ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่มีรูปแบบการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นสังคม โดยตามหลักมานุษยวิทยาสังคม (Social Anthropology) และมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Anthropology) อธิบายเอาไว้ว่า มนุษย์ส่วนใหญ่จะเลือกอยู่กับกลุ่มที่มีวัฒนธรรมเหมือนกัน เพราะรู้สึกปลอดภัยและคุ้นเคย แต่เมื่อมนุษย์เริ่มออกเดินทางเพื่อย้ายถิ่นฐานใหม่ โดยเฉพาะการย้ายถิ่นระดับ Global Migration ก็ไม่สามารถหนีพ้นการต้องเผชิญกับมนุษย์กลุ่มอื่น ๆ ที่มีวิถี วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ รวมทั้งลักษณะทางชีวภาพที่แตกต่างกัน จึงเกิดการรวมกลุ่มของมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้โ ดยที่ไม่จำเป็นต้องพยายามกลืนวัฒนธรรมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กลายเป็นแนวคิด “พหุวัฒนธรรม” หรือ Multiculturalism ที่ยอมรับการมีอยู่ของวัฒนธรรมที่หลากหลายร่วมกัน
พหุวัฒนธรรมเป็นระบบความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่ทำให้ผู้ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อสามารถอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ ไม่ว่าพหุวัฒนธรรมนั้นจะเกิดจากความพยายามเอาตัวรอดของมนุษย์ ความพยายามของรัฐในการควบคุมกลุ่มคนที่หลากหลาย ความพยายามในการกลืนกินวัฒนธรรมอื่นในช่วงการล่าอาณานิคม ความพยายามแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มีความเชื่อแตกต่างกัน ไปจนถึงความพยายามในการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์…ท้ายที่สุดแล้ว เราเชื่อว่า แนวคิดพหุวัฒนธรรม สามารถนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์สังคมได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ขึ้นอยู่กับว่าแนวคิดนี้ถูกใช้เพื่อเป้าหมายอะไร โดยใคร และมีปัจจัยอื่น ๆ แทรกแซงหรือไม่!?
จากประวัติศาสตร์ ..แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้แนวคิดพหุวัฒนธรรมเป็นแนวทางหลักในการกำหนดนโยบาย เช่น การกำหนดให้แคนาดาเป็นประเทศที่มีพหุวัฒนธรรม ส่วนในเยอรมนีได้ปรับนโยบายของประเทศให้ยอมรับผู้ที่ใช้ภาษาหลากหลายมากขึ้นเมื่อปี 2524 เพื่อแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งจากการต่อต้านผู้อพยพ ส่วนในประเทศไทย หนึ่งในพื้นที่ที่มีความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมโดดเด่นมากที่สุด คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเก่าที่ผสมผสานวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวไทยหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา และชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ ซึ่งยังมีหลักฐานให้เห็นทั้งผ่านสถาปัตยกรรมและผู้คนในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ ก็คือการไปท่องเที่ยว หลังจากมีข่าวว่าเมืองมรดกโลกแห่งนี้กำลังจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้เราคิดว่าอีกหน่อยอยุธยาต้องเปลี่ยนแปลงไปอีกมากแน่ ๆ จึงอยากจะไปซึมซับบรรยากาศความดั้งเดิมที่มีมนต์เสน่ห์ของกรุงเก่าก่อนที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง…มนต์เสน่ห์ที่ว่านั้นนอกจากผู้คน ก็คงไม่พ้นสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่อนุรักษ์เอาไว้ และมีหลากหลายรูปแบบให้เราได้ย้อนนึกถึงตำราประวัติศาสตร์และภาพยนตร์หลายเรื่องที่อ้างถึงยุครุ่งเรืองของอยุธยา ซึ่งทำให้มีคนมากมายหลายเชื้อชาติเดินทางเข้าไปอยู่อาศัยหรือทำมาค้าขายกับชาวอยุธยา จนทำให้เกิด “สังคมพหุวัฒนธรรม” ในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่อดีต สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า อยุธยาเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม คือ การอยู่ร่วมกันของชนต่างชาติและศาสนาในอดีต โดยเฉพาะบันทึกและพงศาวดารจากประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีหลักฐานมากมายทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและในต่างประเทศยืนยันได้ว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองใหญ่ที่มีชนพื้นเมืองและชนต่างชาติเข้าไปปฏิสัมพันธ์กันทั้งผ่านกิจกรรมการค้า การเมืองการปกครอง และการแลกเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรม ด้วยสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่านานาชาติ เพราะผู้นำในยุคนั้นมีวิสัยทัศน์เรื่องการสนับสนุนการค้าทางทะเล จึงเปิดให้พ่อค้าจากทั่วโลกได้มาแลกเปลี่ยนสินค้ากันที่กรุงศรีอยุธยา เหล่าพ่อค้าเมื่อได้มาอยู่อาศัยก็เริ่มตั้งถิ่นฐาน รวมกลุ่มอยู่อาศัยกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการค้าในพื้นที่ ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงศรีอยุธยาประกอบด้วยหลายเชื้อชาติศาสนา ทั้งญี่ปุ่น จีน ฝรั่ง และแขก ที่มาจากทั่วสารทิศ ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นตัวอย่างของสังคมพหุวัฒนธรรมที่แท้จริง โดยผู้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติและศาสนาสามารถเข้าไปประกอบอาชีพในกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นค้าขาย เกษตรกรรม และประมง
ในอดีต ด้วยความที่กรุงศรีอยุธยาแบ่งพื้นที่สำคัญชัดเจนเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ปกครอง ทำให้ชนต่างชาติและศาสนาส่วนใหญ่จะได้รับอนุญาตให้ไปตั้งถิ่นอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองในปัจจุบัน เนื่องจากเหมาะกับการเชื่อมต่อออกทางแม่น้ำไปยังเมืองท่าอื่น ๆ นอกจากนี้ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนว่า ชาวมุสลิมจำนวนมากได้รับความไว้วางใจจากขุนนาง ให้รับราชการและตั้งถิ่นฐานบนเกาะเมือง ใจกลางกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ช่วงปี พ.ศ. 2153-2171 บทบาทของชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียที่ได้รับความนับถืออย่างมาก ได้แก่ เจ้าพระยาบวรราชนายก หรือเฉกอะหมัด ที่เข้าไปค้าขายในกรุงศรีอยุธยา มีบทบาทในการปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้รับความไว้วางใจและโปรดเกล้าให้เป็นขุนนางในราชสำนัก …นอกจากเจ้าพระยาบวรราชนายก ก็ยังมีชาวมุสลิมจากหลายเชื้อชาติที่เข้าไปอยู่อาศัยในกรุงศรีอยุธยา กลุ่มสำคัญคือ ชาวมลายู ชาวชวาและชาวจาม หรือชาวมุสลิมชาติพันธุ์มลายูและอินโดนีเซียแห่งอาณาจักรจามปา ที่อพยพลี้ภัยมาจากอาณาจักรอันนัม และชาวมักกะสันจากอินโดนีเซีย มาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
แม้ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านไป…ชาวมุสลิมก็ยังกลับไปตั้งถิ่นฐานและอยู่ในพื้นที่อยุธยา เพราะมีความผูกพันมาตั้งแต่อดีต และที่สำคัญ คือ พื้นที่อยุธยามีรากฐานทางวัฒนธรรมอิสลามอยู่แล้ว เห็นได้จากวัฒนธรรมอิสลามที่บางส่วนมีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรม ภาษา ศาสนสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวมุสลิมที่ปรากฏให้เห็นอยู่มากมายในหลายพื้นที่จนถึงปัจจุบัน เช่น กรอบซุ้มประตูทรงโค้งเว้า สถาปัตยกรรมในพื้นที่คลองคูจาม สะพานที่มีวงโค้งรูปกลีบบัวตามแบบสถาปัตยกรรมเปอร์เซีย ที่เห็นได้ที่คลองประตูเทพหมี และมัสยิดหลายแห่ง ที่สำคัญคือ ชุมชนชาวมุสลิมในอยุธยาปัจจุบัน โดยเฉพาะในตำบาลคลองตะเคียน ตำบลสำเภาล่ม ตำบลภูเขาทองและตำบลลุมพลี ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา
..ซึ่งใครที่เดินทางมาเที่ยวจังหวัดนี้ลองสังเกตว่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอยุธยายังมีการผสมผสานวัฒนธรรมจากหลากหลายชนชาติ และที่โดดเด่นอย่างมาก คือ การอยู่ร่วมกันของผู้คนที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งอยู่ร่วมกันได้โดยที่ยังคงรักษาประเพณีและวิถีปฏิบัติตามความเชื่อของกลุ่มตัวเองได้อย่างเสรีและภาคภูมิใจ ความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมในพื้นที่อยุธยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นเหมือนหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยสามารถเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมได้ หากกลุ่มคนสามารถรักษาประเพณี ควบคู่ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ก็จะเสริมรากฐานการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย และเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง