สาธารณรัฐอิรัก
Republic of Iraq
เมืองหลวง แบกแดด
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างเส้นละติจูดที่ 29-37 องศาเหนือ กับเส้นลองจิจูดที่ 39-47 องศาตะวันออก มีทางออกทะเลสู่อ่าวเปอร์เซียซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของประเทศ พื้นที่ 438,317 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 60 ของโลก มีชายแดนทางบกยาว 3,809 กม. และมีชายฝั่งยาวประมาณ 58 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับตุรกี (367 กม.)
ทิศใต้ ติดกับซาอุดีอาระเบีย (811 กม.) และคูเวต (254 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับอิหร่าน (1,599 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับจอร์แดน (179 กม.) และซีเรีย (599 กม.)
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายและที่ราบกว้างใหญ่ตลอดแนวพรมแดนที่ติดกับอิหร่าน พื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศเป็นที่ราบลุ่ม หนอง บึง มีเทือกเขากั้นพรมแดนกับอิหร่านและตุรกี แม่น้ำสายหลัก 2 สาย ไหลผ่านกลางประเทศ คือ แม่น้ำไทกริส ความยาว 1,950 กม. และแม่น้ำยูเฟรติส ความยาว 3,596 กม. เป็นแหล่งพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของอิรัก กระแสน้ำจะไหลเชี่ยวในฤดูใบไม้ผลิ ทำให้เกิดอุทกภัยในที่ราบลุ่ม
วันชาติ 3 ต.ค. (วันที่สันนิบาตชาติประกาศให้เอกราชจากอาณัติของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2497)
นายมุศเฏาะฟา อัลกาซิมี
Mustafa Al-Kadhimi
(นรม.อิรัก)
ประชากร 39,650,145 คน (ประมาณการ ก.ค.2564)
รายละเอียดประชากร เชื้อสายอาหรับ 75-80% เคิร์ด 15-20% เตอร์โกมาน ยาซิดี อัสซีเรียน เบดูอินและอื่น ๆ 5% อัตราส่วนของประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 37.02% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 59.65% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.33% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 72.9 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 71.01 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 74.89 ปี (ประมาณการปี 2563) อัตราการเกิด 25.21 คน ต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 3.92 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 2.06% (ประมาณการปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ เป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รู้จักในชื่อว่าเมโสโปเตเมีย เมื่อปี 2463 อิรักตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรก่อนจะได้รับอิสรภาพและประกาศเป็นราชอาณาจักรในปี 2475 ต่อมากองทัพอิรักก่อการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบอบกษัตริย์ที่เรียกว่า 14 July Revolution และเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐตั้งแต่ปี 2501 โดยมีพลจัตวา อับดุลกะรีม กอซิม ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก ต่อมามีการปฏิวัติโค่นล้มผู้นำอิรักหลายครั้งจนกระทั่งประธานาธิบดีซัดดัม ฮุเซน ประธานาธิบดีคนที่ 5 (รับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2522) ถูกสหรัฐฯ ทำสงครามโค่นล้มเมื่อปี 2546 ส่งผลให้อิรักถูกยึดครองภายใต้การบริหารของนายพอล เบรเมอร์ จนถึง มิ.ย.2547 จึงมีการส่งมอบอธิปไตยให้แก่รัฐบาลชั่วคราวของชาวอิรักภายใต้การนำของนายฆอซี มัชอัล อัลยาวัร ก่อนที่กระบวนการถ่ายโอนอำนาจให้แก่รัฐบาลถาวรของอิรักแล้วเสร็จเมื่อ เม.ย.2548
การเมือง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และ นรม.เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายบัรฮัม อะห์มัด ศอลิห์ (อายุ 61 ปี/ปี 2565) จากพรรค Patriotic Union of Kurdistan (PUK) ของชาวเคิร์ด ดำรงตำแหน่งเมื่อ 2 ต.ค.2561 นรม. คนปัจจุบัน คือ นายมุศเฏาะฟา อัลกาซิมี (อายุ 55 ปี/ปี 2565) ผอ.หน่วยข่าวกรองอิรัก (Iraqi National Intelligence Service-INIS) ไม่สังกัดพรรคการเมือง สาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 7 พ.ค.2563
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ ประธานาธิบดีมีอำนาจจำกัดเพียงให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อภัยโทษผู้ที่มีความผิดตามที่ นรม.เสนอ และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่เป็นเพียงตำแหน่งเกียรติยศเชิงพิธีการเท่านั้น อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีมีอำนาจยับยั้งกฎหมายให้รัฐสภากลับไปทบทวนใหม่ได้ ส่วน นรม. เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ไม่จำกัดวาระ อำนาจในการแต่งตั้ง นรม. เป็นของสภาประธานาธิบดี (ประกอบด้วยประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี 2 คน ที่ได้รับเลือกจากรัฐสภา) ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ด้วยเสียงที่เป็นเอกฉันท์ หากไม่สามารถแต่งตั้ง นรม.ได้ อำนาจในการเลือก นรม.จะอยู่ที่รัฐสภา โดย นรม.จะต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 แต่หากรัฐสภายังไม่สามารถเลือก นรม.ได้ สภาประธานาธิบดีจะเป็นผู้พิจารณาบุคคลใหม่เพื่อทำหน้าที่ นรม.ต่อไป
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภา (Council of Representatives หรือ Majlis an-Nuwwab al-Iraqiyy) แบบสภาเดี่ยว จำนวนสมาชิก 329 คน มาจากการเลือกตั้ง วาระ 4 ปี มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายและเลือกตั้งสภาประธานาธิบดี การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกมีขึ้นเมื่อ 30 ม.ค.2548 ครั้งล่าสุดเมื่อ 10 ต.ค.2564 และกำหนดจัดครั้งถัดไปในปี 2568
ฝ่ายตุลาการ : ระบบศาลประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา นอกจากนี้ ยังมีศาลที่พิจารณาคดีเป็นการเฉพาะ เช่น ศาลแรงงาน ศาลอาญา ศาลเยาวชน และศาลศาสนา สภาตุลาการสูงสุดซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตุลาการอิสระ 26 คน เป็นผู้แต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหพันธรัฐ (จำนวน 9 คน วาระดำรงตำแหน่งตลอดชีพ) ซึ่งมีอำนาจตัดสินเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ กับองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา (ประธาน 1 คน รองประธาน 5 คน และผู้พิพากษาอย่างน้อย 24 คน มีห้วงเวลาทดลองงาน 1 ปี หากปฏิบัติหน้าที่น่าพอใจจะได้อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการที่ 63 ปี)
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ 1) State of Law Coalition ซึ่งมี Da’wa Party ของอดีต นรม.นูรี อัลมาลิกี เป็นแกนนำ 2) Victory coalition หรือ National Alliance ซึ่งมีอดีต นรม.ฮัยดัร อัลอะบาดี เป็นแกนนำ 3) Alliance of Revolutionaries for Reform แนวร่วมพรรคการเมืองชาวอาหรับชีอะฮ์ ซึ่งมีพรรค Sadrist Movement ของนายมุกตะดา อัศศอดร์ นักการศาสนาชาวชีอะฮ์เป็นแกนนำ 4) พรรค Patriotic Union of Kurdistan ของอดีตประธานาธิบดีญะลาล ฏอละบานี 5) Na-tional Reform ของอดีต นรม.อิบรอฮีม อัลญะอ์ฟะรี 6) Iraqi National Accord หรือ Wataniyah coalition ของอดีต นรม.อิยาด อลาวี 7) Iraqi Front for National Dialogue ของอดีต นรม.ศอลิห์ อัลมุฏลัก 8) Fatah Alliance แนวร่วมพรรคการเมืองชาวอาหรับชีอะฮ์ ที่มีพรรค Badr Organization ของนายฮาดี อัลอมีรี เป็นแกนนำ 9) Kurdistan Democratic Party (KDP) ของประธานาธิบดีมัสอูด บารซานี ของรัฐบาลเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Regional Government-KRG) ในภาคเหนือของอิรัก และ 10) National Wisdom Movement ของนายอัมมาร อัลฮะกีม นักการศาสนาชาวอาหรับชีอะฮ์ และประธานสภาอิสลามสูงของอิรัก
เศรษฐกิจ รัฐบาลอิรักมีนโยบายปฏิรูปเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรีมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีฮุเซน แต่ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้การดำเนินการของรัฐ อีกทั้งต้องพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นหลัก โดยเป็นแหล่งที่มาของรายได้ภาครัฐถึง 95% ขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบเป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศกว่า 80% ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอิรักจึงมีนโยบายกำหนดเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกในอนาคต และเริ่มให้บริษัทน้ำมันต่างชาติเข้าร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาและผลิตน้ำมันในประเทศนับตั้งแต่ปี 2552 ทั้งนี้ รายงาน Iraq’s Energy Outlook ของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งเผยแพร่เมื่อ ต.ค.2555 ระบุว่าภาคพลังงานของอิรักมีส่วนในการสนับสนุนการเติบโตของอุปทานน้ำมันในตลาดโลกมาตลอดหลายทศวรรษ โดย IEA คาดการณ์ว่าอิรักจะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันหลักของตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน และ จะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกภายในปี 2573 และการผลิตน้ำมันของอิรักจะเพิ่มขึ้นถึงวันละ 8 ล้านบาร์เรล ภายในปี 2578 จากเมื่อปี 2555 อยู่ที่วันละ 3 ล้านบาร์เรล
ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบซึ่งมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 145,019 ล้านบาร์เรล (อันดับ 5 ของโลก) (ประมาณการปี 2562 ของ OPEC) กำลังการผลิตวันละ 4.15 ล้านบาร์เรล และส่งออกวันละ 3.12 ล้านบาร์เรล (ข้อมูลเมื่อ ต.ค.2564 ของกระทรวงน้ำมันอิรัก) โดยอิรักเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) รองจากซาอุดีอาระเบีย ก๊าซธรรมชาติซึ่งมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้ว 3.714 ล้านล้านลูกบาศ์กเมตร กำลังการผลิตวันละ 1,154 ล้านลูกบาศ์กเมตร แต่เป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศทั้งหมด (ประมาณการปี 2562 ของ OPEC) นอกจากนี้ ยังมีแร่ฟอสเฟต และกำมะถัน
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดีนารอิรัก (Iraqi Dinar-IQD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : ประมาณ 1,460.18 ดีนารอิรัก : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 44.78 ดีนารอิรัก : 1 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2565 ของ IMF)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.9%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 12,406 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 7.1%
รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี : 4,498 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ : 40,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 10,356,947 คน (ประมาณการปี 2563 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ)
อัตราการว่างงาน : 13.74%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 2,746 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เมื่อปี 2563 ขององค์การการค้าโลก)
มูลค่าการส่งออก : 41,738 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงน้ำมัน (97.2%) สินค้าอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์การเกษตร (0.2%) และอื่น ๆ (2.6%)
ประเทศส่งออกสินค้าสำคัญ : จีน อินเดีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ อิตาลี กรีซ
มูลค่าการนำเข้า : 44,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : สินค้าอุตสาหกรรม (74.3%) อาทิ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า ท่อและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก ผลิตภัณฑ์การเกษตร (20.4%) อาทิ แป้งสาลี ธัญพืช ข้าว น้ำตาลทราย เวชภัณฑ์ ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (4.4%) และอื่น ๆ (0.9%)
ประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี จีน เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐฯ
การทหาร สหรัฐฯ ปฏิรูปและปรับโครงสร้างกองทัพอิรักขนานใหญ่ หลังการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี ฮุเซน เมื่อปี 2546 อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่ม Islamic State (IS) บุกยึดครองพื้นที่ต่าง ๆ ในอิรักเมื่อ มิ.ย.2557 มีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความอ่อนแอของกองทัพอิรัก ทำให้รัฐบาลอิรักต้องขอรับการสนับสนุนด้านการทหารเพื่อปราบปรามกลุ่ม IS จากประชาคมโลก เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรนานาชาติในการปราบปรามกลุ่ม IS ส่งกองกำลังจำนวนหนึ่งเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางทหารและฝึกกองกำลังรัฐบาลอิรักมาตั้งแต่ 15 มิ.ย.2557 (ปัจจุบันมีกองกำลังสหรัฐฯ ในอิรักประมาณ 3,000 คน) อีกทั้งร่วมมือกับหลายประเทศสนับสนุนปฏิบัติการทางอากาศโจมตีกลุ่ม IS ในอิรักมาตั้งแต่ 7 ส.ค.2557 จนกลุ่ม IS ประสบความพ่ายแพ้เมื่อ ธ.ค.2560 ปัจจุบันกองทัพอิรักอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย 3 เหล่าทัพ ได้แก่ ทบ. ทร. และ ทอ. กองบัญชาการกองทัพตั้งอยู่ที่แบกแดด งบประมาณทางทหารเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 20,267 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.76% ของ GDP) ประธานาธิบดีอิรักเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง แต่เป็นตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากอำนาจสั่งการจริงอยู่ที่ประธานเสนาธิการร่วม
– ทบ. จัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อ 7 ส.ค.2546 เรียกว่า New Iraqi Army เคยมีกำลังพลประจำการมากกว่า 190,000 นาย แต่ต้องสูญเสียกำลังพลจากการสู้รบกับกลุ่ม IS มาตั้งแต่ปี 2557 โดยเมื่อปี 2563 มีกำลังพลประมาณ 180,000 นาย (ในจำนวนนี้รวมหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย) ทบ.เป็นกองกำลังหลักในการต่อต้านการก่อความไม่สงบภายในประเทศ ป้องกันแนวชายแดน รักษาความมั่นคงในเมืองและที่ตั้งทางทหาร คุ้มครองท่อส่งน้ำมัน รวมทั้งเป็นกำลังหลักในการปราบปรามกลุ่ม IS ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) รุ่น M1A1 Abrams ประมาณ 100 คัน รุ่น T-72 มากกว่า 168 คัน รุ่น T-55 ประมาณ 50 คัน และรุ่น T-90S จำนวน 73 คัน ยานยนต์ลาดตระเวนหุ้มเกราะ (RECCE) รุ่นต่าง ๆ จำนวน 453 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ (IFV) รุ่นต่าง ๆ จำนวน 650 คัน รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะ (APC) รุ่นต่าง ๆ มากกว่า 1,592 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะกู้ภัย (ARV) รุ่นต่าง ๆ มากกว่า 222 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร (SP) ขนาดต่าง ๆ มากกว่า 48 กระบอก ปืนใหญ่ลากจูง (TOWED) ขนาดต่าง ๆ มากกว่า 60 กระบอก เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง (MRL) ขนาดและรุ่นต่าง ๆ มากกว่า 3 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด (MOR) ขนาดและรุ่นต่าง ๆ มากกว่า 950 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถัง (MSL) แบบ MANPATS รุ่น 9K135 Kornet อาวุธปล่อยแบบอากาศสู่พื้น (ASM) รุ่น 9K114 Shturm รุ่น AR-1 และรุ่น Ingwe (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี (ATK) รุ่น Mi-28NE จำนวน 11 เครื่อง รุ่น Mi-28UB จำนวน 4 เครื่อง และรุ่น Mi-35M Hind มากกว่า 20 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์แบบอเนกประสงค์ (MRH) รุ่น SA342 Gazelle มากกว่า 4 เครื่อง รุ่น Bell IA407 จำนวน 17 เครื่อง รุ่น HI135M จำนวน 23 เครื่อง และรุ่น Mi-17 Hip มากกว่า 19 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์แบบลำเลียง (TPT) รุ่น Bell 205 จำนวน 16 เครื่อง รุ่น Bell 206B3 จำนวน 10 เครื่อง รุ่น Bell T407 มากกว่า 18 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์แบบตรวจการณ์ (ISR) รุ่น OH-58C จำนวน 10 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับสำหรับภารกิจโจมตีและสอดแนม รุ่น CH-4 และขีปนาวุธนำวิถีแบบอากาศสู่พื้น (ASM) รุ่น 9K114 Shturm รุ่น AGR-20A รุ่น AR-1 และรุ่น Ingwe (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
– ทร. เดิมใช้ชื่อว่า กกล.ป้องกันชายฝั่ง (Iraqi Coastal Defense Force-ICDF) แต่เปลี่ยนชื่อเป็น ทร. อย่างเป็นทางการเมื่อ 12 ม.ค.2548 ภารกิจหลัก คือ การปกป้องน่านน้ำ แนวชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเล เฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามการลักลอบขนน้ำมันและอาวุธเถื่อน มีกำลังพล 3,000 นาย ในจำนวนนี้ ยังไม่รวมนาวิกโยธินจำนวน 1,000 นาย มีฐานทัพเรือสำคัญเพียงแห่งเดียวตั้งอยู่ที่เมือง Um Qasr ทางภาคใต้ ขณะที่กองบัญชาการ ทร. ตั้งอยู่ที่ Camp Victory ในแบกแดด โดย ทร. มีแผนสร้างฐานทัพเรือขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่ท่าเรือ Al Faw ในเมืองบัศเราะฮ์ทางภาคใต้ และย้ายกองบัญชาการไปฐานทัพเรือแห่งใหม่ ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือตรวจการณ์นอกชายฝั่ง (PCO) ชั้น Al Basrah จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ใกล้ชายฝั่ง (PCC) ชั้น Fateh จำนวน 4 ลำ เรือตรวจการณ์ (PB) ชั้น Swiftships 35 จำนวน 12 ลำ ชั้น Predator จำนวน 5 ลำ และชั้น Al Faw จำนวน 3 ลำ เรือ เรือเร็วตรวจการณ์ลําน้ำ (PBR) ชั้น Type-200 จำนวน 2 ลำ และชั้น Type-2010 จำนวน 4 ลำ
– ทอ. จัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อปี 2547 และยังต้องได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาเข้มแข็ง โดยพึ่งพาความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมและยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่จากสหรัฐฯ เนื่องจากเครื่องบินของอิรักจำนวนมากถูกทำลายในช่วงสงครามอิรักเมื่อปี 2546 ปัจจุบัน ทอ. มีกำลังพลประมาณ 5,000 นาย ในจำนวนนี้ยังไม่รวมกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Command) ประมาณ 5,000 นาย โดย ทอ.มีแผนจะเพิ่มกำลังพลเป็น 18,000 นาย และจัดหาอากาศยานมาประจำการให้ได้ 550 เครื่อง จากเดิมที่มีประมาณ 327 เครื่อง เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกลุ่ม IS บุกยึดพื้นที่ต่าง ๆ ในอิรักเมื่อปี 2557 ทำให้อิรักต้องเร่งจัดหาอากาศยานมาประจำการเพิ่ม เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการปราบปรามกลุ่ม IS ภารกิจหลักของ ทอ.คือ การลาดตระเวนและการขนส่งทางอากาศ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการของ ทบ. อากาศยานที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินขับไล่และโจมตีภาคพื้นดิน (FGA) รุ่น F-16C จำนวน 26 เครื่อง และรุ่น F-16D จำนวน 8 เครื่อง เครื่องบินโจมตี (ATK) รุ่น L-159A จำนวน 10 เครื่อง รุ่น L-159T1 จำนวน 1 เครื่อง รุ่น Su-25/Su-25K/Su-25UBK มากกว่า 19 เครื่อง เครื่องบินตรวจการณ์และลาดตระเวน (ISR) รุ่น Cessna AC-208B จำนวน 2 เครื่อง รุ่น SB7L-360 จำนวน 2 เครื่อง และรุ่น Beech 350ER จำนวน 6 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง (TPT) รุ่น C-130E จำนวน 3 เครื่อง รุ่น C-130J-30 จำนวน 6 เครื่อง และรุ่น An-32B จำนวน 6 เครื่อง รุ่น Beech 350 จำนวน 1 เครื่อง รุ่น Cessna 208B จำนวน 5 เครื่อง และรุ่น Cessna 172 จำนวน 8 เครื่อง อาวุธปล่อยแบบอากาศสู่พื้น (ASM) รุ่น AGM-114 Hellfire อาวุธปล่อยแบบอากาศสู่อากาศ (AAM) รุ่น AIM-9L รุ่น AIM-9M และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ รุ่น GBU-12 Paveway II (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
นอกจากนี้ยังมีกองกำลังสำคัญอื่น ๆ ได้แก่
– กองกำลังปฏิบัติการพิเศษ (Iraqi Special Operation Force) ในกำกับของสำนักต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นตรงต่อ นรม. มีกำลังพลที่มีทั้งซุนนีและชีอะฮ์ประมาณ 18,000 นาย ได้รับการฝึกอย่างดี มีอาวุธทันสมัย ทำหน้าที่กวาดล้างและจับกุมกลุ่มก่อการร้ายในอิรัก
– กองกำลังติดอาวุธ Popular Mobilisation Forces (PMF) หรือ Al-Hashd Al-Sha’abi ตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสำนักงาน นรม. มีสถานะเทียบเท่ากับ Iraqi Special Operation Force และได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน กำลังพลประมาณ 160,000 นาย เป็นกองกำลังที่รวบรวมกลุ่มติดอาวุธในอิรักประมาณ 40 กลุ่ม เพื่อร่วมกับกองกำลังรัฐบาลต่อสู้กับกลุ่ม IS โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มติดอาวุธชาวชีอะฮ์ที่เหลือเป็นชาวเคิร์ด กลุ่มติดอาวุธชาวซุนนี คริสต์ และชาวยะซีดี (ชนกลุ่มน้อยทางเหนือของอิรัก)
– กองกำลัง Peshmerga (แนวร่วมกล้าตาย) ของรัฐบาลเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Regional Government-KRG) ในภาคเหนือของอิรัก กำลังพลประมาณ 300,000 นาย
– กองกำลังรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ กำลังพลประมาณ 36,000 นาย และกองกำลังป้องกันชายแดนกำลังพลประมาณ 12,000 นาย อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่ม IS ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวอาหรับซุนนีหัวรุนแรง ที่ต่อต้านรัฐบาลอิรักซึ่งเป็นชาวอาหรับชีอะฮ์ เป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญของอิรักมาตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากความสามารถในการป้องกันตนเองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศของอิรักไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอิรักยังไม่สามารถป้องกันน่านฟ้าของตนเองได้ หลังจากสหรัฐฯ ถอนกองกำลังทั้งหมดออกจากอิรักเมื่อปี 2554 ประกอบกับการทุจริตภายในกองทัพที่มีมาตั้งแต่รัฐบาลสมัย นรม.นูรี อัลมาลิกี ส่งผลให้กองทัพอิรักอ่อนแอจนไม่สามารถรับมือกับกลุ่ม IS ซึ่งรุกเข้ายึดครองพื้นที่ต่าง ๆ ในอิรักตั้งแต่ มิ.ย.2557 ทำให้รัฐบาลอิรักต้องขอรับความช่วยเหลือทางทหารจากหลายฝ่ายทั้งจากกองกำลังติดอาวุธชาวชีอะฮ์และชาวเคิร์ดในอิรัก และจากนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และพันธมิตรประเทศตะวันตกอื่น ๆ ซึ่งสนับสนุนปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ รวมถึงอิหร่านที่ส่งกองกำลัง Qods Force ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps-IRGC) ของอิหร่าน เข้าไปร่วมรบและฝึกทหารให้กองทัพอิรักและกองกำลังติดอาวุธชาวชีอะฮ์ในอิรัก
การที่รัฐบาลอิรักได้รับการสนับสนุนทางทหารจากหลายฝ่าย ส่งผลให้รัฐบาลอิรักสามารถยึดเมืองหลายแห่งในอิรักที่ตกอยู่ในการครอบครองของกลุ่ม IS กลับคืนมาได้ทั้งหมดเมื่อ ธ.ค.2560 และเข้าร่วม ในปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในการไล่ล่านายอบูบักร อัลบัฆดาดี ผู้นำกลุ่ม IS ซึ่งหนีไปหลบซ่อนในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของซีเรียติดชายแดนทางภาคตะวันตกของอิรัก (เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กลุ่ม IS ใช้เป็นเส้นทาง ส่งกำลังและอาวุธระหว่างฐานที่มั่นในอิรักกับซีเรีย) หลังจากกลุ่ม IS สูญเสียฐานที่มั่นในอิรัก ทั้งนี้ สหรัฐฯ ใช้ปฏิบัติการจู่โจมที่หลบซ่อนของนายอัลบัฆดาดี บริเวณหมู่บ้าน Barisha ในจังหวัดอิดลิบ (Idlib) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียติดชายแดนทางใต้ของตุรกี โดยนายอัลบัฆดาดีซึ่งสวมเสื้อติดระเบิด จุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตาย เมื่อ 27 ต.ค.2562 เสียชีวิตพร้อมบุตรอายุไม่เกิน 12 ปีอีก 2 คน
แม้ว่านายอัลบัฆดาดีเสียชีวิตแล้ว และกลุ่ม IS จะสูญเสียฐานที่มั่นในอิรักและซีเรีย แต่กลุ่ม IS ยังคงเป็นภัยคุกคามสำคัญของอิรักและของโลก โดยห้วงปี 2561-2563 กลุ่ม IS อ้างเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีในอิรักด้วยระเบิดรถยนต์และอื่น ๆ ในพื้นที่ทางภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคกลางของอิรักอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายโจมตีส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงและพลเรือน ขณะเดียวกันกลุ่ม IS ยังก่อเหตุความไม่สงบอื่น ๆ ในอิรักอยู่เป็นระยะ อาทิ การลอบวางเพลิงพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีของเกษตรกรในจังหวัดทางภาคเหนือ ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงของอิรักคาดการณ์ว่า ปัจจุบันมี sleeper cells ของกลุ่ม IS หลบซ่อนและแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ทางภาคตะวันตก (ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายซึ่งปฏิบัติการทางทหารภาคพื้นดินเข้าไปไม่ถึง) และภาคเหนือของอิรัก ประมาณ 1,000 คน จากเดิมที่เคยมีนักรบและสมาชิกกลุ่ม IS เคลื่อนไหวในอิรักและซีเรีย รวม 20,000-30,000 คน
ความสัมพันธ์ไทย-อิรัก
ไทยและอิรักสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 24 พ.ค.2499 ต่อมาระหว่างสงครามสหรัฐฯ บุกโจมตีอิรัก ทางการอิรักปิดที่ทำการ สอท.อิรักในกรุงเทพฯ ขณะที่เจ้าหน้าที่ สอท.ไทย ณ แบกแดด อพยพจากอิรักเมื่อ มี.ค.2546 และจัดตั้งสำนักงานชั่วคราวในอัมมาน จอร์แดน โดยยังมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลอาคาร สอท.ในแบกแดด ปัจจุบันไทยเปิด สอท. ณ อัมมาน มีเขตอาณาครอบคลุมอิรัก ส่วนอิรักยังไม่เปิดทำการ สอท.ในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ สอท.อิรัก ที่มีเขตอาณาครอบคลุมไทยคือ สอท.อิรัก ณ กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
ด้านการค้า ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Committee-JTC) มาตั้งแต่ปี 2527 โดยอิรักเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกและครั้งที่ 2 แบกแดด เมื่อปี 2531 และปี 2543 ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อปี 2545 แต่หลังจากเกิดสงครามในอิรักตั้งแต่ปี 2546 และการสู้รบกับกลุ่ม IS ในอิรักระหว่างปี 2556-2558 ส่งผลให้การจัดการประชุม JTC ไทย-อิรัก หยุดชะงักไป จนกระทั่งสถานการณ์ในอิรักเริ่มคลี่คลายเมื่อห้วงปี 2559 ทั้งสองฝ่ายจึงการจัดการประชุม JTC ครั้งที่ 4 ที่ไทย ระหว่าง 28-29 พ.ค.2559 โดยมีผู้แทนระดับ รมว.กระทรวงที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของแต่ละฝ่ายเป็นประธานร่วม (ฝ่ายไทย คือ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ฝ่ายอิรัก คือ รมว.กระทรวงการค้า) ทั้งนี้ ก่อนช่วงสงคราม อิรักเป็นตลาดสำคัญในตะวันออกกลางแห่งหนึ่งของไทย โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 อิรักเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย จนกระทั่งเมื่อ ส.ค.2556 อิรักตรวจพบว่าไทยส่งมอบข้าวคุณภาพต่ำกว่าที่ตกลงในสัญญา จึงระงับสัญญาประมูลข้าวจากไทย ประกอบกับเกิดสถานการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศนับตั้งแต่ปลายปี 2556 และการที่อิรักต้องสู้รบกับกลุ่ม IS นับตั้งแต่กลางปี 2557 ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปอิรักในห้วงปี 2557-2558 ลดลงเหลือเพียงปีละ 7 แสนตัน จากเดิมที่เคยส่งออกปีละ 8-9 แสนตัน
ในห้วงปี 2558-2559 ผู้ส่งออกข้าวไทยไม่สามารถชนะการประมูลขายข้าวให้รัฐบาลอิรัก เนื่องจากรัฐบาลอิรักยังไม่มั่นใจคุณภาพข้าวไทย โดยที่ผ่านมาไทยพยายามฟื้นฟูความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทย อาทิ การเชิญ รมว.พาณิชย์ของอิรักเข้าร่วมงาน Thailand Rice Convention 2017 (TRC 2017) ที่ไทยจัดขึ้น ระหว่าง 28-30 พ.ค.2560 และการที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสำนักมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ของไทย ให้การรับรองว่าจะควบคุมดูแลคุณภาพข้าวที่จะส่งออกไปอิรักอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ในปี 2562 รัฐบาลอิรักเริ่มกลับมานำเข้าจากข้าวไทย โดยมีหน่วยงาน Grain Board ภายใต้การควบคุมของกระทรวงพาณิชย์อิรัก รับผิดชอบการทำสัญญาประมูลเพื่อนำข้าวจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 อิรักนำเข้าข้าวขาวจากไทยประมาณ 4-5 หมื่นตัน
การค้าไทย-อิรัก เมื่อปี 2563 มีมูลค่า 216.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,677.60 ล้านบาท) ลดลงจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 281.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8,734.97 ล้านบาท) โดยปี 2563 ไทยส่งออกมูลค่า 216.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,676.03 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 0.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.56 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 216.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,674.47 ล้านบาท) ขณะที่ห้วง ม.ค.-ก.ย.2564 มีมูลค่า 207.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,437.85 ล้านบาท) ไทยส่งออกมูลค่า 207.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,436.82 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 0.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.03 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่น ๆ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ วัสดุทำจากยาง ซีเมนต์ แอสเบสทอส เมกา และผลิตภัณฑ์ สินค้าทุนอื่น ๆ ผ้าผืน
เมื่อปี 2563 มีชาวอิรักเดินทางมาไทย 710 คน ขณะที่ห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 มีชาวอิรักเดินทางมาไทย 162 คน เนื่องจากไทยใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและเข้าประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่วนชาวไทยที่พำนักในอิรัก เมื่อ ม.ค.2563 มีจำนวน 90 คน เป็นคู่สมรสชาวต่างชาติ 2 คน พำนักในกรุงแบกแดด เป็นวิศวกรสนามบินเมืองนะญาฟในภาคกลางของอิรัก 22 คน และพนักงานร้านนวดสปา 49 คน พำนักในเมืองเออร์บิลของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานหรือชาวเคิร์ด (KRG) ในภาคเหนือของอิรัก และมีชาวไทย 1 คน พำนักในเมืองบัศเราะฮ์ทางภาคใต้ ทั้งนี้ ไม่เคยปรากฏรายงานว่า ชาวไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงในอิรักมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงสงครามปราบปรามกลุ่ม IS ในอิรักระหว่างปี 2556-2560
ข้อตกลงสำคัญระหว่างไทยกับอิรัก คือ ความตกลงว่าด้วยการค้าไทย-อิรัก ลงนามเมื่อปี 2527 ที่กรุงเทพฯ และมีความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของอิรัก-ไทย ค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2545 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ระหว่างอิรัก-ไทย ค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2545 และความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับอิรัก ค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2542
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
- สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองจาก 1) การชุมนุมประท้วงของชาวอิรักในแบกแดดและหลายเมืองทั่วประเทศซึ่งยังเกิดขึ้นเป็นระยะ จากความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่นำไปสู่ปัญหาการว่างงานสูง และความล่าช้าในการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญของรัฐบาลอิรัก เฉพาะอย่างยิ่งน้ำประปาและไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามปราบปรามกลุ่ม IS และ 2) ความวุ่นวายทางการเมืองและความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลที่มีสาเหตุจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองชาวอาหรับชีอะฮ์ที่แตกแยกเป็นหลายฝ่าย
- วิกฤตความมั่นคงจากกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่ม IS ที่ยังสมาชิกหลงเหลือในอิรัก อาจแสวงประโยชน์จากความวุ่นวายทางการเมืองและความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ฟื้นฟูกลุ่มขึ้นใหม่หรืออาจเกิดกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มใหม่เลียนแบบกลุ่ม IS ซึ่งจะทำให้อิรักต้องเผชิญภัยคุกคามการก่อการร้ายภายในประเทศอีกครั้ง
- บทบาทของอิรักในการเป็นคนกลางคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาค เฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน
- ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและยังไม่คลี่คลาย โดยนับตั้งแต่อิรักพบผู้ป่วยโรค COVID-19 รายแรกภายในประเทศเมื่อ 22 ก.พ.2563 จนถึง 31 ต.ค.2564 มีผู้ป่วยโรค COVID-19 ในอิรัก รวม 2,055,248 ราย ผู้เสียชีวิต 23,170 ราย (มากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศตะวันออกกลาง อันดับที่ 7 ของประเทศเอเชีย และอันดับที่ 23 ของโลก)