ข่าวใหญ่ข่าวสำคัญหลังจากการเลือกตั้งไต้หวันเมื่อ 13 มกราคม 2567 นอกเหนือจากการประกาศผู้ชนะการเลือกตั้ง เป็นนาย Lai Ching-te ผู้แทนจากพรรค Democratic Progressive Party ที่ได้ครองตำแหน่งผู้นำรัฐบาลต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3 ก็คือ การที่สาธารณรัฐนาอูรู ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ประกาศเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์กับไต้หวันเมื่อ 15 มกราคม 2567 ด้วยการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต โดยจะไม่มีการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการกับไต้หวันอีกต่อไป ไม่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นประเทศ แต่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ พร้อม ๆ กับการที่นาอูรูประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน
การเปลี่ยนแปลงในนโยบายของนาอูรู ทำให้ปัจจุบัน ไต้หวันมีประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการด้วย 12 ประเทศ ส่วนมากเป็นประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ และละตินอเมริกา
การตัดสินใจของสาธารณรัฐนาอูรู อาจไม่ได้สร้างความตกใจให้ไต้หวันสักเท่าไหร่ เพราะสาธารณรัฐนาอูรูเคยเปลี่ยนท่าทีแบบนี้มาแล้วเมื่อปี 2545 แล้วก็กลับไปสถาปนาความสัมพันธ์กันใหม่เมื่อ 2548 นอกจากนี้ ไต้หวันเองก็ประกาศตัดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐนาอูรูทันทีด้วยเช่นกัน เพื่อปกป้องเกียรติภูมิของชาติ
สำหรับในช่วงเวลา 8 ปีที่พรรค Democratic Progressive Party หรือ DPP เป็นรัฐบาลไต้หวันนั้น ต้องเผชิญกับการที่ประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงนโยบายการทูตต่อไต้หวันมาแล้วอย่างน้อย ๆ 10 ประเทศ …หลังจากนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่ไต้หวันจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากประเทศอื่น ๆ อีก เพราะ DPP ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็อาจเป็นการกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ต้องคิดทบทวนระดับความสัมพันธ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือกับจีน ที่หลายฝ่ายเชื่อว่ากำลังดำเนินการโน้มน้าวให้ประเทศทั่วโลกสนับสนุนนโยบายจีนเดียวเท่านั้น
…เรื่องของไต้หวันเป็นเรื่องที่คงจะต้องวิเคราะห์กันต่อไป เพราะมีหลาย ๆ ปัจจัยเกี่ยวข้อง บทความนี้เราเน้นไปที่ “สาธารณรัฐนาอูรู” เพื่อชวนทำความรู้จักประเทศนี้ที่เปลี่ยนนโยบายต่อไต้หวันและจีน สำหรับสาธารณรัฐนาอูรู ตั้งอยู่ทางทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตร จึงมีขนาดเล็กที่สุดในโลกอันดับ 3 รองจากโมนาโก และนครรัฐวาติกัน มีประชากรอยู่ประมาณ 10,600 คน น้อยที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจากนครรัฐวาติกัน
ความสำคัญของประเทศนาอูรู นอกจากก่อนหน้านี้จะเป็นไม่กี่ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันแล้ว ประเทศนี้เคยได้ชื่อว่าเป็น ‘Pleasant Island’ เพราะสวยงาม และมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ฟอสเฟต ซึ่งใช้ประโยชน์ในเกษตรกรรมได้อย่างมาก จนทำให้นาอูรูเคยร่ำรวยจากการทำอุตสาหกรรมแร่ฟอสเฟต
…ซึ่งการขุดแร่อย่างต่อเนื่องเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ทรัพยากรของนาอูรูลดลงอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลว่าประชาชนในสาธารณรัฐนาอูรูก็ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายตามสไตล์ชาวตะวันตก เพราะมีออสเตรเลียเป็นต้นแบบ life style จนกระทั่งเริ่มประสบปัญหาในระยะหลัง รัฐบาลนาอูรูต้องหาทางออกจากปัญหาเศรษฐกิจด้วยการดำเนินธุรกิจธนาคารที่มาจากการลงทุนของต่างประเทศ มีธนาคารไปดำเนินกิจการในนาอูรูมากกว่า 400 แห่ง เพราะเงื่อนไขไม่มาก และธนาคารเหล่านั้นก็กลายเป็นแหล่งฟอกเงินของชาวต่างชาติในเวลาต่อมา ขณะที่อุตสาหกรรมแร่ฟอสเฟตก็ซบเซามาตั้งแต่ปี 2549 ….นอกจากนี้ที่ผ่านมา นาอูรูยังเป็นที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยสำหรับผู้ที่ต้องการตั้งถิ่นฐานใหม่ในออสเตรเลียด้วย แลกเปลี่ยนกับการให้ความช่วยเหลือ
ตอนนี้สาธารณรัฐนาอูรูกำลังทำอะไร? และทำไมถึงต้องเปลี่ยนนโยบายต่อไต้หวัน …ปัจจัยที่ชัดเจนที่สุดน่าจะมาจากความต้องการความช่วยเหลือจากเศรษฐกิจจากจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่น่าจะพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนนาอูรูได้ อีกทั้งอาจเป็นผลจากการที่นาอูรูเพิ่งเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลเมื่อปลายปี 2566 เป็นประธานาธิบดี David Ranibok Adeang อายุ 53 ปี จึงอาจมีมุมมองที่แตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีนาอูรูก่อนหน้านี้ และต้องการสร้างผลงานทางการเมืองผ่านการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากความช่วยเหลือของจีน ที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้
ขณะที่…จากนี้ไปนาอูรูจะไม่มีความร่วมมือกับไต้หวันด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแพทย์และสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร การเกษตรและการประมง การศึกษาและการป้องกันชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นความร่วมมือใกล้ชิดก่อนหน้านี้
การตัดสินใจของสาธารณรัฐนาอูรู อาจสะท้อนให้เห็นว่าผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ในปัจจุบันเป็นเรื่องความช่วยเหลือทางเศรษกิจอย่างชัดเจน แม้ว่าจะต้องแลกกับการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับไต้หวันที่มีความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด และประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของประเทศอื่น ๆ อีกหรือไม่ ก็อาจจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในเวทีระหว่างประเทศที่ต้องติดตามกันต่อไป