ตอนนี้นักวิเคราะห์บางท่านเริ่มพูดถึงภาวะ catch-22 (อ่านว่า แคทช-ทเวนตี้-ทู) ของอาเซียนต่อเหตุการณ์ในเมียนมา โดยคำว่า catch-22 นี้ ก็หมายความถึง การตกไปอยู่ในที่ที่มันขัดแย้งกันจนหาคำตอบไม่ได้ มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่าง หรือเป็นความติดขัดที่เกิดจากการขาดอะไรไปสักอย่าง ยกตัวอย่าง catch-22 ตามที่ ดร.วารกรณ์ สามโกเศศ เคยอธิบายไว้ในคอลัมน์อาหารสมอง ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ นานมาแล้วว่า ตัวอย่างของ catch-22 ในการสมัครงานก็คือการที่บริษัทต่าง ๆ มักจะระบุในการแจ้งรับสมัครงานว่า รับผู้มีประสบการณ์ แต่ในมุมของผู้สมัครงานก็มองว่า ก็ยังไม่เคยมีงานทำแล้วจะมีประสบการณ์ได้อย่างไร ซึ่งในที่สุดแล้วที่ทำงานก็อาจจะแก้ปัญหาการขาดคนทำงานไม่ได้ และผู้สมัครงานก็ทำไม่ได้แม้แต่จะยื่นใบสมัคร เป็นต้น
ในมุมของอาเซียนกับเรื่องราวของเมียนมาในปัจจุบันที่ว่าอาเซียนตกอยู่ในภาวะ catch-22 ก็น่าจะเป็นการเชิญ พล.อ.อาวุโส มินอ่องไหล่ง์ เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ใน 24 เม.ย.64 กล่าวคือ อาเซียนเชิญท่าน ก็ถูกโจมตีว่าอาเซียนสนับสนุนรัฐบาลทหาร สนับสนุนการใช้ความรุนแรง อาเซียนส่งเสริมการรัฐประหารในครั้งนี้ ฯลฯ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าไม่เชิญท่าน แล้วอาเซียนคุยกันเรื่องเมียนมาเพื่ออาเซียนจะร่วมกันหาทางออก แต่อาเซียนจะรู้ได้อย่างไรหรือบอกกับใครได้ตรง ๆ ว่า เรื่องนี้ไม่โอเค มันควรจะจบโดยเร็ว หรือจะบอกกล่าวไปทางไหนว่า เมียนมาต้องสัญญากับอาเซียนนะ จะทำอย่างไรต่อไปเพื่อทำให้สถานการณ์มันดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
หรือว่าจะมีอีกสำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ได้กับอาเซียนในเรื่องของเมียนมาตอนนี้ นั่นก็คือสำนวนที่ว่า catch-as-catch-can ซึ่งหมายถึงการทำอะไรก็ได้ ทำไปก่อน ตรงไหนได้เปรียบ หรือทำได้ก็ทำไปก่อน ตอนนี้อาเซียนถูกรุกหนักมากจากประชาคมโลก ถูกมอบหมายแกมบังคับว่าอาเซียนต้องเป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ต้องรับผิดชอบและช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้มันดีขึ้น อาเซียนรู้ดีว่า ปัจจัยภายในของเมียนมาที่เอื้อต่อการทำการรัฐประหารมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของเมียนมา อาเซียนรู้ดีว่า เหตุการณ์แบบนี้มันก็จะเกิดขึ้นอีกตามวิถีทางการเมืองของเมียนมา
การมีเวทีหรือช่องทางพูดคุยกับเมียนมา ก็น่าจะเป็น catch-22 ในมิติที่ แม้อาเซียนก็อาจจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าคุยแล้วจะอย่างไร เมียนมาจะรับรู้และเอออวยไปกับข้อเรียกร้องของอาเซียนและประชาคมโลกได้มากน้อยแค่ไหน ก็ยังไม่มีใครทราบ จนกว่าผลการประชุมใน 24 เม.ย. จะออกมา และถ้าผลลัพท์ของการประชุมไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ อาเซียนจะทำอย่างไรต่อไป หรืออาเซียนควรจะ catch-as-catch-can ไปเรื่อยๆ ทีละฉาก ทีละตอน จนสถานการณ์มันสุกหง่อมไปเอง
เป็นอาเซียนมันไม่ได้ง่ายเลยจริง ๆ
—————————–