาล พรรคอามอาดมี และพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย เป็นต้น
สถานการณ์ทางการเมือง
รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของ นรม.นเรนทรา โมดิ และพรรค BJP มีคะแนนนิยมสูง ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียในปัจจุบันมีเสถียรภาพ สามารถผลักดันประเด็นทางการเมืองที่มีความสำคัญตามที่ให้คำมั่นไว้กับประชาชน เช่น นโยบาย Make in India ที่มุ่งส่งเสริมการสร้างอาชีพให้กับประชาชนอินเดีย นโยบายยกระดับคุณภาพชีวิต ที่พัฒนาระบบสาธารณสุขให้ชาวอินเดียสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ และนโยบายส่งเสริมสิทธิสตรี เป็นต้น
ในห้วงที่ผ่านมาอินเดียได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น โดยรายงานดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2565 (Democracy Index 2022) ของสถาบันวิจัย Economist Intelligence Unit (EIU) ระบุว่า อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลก มีดัชนีความเป็นประชาธิปไตยอยู่อันดับที่ 46 จาก 167 อันดับ และอยู่อันดับที่ 8 ในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าอันดับของอินเดียจะคงที่เท่ากับปี 2564 แต่ผลคะแนนมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม EIU ยังห่วงกังวลการบริหารของรัฐบาล นรม.โมดิ ที่ดำเนินนโยบายฮินดูนิยม และกระทบต่อชาวมุสลิม รวมถึงประเด็นการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน และกระแสโลกาภิวัตน์
สถานการณ์การเมืองของอินเดียก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2567 เข้มข้นขึ้น พิจารณาจากการที่รัฐบาลอินเดียเผชิญความท้าทายจากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม INDIA (Indian National Developmental Inclusive Alliance) เมื่อ ก.ค.2566 เพื่อต่อต้านพรรค BJP และเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนกลับคืน ปัจจุบันมีสมาชิกแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมจำนวน 28 พรรค อาทิ พรรค Peasants and Workers Party of India (PWP) และพรรค Aam Aadmi Party (AAP) อย่างไรก็ตาม กลุ่ม INDIA ยังไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านที่เข้าร่วมกลุ่มต่างมุ่งแสวงผลประโยชน์จากการได้จำนวนที่นั่งในโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎร) ซึ่งหากไม่สามารถตกลงผลประโยชน์ได้ลงตัว อาจเกิดความแตกแยกภายในกลุ่มได้
เศรษฐกิจ อินเดียเป็นประเทศกำลังพัฒนา เดิมใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ประชากรอินเดียยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 44% ขณะที่ปัญหาความยากจนยังเป็นปัญหาท้าทายสำคัญ ทั้งนี้ อินเดียเริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจโดยปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากแบบกึ่งสังคมนิยม มาเป็นการเปิดตลาดภายในประเทศมากขึ้นตั้งแต่ปี 2534 ส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียพัฒนามาเป็นลำดับ และสามารถยกระดับขึ้นเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเกณฑ์สูง ปัจจุบัน อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี คิดเป็นมูลค่า 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลอินเดียที่นำโดย นรม.โมดิ ตั้งเป้าหมายขยายขนาดเศรษฐกิจอินเดียให้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ภายในปี 2570 และให้มูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568
เศรษฐกิจของอินเดียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้เผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์โลกผันผวน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกระทรวงการคลังอินเดียยืนยันเมื่อ 23 ต.ค.2566 ว่า การเติบโต
ทางเศรษฐกิจของอินเดียในปีงบประมาณ 2566-2567 จะเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง จากกลไก
การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เข้มแข็งและแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อปรับตัวลดลง สอดคล้องกับธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารกลางอินเดีย เมื่อห้วง ต.ค.2566 ที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product-GDP) ของอินเดียปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ
6.1-6.5 นอกจากนี้ บริษัท S&P Global และบริษัท Morgan Stanley ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอินเดียจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกแทนที่ญี่ปุ่น (อันดับ 3) และเยอรมนี (อันดับ 4) ภายในปี 2573
ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับบริษัท Goldman Sachs ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจอินเดียจะมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกภายในปี 2618
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รูปี (INR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 82.29 รูปี
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 2.29 รูปี (พ.ย.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 3,820.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : .059
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 2,085.12 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 523,839,158 คน (ปี 2565)
อัตราการว่างงาน : 7.1 %
อัตราเงินเฟ้อ : 5.02%
ผลผลิตทางการเกษตร : อ้อย ข้าว ข้าวสาลี กระบือ ผลิตภัณฑ์นม มะม่วง มันฝรั่ง ผัก กล้วย ข้าวโพด ฝรั่ง
ผลผลิตอุตสาหกรรม : ผ้า เคมีภัณฑ์ อาหารแปรรูป เหล็กกล้า ชิ้นส่วนรถยนต์ ปูนซีเมนต์ เหมืองแร่ พลังงาน เครื่องจักร ซอฟท์แวร์ และเวชภัณฑ์
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุลการค้า 19,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 34.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : แร่เชื้อเพลิง อัญมณีเครื่องประดับ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีอินทรีย์
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เนเธอร์แลนด์ จีน บังกลาเทศ
สินค้านำเข้า : แร่เชื้อเพลิง อัญมณีเครื่องประดับ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เคมีอินทรีย์
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และอิรัก
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพ
โดยตำแหน่ง ใช้อำนาจผ่าน ครม. ที่มี นรม.และ รมว.กระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบ กระทรวงกลาโหมมีหน่วยงานสำคัญ 5 กรม คือ กรมการป้องกันประเทศ กรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กรมสวัสดิการทหารผ่านศึก และกรมกิจการทหาร งบประมาณทางทหาร 66.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปีงบประมาณ 2565) กำลังพลประจำการประมาณ 1,463,700 นาย และกำลังพลสำรอง 1,155,000 นาย
ทบ. มีกำลังพลประมาณ 1,237,000 นาย แบ่งเป็นกองบัญชาการ 6 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ทบ.อินเดียมุ่งพัฒนา
ขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย และให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนายุทโธปกรณ์ภายในประเทศ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defence Research and Development-DRDO) ภายใต้ กห.อินเดีย อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง เพื่อผลิตและใช้งานภายในประเทศเพิ่มเติม ภายหลังจัดซื้อจรวดต่อสู้รถถัง Spike LR2 จากอิสราเอล มาประจำการบริเวณแนวเส้น Line of Actual Control (LAC) ในดินแดนสหภาพลาดักห์ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับฝรั่งเศส อิสราเอล และรัสเซียผลิตขีปนาวุธแบบต่าง ๆ ด้วย
ทร. มีกำลังพลประมาณ 73,850 นาย แบ่งเป็นกองบัญชาการ 3 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีกองเรือยุทธการ 2 กองเรือรับผิดชอบดูแลน่านน้ำ ด้านทะเลอาหรับและอ่าวเบงกอล ปัจจุบัน ทร. อินเดียกำลังพัฒนาขีดความสามารถเพื่อมุ่งไปสู่ยุทธศาสตร์น่านน้ำทะเลลึก (Blue-Water Navy) กับทั้งมุ่งเสริมสร้างกำลังรบด้วยการพึ่งพาตนเองมากกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และเรือดำน้ำดีเซล ทร. อินเดียยังพยายามยกระดับขีดความสามารถอย่างรอบด้าน เฉพาะอย่างยิ่งด้วยการปรับใช้ Big Data และ Artificial Intelligence (AI) เพื่อบูรณาการ
การปฏิบัติการ ปัจจุบันอินเดียมีเรือรบประเภทต่าง ๆ 500 ลำ ที่สำคัญ ได้แก่ เรือดำน้ำที่ต่อในอินเดีย ประกอบด้วย เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ INS Arihant ที่มีขีดความสามารถในการติดตั้งขีปนาวุธ K-15 จำนวน 12 ลูก รวมถึงเรือดำน้ำดีเซล INS Khanderi ที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการโจมตีเรือผิวน้ำ ต่อต้านเรือดำน้ำ ลาดตระเวน รวบรวมข่าวสาร มีระยะทำการ 12,000 กม. นอกจากนี้ ทร. อินเดียยัง
อยู่ระหว่างเตรียมประจำการเรือบรรทุก บ. INS Vikrant ซึ่งเป็นเรือบรรทุก บ.ลำแรกที่ต่อในอินเดีย
ทอ. มีกำลังพลประมาณ 139,850 นาย แบ่งเป็นกองบัญชาการภาค 5 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ทอ.อินเดียมีฝูงบินรบที่ทันสมัยหลายฝูงบิน
มี บ.รบทั้งจากรัสเซียและฝรั่งเศส บ.โจมตี Jaguar จากอังกฤษ บ.ลำเลียง IL-76 และ ฮ.อีกหลายประเภท อินเดียมีแผนปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพ โดยจะเปลี่ยน บ.รบรุ่น Mig-21s เป็น บ.รบน้ำหนักเบารุ่น Hal Tejas และบางส่วนปรับปรุงเป็นรุ่น Mig-21 Bison และล่าสุด รับมอบ บ.Rafale เครื่องที่ 36 พร้อมอะไหล่ที่เกี่ยวข้องจากฝรั่งเศสเมื่อ 15 ธ.ค.2565 เพื่อใช้ในภารกิจวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้ ทอ.อินเดียใช้ บ.รุ่นดังกล่าวรักษาอธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด บ.Rafale เครื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการยกระดับขีดความสามารถ ทอ.อินเดีย และรัฐบาลอินเดียสั่งซื้อ บ.Rafale ที่ปรับปรุงตามความต้องการของ ทอ.อินเดียจำนวน 36 เครื่องจากฝรั่งเศสเมื่อ ก.ย.2559 และเริ่มรับมอบเครื่องแรก เมื่อ 29 ก.ค.2563
กองบัญชาการกองกำลังทางยุทธศาสตร์ (Strategic Forces Command-SFC) เป็นกองบัญชาการร่วมระหว่าง 3 เหล่าทัพ ทำหน้าที่อำนวยการประสานงานระหว่างหน่วยบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของ ทบ. ทร. และ ทอ. เพื่อดูแลอาวุธทางยุทธศาสตร์ของอินเดีย เฉพาะอย่างยิ่ง หัวรบนิวเคลียร์ และเครื่องส่งหัวรบรูปแบบต่าง ๆ โดยอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง มีโครงการพัฒนานิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องทั้งด้านการทหารและพลังงาน อินเดียเริ่มทดลองอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อปี 2517 และเมื่อปี 2541 อินเดียทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งสำคัญ รวมทั้งประกาศว่าเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ ปัจจุบันอินเดียมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 164 หัวรบ ซึ่งใกล้เคียงกับที่ปากีสถานมีประมาณ 170 หัวรบ ขณะที่จีนมีอยู่ 410 หัวรบ
อินเดียยังมีกองกำลังป้องกันชายฝั่ง (Coast Guard) อีก 13,000 นาย และกำลังพลกึ่งทหาร (Paramilitary) อีก 1,608,150 นาย
อินเดียเร่งปฏิรูปกองทัพให้มีเอกภาพ ทันสมัย รับมือภัยคุกคามทางทหารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสถาปนาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Chief of Defence Staff-CDS) เมื่อ 1 ม.ค.2563 ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการ ทบ. ทร. และ ทอ.อินเดีย ในระบบการรบร่วม 3 เหล่าทัพ (Integrated Theater Command) เพื่อให้การบังคับบัญชาทางทหารในเวลาสงครามเป็นเอกภาพ กับทั้งเป็นผู้นำปฏิรูปกองทัพอินเดียให้มียุทโปกรณ์ที่ทำงานสอดประสานระหว่าง 3 เหล่าทัพ และรัฐบาลอินเดียแต่งตั้ง พล.อ. Anil Chauhan ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนที่ 2 เมื่อ 30 ก.ย.2565
อินเดียให้ความสำคัญลำดับต้นกับการวิจัย พัฒนา เพื่อผลิตยุทโธปกรณ์ประจำการภายในกองทัพพร้อมส่งออกแก่ประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้กองทัพอินเดียมีระบบส่งกำลังบำรุงที่เข้มแข็ง
ในระยะยาว โดยบริษัท Hindustan Aeronautical (HAL) ผู้ผลิตยุทโธปกรณ์รายใหญ่ภายใต้กำกับของรัฐบาลอินเดีย แสดงความพร้อมขยายกำลังการผลิต บ.Tejas ซึ่งพัฒนาโดยชาวอินเดีย จาก 8 เครื่องต่อปีในปัจจุบัน เป็น 24 เครื่องต่อปี ให้เพียงพอต่อคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งจาก ทอ.อินเดีย ที่สั่งซื้อ บ.Tejas 83 เครื่อง มีกำหนดส่งมอบภายใน ก.พ.2572 และจากต่างประเทศ หลายประเทศแสดงความสนใจจัดซื้อ บ.Tejas เข้าประจำการ อาทิ ฟิลิปปินส์ อียิปต์ และอาร์เจนตินา
การพัฒนาและผลิตยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ภายในประเทศของกองทัพอินเดีย เป็นไปตามนโยบาย Make in India ของรัฐบาล นรม.โมดิ ที่ตั้งเป้าให้กองทัพอินเดียลดการพึ่งพายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ มียุทโธปกรณ์เพียงพอใช้งานในภาวะสงคราม ในห้วงปี 2566 อินเดียเป็น 1 ใน 25 ประเทศผู้ส่งออกยุทโธปกรณ์สำคัญของโลก สามารถส่งออกยุทโธปกรณ์หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ ขีปนาวุธ BrahMos เครื่องกระสุน โดยมีฟิลิปปินส์ เมียนมา ศรีลังกา มอริเชียส โมซัมบิก เซเชลส์ และอาร์เมเนีย เป็นประเทศผู้นำเข้าสำคัญ อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงนำเข้ายุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่ง บ.Rafale M และเรือดำน้ำชั้น Scorpene จากฝรั่งเศส
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มสุดโต่งทางการเมือง ซึ่งเป็นผลจากกระแสฮินดูนิยมสุดโต่งขยายตัวเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาที่รุนแรงภายในอินเดีย โดยกลุ่มการเมืองฝั่งฮินดูชาตินิยมกระตุ้นกระแสให้ชาวฮินดู ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียร่วมแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น กล่าวหาชาวมุสลิมในทางเสียหาย จนเป็นเหตุให้เกิดการประท้วงรุนแรงหลายครั้ง
2) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน Khalistan เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Sikhs for Justice (SFJ) ที่เคลื่อนไหวในอินเดียและต่างประเทศ โดยอินเดียติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่ม SFJ ในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแคนาดาอย่างต่อเนื่อง กับทั้งเรียกร้องให้ทั้ง 3 ประเทศสกัดกั้นกิจกรรมของกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อินเดียเผชิญข้อกล่าวหาจากแคนาดาต่อกรณีลอบสังหารหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดน Khalistan Tiger Force (KTF) ที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในแคนาดา จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับแคนาดาตกต่ำลง และบั่นทอนภาพลักษณ์ของอินเดียในเวทีประชาคมระหว่างประเทศ ที่มีบทบาทโดดเด่นขึ้นในห้วงการเป็นประธานกลุ่ม G20 ปี 2566
อินเดียยังปราบปรามความเคลื่อนไหวของกลุ่ม SFJ ในอินเดีย เฉพาะอย่างยิ่งการอายัดทรัพย์สินภายในอินเดียที่เชื่อมโยงกับกลุ่มดังกล่าว พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อสกัดกั้นความเคลื่อนไหวทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ อินเดียประกาศให้กลุ่ม SFJ เป็นกลุ่มผิดกฎหมายเมื่อปี 2562 เนื่องจากเคลื่อนไหวสนับสนุนให้รัฐปัญจาบประกาศเอกราชจากอินเดีย
3) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ อินเดียยังคงตกเป็นเป้าการโจมตีทางไซเบอร์ 10 ประเทศแรกของโลก โดยเกิดเหตุโจมตีทางไซเบอร์กว่า 2,000 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอาชญากรไซเบอร์ยังส่งอีเมลหลอกลวงไปยังบริษัทต่าง ๆ ของอินเดียเพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ส่งผลให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทางดิจิทัล (DPDP) พ.ศ.2566 เพื่อให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและสิทธิในการปกป้องข้อมูลของพลเมืองอินเดีย
4) ความขัดแย้งกับปากีสถานที่เสื่อมทรามลงจากกรณีแคชเมียร์ โดยอินเดียเชื่อมั่นว่าปากีสถานให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแคชเมียร์ปฏิบัติการบ่อนทำลายเสถียรภาพของอินเดีย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาค ตลอดจนกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจ อาทิ จีน สหรัฐฯ พยายามเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค
5) ความขัดแย้งตามแนวชายแดนระหว่างอินเดียกับจีน ที่ครอบคลุมพื้นที่หลายบริเวณและ
ยังไม่ยุติ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอธิปไตยของประเทศ ความขัดแย้งขยายตัวเป็นความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี กระตุ้นกระแสชาตินิยมและต่อต้านจีนในอินเดียให้รุนแรงขึ้น ความตึงเครียดทางทหารของสองประเทศยังมีโอกาสขยายตัว เนื่องจากสองฝ่ายยังคงเสริมขีดความสามารถทางทหารบริเวณพรมแดนพิพาทอย่างต่อเนื่อง
6) การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย ทั้งในด้านการค้า
การลงทุน การทหาร และความมั่นคง สร้างความกังวลให้อินเดียถึงการรุกคืบของจีนเข้ามาในพื้นที่ที่อินเดีย
ถือเป็นเขตอิทธิพลของตน และยังมีแนวโน้มที่อินเดียอาจถูกปิดล้อมจากจีนได้ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนสถานะของอินเดียในการเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค
ความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย
ไทยและอินเดียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูตเมื่อ 1 ส.ค.2490 และยกสถานะขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อปี 2494 สอท.ประจำอยู่ที่นิวเดลี และมีสถานกงสุลใหญ่อีก 3 แห่ง ที่เมืองโกลกาตา มุมไบ และเจนไน ส่วนอินเดียมี สอท.ประจำกรุงเทพฯ และมีสถานกงสุลใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่และ จ.สงขลา ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียพัฒนาใกล้ชิดขึ้นเป็นลำดับ ภายหลังอินเดียเริ่มดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2534 และดำเนินนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ที่ให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกมากขึ้น และปรับเปลี่ยนมาเป็นการดำเนินนโยบายรุกตะวันออก (Act East Policy) ในสมัย นรม.โมดิ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของไทย ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้ง ทั้งการเยือนอินเดียในระดับพระราชวงศ์ การเยือนระดับผู้นำประเทศ และการขยายความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้กรอบทวิภาคีและพหุภาคี
ไทยและอินเดียเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ
เมื่อปี 2565 ส่งผลให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายยังคงหารือกันในหลายระดับอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-อินเดีย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือสองฝ่ายให้แน่นแฟ้น นอกจากนี้ ไทยกับอินเดียจะยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติ อาทิ ความมั่นคง และการค้า
ด้านเศรษฐกิจ ไทยให้ความสำคัญการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอินเดีย
โดยคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดีย กลไกความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการร่วมทางการค้า (จัดตั้งเมื่อปี 2532) การค้าระหว่างกันขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการลงนามในกรอบความตกลง
ว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดียเมื่อปี 2546 ซึ่งทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาตลอด การค้าทวิภาคีเมื่อปี 2565 มีมูลค่า 615,849.21 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกจากไทย 364,531.78 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากอินเดีย 251,317.43 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า จำนวน 113,214 ล้านบาท จากมูลค่าการค้าดังกล่าว ทำให้อินเดียเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 7 และเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 10 ของไทย
สินค้านำเข้าสำคัญจากอินเดีย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคํา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสําเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ กาแฟ ชา เครื่องเทศ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวอินเดียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในห้วง ม.ค.-ต.ค.2566 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวน 1,263,477 คน สูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย จีน และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวอินเดียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวชายทะเลของไทย ที่สำคัญ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทั้งนิยมจัดงานฉลองมงคลสมรสที่ไทย
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) สถานการณ์การเมืองภายในของอินเดีย ในห้วงที่อินเดียเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปปี 2567 พรรคการเมืองสำคัญของอินเดีย ทั้งพรรค BJP และพรรคคองเกรส จะเร่งสร้างคะแนนนิยมให้ประชาชนเลือกทำหน้าที่รัฐบาลในห้วง 5 ปี ข้างหน้า โดยพรรค BJP อาจเร่งกระแสฮินดูชาตินิยมให้ขยายตัวรุนแรงขึ้น ขณะที่พรรคคองเกรสจะโจมตีความผิดพลาดของรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยพรรค BJP
2) ความขัดแย้งกับปากีสถาน จากการที่อินเดียยังคงดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อปากีสถาน และมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความร่วมมือจากประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกดดันปากีสถานมากขึ้น เนื่องจากเชื่อมั่นว่าปากีสถานให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปฏิบัติการบ่อนทำลายเสถียรภาพของอินเดีย
3) การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับจีน ซึ่งความสัมพันธ์สองฝ่ายอยู่ในภาวะเผชิญหน้า
ทางทหารบริเวณพรมแดนพิพาท ขณะเดียวกันอินเดียยังห่วงกังวลการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค ด้วยข้อริเริ่มแถมและเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) เฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ อินเดียยังห่วงกังวลดุลการค้าระหว่างสองประเทศ ที่อินเดียยังคงเสียดุลการค้าแก่จีนกว่า 263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4) การดำเนินนโยบายต่างประเทศของอินเดียกับสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจแบ่งขั้วชัดเจนยิ่งขึ้น จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาส อินเดียซึ่งดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างอิสระอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ จำเป็นต้องปรับท่าทีต่อประเด็นระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของอินเดียที่เกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจทุกประเทศ
5) การแสดงบทบาทของอินเดียในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ภายหลังประสบความสำเร็จในการเป็นประธานการประชุม G20 โดยอินเดียจะให้ความสำคัญต่อประเด็นการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมกับขยายความร่วมมือที่ครอบคลุมในระดับโลกให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) นอกจากนี้ อินเดียจะเร่งส่งเสริมบทบาทการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและคมนาคมในภูมิภาค ตะวันออกกลาง ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และการเสริมสร้างความปลอดภัยเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลก โดยใช้ความร่วมมือในกรอบ I2U2 (ประกอบด้วยอินเดีย อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐฯ) กลุ่มความร่วมมือด้านความมั่นคง 4 ฝ่าย (QUAD) ระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย รวมทั้ง Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) เป็นกลไกขับเคลื่อน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญให้อินเดียแสดงบทบาทนำผลักดันความร่วมมือในระดับโลก
6) การสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ และการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ในห้วงที่รัฐบาลอินเดียเร่งบรรลุเป้าหมายขยายขนาดเศรษฐกิจอินเดียให้มีมูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียดำเนินนโยบาย Make in India เพื่อสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ ขณะเดียวกันพยายามเชื่อมโยงตลาดภายในประเทศเป็นตลาดขนาดใหญ่ตลาดเดียว นอกจากนี้ ยังพยายามเปิดภาคการเกษตรของอินเดียให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวอินเดีย