ในช่วงปี 2561 คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เสมือนตลาดสำหรับหานักลงทุนของเหล่าสตาร์ทอัพ ที่ต้องการเงินทุนในการขยายธุรกิจ Crowdfunding ทำให้ตัวเลือกของแหล่งเงินทุนนั้นมีมากกว่าการกู้ยืมจากธนาคาร ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยาก โดยเฉพาะการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านระบบบัญชี เพราะแน่นอนว่า “เหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่” มักให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ มากกว่าการจัดระเบียบการเงินและการบัญชี ทำให้ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจนั้นไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้เกิดความน่าเชื่อถือ จนจะทำให้นักลงทุนรายใหญ่ตัดสินใจร่วมลงทุนได้
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่แพลตฟอร์มการลงทุนออนไลน์ในรูปแบบ Crowdfunding ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระ เพราะการคัดกรองธุรกิจที่สามารถระดมทุนได้อย่างอิสระนั้นยังต้องการตรวจสอบข้อมูล มีเพียงไม่กี่รายที่สามารถทำได้อย่างถูกต้อง ทำให้ Crowdfunding ในประเทศไทยนั้น ยังไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
สำหรับสหรัฐอเมริกา ยุโรป และในเอเชีย crowdfunding ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก และยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบของการบริจาคโดยไม่มีผลตอบแทน หรือการให้ตอบแทนเป็นสินค้า ดอกเบี้ยจากการกู้ยืม และหุ้น ความหลากหลายของ Crowdfunding รูปแบบนี้ทำให้นักธุรกิจรายย่อยมีข้อเสนอในการลงทุนได้อย่างกว้างขวางและระดมทุนได้อย่างรวดเร็ว
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนรูปแบบไหน ต้องยอมรับว่า “ความน่าเชื่อถือ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการระดมทุน ไม่แตกต่างจากความน่าเชื่อถือของการฝากเงินในธนาคารที่มีสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือเป็นผู้การันตี โดยหากเปรียบเทียบกับบริบททางสังคม ความน่าเชื่อถือหรือความไว้ใจที่เกิดขึ้นในระหว่างบุคคลหมู่มากหรือความสัมพันธ์ของชุมชน นั่นคือ หลักการสำคัญที่จะทำให้เกิดการรวมทุนหรือระดมทุนในระดับท้องถิ่น เพื่อรวบรวมเงินก้อนใหญ่ในการกระทำการต่างๆ แม้จะไม่ได้เปิดกว้างเท่ากับ Crowdfunding แต่การระดมทุนกันในระดับชุมชนที่อาศัย “ทุนทางสังคม” เป็นตัวคำประกันความเสี่ยง ยิ่งทุนทางสังคมของชุมชนมีมากเท่าไหร่ ก็จะสามารถสร้างการระดมทุนได้มากเท่านั้น
“ทุนทางสังคม” หมายถึง ระดับของความสัมพันธ์ของคนในสังคมหรือชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ชุมชนที่มีความแน่นแฟ้น รู้จักและเข้าใจสภาพของคนในชุมชนได้ดี ย่อมเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไว้ใจกัน เกรงใจกัน และเป็นโอกาสให้เกิดการรวบรวมกำลังเงินกันได้ภายใต้กฎเกณฑ์สภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน เพราะจะมี “เป้าหมาย” ร่วมกัน เช่น การรวมเงินของคนในหมู่บ้านเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ผู้คนรู้จักกันย่อมกระทำได้ง่ายกว่า เพราะมีความมั่นใจที่จะมอบเงินให้กับตัวแทนผู้ดำเนินการ สามารถที่จะคัดค้านหรือตรวจสอบได้ โดยไม่มีความขัดแย้งและไม่ต้องอาศัยกฎระเบียบข้อบังคับที่มีความซับซ้อน จึงทำให้สามารถรวบรวมทุนและจัดการได้อย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนยังมีเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้การใช้ชีวิตในหมู่บ้านดีขึ้น
ในทางกลับกันหากเป็นการระดมทุนในระดับตำบลที่มีหลายหมู่บ้านที่ไม่ได้รู้จักทั่วกัน ทำให้เกิดการช่วงชิงผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ จึงทำให้เกิดความระแวงซึ่งเป็นอุปสรรคในการระดมทุนในที่สุด
สำหรับประเทศไทย แม้แนวคิดการการดำเนินการในตลาดเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจอย่างกว้างขวาง (crowdfunding) นั้นจะยังไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่กลับพบการระดมทุนรูปแบบใกล้เคียงกันในระดับท้องถิ่นที่มีประโยชน์ต่อชุมชนโดยอาศัยลักษณะทางสังคมเฉพาะของคนไทยในชนบทที่มีต้นทุนทางสังคมสูง นั่นคือ “กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์” ที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นให้ชาวบ้านมีเงินออมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สร้างความน่าเชื่อถือในการระดมเงินทุนสร้างระบบหมุนเวียนเงินฝากและผลตอบแทนให้กับสมาชิกในโครงการที่เข้าร่วมกลุ่มผ่านเครือข่ายครัวเรือน หรือจะกล่างถึงการระดมทุนใหญ่ประจำปีที่ทำให้พุทธศาสนิกชนมีเป้าหมายในการทำนุบำรุงศาสนาร่วมกันจนกลายเป็นประเพณี นั่นก็คือ “การทอดกฐิน” ซึ่งก็เป็นการรวบรวมเงินเพื่อถวายแก่วัด ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือจากความเชื่อทางศาสนาว่าการร่วมกฐินนั้นจะสร้างบุญสร้างกุศลได้
ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อและความศรัทธา ความสัมพันธ์ขจองคนในชุมชน หรือระบบบัญชีตัวเลขที่มีความชัดเจน ความน่าเชื่อถือหรือความเชื่อมั่นเชื่อใจ ยังเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้การรวบรวมเงินหรือการระดมทุนประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดก็ตาม