นับตั้งแต่ชาวโลกเริ่มได้ยินเรื่องของเชื้อไวรัสซาร์สสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่ระบาดในจีนตั้งแต่ธันวาคม 2562 ปัจจุบันก็เกือบจะครบรอบ 2 ปีแล้วที่เราอยู่กับโรค COVID-19 หลายชีวิตที่จากไป ธุรกิจมากมายที่ล้มลง และอีกหลายหลายผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยไม่มีพื้นที่และมิติใดของสังคมที่หลบเลี่ยงไปได้ วิกฤตครั้งนี้คือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์อย่างมากมายที่สุดในรอบศตวรรษ และจริงอยู่ที่ว่าผลกระทบก็ยังดำเนินต่อเนื่อง แต่หากมองผ่านกรอบแว่นของผู้ศรัทธาในความเป็นมนุษย์และทฤษฎีวิวัฒนาการ ที่เชื่อว่าความพิเศษของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์คือการปรับตัวและวิวัฒน์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ตอนนี้ก็คงจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องข้ามให้พ้นโลกยุค COVID-19 คือการมองไปข้างหน้าว่าโลกหลังยุค COVID-19 จะเป็นเช่นใด และเราจะอยู่กับโลกแบบนั้นอย่างไร 1. โลกของ “ปัจเจกที่รวมกลุ่มกันตามความสมัครใจอย่างไร้พรมแดน” การก่อกำเนิดและเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๕๔๓) จนถึงปัจจุบัน นํามาซึ่งการเสื่อมถอยของการผูกขาดอำนาจรัฐด้านการใช้สื่อเพื่อกำหนดอัตลักษณ์และค่านิยมร่วมกันของสังคม จากการที่สื่อสังคมออนไลน์ทําให้รัฐสูญเสียอํานาจในการผูกขาดสื่อมวลชนที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดแนวทางการเล่าเรื่อง (narrative) กลุ่มคนชายขอบที่ไม่เคยมีที่ยืนในสังคมสามารถครอบครองสื่อสังคมออนไลน์และรวมกลุ่มกันได้โดยไม่ต้องมีต้นทุน สังคมโลกยุคใหม่จึงเต็มไปด้วยอัตลักษณ์และค่านิยมหลากหลาย ทั้งที่เคยถูกกดทับไว้ และที่เพิ่งถือกําเนิดขึ้นมา “ปัจเจกที่รวมกลุ่มกันตามสมัครใจอย่างไร้พรมแดน” เป็นตัวแสดงที่เพิ่มบทบาทจนอาจจะเป็นตัวแสดงหลักของสังคมระหว่างประเทศในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อถูกเสริมแรงด้วยวิกฤตโรค COVID-19 ที่ทำให้ปัจเจกบางกลุ่มสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐ 2. การรุกกลับของรัฐ แต่ในอีกทางหนึ่ง วิกฤตโรค COVID-19 ก็เป็นเหตุผลที่ดีที่รัฐใช้อ้างความชอบธรรมในการทวงคืนและเพิ่มพูนอำนาจรัฐที่เริ่มเสื่อมถอยหลังจากที่แนวคิดโลกาภิวัตน์โดดเด่นขึ้นมาเป็นกระแสหลักที่ใช้อธิบายลักษณะของสังคมโลกห้วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา โดยมีสื่อมวลชนและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเร่งสังคมโลกหลอมรวมเป็นสังคมเดียวกันที่ไร้พรมแดน แต่การอุบัติของโรค COVID-19 ทำให้เส้นเขตแดนที่เริ่มเลือนสลายกลับชัดเจนและเข้มข้นยิ่งขึ้น รัฐแต่ละรัฐกลับไปตระหนักถึงสภาพความเป็นอนาธิปไตยของประชาคมระหว่างประเทศ ที่“การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด” จะสำเร็จได้ก็ด้วยการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก…