ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในปัจจุบัน เพราะเป็นพื้นที่ที่หลายประเทศอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน รวมถึงจีน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการอ้างกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นกรกฎาคม 2567 จีนส่งเรือรบและเรือกองกำลังยามฝั่งเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ จนเกิดการปะทะกันเล็กน้อย เหตุการณ์ดังกล่าว แม้ไม่บานปลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ แต่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความตึงเครียดในพื้นที่นี้
….นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าสูง จึงถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่การันตีความมั่นคงให้กับผู้ที่ครอบครอง อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของจีนในทะเลจีนใต้ไม่เพียงแต่เป็นการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ หรือขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการแข่งขันกับสหรัฐฯ ในเวทีโลกอีกด้วย เท่ากับว่า……นโยบายของจีนต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีความสำคัญอย่างมาก โดยนอกจากรัฐบาลจีนจะต้องปกป้องสิทธิทางทะเลแล้ว ยังเป็นการสร้างอำนาจถ่วงดุลกับประเทศนอกภูมิภาค ควบคู่กับรักษาระดับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ขัดแย้งในปัญหานี้ด้วย การติดตามและวิเคราะห์นโยบายจีนต่อทะเลจีนใต้จึงจะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่นี้ต่อไป
ย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า ทำไมจีนถึงต้องให้ความสำคัญกับทะเลจีนใต้? ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ซึ่งจีนอ้างอิงจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีมากว่า 2,000 ปี ที่จีนใช้หลักฐานว่า นักเดินเรือจีนเคยสำรวจและตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้มายาวนาน และในสมัยราชวงศ์หมิงก็มีการเดินทางของเจิ้งเหอ แสดงถึงบทบาทของจีนในทะเลจีนใต้ โดยจีนใช้การเดินเรือของเจิ้งเหอเป็นหลักฐานในการสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน ซี่งชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมกิจกรรมทางทะเลที่มีมาแต่โบราณ และในสมัยสาธารณรัฐจีนยังคงถือสิทธิในทะเลจีนใต้เช่นเดิม โดยพรรคก๊กมินตั๋งใช้หลัก “เส้นประ 11 เส้น” ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนปรับเป็น “เส้นประ 9 เส้น” ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ ดังนั้น…… ในมุมมองของจีน ทะเลจีนใต้ถือเป็นอาณาเขตของตนเองมาแต่โบราณ และจีนใช้ข้อมูลชุดนี้เป็นวาทกรรมในการดำเนินนโยบายต่อทะเลจีนใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อตอกย้ำจุดยืนนี้ และการที่จีนเริ่มใช้วิธีการดำเนินนโยบายในทะเลจีนใต้อย่างแข็งกร้าวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการทหาร ทำให้จีนมีความสามารถในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาเพื่อครอบครองพื้นที่นี้มากขึ้น
เมื่อติดตามดูการดำเนินนโยบายของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ อาจสรุปได้ว่า….จีนคาดหวังอยู่ 4 เรื่อง เรื่องแรก คือ “ทรัพยากรธรรมชาติ” อย่างที่กล่าวไปในเบื้องต้นว่า ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คาดว่ามีน้ำมันประมาณ 11 พันล้านบาร์เรลและก๊าซธรรมชาติ 190 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลที่สำคัญ สามารถเป็นปัจจัยรับรองความมั่นคงทางอาหารแก่หลายประเทศในพื้นที่
นอกจากทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ทะเลจีนใต้ยังเป็น “เส้นทางสำคัญสำหรับการขนส่งสินค้า” คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีการขนส่งสินค้ามูลค่า 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ สำหรับการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ความมุ่งหมายเรื่องที่ 3 ของจีน ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ หากเปรียบเทียบกับความมุ่งหมายเรื่องอื่น ๆ คือ จีนดำเนินนโยบายในทะเลจีนใต้เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ความฝันของจีน (Chinese Dream) ที่มุ่งพาจีนกลับไปสู่ความรุ่งโรจน์และกู้ศักดิ์ศรีคืนจากความขมขื่นในอดีตที่ถูกต่างชาติกดขี่ เพราะปัจจุบันไม่ควรมีประเทศใดข่มขู่หรือกดขี่จีนได้อีกแล้ว เพราะจีนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น จีนจึงอาจใช้การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีใต้ เป็นเครื่องมือประกาศอิทธิพลในเวทีการเมืองโลก และแสดงขีดความสามารถทางการทหาร โดยเฉพาะนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำคนปัจจุบัน เน้นการปลุกความเป็นชาตินิยมและความฮึกเหิมในหมู่ประชาชนจีนและนักการเมือง จึงสังเกตได้ว่ามีการใช้ทุกวิธีการเพื่อขยายอาณาเขตและยึดพื้นที่ครอบครองในทะเลจีนใต้ ให้เป็นผลงานและความสำเร็จในการบรรลุความฝันของจีนที่จะเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่และเท่าเทียมประเทศอื่น ๆ มากขึ้น
……..และเมื่อวิเคราะห์เรื่องนี้ในมุมมองเชิงระหว่างประเทศ การแข่งขันอิทธิพลในเชิงภูมิรัฐศาสตร์กับมหาอำนาจอื่น ๆ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดทิศทางนโยบายของจีนเช่นกัน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศนอกภูมิภาคนี้และไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ แต่ใช้ข้อมูลว่าทะเลแห่งนี้เป็นน่านน้ำสากล จึงทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้าไปควบคุมดูแลให้ปลอดภัยและมีเสรีภาพในการเดินเรือ นอกจากนี้ การที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นคู่พิพาทของจีน มีสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงและการทหาร ทำให้ต้องดึงอเมริกาเข้ามาในความขัดแย้งนี้ ทำให้จีนมองสหรัฐฯ เป็นคู่ขัดแย้งไปด้วย เพราะบทบาทของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนฟิลิปปินส์ทั้งด้านข่าวกรอง การทูตและการทหาร ทำให้จีนเผชิญความยากลำบากในการกดดันฟิลิปปินส์เรื่องทะเลจีนใต้
หากดูจากทั้ง 4 เรื่องที่จีนให้ความสำคัญดังกล่าว ประกอบกับท่าทีและการแสดงออกของจีนที่แข็งกร้าวในทะเลจีนใต้มากขึ้นในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา ควบคู่กับการเมืองจีนที่มีความมั่นคง ทำให้เราอาจวิเคราะห์ทิศทางนโยบายของจีนต่อทะเลจีนใต้ได้ว่า จะมีความพร้อมด้านการอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่นี้มากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาว และครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งควบคุมเส้นทางขนส่งการค้าที่สำคัญ แล้วถ้าจะประเมินต่อไปว่า… จีนมีความพร้อมขนาดไหนในการรับมือกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่จะตึงเครียดขึ้น?!
ขอประเมินว่า….. ปัจจุบัน จีนมีขีดความสามารถทางทหารสูงกว่าคู่ขัดแย้งในภูมิภาคอย่างมาก อย่างไรก็ตาม คู่พิพาทของจีนที่มีกำลังทางทหารน้อยกว่า เช่น ฟิลิปปินส์ กลับมีพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ซึ่งยังคงมีขีดความสามารถทางทหารเหนือกว่าจีน ดังนั้นการใช้วิธีทางทหารกับคู่พิพาทอาจไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงปลอดภัยของจีนสักเท่าไหร่ เพราะอาจยิ่งดึงสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ เข้าไปแสดงบทบาทและเคลื่อนไหวในความขัดแย้ง จนทำให้จีนไม่มีศักยภาพพอที่จะรับมือได้ และถึงแม้จะชนะ แต่ความเชื่อมั่นในฐานะมหาอำนาจจากโลกตะวันออกที่จะต้องเสียไปก็ไม่คุ้มค่า จึงเชื่อว่าจีนจะยังไม่ใช้การเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรงในทะเลจีนใต้ แต่จะยังคงพัฒนาขีดความสามาถทางทหารอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเองทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ
……..ในอนาคต มีความเป็นไปได้มากว่า จีนจะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการรับมือกับกรณีข้อพิพาทต่างๆ โดยใช้หลักการ “Charm Offensive” ในทางการฑูตและเสนอผลประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกับประเทศคู่พิพาทสร้างอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า เพื่อลดระดับความขัดแย้ง นอกจากนี้ การใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ก็นับว่าเป็นอีกเครื่องมือที่จีนดำเนินการได้เพื่อกดดันคู่ขัดแย้งให้ยอมรับนโยบายของจีน
อีกหนึ่งแนวทางที่จะยังคงเป็นนโยบายหลักของจีน คือ แนวทางการทูต สังเกตได้ว่า ปัจจุบันจีนเสนอความร่วมมือและการพัฒนาร่วมให้แก่ประเทศคู่พิพาท โดยที่มีเงื่อนไขหรือข้อต่อรองที่จีนเป็นฝ่ายได้เปรียบ หรือควบคุมทิศทางความร่วมมือ ซึ่งประเด็นนี้ท่าทีตอบรับของประเทศต่าง ๆ ก็ยังเป็นปัจจัยที่จีนควบคุมไม่ได้ เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล หรือขั้วการเมืองในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสที่ท่าทีต่อนโยบายของจีนจะเปลี่ยนแปลงไป ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนนโยบายของฟิลิปปินส์หลังจากเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล ก็ปรับแนวทางการร่วมมือกับจีน และหันไปใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นด้วย
ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายของประเทศคู่พิพาท ทำให้จีนต้องมองหากลไกกลางในภูมิภาคเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ ยังนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ผ่านกลไกอาเซียน ปัจจุบัน อาเซียนสามารถกำหนดกรอบการแก้ไขข้อพิพาทผ่านเวทีพหุภาคี มีความคืบหน้าก้าวสำคัญ คือ ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of the Parties in the South China Sea หรือ DOC) ในปี 2545 ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการแก้ไขข้อขัดแย้ง การยอมรับแนวทางพหุภาคีโดยจีน และยังมีความพยายามในการพัฒนาแนวปฏิบัติเพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct หรือ COC) เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือที่ชัดเจนในการป้องกันและแก้ไขข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ COC เป็นแนวทางปฏิบัติที่มีความสำคัญมากกว่า DOC โดยมีการกำหนดข้อบังคับและมาตรการที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเจรจา COC ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังต้องใช้เวลาในการหาข้อตกลงร่วมกันต่อไป
เมื่อพิจารณาจากความมุ่งหมายและทิศทางการดำเนินนโยบายของจีนที่จะแข็งกร้าวขึ้นในทะเลจีนใต้ ขอประเมินว่า ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเป็นระยะๆ ขณะที่ความหวังที่จะแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้ COC ก็ยังเป็นไปได้ยากเพราะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งยังไม่สามารถบอกได้เลยว่า จีนจะยอมรับและปฏิบัติตาม COC หรือไม่ เพราะก็มีความเป็นไปได้ที่จีนจะปฏิเสธแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เหมือนอย่างที่จีนเคยปฏิเสธคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2559 ของฟิลิปปินส์ อาจเป็นสัญญาณบอกว่า จีนพร้อมจะเอาเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประชาชนและประเทศชาติไปเป็นเหตุผลอันดับ 1 ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของจีน โดยไม่ยอมให้กลไกต่างๆ ขัดขวางความมุ่งหมายของจีน