สหภาพยุโรป
European Union-EU
ที่ตั้ง ในทวีปยุโรป พื้นที่ 4,324,782 ตร.กม. หรือประมาณ 4,079,962 ตร.กม. (ไม่รวมสหราชอาณาจักร)
ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ บรัสเซลส์ เบลเยียม ใช้เป็นที่ประชุมของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (The Council of European Union) และรัฐสภายุโรป (European Parliament) สตราสบูร์ก ฝรั่งเศส ใช้เป็นที่ประชุมของรัฐสภายุโรป ลักเซมเบิร์กใช้เป็นที่ประชุมของศาลสถิตยุติธรรมแห่งยุโรป (The European Court of Justice-ECJ)
วันชาติ 9 พ.ค. ถือเป็น Europe Day ซึ่งเป็นวันหยุดแห่งชาติของประเทศใน EU เนื่องจาก 9 พ.ค.2493 เป็นวันที่นายชูมองเสนอแผนการจัดตั้ง ECSC ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง EU ในปัจจุบัน
นาย Charles Michel
(ประธานคณะมนตรียุโรป)
นาง Ursula von der Leyen
(ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป)
ประเทศสมาชิก 27 ประเทศ : ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย ไซปรัส เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวะเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และโครเอเชีย ประชากรรวมกันประมาณ 450,131,902 คน (ก.ค.2564) โดยสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิก EU หรือ Brexit อย่างเป็นทางการเมื่อ 312300 ม.ค.2563 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าเวลา EU 1 ชม. ตรงกับ 06.00 น.ตามเวลาประเทศไทย เป็นการสิ้นสุดสมาชิกภาพ หลังจากเป็นสมาชิกยาวนานถึง 47 ปี
การก่อตั้ง
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ผู้นำประเทศยุโรปได้มีแนวคิดว่าสันติภาพที่ถาวรจะเกิดขึ้นได้หากนำประเทศคู่ขัดแย้งสำคัญในยุโรป ได้แก่ เยอรมนีและฝรั่งเศสมาร่วมมือกันทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น เมื่อปี 2493 นายโรแบรต์ ชูมอง รมว.กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส (ขณะนั้น) ได้เสนอแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในยุโรป โดยริเริ่มจากความร่วมมือด้านถ่านหินและเหล็ก นำไปสู่การจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป (European Coal and Steel Community-ECSC) ขึ้นเมื่อปี 2494 และขยายไปสู่ความร่วมมือด้านอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจและพลังงาน เมื่อปี 2500 มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community-EEC) และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (European Atomic Energy Community-Euratom) ขึ้นภายใต้สนธิสัญญาโรมและการจัดตั้งตลาดร่วม ต่อมาองค์กรบริหารของทั้งสามประชาคมรวมเข้าด้วยกันอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2510 และพัฒนาไปเป็นประชาคมยุโรป (European Community-EC)
การลงนามในสนธิสัญญามาสทริชต์เมื่อ 7 ก.พ.2535 เป็นการบูรณาการความร่วมมือด้านนโยบายการป้องกันและการต่างประเทศ กิจการภายใน และงานยุติธรรม การจัดตั้งสหภาพทางเศรษฐกิจและการเงินยุโรป การใช้เงินสกุลเดียวกัน (เงินยูโร) นำไปสู่การจัดตั้งสหภาพยุโรป (European Union-EU) และสมาชิกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับจนปัจจุบัน EU มีสมาชิกรวม 28 ประเทศ การขยายสมาชิกนำไปสู่ความพยายามปรับโครงสร้างการบริหารภายในของ EU เพื่อให้รองรับจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น และเป็นหลักประกันว่าการขยายสมาชิกจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการบริหารงานของ EU จึงมีการจัดทำสนธิสัญญานีซ (Treaty of Nice) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2546 และในปีเดียวกัน EU ได้พยายามจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยธรรมนูญยุโรป (Treaty establishing a Constitution for Europe) เนื้อหาเน้นการปรับโครงสร้างกระบวนการตัดสินใจและการจัดการของ EU ให้มีลักษณะเป็นสถาบันและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ที่สำคัญ คือ การมีตำแหน่งประธาน EU ที่มีวาระแน่นอน (ไม่ใช่มาจากการหมุนเวียนในกลุ่มสมาชิก) การมีตำแหน่งที่เป็นเสมือน รมว.กระทรวงการต่างประเทศของ EU อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ต่างจัดการลงประชามติเมื่อปี 2548 ไม่ยอมรับร่างสนธิสัญญาว่าด้วยธรรมนูญยุโรป ส่งผลให้ EU ต้องทบทวนและปรับปรุงเนื้อหาต่าง ๆ ของร่างสนธิสัญญาว่าด้วยธรรมนูญยุโรป โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกมากขึ้น และปรับถ้อยคำบางประเด็นที่กระทบต่อความเป็นรัฐชาติและอธิปไตยของประเทศสมาชิก ดังนั้น จึงปรับเปลี่ยนชื่อเป็นสนธิสัญญาปฏิรูป (Reform Treaty) หรือสนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ธ.ค.2552
กลไกความร่วมมือ EU เป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศระดับรัฐบาล (intergovernmental organisation) ผสมผสานกับการเป็นองค์การเหนือรัฐ (supranational organisation) กฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญของ EU มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาที่ใช้ในการจัดตั้งประชาคมยุโรปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น สนธิสัญญาปารีสปี 2493 ที่รองรับการจัดตั้ง ECSC สนธิสัญญาโรมปี 2500 ที่รองรับการจัดตั้ง Euratom กฎหมายยุโรปตลาดเดียว (The Single European Act) ปี 2529 สนธิสัญญาสหภาพยุโรปหรือสนธิสัญญามาสทริชต์ปี 2535 สนธิสัญญานีซปี 2546 และสนธิสัญญาลิสบอนปี 2552
องค์กรบริหารของ EU ประกอบด้วย
1) คณะมนตรียุโรป (European Council) หรือที่ประชุมสุดยอด EU ประกอบด้วย ผู้นำรัฐหรือผู้นำรัฐบาลและประธานคณะกรรมาธิการยุโรป มาร่วมประชุมหารือกันอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปีทุกรอบไตรมาส เพื่อผลักดันนโยบายการพัฒนา EU และกำหนดแนวนโยบายทั่วไป ทั้งนี้ นาย Herman Van Rompuy นรม.เบลเยียม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะมนตรียุโรปคนแรกตั้งแต่ พ.ย.2552 โดยดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 2 วาระ (วาระละ 2 ปี 6 เดือน) คือ วาระที่ 1 ระหว่าง 19 ธ.ค.2552-31 พ.ค.2555 และวาระที่ 2 ระหว่าง 1 มิ.ย.2555-30 พ.ย.2557 ส่วนประธานคณะมนตรียุโรปคนปัจจุบัน คือ นาย Charles Michel นรม.เบลเยียม วาระดำรงตำแหน่ง 1 ธ.ค.2562-31 พ.ค.2565) หน้าที่หลักของประธานคณะมนตรียุโรป คือ เป็นประธานการประชุมสุดยอด EU กำหนดแนวนโยบาย และการจัดองค์กร EU ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
2) คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ปัจจุบันนาง Ursula von der Leyen ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป วาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี คณะกรรมาธิการยุโรป ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ธ.ค.2562-31 ต.ค.2567 สมาชิกประกอบด้วยกรรมาธิการรับผิดชอบด้านต่าง ๆ 28 คน ที่มาจากประเทศสมาชิก 28 ประเทศ เมื่อ 1 ธ.ค.2562 มีการแต่งตั้งสมาชิก 27 ประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการยุโรป เว้นโควตาของสหราชอาณาจักร เพราะอยู่ระหว่างจัดการเลือกตั้งทั่วไปและเตรียม Brexit โดยกรรมาธิการยุโรปแต่ละคนทำงานอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก หน้าที่รับผิดชอบหลักของคณะกรรมาธิการยุโรป คือ การเป็นผู้รับผิดชอบงานประจำส่วนใหญ่ของ EU และส่งเสริมผลประโยชน์โดยทั่วไปของ EU ได้แก่ ริเริ่มร่างกฎหมายและส่งผ่านร่างกฎหมายไปยังรัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป การใช้และปฏิบัติตามกฎหมายงบประมาณและนโยบายตามมติของสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และเป็นเสมือนผู้พิทักษ์รักษาสนธิสัญญาต่าง ๆ ของ EU รวมถึงเป็นตัวแทนของ EU ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และทำหน้าที่ในการเจรจาต่อรองข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจาในเรื่องการค้าและการร่วมมือระหว่างกัน
อนึ่ง ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปมาจากการเสนอชื่อของสมาชิก EU โดยให้รัฐสภายุโรปรับรอง หลังจากนั้นประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเสนอรายชื่อกรรมาธิการยุโรป 28 คน เพื่อให้รัฐสภายุโรปรับรอง
ผู้แทนของ EU ด้านการต่างประเทศ : เป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ตามสนธิสัญญาลิสบอน โดยผู้นำ EU ได้แต่งตั้งนาย Josep Borrell (ชาวสเปน) เป็นผู้แทนระดับสูงด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของ EU วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2562-31 ต.ค.2567 ทำหน้าที่เสมือน รมว.กระทรวงการต่างประเทศของ EU และเป็นหัวหน้าบริหารสำนักงานกิจการต่างประเทศของยุโรป (European External Action Service-EEAS) ซึ่งตั้งเมื่อ 1 ธ.ค.2553 ทำหน้าที่เชิงการทูตเสมือนเป็นกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมของ EU มีบุคลากรประมาณ 4,955 คน
องค์กรนิติบัญญัติของ EU มี 2 องค์กร คือ
1) คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (The Council of the European Union) หรือที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ EU ทำหน้าที่ทั้งในด้านนิติบัญญัติและมีอำนาจในการบริหาร ประกอบด้วย รมต.จาก 28 ประเทศสมาชิก (แยกเป็นภารกิจและตำแหน่ง รมต.ด้านต่าง ๆ และแต่ละประเทศจะมีคะแนนเสียงไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในประเทศ) เป็นกลไกหลักที่จัดประชุมเป็นประจำ ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจะเป็นแบบหมุนเวียนระหว่างประเทศสมาชิกวาระละ 6 เดือน โดยปัจจุบัน สโลวีเนียทำหน้าที่เป็นประธาน EU ระหว่างห้วง 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2564 จากนั้นฝรั่งเศสจะรับหน้าที่ดังกล่าวต่อในห้วง 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2565 และเช็กจะรับหน้าที่ต่อในห้วง 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2565 หน้าที่หลักของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป คือ ทำงานร่วมกับรัฐสภายุโรปในการบัญญัติกฎหมาย ประสานแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกบรรลุความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ระหว่าง EU กับประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ ใช้อำนาจร่วมกับรัฐสภายุโรปในการอนุมัติงบประมาณของ EU พัฒนานโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง โดยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาการลงมติของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปใช้ระบบ “Double Majority” หรือการนับคะแนนเสียงข้างมากจาก 2 เกณฑ์ ได้แก่ 1) เสียงข้างมากในแง่ของจำนวนประเทศสมาชิก คือ มีประเทศสมาชิกอย่างน้อย 15 ประเทศสนับสนุน และ 2) ในแง่ของจำนวนประชากรใน EU โดยในประเทศ (อย่างน้อย 15 ประเทศ) ที่สนับสนุนต้องมีประชากรรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 65% ของจำนวนประชากรทั้งหมดใน EU ด้วย ส่วนประเด็นที่อ่อนไหว เช่น กิจการต่างประเทศ ความมั่นคง การเก็บภาษี ใช้การลงคะแนนเสียงแบบเอกฉันท์
2) รัฐสภายุโรป (European Parliament) ประกอบด้วยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงในประเทศสมาชิก โดยจำนวนสมาชิกรัฐสภายุโรปจากแต่ละประเทศจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของประเทศนั้น ๆ ปัจจุบัน รัฐสภายุโรปมีจำนวนสมาชิก 751 คนจาก 28 ประเทศ สมาชิกวาระ 5 ปี การปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภายุโรปจะไม่ยึดหลักสัญชาติหรือประเทศ แต่จะทำงานโดยแบ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบเดียวกัน เช่น กลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มสังคมนิยม กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม หน้าที่หลักของรัฐสภายุโรป คือ ตรวจสอบและบัญญัติกฎหมายของ EU โดยส่วนใหญ่จะใช้อำนาจร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป อนุมัติงบประมาณของ EU ตรวจสอบการทำงานของสถาบันต่าง ๆ ใน EU ตามหลักประชาธิปไตย รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการไต่สวน ให้ความเห็นชอบข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น การรับสมาชิกใหม่ และความตกลงด้านการค้า หรือการมีความสัมพันธ์ในเชิงการรวมกลุ่มระหว่าง EU กับประเทศที่สาม
องค์กรตุลาการของ EU ได้แก่
ศาลสถิตยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the European Union) ประกอบด้วยผู้พิพากษา 28 คน (แต่งตั้งจากประเทศสมาชิกประเทศละ 1 คน) มีวาระ 6 ปี และตุลาการผู้แถลงคดี (Advocate General) อีก 8 คน (วาระละ 6 ปี) ทำหน้าที่เสนอความเห็นในคดีต่าง ๆ ก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาล ผู้พิพากษาแต่ละคนสามารถต่ออายุได้เมื่อครบวาระหากประเทศสมาชิกที่แต่งตั้งผู้พิพากษาคนดังกล่าวเห็นควร ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปมีหน้าที่หลักในการตีความวินิจฉัยข้อพิพาทให้เป็นไปตามสนธิสัญญาต่าง ๆ ของ EU เพื่อให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างประเทศสมาชิก
ศาลทั่วไป (General Court) ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิก 28 ประเทศ วาระ 6 ปี และคณะกรรมการพิจารณาคดีของราชการ (Civil Service Tribunal) ประกอบด้วยผู้พิพากษา 7 คนมาจากการแต่งตั้ง วาระ 3 ปี
เศรษฐกิจ ภาคการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ น้ำมันพืช หัวผักกาดหวาน ไวน์ องุ่น ผลิตภัณฑ์นม เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู เนื้อไก่ และปลา ภาคอุตสาหกรรม ผลผลิตที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมทั้งที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบและแบบปลอดเหล็ก ปิโตรเลียม ถ่านหิน ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมการบิน อุปกรณ์ด้านการขนส่งทางรถไฟ อุปกรณ์ด้านอุตสาหกรรม อุปกรณ์ด้านพลังงานไฟฟ้าและการต่อเรือ อุปกรณ์การก่อสร้าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ สิ่งทอและการท่องเที่ยว
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร ยานพาหนะ เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง เครื่องบิน พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และเฟอร์นิเจอร์
สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงและน้ำมันดิบ เครื่องจักร ยานพาหนะ เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แร่อัญมณี สิ่งทอ เครื่องบิน พลาสติก เหล็กและเรือ
ในระดับความร่วมมือภายใน EU ยกเลิกอุปสรรคทางการค้าใช้เงินตราสกุลเดียวกัน และมุ่งสู่การมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีร่วมกันในระดับระหว่างประเทศ EU มีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มพูนบทบาททางการค้า การเมืองและเศรษฐกิจของตน อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศสมาชิกยังมีความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ อาทิ รายได้เฉลี่ยต่อหัว และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศสมาชิกบางส่วนของ EU ยังไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มประเทศใช้เงินยูโร ปัจจุบัน กลุ่มยูโรโซนมีสมาชิกเพียง 19 ประเทศจากประเทศสมาชิก EU 27 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม ไซปรัส เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สโลวะเกีย สโลวีเนีย สเปน ลัตเวีย และลิทัวเนีย
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ยูโร (Euro)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ยูโร : 1.16 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ยูโร : 38.87 บาท (ต.ค.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) : 15,192,652 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ: -6.2%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 33,927 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 214.41 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 7.4%
อัตราเงินเฟ้อ :0.5%
มูลค่าการส่งออก : 5,457,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการนำเข้า : 5,135,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การทหาร ความร่วมมือส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความสมัครใจ ในรูปแบบการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงและการป้องกันร่วมกัน การส่งกองทัพเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพ ปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและปฏิบัติการของ NATO โดยระยะหลัง EU ยิ่งตระหนักถึงการหันมาพึ่งพาตนเองทางด้านความมั่นคงและการป้องกัน รวมทั้งเร่งบูรณาการเชิงลึกเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ การบัญชาการร่วม การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ และการใช้ทรัพยากรร่วมให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ เมื่อ ก.ย.2560 ฝรั่งเศสริเริ่มการทำข้อตกลง European Intervention Initiative (EII) ซึ่งเป็นการจัดตั้งกองกำลังร่วมแทรกแซงยามวิกฤต โดยมีชาติยุโรปเข้าร่วมปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วม 13 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เบลเยียม เดนมาร์ก เอสโตเนีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สเปน สหราชอาณาจักร สวีเดน และอิตาลี นำไปสู่การจัดทำกรอบความร่วมมือ Permanent Structured Cooperation on Security and Defence (PESCO) ซึ่งถือเป็นการจัดตั้งโครงสร้างถาวรด้านความมั่นคงและการป้องกันเป็นครั้งแรกของ EU เมื่อ ธ.ค.2560 โดยการพัฒนาขีดความสามารถด้านการทหารต่าง ๆ ในกรอบ PESCO ยังอยู่ในความดูแลของประเทศสมาชิก และกองทัพของแต่ละประเทศมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ในกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เช่น UN
ความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป
ไทยให้ความสำคัญกับ EU ในฐานะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 500 ล้านคน และเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจซื้อสูงที่สุดในโลก EU มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นผู้นำด้านกฎระเบียบและนโยบายด้านการค้าและที่มิใช่การค้าที่สำคัญของโลก EU ยอมรับว่า ไทยคือหุ้นส่วนที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมิติการเมืองและความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยง EU กับประเทศอาเซียนอื่น ๆ ทั้งในกรอบอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU) และในกรอบ ARF (ASEAN Regional Forum)
ยุทธศาสตร์ไทยต่อ EU คือ การเน้นว่าไทยยึดมั่นในคุณค่าประชาธิปไตยเช่นเดียวกับ EU เพื่อให้ EU เชื่อมั่นและเห็นไทยเป็นหุ้นส่วนหลักในภูมิภาค เพื่อผลประโยชน์ของไทยในการขยายการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก EU เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการของไทย และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งไทยควรพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อการเป็นหุ้นส่วนที่ทัดเทียมกับยุโรปในระยะยาว
EU เป็นตลาดการเงินและแหล่งเงินทุนสำคัญของโลก อีกทั้ง EU มีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ
ความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับ EU : EU กับไทยเห็นพ้องการรื้อฟื้นการเจรจา ที่ถูกระงับไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเมื่อปี 2557 ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการแนวทางหารือเพื่อนำไปสู่การบรรลุข้อตกลง FTA กับ EU ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาจากรอบด้านในประเด็นรายละเอียดต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการรับฟังมุมมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อนึ่ง กรอบยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นเอเชีย-แปซิฟิกส่งผลให้ EU เน้นความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับภูมิภาคมากขึ้น โดยปัจจุบัน EU บรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนามแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจากับอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย
ทั้งนี้ ด้านบวกของการสานต่อการเจรจา FTA คือ ไทยจะมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนจากยุโรปได้มากขึ้น ขณะเดียวกันอาจมีผลกระทบติดตามมาอันเนื่องจาก EU พยายามเชื่อมโยงเงื่อนไขการจัดทำ FTA เข้ากับมาตรฐานค่านิยมที่ EU ให้ความสำคัญ อาทิ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน รวมถึงอาจอ้างเหตุเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยต้องยอมรับและนำประเด็นดังกล่าวมาปรับใช้ให้เหมาะสม
ด้านเศรษฐกิจปี 2563 การค้าไทย–EU มีมูลค่า 1,185,027.98 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไป EU มูลค่า 642,074.72 ล้านบาท และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 542,953.26 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 99,121.46 ล้านบาท
สินค้าส่งออกของไทยไปตลาด EU ที่สำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรและส่วนประกอบ
สินค้านำเข้าของไทยจาก EU ที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องเพชรพลอย อัญมณีเงินแท่งและทองคำ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สินแร่โลหะ
ด้านการลงทุน เมื่อปี 2563 EU มีโครงการลงทุนของในไทยที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 134 โครงการ มูลค่า 29,837 ล้านบาท