จากกรณีที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศถึงแนวโน้มการถอดหุ้นสัญชาติจีนบางตัวออกจากตลาด NYSE (The New York Stock Exchange) เพราะมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดกฎหมาย Holding Foreign Companies Accountable Act จนนักลงทุนจำนวนมากในตลาดพยายามลดสัดส่วนของสินทรัพย์ในพอร์ตที่เป็นหุ้นเทคโนโลยี (China Internet sector) ลง เพื่อลดปริมาณความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนนี้ หุ้นหลายตัวที่มีพื้นเพมาจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนจึงปรับตัวสนองต่อกระแสดังกล่าว จนดัชนี Hang Seng Index ที่อยู่ในช่วงตลาดขาลงอยู่แล้ว ปรับตัวลงตามจนมูลค่าลดลงไปกว่า 40% จากจุดสูงสุดเมื่อช่วงต้นปี 2564 เนื่องจากแนวรับสำคัญบริเวณเส้นสีส้ม ราคา HK$21,455.57 ไม่สามารถรับราคาไว้ได้ โดยปัจจุบัน Hang Seng Index กำลังเคลื่อนที่ไปจ่อทดสอบบริเวณแนวรับเส้นสีแดงที่ราคา HK$18,229.79 (ตามภาพที่ 1) ซึ่งเป็นแนวรับเดิมของเมื่อช่วงต้นปี 2559 ที่จะพอมีโอกาสให้ราคาดีดขึ้น (rebound) ได้
ในทางเทคนิคัลนั้น กราฟแสดงผลราคาของ Hang Seng Index ได้ทะลุโครงสร้างของแนวรับ 2 แนวสำคัญ (break of structure) ที่บริเวณเส้นสีเขียว HK$24,842.92 และเส้นสีส้ม HK$21,455.57 ลงมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเคลื่อนที่ในกรอบสวิงแคบๆ ตามแนวเส้นทแยงสีดำ (ตามภาพที่ 1) มาเป็นเวลา 1 ปีตั้งแต่ปี 2564 โดยยังไม่มีการดีดกลับของราคาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขแวดล้อมที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเสี่ยงจะลงทุนแบบเก็งกำไรระยะสั้น โดยคาดหวังให้กราฟมีการกลับตัวที่โซนแนวรับตามอัตราส่วน 61.8% Fibonacci (กล่องสี่เหลี่ยมสีเหลือง ตามภาพที่ 1) ที่อาจส่งให้กราฟราคาดีดกลับไปที่บริเวณแนวต้านเส้นสีส้มได้ หากแนวรับบริเวณ HK$18,229.79 สามารถรับราคาไว้ได้ ทั้งนี้ หากแนวรับดังกล่าวไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะผ่อนแรงเทขายสินทรัพย์ให้ทุเลาลง แนวรับถัดไปที่ Hang Seng Index อาจจะลงไปทดสอบ คือ บริเวณแนวรับกล่องสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินที่เป็นแนวรับตามอัตราส่วน 88.7% Fibonacci ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 นี้
สำหรับมุมมองจากเครื่องมือประเมินแรงซื้อ-แรงขาย (RSI) ตามที่ปรากฏในภาพ 2 จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2562-2563 นั้นแรงซื้อของ Hang Seng Index มีการเติบโตขึ้นอย่างช้าๆตามกรอบสีแดง พร้อมความพยายามที่จะทะลุขึ้นไปยืนเหนือค่า 70 หลายครั้ง แต่ไม่สามารถผ่านแนวต้านดังกล่าวขึ้นไปได้สำเร็จเลย ทำให้ในช่วงต้นปี 2564 เริ่มมีแรงซื้อที่เบาบางลง แล้วแทนที่ด้วยแรงขายที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีจนกราฟ RSI ถูกดึงลงไปให้เคลื่อนที่ต่ำกว่าโซน 50 ในช่วงหลังเดือนกรกฎาคม จนเกิดลักษณะการเคลื่อนที่ของคลื่นชุดใหม่ ตามกรอบทแยงสีดำที่สะท้อนถึงแนวโน้มการเป็นตลาดขาลงชัดมากขึ้น โดยยังไม่มีสัญญาณการกลับตัวที่ชัดเจนเกิดขึ้น แม้ว่านักลงทุนบางส่วนที่นิยมลากเส้นบนกราฟ RSI เพื่อประเมินความหนาแน่นของแรงซื้อ-ขาย อาจจะได้เห็นสัญญาณที่แรงขายมีปริมาณลดลง (bullish divergence) สวนทางกับกราฟราคาที่ยังปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีที่ผ่านมา แต่มุมมองดังกล่าวก็ถูกหักล้างไปในทันทีเมื่อกราฟราคาเริ่มเริ่มดิ่งลงแล้วกระชากกราฟ RSI ให้ลงไปต่ำกว่าโซน 25 และ 20 อีกครั้งในช่วงกุมภาพันธ์ 2565
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุน ฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***