เมืองหลวง ซันติอาโก
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ เป็นแนวยาวทอดตัวระหว่างแนวเทือกเขาแอนดีสกับมหาสมุทรแปซิฟิกในแนวตั้ง พื้นที่ 756,102 ตร.กม. ขนาดใหญ่กว่าไทย 0.6 เท่า แบ่งเป็นพื้นดิน 743,812 ตร.กม. พื้นน้ำ 12,290 ตร.กม. เขตแดนของชิลียังรวมเกาะ Juan Fernández, Salas y Gómez และ Desventuradas ในมหาสมุทรแปซิกฟิก และเกาะ Easter Island ใน Oceania รวมถึงพื้นที่ประมาณ 1,250,000 ตร.กม. ในแอนตาร์กติกา ตามที่ระบุในสนธิสัญญา the Antarctic Treaty
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเปรู (168 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก (6,435 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับโบลิเวีย (942 กม.)
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ. ติดกับอาร์เจนตินา (6,691 กม.)
ทิศใต้ จรด Drake Passage (พื้นที่ระหว่างแหลม Horn กับหมู่เกาะ South Shetland Islands ในแอนตาร์กติกา
ภูมิประเทศ มีลักษณะเป็นแผ่นดินแคบ ๆ ทอดเป็นระยะทางยาว 4,329 กม. เลียบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยด้านกว้างของประเทศไม่มีส่วนใดมีพื้นที่กว้างเกิน 240 กม. ด้านตะวันออกมีเทือกเขาแอนดีสทอดยาวจากเหนือจรดใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแคบ ๆ ทางเหนือพื้นที่จะค่อย ๆ สูงขึ้นและแห้งแล้งมากขึ้น จนบรรจบทะเลทราย Atacama ซึ่งมีแร่ทองแดงและไนเตรต พื้นที่ภาคกลางเป็นหุบเขายาวที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำ Biobio ไหลผ่าน พื้นที่ตอนใต้เป็นป่าดึกดำบรรพ์ ทะเลสาบ ภูเขาไฟ ชายฝั่งทะเลมีเกาะขนาดเล็กจำนวนมาก
วันชาติ 18 ก.ย. (วันประกาศเอกราชจากสเปนเมื่อ 18 ก.ย.2353)
นายกาเบรียล โบริก
(ประธานาธิบดีชิลี)
ประชากร 18,549,457 (ปี 2566)
โครงสร้างประชากร คนยุโรปและคนเชื้อสายผสมระหว่างยุโรปกับคนอินเดียนพื้นเมือง 88.9% คนพื้นเมืองเชื้อสาย Mapuche 9.1% Aymara 0.7% คนอินเดียนพื้นเมืองอื่น ๆ 1% และไม่สามารถระบุได้ 0.3% อัตราส่วนของประชากรจำแนกตามอายุ : อายุ 0-14 ปี 19.34 % อายุระหว่าง 15-64 ปี 67.56% และอายุมากกว่า 64 ปี 13.09% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 80.02 ปี : เพศชาย 77.04 ปี เพศหญิง 83.13 ปี อัตราการเกิดเฉลี่ย 12.57 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตายเฉลี่ย 6.58 คนต่อประชากร 1,000 คน
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 67.4% โปรเตสแตนต์และ Evangelical 15.7% ไม่นับถือศาสนา 11.5% นิกาย Jehovah’s Witnesses 1% อื่น ๆ 3.4% ไม่สามารถระบุได้ 1.1 %
ภาษา ภาษาสเปน 99.5% (ภาษาราชการ) ภาษาอังกฤษ 10.2% ภาษา Mapudungun, Quechua, Aymara และ Rapa Nui (ภาษาท้องถิ่น) 1% อื่น ๆ 2.3% ไม่สามารถระบุได้ 0.2%
การศึกษา ประชากรตั้งแต่อายุ 15 ปีสามารถอ่านออกและเขียนได้ อัตราการรู้หนังสือ 97% ชาย 97.1% หญิง 97% การศึกษาแบ่งเป็น 4 ระดับคือ 1) ก่อนวัยเรียน 2) ประถมศึกษา 3) มัธยมศึกษา ซึ่งแบ่งเป็นด้านวิชาการและด้านเทคนิคและ 4) มหาวิทยาลัย การศึกษาภาคบังคับเริ่มตั้งแต่ระดับประถม–มัธยมรวม 16 ปี
การก่อตั้งประเทศ คำว่า ชิลี (Chile) น่าจะมาจากภาษาอินคา พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ นานกว่า 18,500 ปี แต่ชาวอินเดียนพื้นเมืองเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่ผ่านมา ในเขตหุบเขาและชายฝั่งทะเล ชนเผ่าอินคาขยายอิทธิพลเข้ามาทางตอนเหนือของชิลีในช่วงสั้น ๆ ก่อนที่ชาวสเปนจะเข้ามาเมื่อปี 2063 ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่มาถึงชิลีนำโดยนาย Ferdinand Magellan พบเส้นทางเดินเรือผ่านภาคใต้ของชิลีที่ the Strait of Magellan ต่อมานาย Diego de Almagro และคณะเดินทางมายังชิลีเพื่อค้นหาทองคำ แต่ชิลีกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสเปนช่วงศตวรรษที่ 16 เมื่อนาย Pedro de Valdivia พบพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือซันติอาโก เมื่อ 12 ก.พ.2084 และพบว่าชิลีมีศักยภาพด้านการเกษตรกรรม ชิลีได้รับ เอกราชจากสเปนเมื่อ 18 ก.ย.2353 ซึ่งถือเป็นวันชาติของชิลี เมื่อปี 2387 ตั้งสาธารณรัฐชิลี เมืองหลวงอยู่ที่ซันติอาโก
การเมือง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐ และหัวหน้ารัฐบาลวาระ 4 ปีและไม่เกิน 2 สมัย ปัจจุบันนายกาเบรียล โบริก ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (11 มี.ค.65) การเลือกตั้งประธานาธิบดีชิลีครั้งต่อไปกำหนดจัดในปี 2568
ประชาชนในชิลีลงมติเมื่อ 4 ก.ย.2565 คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการทำแท้ง การมีตัวแทนชนพื้นเมืองในการจ้างงาน และการเมือง รวมทั้งประกาศให้ชิลีเป็นรัฐพหุชนชาติที่ตระหนักสิทธิของชนพื้นเมืองด้านที่ดินและทรัพยากร การคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของชนพื้นเมืองโดยเฉพาะด้านการเมืองที่อาจทำให้ชิลีเกิดความแตกแยก
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีชิลีเป็นประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจแต่งตั้ง ครม.
ฝ่ายนิติบัญญัติ : 2 สภาคือ 1) วุฒิสภา มีสมาชิก 50 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของแต่ละเขตวาระ 8 ปี โดยจะมีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกจำนวนกึ่งหนึ่งทุก 4 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 155 คน มาจากการเลือกตั้งวาระ 4 ปี การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดจัดเมื่อ 21 พ.ย.2564
ฝ่ายตุลาการ : ศาลสูงสุด: ศาลฎีกา (ประกอบด้วยประธานศาลและสมาชิก 20 คน) ศาลรัฐธรรมนูญ (ประกอบด้วยสมาชิก 7 คน) ศาลเลือกตั้ง (ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน) การเลือกผู้พิพากษาและวาระการดำรงตำแหน่ง : ผู้พิพากษาศาลฎีกามาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีและความเห็นชอบของวุฒิสภาศาลอื่น ๆ : ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา ศาลทหาร ศาลตำรวจท้องที่ ศาลพิเศษและศาลในเรื่องต่าง ๆ เช่น ครอบครัว แรงงาน ศุลกากรภาษีและกิจการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Broad Front Coalition หรือ Frente Amplio (FA) นาย Gabriel Boric เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Christian Democratic Party (PDC) นาย Alberto Undurraga เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Communist Party of Chile (PC) นาง Barbara Figueroa เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Democratic Revolution (RD) นาย Juan Ignacio Latorre เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Equality Party (Igualdad) นาย Guillermo Gonzalez เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Humanist Party (PH) นาย Octavio Gonzalez เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Independent Democratic Union (UDI) นาย Javier Macaya เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Let’s Go Chile Coalition (Chile Vamos) นาย Sebastián Sichel เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Liberal Party (Partido Liberal de Chile) นาย Patricio Morales เป็นหัวหน้าพรรค พรรค National Renewal (RN) นาย Francisco Chahuán เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Party for Democracy (PPD) นาง Natalia Piergentili เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Political Evolution (EVOPOLI) นาง Gloria Hutt Hesse เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Progressive Party (PRO) นาย Marco Enriquez-Ominami เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Radical Social Democratic Party (PRSD) นาย Carlos Maldonado Curti เป็นหัวหน้าพรรค และพรรค Socialist Party (PS) นาง Paulina Vodanovic เป็นหัวหน้าพรรค
กลุ่มกดดันทางการเมือง : กลุ่ม Roman Catholic Church กลุ่มสหภาพแรงงานใหญ่ 5 กลุ่ม และนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
เศรษฐกิจ
ชิลีมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยมีการค้าระหว่างประเทศเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ มีนโยบายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เป็นมิตรกับนักลงทุน มีนโยบายด้านการค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง โปร่งใส คาดการณ์ได้ และเป็นกลาง ใช้ยุทธศาสตร์การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นนโยบายการค้าหลักเพื่อขยายการส่งออก ทำให้ชิลีดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก
ภาคการส่งออกมีมูลค่า 1 ใน 3 ของ GDP สินค้าส่งออกส่งออกหลัก คือ ทองแดง โดยชิลีเป็นผู้ผลิตทองแดงอันดับที่ 1 ของโลก รองลงมา ได้แก่ สินแร่และโลหะอื่นๆ ผลไม้ ปลาและอาหารทะเล และเยื่อไม้สำหรับใช้ทำกระดาษ ส่วนสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสื่อสาร
ชิลีลงนามข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ มากกว่า 60 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ EU Mercosur จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และเม็กซิโก เมื่อ ต.ค.2558 ลงนามความตกลงเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership-CPTPP) ชื่อเดิมคือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement-TPP
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เปโซชิลี (Chilean Peso/CLP)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ : 931.68 CLP
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 CLP : 0.040 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 344.134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -1%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 17,827 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 8.86 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 8.7%
อัตราเงินเฟ้อ : 5%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 2,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุลการค้า 7,001 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 97,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ทองแดง ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากปลา กระดาษและเยื่อกระดาษ เคมีภัณฑ์ และไวน์
คู่ค้าสำคัญ : จีน 39% สหรัฐฯ 13.9% ญี่ปุ่น 7.61% เกาหลีใต้ 6.2% และบราซิล 4.63%
มูลค่าการนำเข้า : 104,401 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : น้ำมันแปรรูปและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสื่อสาร เครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์ และก๊าซธรรมชาติ
คู่ค้าสำคัญ : จีน 25% สหรัฐฯ 20% บราซิล 9.73% อาร์เจนตินา 5.78% และเยอรมนี 2.66%
การทหาร กำลังพล 68,500 นาย ทบ. 37,650 นาย ทร. 19,800 นาย ทอ. 11,050 นาย กำลังพลสำรอง 19,100 นาย และกองกำลังกึ่งทหาร 44,700 นาย งบประมาณด้านการทหารของปี 2566 จำนวน 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 79,270 ล้านบาท ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถัง 419 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 644 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร 48 คัน เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง 12 ชุด บ.โจมตี/สกัดกั้น 57 เครื่อง บ.ลำเลียง 31 เครื่อง บ.ฝึก 60 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ 25 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ 5 เครื่อง เรือฟริเกต 8 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 57 ลำ
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ อาทิ APEC, BIS, CAN (associate), CD, CELAC, FAO, G-15, G-77, IADB, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (national committees), ICCt, ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC (NGOs), LAES, LAIA, Mercosur, MIGA, MINUSTAH, NAM, OAS, OECD (enhanced engagement), OPANAL, OPCW, Pacific Alliance, PCA, SICA (observer), UN, UNASUR, UNCTAD, UNESCO, UNFICYP, UNHCR, UNIDO, Union Latina, UNMOGIP, UNTSO, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO, WTO
การขนส่งและโทรคมนาคม ท่าอากาศยาน 481 แห่ง ใช้การได้ดี 90 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่ง ได้แก่ Arturo Merino Benitez International Airport, Carriel Sur International Airport, Chacalluta International Airport, Diego Aracena International Airport, Cerro Moreno International Airport, Mataveri International Airport หรือ Isla de Pascua Airport, El Tepual International Airport และ Presidente Carlos Ibáñez International Airport เส้นทางรถไฟ 6,782 กม. ถนน 85,983 กม. การโทรคมนาคม : โทรศัพท์พื้นฐาน 2.21 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 26.57 ล้านเลขหมาย รหัสโทรศัพท์+56 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ประมาณ 17.7 ล้านคน รหัสอินเทอร์เน็ต .cl
การเดินทาง ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ และหนังสือเดินทางธรรมดา ได้รับการยกเว้นการตรวจ ลงตราหนังสือเดินทาง (พำนักได้ไม่เกิน 90 วัน) ทั้งนี้ ชิลีตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อเหตุแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดและสึนามิ นักท่องเที่ยวไทยควรศึกษาวิธีการรับมือกับภัยพิบัติและคู่มือการอพยพ รวมถึงปฎิบัติตามคำแนะนำของทางการชิลี
ความสัมพันธ์ไทย–ชิลี
ไทยกับชิลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 29 ต.ค.2505 และได้เฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2555 มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงโดยประธานาธิบดี Sebastian PIÑERA (ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชิลีครั้งแรกระหว่างปี 2553-2557) เยือนไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ 4-5 ต.ค.2556 ซึ่งนับเป็นการเยือนไทยในรอบ 10 ปีของผู้นำชิลี และมีการลงนามจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทยกับชิลี (4 ต.ค.2556) ซึ่งเป็น FTA ที่ครอบคลุมฉบับแรกระหว่างไทยกับภูมิภาคลาตินอเมริกา ทั้งนี้ ไทยเปิด สอท. ณ ซันติอาโก เมื่อ เม.ย.2537 และชิลีเปิด สอท. ณ กรุงเทพฯ เมื่อ ก.ค.2524
เมื่อปี 2564 ชิลีเป็นคู่ค้าของไทยอันดับที่ 4 ของไทยในลาตินอเมริกา การค้าห้วง
ม.ค.-ก.ย.2564 มีมูลค่า26,043.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.95% ไทยส่งออก 13,979.96 ล้านบาท และนำเข้า 12,063.14 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,916.82 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ อาหารทะเลบรรจุกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินแร่ โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ผัก ผลไม้และผลไม้แปรรูป สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์
ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา ขนมหวานและช็อกโกแลต เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
ข้อตกลงไทย-ชิลีที่สำคัญ ได้แก่ ความตกลงทางการค้า (ปี 2524) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (ปี 2539) ความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศเกี่ยวกับพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปี 2531) ความตกลงเพื่อการยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ปี 2532) ความตกลงเขตการค้าเสรี (4 ต.ค.2556)
ไทยและชิลีจะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยเฉพาะด้านการค้าหลังจากที่ความตกลงการค้าเสรีไทย–ชิลี มีผลบังคับใช้ ไทยมองว่าชิลีเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ที่สำคัญของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาและผลักดันให้ชิลีใช้ไทยเป็นฐานสำหรับการขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและมีศักยภาพในการเป็น Gateway ของชิลีในอาเซียน