The Intelligence Weekly Review (17/04/2022)
The Intelligence Weekly Review นำเสนอความเคลื่อนไหวประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นรอบโลกในแต่ละภูมิภาคให้ท่านผู้ฟังรู้ทันเหตุการณ์ เห็นความสำคัญ และนำมุมมองของเราไปใช้ประโยชน์กันต่อไป
The Intelligence Weekly Review นำเสนอความเคลื่อนไหวประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นรอบโลกในแต่ละภูมิภาคให้ท่านผู้ฟังรู้ทันเหตุการณ์ เห็นความสำคัญ และนำมุมมองของเราไปใช้ประโยชน์กันต่อไป
สำนักข่าว Tass ของรัสเซีย รายงานอ้างทวีตข้อความในเทเลแกรมของนายดมิตรี เมดเวเดฟ รองประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย เมื่อ 14 เม.ย.65 ว่า รัสเซียจะเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก หากฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation-NATO) และจะไม่มีการเจรจาในประเด็นสถานะเขตปลอดนิวเคลียร์ในทะเลบอลติก นอกจากนี้ รัสเซียอาจต้องเสริมกองกำลังภาคพื้นดิน ระบบป้องกันภัยทางอากาศ และวางกองกำลังกองทัพเรือถาวรบริเวณอ่าวฟินแลนด์ ซึ่งรวมถึงสั่งเตรียมพร้อมขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง Iskanders และเรือรบที่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ ในวันเดียวกัน นายอเล็กซานเดอร์ กรุสโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่า รัสเซียจะใช้มาตรการด้านความมั่นคงและความปลอดภัยที่จำเป็นหากสวีเดนและฟินแลนด์เป็นสมาชิก NATO ซึ่งฟินแลนด์มีพรมแดนติดรัสเซีย ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัสเซียจะใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการพัฒนาด้านการทหาร และความเป็นไปได้สูงที่รัสเซียจะปรับใช้อาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคบอลติก ขณะที่การดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับสวีเดนและฟินแลนด์ยังคงอยู่ แม้ทั้งสองประเทศเข้าร่วมคว่ำบาตร และรณรงค์กับประเทศตะวันตกต่อต้านรัสเซียก็ตาม ทั้งนี้ ฟินแลนด์และสวีเดนจะยื่นเสนอชื่อเป็นสมาชิก NATO ใน มิ.ย.65 หรือในห้วงการประชุมสุดยอด NATO ห้วง 29-30 มิ.ย.65 ที่กรุงมาดริด สเปน
พล.ต. Igor Konashenkov โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซีย แถลงเมื่อ 14 เม.ย.65 ว่า รัสเซียอาจโจมตีศูนย์กลางบัญชาการทางทหารฝ่ายยูเครน รวมถึงที่กรุงเคียฟ หากยูเครนยังไม่ยุติการพยายามก่อวินาศกรรมและบ่อนทำลายรัสเซีย พร้อมอ้างว่า ที่ผ่านมารัสเซียตั้งใจละเว้นการโจมตีศูนย์กลางบัญชาการของยูเครน นอกจากนี้ สำนักข่าว Fontanka สื่อท้องถิ่นของรัสเซีย รายงานในวันเดียวกันว่า เวลาประมาณ 14.00 น. (เวลาท้องถิ่นรัสเซีย) เกิดเหตุปะทะบริเวณชายแดนเขต Korenevsky ภูมิภาค Kursk ของรัสเซียซึ่งมีจุดข้ามแดนกับแคว้น Sumy ยูเครน และก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ Moscow Times รายงานเมื่อ 12 เม.ย.65 ว่า เมืองรอบชายแดนรัสเซียหลายแห่งประกาศเฝ้าระวังการก่อการร้ายระดับสีเหลือง (รุนแรงระดับ 2 จากทั้งหมด 3 ระดับ) เพื่อให้เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลางต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการเฝ้าระวัง และประชาชนต้องพกเอกสารสำคัญยืนยันตัวบุคคล เฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิภาค Kursk และภูมิภาค Belgorod (ระหว่าง 11-25 เม.ย.65 พร้อมห้ามจุดประทัดในพื้นที่) รวมถึงไครเมีย
อีกหนึ่งสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศที่มีความเคลื่อนไหวไม่น้อยไปกว่าการสู้รบในยูเครน คือ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นอีกจุดขัดแย้งที่สำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ เพราะเกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง (hypersonic) บทบาทของประเทศมหาอำนาจ และความมั่นคงมนุษย์ โดยสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีในห้วง เมษายน 2565 นี้น่าสนใจไม่น้อย เพราะทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต่างมีความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นสัญญาณเปลี่ยนแปลงบรรยากาศในภูมิภาค
สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของหลาย ๆ ประเทศ หนึ่งในนั้น คือ “อินโดนีเซีย” ที่เผชิญแรงกดดันในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G-20 หรือกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศและสหภาพยุโรป เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการให้อินโดนีเซียคว่ำบาตรผู้แทนรัสเซียในการประชุม G-20 ทุกระดับ โดยระบุว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วม หากมีรัสเซียเข้าร่วมการประชุมด้วย!! สำหรับการประชุมในกรอบ G-20 เร็ว ๆ นี้ คือ การประชุมในระดับรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รวมทั้งสถาบันการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศใน 20 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นการประชุมทั้งแบบ online และ onsite ที่วอชิงตัน ดี.ซี. นี่คืออีกหนึ่งความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะกีดกันรัสเซียออกจากความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนนั้นส่งผลกระทบต่อทั่วโลกทั้งในมิติความมั่นคงและเศรษฐกิจ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงเชื่อว่า รัสเซียไม่สมควรได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ … ความพยายามดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายจับตามองท่าทีของอินโดนีเซีย ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนที่มีค่านิยมประชาธิปไตยร่วมกันและมีความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายที่ใกล้ชิด ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียกับรัสเซียก็ใกล้ชิดในฐานะคู่ค้าและตลาดอาวุธที่สำคัญ ดังนั้น อินโดนีเซียจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และภาพลักษณ์ของประเทศ (reputation) ในห้วงที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง อินโดนีเซียรับมือกับแรงกดดันดังกล่าวด้วยการประกาศจุดยืนที่น่าสนใจ…
“น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย แหล่งต้นน้ำถูกทำลาย” การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีผลต่อวัฏจักรของน้ำทั่วโลกที่กำลังเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อทุกๆ ภาคส่วน เพราะน้ำถือเป็นต้นทุนของทุกๆ สิ่ง ทั้งการเกษตร อุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว องค์กรหุ้นส่วนน้ำโลก (Global Water Partnership) จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม (Integrated Water Resources Management – IWRM ) โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ น้ำจืดเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและมีความเปราะบาง การกระทำใด ๆ อาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำได้ การจัดการน้ำ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของผู้ใช้และผู้วางแผนและผู้กำหนดแนวนโยบายทุกระดับ สตรีมีบทบาทสำคัญในการจัดหา จัดการและดูแลรักษาน้ำ ต้องมีความเท่าเทียมในการบริหารจัดการน้ำ น้ำมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสำหรับภาคการใช้ต่างๆ และจำเป็นต้องถือว่าเป็นสินค้าเชิงเศรษฐกิจ ทั้ง 4 ข้อมีบทสรุปสั้น ๆ ได้ว่า “การบริหารจัดการน้ำจะต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งต้องมีเป้าหมายในการใช้ และดูแลรักษาทรัพยากรน้ำในทิศทางเดียวกัน” สำหรับในความเชื่อดั้งเดิมของการจัดการน้ำของไทย จะมองทรัพยากรน้ำว่าเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด เสมือนทรัพยากรที่ไร้ต้นทุน จึงมีการใช้อย่างฟุ่มเฟือย และเมื่อมีผู้ใช้มาก ก็จะส่งผลให้ผู้ใช้อื่นมีโอกาสใช้น้อยลงจนขาดแคลน ไม่ใช่แค่การใช้น้ำ แต่รวมถึงการทิ้งทุกอย่างลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสียมีสารเคมีเจือปน จนส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้และใช้น้ำเสียเหล่านั้น กลายเป็นความเหลื่อมล้ำจากวงจรการใช้น้ำ…
ตั้งแต่ต้นปี 2565 สถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้บรรยากาศของการลงทุนไม่คึกคักเท่าไหร่ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนยังคงระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้การท่องเที่ยวไม่ฟื้นตัว และผลกระทบของเศรษฐกิจจากช่วง COVID-19 ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นในหลายๆ ประเทศ จนไปถึงการเกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามของรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าสูงขึ้นส่งผลให้ค่าครองชีพสูงมากขึ้นตามไปด้วย สวนทางกับรายได้ที่คงที่หรือลดน้อยลง จนเข้าใกล้สู่ภาวะ stagflation (เศรษฐกิจตกต่ำ) สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งตัวลง หุ้นสหรัฐอเมริกาเริ่มดิ่งตัวลงมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วจากการประกาศเพิ่มดอกเบี้ยของ FED เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และจะทยอยปรับขึ้นตลอดทั้งปี ในส่วนของหุ้นจีนก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบธุรกิจในด้านต่างๆ และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่ากับช่วง 2-3 ปีก่อน ส่วนหุ้นยุโรปได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรฐกิจที่ส่อแววฝืดเคืองจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ ที่เคยทำกำไรได้สูงๆ ชะลอตัวลง ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 หุ้นไทยกลับมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้กว่า 100,301 ล้านบาท ทำได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทำให้เกิดโอกาสที่น่าสนใจจากนักลงทุนภายในประเทศด้วยเช่นกัน นักลงทุนภายในประเทศเริ่มกลับมาลงทุนภายในต่างประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ (18-39 ปี) มักจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศและสินทรัพย์ออนไลน์ อย่าง คริปโตเคอเรนซี หลังจากที่ต้นปีคริปโตร่วงลงกว่า50% ในช่วงต้นปี…