เครือรัฐออสเตรเลีย
Commonwealth of Australia
เมืองหลวง กรุงแคนเบอร์รา
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในซีกโลกใต้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของไทย โดยอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก
ภูมิประเทศ เป็นเกาะทวีปทำให้ออสเตรเลียเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เป็นทวีปที่เล็กที่สุดในโลก พื้นที่ทางตะวันตกและตอนกลางของประเทศเป็นเขตแห้งแล้ง เขตที่ราบแคบ ๆ สำหรับเพาะปลูกอยู่ทางฝั่งตะวันออก
ภูมิอากาศ พื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 ของออสเตรเลียอยู่เหนือเส้น Tropic of Capricorn ภูมิอากาศแตกต่างกันไป คือ อากาศร้อนทางเหนือ อบอุ่นทางตะวันออกเฉียงใต้ และแห้งแล้งตอนใจกลางทวีป มี 4 ฤดู คือ ฤดูร้อน (ธ.ค.-ก.พ.) ฤดูใบไม้ร่วง (มี.ค.-พ.ค.) ฤดูหนาว (มิ.ย.-ส.ค.) และฤดูใบไม้ผลิ (ก.ย.-พ.ย)
ศาสนา ไม่มีศาสนาประจำชาติ มีผู้นับถือคริสต์ 43.9% ไม่นับถือศาสนา 38.9% อิสลาม 3.2% ฮินดู 2.7% พุทธ 2.4% อื่น ๆ 8.9% (สำนักงานสถิติออสเตรเลีย ประจำปี 2564)
ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ
การศึกษา การศึกษาภาคบังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-10 (ระหว่างอายุ 6-16 ปี) มาตรฐานและคุณภาพการศึกษาทุกระดับเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
วันชาติ 26 ม.ค.
นายแอนโทนี นอร์แมน อัลบาเนซี
(Anthony Norman Albanese)
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย คนที่ 31
ประชากร 26,473,055 คน (สำนักงานสถิติออสเตรเลีย มี.ค.2566) เชื้อชาติมากที่สุด คือ อังกฤษ 33% ออสเตรเลีย 29.9% ไอร์แลนด์ 9.5% สกอตแลนด์ 8.6% จีน 5.5% อิตาลี 4.4% เยอรมัน 4% อินเดีย 3.1% ชนพื้นเมือง 2.9% กรีก 1.7% ฟิลิปปินส์ 1.6% เนเธอร์แลนด์ 1.5% เวียดนาม 1.3% และเลบานอน 1% (ประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ระบุว่ามี 2 เชื้อชาติ) อัตราการเกิด 1.14% อายุขัยเฉลี่ย 83 ปี (ชาย 81.3 ปี หญิง 85.4 ปี) อัตราการย้ายถิ่นฐานเข้าออสเตรเลีย (Overseas Migration Arrivals) เพิ่มขึ้น 170.90% จากปี 2564
การก่อตั้งประเทศ กัปตันเจมส์ คุก นำคณะนักสำรวจจากสหราชอาณาจักรขึ้นฝั่งด้านตะวันออกของออสเตรเลียเมื่อ 20 เม.ย.2313 อ้างสิทธิครอบครองในนามสหราชอาณาจักร (รัชกาล King George ที่ 3) และตั้งชื่อประเทศว่า Australia (มาจากภาษาละติน Aus-trales ซึ่งแปลว่าลมใต้) ต่อมากัปตันอาร์เธอร์ ฟิลลิป แห่ง ทร.สหราชอาณาจักร คุมขบวนเรือบรรทุกนักโทษอพยพจากอังกฤษและไอร์แลนด์รุ่นแรกไปตั้งรกรากที่ออสเตรเลีย โดยนำเรือเข้าสู่ Port Jackson หรือ Sydney Cove เมื่อ 26 ม.ค.2331 ต่อมาเมื่อ 1 ม.ค.2444 ออสเตรเลียได้เปลี่ยนฐานะจากอาณานิคมของสหราชอาณาจักรเป็นประเทศในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร มีการปกครองตนเองเรียกชื่อประเทศว่า Commonwealth of Australia
การเมือง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ เป็นประเทศในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นประมุข โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Governor-General) ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี คนปัจจุบัน ชื่อ General David John Hurley (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 ก.ค.2562) มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อ 21 พ.ค.2565 ซึ่งพรรคเลเบอร์ นำโดยนายแอนโทนี อัลบาเนซี เป็นฝ่ายชนะพรรคลิเบอรัล-เนชั่นแนล ด้วยเสียงข้างมาก 77 ต่อ 58 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 151 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร) พรรคกรีนส์ 4 ที่นั่ง พรรคอื่น ๆ 2 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระ 10 ที่นั่ง และได้จัดตั้งรัฐบาลออสเตรเลียชุดใหม่ซึ่งมีนายอัลบาเนซี เป็น นรม. โดยจะยังคงให้ความสำคัญกับความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และให้ความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์ต่อภูมิภาคแปซิฟิกใต้เป็นอันดับแรก นอกจากนี้ จะผลักดันการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นนโยบายหลักทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มแรงงาน สตรี และชนพื้นเมือง
ฝ่ายบริหาร : ครม.เป็นองค์กรบริหาร โดย นรม.เป็นหัวหน้า ครม. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เลือก ครม.จาก สส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยคำแนะนำของ นรม.
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภา เป็นระบบ 2 สภา 1) สภาผู้แทนราษฎร 151 ที่นั่ง วาระ 3 ปี 2) วุฒิสภา 76 ที่นั่ง วาระ 6 ปี กึ่งหนึ่งของวุฒิสมาชิก (38 ที่นั่ง) จะมีการเลือกตั้งทุก ๆ 3 ปี การออกพระราชบัญญัติทุกฉบับต้องผ่านการเห็นชอบของทั้งสองสภา ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
ฝ่ายตุลาการ : อำนาจตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาแต่ไม่มีอำนาจถอดถอน ศาลสูง (High Court of Australia) มีอำนาจสูงสุดในการตีความและตัดสินคดีกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติระดับรัฐและระดับสหพันธ์ และคดีในระดับระหว่างรัฐและระหว่างประเทศ ส่วน Federal Court of Australia มีอำนาจตัดสินคดีแพ่ง
การปกครองในระบบสหพันธรัฐของออสเตรเลีย ประกอบด้วย 6 รัฐ ได้แก่ รัฐ Western Australia, South Australia, Queensland, New South Wales, Tasmania และ Victoria และมีอาณาเขตปกครองตนเอง 2 อาณาเขต ได้แก่ Northern Territory และ Australian Capital Territory ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง แคนเบอร์รา ในแต่ละรัฐมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระดับรัฐ (Governor) มีรัฐบาลและมุขมนตรี ทำหน้าที่บริหาร โดยมีสภานิติบัญญัติ 2 สภา ยกเว้นรัฐ Queensland ซึ่งมีเพียงสภาเดียว ทั้งนี้ รัฐและอาณาเขตต่าง ๆ
มีระบบศาลของตนเอง
พรรคการเมืองที่สำคัญ : พรรคเลเบอร์ (Australian Labor Party) พรรคลิเบอรัล (Liberal Party) พรรคเนชั่นแนล (National Party) และพรรคกรีนส์ (Australian Greens)
เศรษฐกิจ เศรษฐกิจของออสเตรเลียในภาพรวมมีความยืดหยุ่นและมีพลวัต ออสเตรเลียยังมีบทบาทที่สำคัญใน WTO APEC กลุ่ม G20 และองค์กรด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ออสเตรเลียมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจติดอันดับ 13 ของโลก เมื่อปี 2565 (Index of Economic Freedom) ปรับลดลง 1 อันดับจากปี 2564 นอกจากนี้ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 14 ของโลก และมี GDP ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก เมื่อปี 2566 (IMF) มีอัตราการว่างงาน 3.6% และอัตราความยากจนที่ต่ำ สำหรับตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (Australian Securities Exchange) มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 18 ของโลก เมื่อปี 2565 รายได้หลักของรัฐบาลมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล มีการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีทางอ้อมโดยนำการจัดเก็บ Goods and Services Tax (GST) 10% มาใช้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจภาคบริการทำรายได้มากที่สุด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การศึกษา การดูแลสุขภาพ และการบริการทางการเงิน รองลงมาคือการภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการเกษตร ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี และไทย
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดอลลาร์ออสเตรเลีย (A$)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1.57 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย : 23.30 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 1.69 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.6%
รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี : 63,490 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 57,595 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้ต่างประเทศ : 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 5.4%
แรงงาน : 14.12 ล้านคน
อัตราว่างงาน : 3.6%
มูลค่าการส่งออก : 432,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : แร่เหล็ก ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ บริการทางการศึกษา ทองคำ การท่องเที่ยว เนื้อสัตว์ อะลูมิเนียม น้ำมันดิบ และทองแดง
มูลค่าการนำเข้า : 334,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รถยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ บริการขนส่งสินค้า น้ำมันดิบ และทองคำ
คู่ค้าสำคัญ : จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ อินเดีย เยอรมนี และมาเลเซีย
ทรัพยากรธรรมชาติ : ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ไม้ แร่ธาตุ เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง ทอง เหล็กกล้าตะกั่ว สังกะสี และอัญมณี
การทหารและความมั่นคง
ออสเตรเลียดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงโดยยึดสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ดำเนินการผ่านสนธิสัญญา ANZUS (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ) นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะผ่านที่ประชุม ASEAN Regional Forum และ Pacific Islands Forum รวมทั้งที่ประชุม East Asia Summit (ออสเตรเลียเป็นสมาชิกเมื่อปี 2548) ออสเตรเลียยังเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง Five Power Defence Arrangements (ข้อตกลงด้านความมั่นคง ประกอบด้วยสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และสิงคโปร์) ตลอดจนมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรของกลุ่ม NATO และเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร NATO Asia-Pacific Four (AP4) (ประกอบด้วยออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้)
กองทัพออสเตรเลีย มีกำลังพลรวม 89,550 นาย แบ่งเป็นกำลังประจำการ จำนวน 59,800 นาย ประกอบด้วย ทบ.จำนวน 29,400 นาย ทร.จำนวน 15,500 นาย ทอ.จำนวน 14,900 นาย และกำลังสำรอง 29,750 นาย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารตามพิธีการ และเป็นผู้แต่งตั้ง
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Chief of the Defence Force-CDF) ซึ่งมาจาก 1 ในผู้บัญชาการทหาร 3 เหล่า ตามคำแนะนำของรัฐบาล งานปฏิบัติการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้นำกองทัพ ส่วนงานบริหารและนโยบายป้องกันอยู่ภายใต้อำนาจของ รมว.กระทรวงกลาโหม
ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ประกาศตั้งหุ้นส่วนความมั่นคงไตรภาคีในนามกลุ่ม AUKUS เมื่อ 16 ก.ย.2564 ในสมัยนายสกอตต์ มอร์ริสัน ดำรงตำแหน่ง นรม.ออสเตรเลีย โดยสหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักรจะสนับสนุนให้ออสเตรเลียเข้าถึงเทคโนโลยีผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อย่างน้อย 8 ลำ โดยยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความสามารถปฏิบัติการร่วมกัน (Interoperability) มีลักษณะร่วม (Commonality) และคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit)
ข้อตกลง AUKUS จะส่งผลให้ออสเตรเลียมีขีดความสามารถทางทะเลแบบก้าวกระโดด เนื่องจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีขีดความสามารถเหนือกว่าเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล/ไฟฟ้า ที่ยากต่อการตรวจพบ มีความเร็วและพิสัยทำการไกล เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ที่มีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และท้าทายมากขึ้นจากการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค
ออสเตรเลียจะสร้างฐานทัพเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แห่งใหม่ทางฝั่งตะวันออกจากเดิมที่มีฐานทัพเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ฝั่งตะวันตกเท่านั้น เพื่อขยายขีดความสามารถในการปฏิบัติการใต้น้ำให้ครอบคลุมทั้งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้ กลุ่ม AUKUS จะร่วมมือกันพัฒนาขีดความสามารถทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม ขีดความสามารถใต้ทะเล อาวุธความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic) ความสามารถทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญทางทหาร และนวัตกรรมด้านการป้องกันประเทศ
ออสเตรเลียปรับยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศมุ่งรับมือกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยรายงานทบทวนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศ (2023 Defence Strategic Review)
ของออสเตรเลียเสนอแนะให้กองทัพออสเตรเลียเปลี่ยนโครงสร้างกำลังแบบปกติ (Balanced Force) ไปสู่
การใช้กองกำลังปฏิบัติการร่วม (Integrated Force) เตรียมพร้อมสำหรับการตอบโจทย์ภัยรูปแบบใหม่ด้วยการรวมขีดความสามารถทางทะเล บก อากาศ อวกาศ และไซเบอร์ และมุ่งเสริมสร้างเครือข่ายฐานทัพ ท่าเรือ และค่ายทหารบริเวณทางเหนือของประเทศ อีกทั้งสนับสนุนการจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งอาวุธตามแบบผ่านความร่วมมือของกลุ่ม AUKUS
ออสเตรเลียกำหนดลำดับความสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหาร ดังนี้
1) การทำสงครามใต้ทะเล (ทั้งแบบมีลูกเรือและไม่มีลูกเรือ) สำหรับการโจมตีพิสัยไกล และปฏิบัติการใต้ผิวน้ำพิสัยไกลด้านการข่าวกรอง การเฝ้าตรวจ และการลาดตระเวน (Intelligence, Surveillance and Reconnaissance-ISR) 2) กำหนดเป้าหมายปฏิบัติการแบบบูรณาการ (Integrated Targeting Capability) 3) การโจมตีพิสัยไกลทั้งทางทะเล บก อากาศ อวกาศ และไซเบอร์ 4) การใช้ระบบอาวุธภาคพื้นดินร่วมกับการยกพลขึ้นบกอย่างเต็มรูปแบบ 5) การปฏิเสธการใช้ทะเลของฝ่ายตรงข้าม (Sea Denial) และการควบคุมทะเล (Sea Control) 6) การป้องกันทางอากาศด้วยความรวดเร็ว เป็นเครือข่าย 7) พัฒนาระบบส่งกำลังบำรุงทางยุทธบริเวณ 8) พัฒนากลไกบังคับบัญชาและควบคุมระดับยุทธบริเวณเพื่อสนับสนุน Integrated Force
ออสเตรเลียยังเพิ่มขีดความสามารถการโจมตีพิสัยไกลผ่านการพัฒนาอาวุธปล่อยติดตั้งบนเครื่องบินและเรือรบ เช่น จรวด Tomahawk ติดตั้งบนเรือพิฆาตชั้น Hobart เพื่อโจมตีเป้าหมายบนบกได้แม่นยำมากขึ้น อาวุธปล่อยอากาศสู่พื้นติดตั้งบนเครื่องบินขับไล่ F/A-18 A/B Hornets และเครื่องบินขับไล่ F-35A Lightning II อาวุธปล่อยต่อต้านเรือพิสัยไกลติดตั้งบนเครื่องบินขับไล่ F/A-18 F Super Hornet และจะร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาอาวุธปล่อยความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Missile) รวมทั้งจัดหาอาวุธปล่อยโจมตีอย่างแม่นยำทำลายเป้าหมายในระยะมากกว่า 400 กม. ให้กองทัพบก และจะเร่งลงทุนในหน่วยงานผลิตอาวุธในประเทศ จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ทั้งนี้ ออสเตรเลียให้ความสำคัญมากที่สุดต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางทะเล
งบประมาณด้านการป้องกันประเทศของออสเตรเลียสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในปีงบประมาณ 2566-2567 มีจำนวน 52,558.8 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
คิดเป็น 2.04% ของ GDP (เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564-2565 จำนวน 49,131 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย คิดเป็น 1.93% ของ GDP) ในจำนวนดังกล่าว เป็นการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยข่าวกรองทางการสื่อสารของออสเตรเลีย (Australian Signals Directorate-ASD) จำนวน 2,472 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย รัฐบาลยังระบุถึงงบประมาณห้วงปี 2566-2570 จะลงทุนจำนวน 19,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ในการเสริมสร้าง
ขีดความสามารถทางทหารตามลำดับความสำคัญที่ระบุในรายงานทบทวนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศ
ปี 2566 รวมถึง 1) โครงการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้ความร่วมมือกลุ่ม AUKUS จำนวน 9,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย 2) ขีดความสามารถในการโจมตีพิสัยไกล จำนวน 4,100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย 3) ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานฐานทัพทางตอนเหนือ จำนวน 3,800 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย 4) การพัฒนาบุคลากรของกองทัพออสเตรเลียผ่านหน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรมของ Advanced Strategic Capabilities Accelerator (สังกัด กห.ออสเตรเลีย) และผ่านความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่สำคัญภายใต้ AUKUS Pillar 2
การจัดหายุทโธปกรณ์ที่สำคัญในปี 2566-2567 ออสเตรเลียมีโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A Lightning จำนวน 72 เครื่อง จากบริษัท Lockheed Martin ของสหรัฐฯ ซึ่งจะได้รับส่งมอบจำนวน 12 เครื่อง เพิ่มการติดตั้งอาวุธโจมตีพิสัยไกลความแม่นยำสูงบนเครื่องบินขับไล่ เช่น อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้นต่อต้านเรือผิวน้ำ (Long Range Anti-Ship Missile-LRASM) อาวุธปล่อยนําวิถีอากาศสู่พื้น Joint Strike Missiles (JSM) อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น Joint Air-to-Surface Standoff Missile-Extended Range (JASSM-ER) อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ AIM-9X และ AIM-120D ประจำการยานไร้คนขับอัตโนมัติ MQ-28A Ghost Bat เพิ่มอีก 7 เครื่อง (พัฒนาโดยกองทัพออสเตรเลีย เดิมมี 3 เครื่อง) เพื่อใช้ในลักษณะเครื่องบินรบปฏิบัติการร่วมกับเครื่องบินขับไล่ที่มีนักบินควบคุม และจัดซื้อรถถังหลัก รุ่น M1A2 Abrams จำนวน 75 คัน และรถรบทหารช่าง (Combat Engineering Vehicle-CEV) จำนวน 52 คัน
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาการจารกรรมและการแทรกแซงจากต่างชาติเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อออสเตรเลียมากที่สุด และแทนที่ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่ลดระดับความรุนแรงลงในช่วงที่มีการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยทางการออสเตรเลียสกัดกั้นความพยายามของต่างชาติในการแทรกแซงอิทธิพลในประเทศอย่างน้อย 4 ครั้ง ห้วงปี 2564-2565 โดยเฉพาะความพยายามเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของออสเตรเลีย การจัดลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจและนโยบายข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่ม AUKUS และกลุ่ม Quad ขณะที่ไม่ปรากฏแผนการโจมตีก่อการร้ายในประเทศ อย่างไรก็ดี ออสเตรเลียยังคงให้ความสำคัญต่อกลุ่มนิยมความรุนแรงภายในประเทศทั้งกลุ่มขวาจัดสุดโต่ง กลุ่มมุสลิมนิยมความรุนแรง และกลุ่มนิยมความรุนแรงที่เชื่อมโยงกับประเด็นต่าง ๆ
ความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลีย
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 19 ธ.ค.2495 ความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิดทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยทั้งสองประเทศยกระดับความสัมพันธ์ สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) เมื่อ 13 พ.ย.2563 ภายหลังการลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับออสเตรเลีย (Joint Declaration on the Strategic Partnership between the Kingdom of Thailand and Australia) ซึ่งจะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษา สาธารณสุข การเกษตร สิ่งแวดล้อม และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน
ในปี 2565 ไทยและออสเตรเลียจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 70 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน และการลงนามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ค.ศ.2022-2025 (Joint Plan of Action to Implement the Thailand-Australia Strategic Partnership 2022-2025) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยครอบคลุมความร่วมมือรอบด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเมือง การทหาร และความมั่นคงรูปแบบใหม่ รวมถึงการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติดและการค้ามนุษย์ 2) ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงสาขาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล 3) ความร่วมมือรายสาขา อาทิ สาธารณสุข เกษตร การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัย พลังงาน สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภัยพิบัติ 4) ความเชื่อมโยงระดับประชาชน และ 5) ความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค
ออสเตรเลียมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับราชวงศ์ไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยศึกษาที่มัธยมศึกษาปลายในนครซิดนีย์ และหลักสูตรนักเรียนนายร้อย ณ วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ระหว่างปี 2515-2518 และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนออสเตรเลียเมื่อปี 2562 นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยได้จัดทำวีดิทัศน์สารคดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงศึกษาในออสเตรเลีย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้านเศรษฐกิจการค้าดำเนินการผ่าน Thailand-Australia Free Trade Agreement หรือ TAFTA (มีผลเมื่อ 1 ม.ค.2548) ส่งผลให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า
ในระยะหลายปีที่ผ่านมา โดยออสเตรเลียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของไทยเมื่อปี 2565 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 638,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 545,711 ล้านบาท เมื่อปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 17.02% (สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 ของออสเตรเลียเมื่อปี 2565 สินค้าที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลีย ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เหล็ก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องสำอาง เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ถ่านหิน พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ด้ายและเส้นใย เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เคมีภัณฑ์ เหล็กกล้า เป็นต้น โดยทั่วไปชาวออสเตรเลียมีทัศนคติที่ดีต่อคนไทย เมื่อปี 2565 มีชาวออสเตรเลียเดินทางมาประเทศไทย จำนวน 336,688 เพิ่มขึ้น 97.16% จากปี 2564 (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ด้านการเมืองและความมั่นคง ไทยและออสเตรเลียมีกลไกหารือทวิภาคี ได้แก่ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-ออสเตรเลีย (Joint Commission-JC) ระดับรัฐมนตรี ตามความตกลง Agreement on Bilateral Relationship และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Talks-SOTs) ระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นเวทีหารือประเด็นความร่วมมือทวิภาคีและประเด็นที่ได้รับความสนใจระดับภูมิภาค โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ ทั้งสองประเทศยังสนับสนุนบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งออสเตรเลียให้ความร่วมมือและสนับสนุนไทยด้วยดี ในด้านการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรไทยในด้านดังกล่าว รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในการปฏิบัติการร่วม
โดยในปี 2565 ออสเตรเลียและไทยลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (Centre of Excellence for Countering Trafficking in Persons) เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้านการทหาร กองทัพไทยและออสเตรเลียมีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2488 และลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างไทยกับออสเตรเลียเมื่อปี 2529 (Defence Cooperation Program-DCP) ทั้งสองประเทศพัฒนาความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่อาวุโส การสัมมนา ตลอดจนกลไกการหารือและการฝึกร่วม/ฝึกผสมระหว่างกันทุกเหล่าทัพ ทั้งนี้ ออสเตรเลียยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการ DCP ให้กองทัพไทยประมาณปีละ 5.7 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
พัฒนาการความร่วมมือด้านความมั่นคงภายใต้กลุ่ม AUKUS โดยเฉพาะความคืบหน้าในการจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลีย ซึ่งสหรัฐฯ ระบุจะขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ชั้น Virginia ให้ออสเตรเลีย จำนวน 3 ลำ ภายในต้นทศวรรษ 2030 (ปี 2573-2582) และอาจพิจารณาขายเพิ่มให้ได้อีก 2 ลำในภายหลัง ส่วนสหราชอาณาจักรจะออกแบบเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์รุ่นใหม่ที่ติดตั้งอาวุธตามแบบ ในชื่อชั้น SSN-AUKUS โดยพัฒนาจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหราชอาณาจักร ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งคาดว่า จะสร้างลำแรกเสร็จสิ้นและประจำการใน ทร.สหราชอาณาจักรภายในปลายทศวรรษ 2030 และจะส่งมอบให้ ทร.ออสเตรเลียลำแรกได้ภายในต้นทศวรรษ 2040 (ปี 2583-2592) นอกจากนี้ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจะเพิ่มการส่งเรือเข้าเยี่ยมท่าเรือออสเตรเลีย (Port Visit) มากขึ้นตั้งแต่ปี 2566 และปี 2569 ตามลำดับ และจะเริ่มหมุนเวียนเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ไปยังออสเตรเลียในต้นปี 2570 เพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานของ ทร.ออสเตรเลีย
กระแสเรียกร้องจัดการลงประชามติเปลี่ยนแปลงการปกครองของออสเตรเลียเป็นระบอบสาธารณรัฐ หรือการแยกตัวออกจากเครือจักรภพ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร
การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนในฐานะคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย จีนใช้มาตรการบีบบังคับทางเศรษฐกิจกับออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการชะลอการนำเข้าเนื้อวัวและล็อบสเตอร์ และขึ้นภาษีนำเข้าข้าวบาร์เลย์และไวน์ ปัญหาพิพาทระหว่างทั้งสองประเทศขยายตัวสู่ความขัดแย้งด้านอื่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียเปลี่ยนรัฐบาลนำโดยนายแอนโทนี อัลบาเนซี พรรคเลเบอร์ เมื่อ พ.ค.2565 ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนคลายความตึงเครียด และมีสัญญาณเชิงบวกอย่างต่อเนื่องจากการที่จีนทยอยยกเลิกมาตรการขึ้นภาษีข้าวบาร์เลย์ และอยู่ระหว่างเจรจากรณียกเลิกการขึ้นภาษีไวน์และล็อบสเตอร์
ออสเตรเลียเพิ่มความสำคัญต่อการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area-AANZFTA) รวมถึงเร่งพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Economic Strategy) ปี 2583
ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ และการต่อต้านการจารกรรมในออสเตรเลียยังเป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้านการโจมตีทางไซเบอร์จากต่างชาติ ออสเตรเลียตรวจพบภัยคุกคามทางไซเบอร์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบของภัยคุกคามทางไซเบอร์มีพัฒนาการและดำเนินการอย่างเปิดเผยมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ (Ransomware) เพื่อใช้แสวงประโยชน์ในการแทรกแซงกิจการภายในของออสเตรเลีย เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญหรือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงในหลายภาคส่วน ทั้งในหน่วยงานรัฐบาล หน่วยงานด้านการป้องกันประเทศ บริษัทสื่อมวลชน สถานศึกษา และหน่วยงานด้านสาธารณสุข โดยออสเตรเลียประเมินว่า สถาบันอุดมศึกษาและงานวิจัยเป็นสาขาหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากต่างชาติเพราะเกี่ยวข้องกับนโยบาย การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ จึงต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน โดยขึ้นบัญชีรายชื่อเทคโนโลยีสำคัญและงานวิจัยสาขาที่มีการทำงานร่วมกับต่างชาติและมีข้อมูลอ่อนไหว