สำนักข่าว Mehr ของอิหร่าน รายงานเมื่อ 28 ก.ย.64 อ้างเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Customs Administration-IRICA) เปิดเผยเมื่อวันเดียวกันว่า อิหร่านนำเข้าวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 จากต่างประเทศ ตั้งแต่ ธ.ค.63 จนถึง ก.ย.64 มีจำนวนรวมมากกว่า 73 ล้านโดส โดยเป็นวัคซีน Sinopharm ของจีน มากกว่า 63.7 ล้านโดส รองลงมาเป็นวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในอินเดีย เกาหลีใต้ และอิตาลี ซึ่งจัดหาและนำเข้าผ่านโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) กับที่ได้รับบริจาคจากญี่ปุ่น และวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย ขณะที่ภายในต้น ต.ค.64 อิหร่านจะได้รับวัคซีน Johnson & Johnson และวัคซีน Pfizer จากผู้ผลิตในเบลเยียม รวมประมาณ 10 ล้านโดส หลังจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติของอิหร่าน อนุมัติคำร้องของกระทรวงสาธารณสุขอิหร่าน เกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนทั้งสองชนิด เพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน Pfizer และนำไปใช้เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับบุคลากรทางแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ยี่ห้ออื่นครบ 2 เข็มแล้ว ทั้งนี้ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านของสหรัฐฯ เป็นอุปสรรคให้อิหร่านไม่สามารถนำเข้าวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ที่ผลิตในสหรัฐฯ ได้ ประกอบกับผู้นำสูงสุดของอิหร่านซึ่งไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ประกาศห้ามนำเข้าและใช้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ที่ผลิตในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ส่งผลให้อิหร่านต้องใช้วัคซีน Sinopharm ของจีนเป็นวัคซีนหลัก และนำเข้าจากประเทศอื่น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาและผลิตวัคซีนขึ้นใช้เองในประเทศ