ท่ามกลางกระแสข่าวการแย่งตัวคนเก่ง (Talent) มาร่วมงานทั้งระดับประเทศและองค์กร พร้อม ๆ กับกระแสสุดฮิตที่ว่าทุกองค์กรต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลและต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้งาน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันที่เราได้ยินกันแทบทุกวัน……ก็ปรากฏรายงานข่าวในจีนที่น่าสนใจข่าวหนึ่งคือ ปัจจุบันนักศึกษาจีนระดับมหาวิทยาลัยกลับเข้าไปเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสให้ตัวเองเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับตลาดแรงงาน ที่ไม่เพียงมีความรู้ในสายวิชาการ แต่ยังมีประสบการณ์ที่พร้อมทำงานจากการฝึกงาน
เมื่อพูดถึงระบบการศึกษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าสายหลักที่หลายประเทศปักหมุดไว้คือสายสามัญ เพื่อเป็นหนทางในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นช่องทางหลักในการสร้างหลักประกันทางอาชีพในอนาคต ทั้งการเข้าถึงโอกาสในการได้งานและการได้รับการยอมรับทางสังคม โดยการให้ค่าหลักสูตรสายสามัญเหนือกว่าหลักสูตรอื่น…ส่งผลให้การเรียนสายอาชีวะไม่เป็นที่นิยม และผู้เรียนก็มักจะมีภาพลักษณ์เป็นรองในด้านวิชาการ เมื่อเรียนจบส่วนใหญ่ก็เป็นพนักงานระดับปฏิบัติหรือใช้แรงงาน (Blue-collar) มากกว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ (White-collar) …ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่านิยมทำนองนี้เช่นกัน
………..แต่ที่น่าสนใจคือ รายงานเรื่อง “2024 Blue-collar Talent Development Report” ที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มจัดหางาน Zhaopin ของจีน ระบุว่า ปัจจุบันมีความต้องการตำแหน่งงาน Blue-collar ในจีนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสายเทคนิค ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ค่าแรงปรับขึ้นในทิศทางเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีทักษะสูงตรงตามที่ตลาดต้องการก็ยิ่งได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มีความต้องการตำแหน่งงานสายอาชีพเพิ่มขึ้น 3.8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่มุ่งขยายและส่งเสริมการปรับตัวในภาคการผลิตและบริการให้ทันสมัยและมีคุณภาพสูง แรงงานที่มีทักษะสายอาชีพจึงเป็นที่ต้องการตัว ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความคาดหวังว่า หากกระแสความต้องการดังกล่าวยังคงอยู่ต่อไป ก็น่าจะทำให้ผู้คนในสังคมปรับเปลี่ยนค่านิยมเกี่ยวกับการศึกษาในสายอาชีพ และหลักสูตรอาชีวศึกษาก็น่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ด้วยจุดแข็งในการพัฒนาทักษะทางอาชีพให้ผู้เรียนเสริมเพิ่มเติมจากความสามารถเฉพาะตัวทั้งความถนัด ฝีมือ และพรสวรรค์ อีกทั้งยังมีจุดเด่นคือ การให้ประสบการณ์จากการฝึกงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้นายจ้างพิจารณารับเข้าทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มมือดีที่มักจะได้งานทันทีที่เรียนจบ เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการนักศึกษาจบใหม่ที่สามารถทำงานได้ทันที และมีความเชี่ยวชาญในสายงาน
ความต้องการแรงงานที่มีทักษะสายอาชีพที่เกิดขึ้นทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของจีนสมัครเข้าเรียนในสถาบันอาชีวศึกษาด้วยหวังว่าจะเป็นการสร้างทักษะ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานและเพิ่มความได้เปรียบให้ตัวเองที่มีทั้งความรู้ในสายวิชาการและทักษะสายอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโลกการทำงานก่อนเข้าสู่สนามจริง นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางอาชีพของนักเรียนอาชีวะเป็นอีกแรงจูงใจที่ทำให้หลายคนเปิดใจเลือกเรียนอาชีวะในสาขาที่ถนัดและสนใจมากขึ้น โดยมีความต้องการของตลาดช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ว่า จบอาชีวะก็สร้างความสำเร็จให้ตนเองได้ไม่ด้อยไปกว่าสายสามัญ เฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ต้องแข่งขันกับแรงงานมนุษย์ด้วยกันทั้งแรงงานฝีมือ (Skilled Labor) เหล่าหัวกะทิที่เป็น Talent และบรรดาเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ที่นายจ้างพร้อมจะนำเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ จนสร้างความหวั่นไหวให้คนทำงานในหลาย ๆ อาชีพ
……….หันกลับมาที่ไทยก็มีกับดักความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรอาชีวศึกษาไม่ต่างจากจีน ทั้งยังติดหล่มภาพลักษณ์ลบ ๆ จากข่าวนักเรียนอาชีวะตีกัน ที่ไม่เพียงทำให้ผู้คนในสังคมเอือมระอากับพฤติกรรมแล้ว ยังมีผลต่อเนื่องถึงความไม่มั่นใจว่าจะมีวุฒิภาวะมากพอสำหรับการทำงาน อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทย ที่เผยแพร่เมื่อกุมภาพันธ์ 2567 ที่ระบุว่า แรงงานอาชีวะไทยเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งภายในและต่างประเทศ เนื่องจากมีคุณภาพและเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับต้องตาโดนใจนายจ้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทักษะฝีมือและความชำนาญสูง และมีความพิเศษที่โดดเด่นกว่าแรงงานอาชีวะประเทศอื่น คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ เป็นมิตร กินอยู่ง่าย และมีน้ำใจ ซึ่งเป็นที่ประทับใจของนายจ้าง น่าจะเป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับวงการอาชีวะไทย
จุดเด่นเหล่านี้ยังจะเป็นแต้มต่อในการยกระดับและพัฒนาตนเองของผู้เรียนเพื่อเป็น High-skilled Labor ขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมขีดสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งรายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลกประจำปี 2566 ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการจัดการ (International Institute for Management Development หรือ IMD) ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ขีดความสามารถของไทยอยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน สูงกว่าปีก่อนหน้าที่อยู่ในอันดับที่ 30 โดยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นในด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
……….ดังนั้น การส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาโดยผสมผสานหลักสูตรสายสามัญกับสายอาชีวะเพื่อสร้างบุคลากรให้เป็น Hybrid Workers ที่มีทักษะครบเครื่อง พร้อมสำหรับโลกของการทำงาน จึงน่าจะเป็นอีกช่องทางในการ Reskill และ Upskill ให้กับผู้เรียนทั้งสองสาย เพื่อรองรับความต้องการของตลาดงานในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง…..จะยิ่งทำให้แรงงานไทยมีความโดดเด่นและมีมูลค่าเพิ่มด้วยความรู้ความสามารถทั้งสองสาย และช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะฝีมือในอุตสาหกรรมสำคัญ ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย