สมาชิกอาเซียนมีอยู่ 10 ประเทศ และความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศก็มีรายละเอียดและความซับซ้อนมากกว่าความร่วมมือในกรอบอาเซียนเท่านั้น แต่ละสมาชิกยังมีการสร้างความสัมพันธ์กันแบบตัวต่อตัว หรือ Bilateral ซึ่งเป็นแนวทางสร้างความสัมพันธ์ที่ว่ากันว่าจะสามารถพูดคุยและทำความตกลงได้ง่ายกว่า ถ้าเทียบกับการดำเนินการแบบเป็นกลุ่มหรือ Multilateral
………..ล่าสุดมีสมาชิกอาเซียนคู่หนึ่งที่ตกลงใจจะขยายความร่วมมือกันเยอะมาก ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง เพราะ 2 ประเทศนี้ไม่มีพรมแดนติดกัน ที่ตั้งของประเทศก็ไม่ได้ใกล้กันเท่าไหร่ ห่างกันประมาณ 2,000 กว่ากิโลเมตร แต่น่าสนใจว่าทำไมถึงให้ความสำคัญต่อกันและกัน มีการขยายความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่บทความนี้กำลังพูดถึงก็คือ “ลาวและสิงคโปร์” ซึ่งเพิ่งจะฉลองครบรอบวาระการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปีในปีนี้ และผู้นำลาวเพิ่งจะเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการเมื่อต้น กรกฎาคม 2567
ปกติประเทศในภูมิภาคอินโดจีน จีน รัสเซีย รวมทั้งไทย น่าจะเป็นหุ้นส่วนที่ประเทศลาวให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ สาเหตุเพราะอยู่ใกล้ มีพรมแดนติดกัน และมีความร่วมมือที่ยาวนานทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน แต่หลายปีที่ผ่านมา ประเทศลาว ซึ่งปีนี้เป็นประธานอาเซียน และกำลังโปรโมทการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้เปิดรับและพร้อมเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศที่สามารถให้ผลประโยชน์ที่ต้องตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาและเศรษฐกิจของประเทศลาวด้วย
………..ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเน้นว่า “ลาวต้องหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประชาชนมีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สานต่อการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2573 และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแนวทางการพัฒนาสีเขียวแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ถ้าประเทศใดสามารถตอบสนองเป้าหมายระยะยาวของลาวทั้งด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาได้ ก็น่าจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
ส่วนประเทศสิงคโปร์ ทำไมถึงต้องสนใจลาวในระยะหลังนี้!?… สาเหตุน่าจะมาจาก 2 ปัจจัย ประเด็นแรก คือ ลาวเป็นแหล่งลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่น่าสนใจสำหรับสิงคโปร์ เพราะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนและนักธุรกิจสิงคโปร์จำนวนมาก เป็นโอกาสดีที่สิงคโปร์จะไปตั้งฐานการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาคอินโดจีนได้ ว่ากันว่าสิงคโปร์เพิ่มการลงทุนในลาวต่อเนื่องจนปัจจุบันอยู่ในอันดับ 10 ของประเทศที่ลงทุนในลาวมากที่สุด
ส่วนปัจจัยที่ 2 ก็คือเรื่องพลังงาน สิงคโปร์ต้องการหาแหล่งผลิตและนำเข้าพลังงานใหม่ นอกเหนือจากการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย นอกจากนี้สิงคโปร์ยังต้องการลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเร่งหาแนวทางพัฒนาและผลิตพลังงานสะอาดเพื่อใช้ในประเทศให้ได้มากที่สุด สิงคโปร์จะได้บรรลุเป้าหมายด้านการใช้พลังงานสะอาดและมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน ดังนั้น ประเทศลาวที่มีความมุ่งหมายจะเป็น Battery of Asia และกำลังให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานสะอาดด้วย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากเขื่อน หรือพลังงานลม ลาวมีโครงการและโปรเจคมากมายที่สร้างแล้ว รวมทั้งกำลังสร้างเพื่อส่งเสริมให้ “กระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด” กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ ….นี่ล่ะ!! คือสิ่งที่ตอบโจทย์สิงคโปร์ ที่กำลังมองหาแหล่งผลิตพลังงานสะอาดเพื่อให้สิงคโปร์มีพลังงานเพียงพอต่อการใช้ต่อไปอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิงแวดล้อมโลก
สรุปได้ว่า ทรัพยากรที่ทั้ง 2 ประเทศมีอยู่ต่างดึงดูดให้ลาวและสิงคโปร์ต้องการร่วมมือกันมากขึ้น จนล่าสุด ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน ผู้นำลาวเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่สิงคโปร์เปลี่ยนผู้นำรุ่นใหม่เป็นคุณลอว์เรนซ์ หว่อง ก็เลยเป็นจังหวะดีที่จะพูดคุยเรื่องโครงการต่าง ๆ ที่ 2 ประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ Mutual Benefit นั่นเอง
………..การเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งที่ผ่านมา สองประเทศได้ลงนามในความร่วมมือสำคัญหลายด้าน ทั้งการศึกษา ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรม สาธารณสุข การค้าและการลงทุน และแน่นอน…การพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งดูเหมือนว่าไฮไลท์และผลงานสำคัญของทั้ง 2 รัฐบาลเลย รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต หรือการแลกเปลี่ยน/ซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั่นเอง มีข้อสังเกตว่า สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานเป็นอันดับแรก คาดว่าเพราะจะส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนเรื่องพลังงาน และโครงการนำเข้าไฟฟ้าจากลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (Lao People’s Democratic Republic-Thailand-Malaysia-Singapore Power Integration Project หรือ LTMS-PIP) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญสำหรับความมั่นคงทางพลังงานของสิงคโปร์อย่างมาก และน่าจะเป็น “ผลงานสำคัญ” ของอาเซียนที่กำลังเดินหน้าสร้างความมั่นคงและความเชื่อมโยงด้านพลังงานในภูมิภาค หรือ ASEAN Power Grid ที่จะเป็นผลดีต่อประเทศไทยด้วย
และอีกเรื่องที่น่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นเร็ว ๆ นี้ นอกจากประเด็นพลังงาน ได้แก่ การสนับสนุนลาวเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ลาวสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตให้ประเทศอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาประเทศของลาว …….อาจสรุปได้ว่า ความร่วมมือที่จะเพิ่มขึ้นระหว่างลาวและสิงคโปร์ในอนาคต จะเป็นไปในทิศทางที่ทำให้ทั้งคู่มีเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ได้รวดเร็วขึ้น…และเชื่อว่า นี่ไม่ใช่คู่ความสัมพันธ์เดียวที่น่าสนใจในอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานและคาร์บอนเครดิต ยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศอีกมากมายที่เกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน หรือ Principle of Reciprocity ตามทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั่นเอง