สาธารณรัฐจิบูตี
Republic of Djibouti
เมืองหลวง จิบูตี
ที่ตั้ง ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ติดอ่าวเอเดนและทะเลแดง บริเวณเส้นละติจูด 11.35
องศาเหนือ และเส้นลองจิจูด 43.09 องศาตะวันออก พื้นที่ 23,200 ตร.กม. มีชายแดนทางบกยาว 528 กม. และมีชายฝั่งยาว 314 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเอริเทรีย 125 กม.
ทิศใต้ และทิศตะวันตก ติดกับเอธิโอเปีย 342 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวเอเดน 314 กม. และโซมาเลีย 61 กม.
ภูมิประเทศ ที่ราบชายฝั่ง มีภูเขา Mousa Ali, Goda และ Arrei ล้อมรอบ จึงมีที่ราบสูงและเทือกเขาหลายแห่ง ตอนใต้ของประเทศมีทะเลทรายชื่อ Grand Bara
ภูมิอากาศ ร้อนแห้งแบบทะเลทราย
ศาสนา อิสลาม (ซุนนี) 94% อื่นๆ (อิสลาม (ชีอะห์) คริสต์ ฮินดู ยิว บาไฮ อเทวนิยม) 6%
ภาษา ฝรั่งเศสและอาหรับ เป็นภาษาราชการ รวมถึงมีการใช้ภาษาโซมาลี และอาฟาร์
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 67.9% เพศชาย 78% เพศหญิง 58.4%
วันชาติ 27 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2520
นาย Ismaïl Omar Guelleh
ประธานาธิบดี (สังกัดพรรค People’s Rally for Progress-RPP)
ประชากร 1,141,681 คน (ต.ค.2566)
รายละเอียดประชากร เป็นชาวโซมาลี 60% อาฟาร์ (Afar) 35% อื่น ๆ (อาหรับ เยเมน ฝรั่งเศส เอธิโอเปีย และอิตาลี) 5% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 28.65% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 67.21% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.15% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 65 ปี เพศชายประมาณ 63 ปี เพศหญิงประมาณ 68 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 24.9 ปี เพศชายประมาณ 23 ปี เพศหญิงประมาณ 26.4 ปี อัตราการเกิด 22.03 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 7.08 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.93%
การก่อตั้งประเทศ จิบูตีเคยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส และได้รับเอกราชเมื่อ 27 มิ.ย. 2520 โดยนาย Hassan Gouled Aptidon ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของจิบูตี ภายใต้ระบบพรรคการเมืองเดียวจนถึงปี 2542 เกิดสงครามกลางเมืองจากความขัดแย้งของชนเผ่า Issa และ Afar จนกระทั่ง ธ.ค.2537 จึงลงนามความตกลงสันติภาพและมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยนาย Ismaïl Omar Guelleh ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 4 สมัย (ปี 2542-ปัจจุบัน)
การเมือง ปกครองแบบสาธารณรัฐกึ่งประธานาธิบดี
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีเป็นประมุข มาจากการเลือกตั้ง วาระ 5 ปี และไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องอายุไม่เกิน 75 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 9 เม.ย.2564 นาย Ismaïl Omar Guelleh ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 97.3% เหนือนาย Zakaria Ismaïl Farah คู่แข่งที่ได้ 2% โดยเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 5 อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ 8 พ.ค.2542 ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้ง นรม. ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2569
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสภาเดียว คือ สภาแห่งชาติ (National Assembly) อดีตคือ Chamber of Deputies หรือ Chambre des Députés มีสมาชิก 65 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงในระบบเขตหนึ่งหลายที่นั่ง (หรือ Plurality-at-large voting โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว) 52 คน และระบบสัดส่วน 13 คน วาระ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 23 ก.พ.2561 (ครั้งต่อไปกำหนดจัดใน ก.พ.2566)
ฝ่ายตุลาการ : ศาลฎีกา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ศาลลำดับรอง ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น ศาลจารีตประเพณี และศาลมลรัฐ (State Court)
พรรคการเมืองสำคัญ : 1) พรรค People’s Rally for Progress (RPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และประธานาธิบดี Ismaïl Omar Guelleh เป็นหัวหน้าพรรค และร่วมอยู่ใน Union for the Presidential Majority ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรคในรัฐบาลผสม 2) พรรค Djibouti Development Party (PDD) และ 3) พรรค Centre for United Democrats (CDU)
เศรษฐกิจ จิบูตีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแอฟริกา เชื่อมระหว่างอ่าวเอเดนกับทะเลแดง เป็นเส้นทางการเดินเรือและเป็นจุดผ่านในการขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากอ่าวอาหรับ (อ่าวเปอร์เซีย) ไปยังคลองสุเอซและแหลม Good Hope ของแอฟริกาใต้ ท่าเรือของจิบูตีจึงเป็นศูนย์กลางขนถ่ายและกระจายสินค้าเข้าสู่ภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออก โดยเฉพาะเอธิโอเปีย
จิบูตีให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบท่าเรือเป็นอย่างมาก โดยทำความตกลงร่วมกับบริษัทของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และจีน ทำโครงการพัฒนาท่าเรือใหม่ที่เมืองโดราเลห์ (Doraleh) ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือเก่าประมาณ 10 กม. โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ท่าเรือโดราเลห์เป็นศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมแบบปลอดภาษี รวมถึงจุดขนถ่ายสินค้าและน้ำมันที่สำคัญของจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) และต้องการยกระดับขีดความสามารถของเมืองท่าให้ทัดเทียมกับท่าเรือมอมบาซา (Mombasa) ของเคนยา
การที่จิบูตีมีพื้นที่น้อยและแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตการเกษตรมีน้อย จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอาหารส่วนใหญ่ เศรษฐกิจและรายได้หลักมาจากภาคบริการเกี่ยวกับการขนส่ง และระบบท่าเรือที่ทันสมัย โดยเศรษฐกิจจิบูตีเริ่มฟื้นตัวเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 3.9% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ที่ 1.2% จากการกระตุ้นภาคบริการ ซึ่งเป็นส่วนทำให้เศรษฐกิจเติบโตประมาณ 3 ใน 4 ของ GDP โดยเฉพาะกิจการที่ท่าเรือ ทั้งนี้ จิบูตีอยู่ระหว่างพัฒนาสาธารณูปโภคทางการสื่อสาร อาทิ โครงข่ายอินเทอร์เน็ต และการพัฒนาสถาปัตยกรรมโทรคมนาคมภายใต้ระบบ 5G ภายหลังจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 เศรษฐกิจจิบูตีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 3.7% ของ GDP เนื่องจากผลกระทบภายหลังปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และปัญหาเงินเฟ้อในราคาอาหาร
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ฟรังก์จิบูตี (Djibouti Franc) หรือ DJF
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 177.9 ฟรังก์จิบูตี (พ.ย.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 4.91 ฟรังก์จิบูตี (พ.ย.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2565)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 3,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.7%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,136.1 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 244,880 คน
อัตราการว่างงาน : 27.9%
อัตราเงินเฟ้อ : 5.2%
ผลผลิตทางการเกษตร : ผัก มะนาว ถั่ว มะเขือเทศ นม นมอูฐ วัว แพะ แกะ
ผลผลิตอุตสาหกรรม : อุตสาหกรรมการก่อสร้าง แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การขนส่ง
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 285.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : แกะ แพะ น้ำมันปาล์ม กาแฟ ถั่วเมล็ดแห้ง คลอไรด์
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : เอธิโอเปีย จีน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
มูลค่าการนำเข้า : 4,327 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทรายดิบ (raw sugar) เหล็กเคลือบ และแร่ธาตุผสมหรือปุ๋ยเคมี
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และอินโดนีเซีย
ทรัพยากรธรรมชาติ : มีการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ ทองคำ ดินเหนียว หินแกรนิต หินปูน หินอ่อน เกลือ หินแร่ภูเขาไฟ ยิปซัม และปิโตรเลียม
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : งบประมาณด้านการทหาร 26.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 4.4% ของ GDP (ปี 2559) กำลังพลรวม ได้แก่ ทหาร 10,450 นาย ทบ. 8,000 นาย ทร. 200 นาย (รวมกองกำลังชายฝั่ง) ทอ. 250 นาย ตร. (Gendarmerie) 2,000 นาย และ กองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติ 2,650 นาย โดยกองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติประกอบด้วย ตำรวจ (National Police Force) 2,500 นาย กับหน่วยรักษาการณ์ชายฝั่ง 150 นาย
นอกจากนี้ จิบูตีส่งกองกำลังร่วมในภารกิจสหภาพแอฟริกันในโซมาเลีย (AMISOM) จำนวน 1,800 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ :
ทบ. ได้แก่ รถหุ้มเกราะโจมตีรถถัง (ASLT) รุ่น PTL-02 Assaulter อย่างน้อย 3 คัน รถหุ้มเกราะลาดตระเวน (RECCE) รุ่น AML-60 จำนวน 4 คัน รุ่น AML-90 จำนวน 17 คัน รุ่น BRDM-2 จำนวน 2 คัน รุ่น VBL จำนวน 15 คัน รถรบทหารราบ (IFV) รุ่น BTR-80A จำนวน 8 คัน รุ่น Ratel 20 จำนวน 16 คัน รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) รุ่นต่าง ๆ จำนวน 43 คัน ยานยนต์อเนกประสงค์หุ้มเกราะ (AUV) รุ่น Cougar 4×4 จำนวน 10 คัน รุ่น CS/VN3B จำนวน 2 คัน รุ่น PKSV จำนวน 10 คัน ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง (RCL) ต่อสู้รถถัง รุ่น M40A1 จำนวน 16 กระบอก ปืนใหญ่รุ่นต่าง ๆ จำนวน 76 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน อย่างน้อย 15 กระบอก
ทร. ได้แก่ เรือเร็วตรวจการณ์ (PBF) รุ่น Battalion-17 จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ (PB) รุ่นต่าง ๆ จำนวน 10 ลำ เรือยกพลขนาดใหญ่ (LCT) รุ่น EDIC 700 จำนวน 1 ลำ
ทอ. ได้แก่ บ.ลำเลียงเบา รุ่น Cessna U206G stationair จำนวน 1 เครื่อง รุ่น Cessna U208 Caravan จำนวน 1 เครื่อง รุ่น Y-12E จำนวน 2 เครื่อง รุ่น L-410UVP Turbolet จำนวน 1 เครื่อง รุ่น MA60 จำนวน 1 เครื่อง ฮ.โจมตี รุ่น Mi-35 Hind จำนวน 2 เครื่อง ฮ.อเนกประสงค์ (MRH) รุ่น Mi-17 Hip จำนวน 1 เครื่อง รุ่น AS365F Dauphin จำนวน 4 เครื่อง รุ่น Z-9WE จำนวน 1 เครื่อง ฮ.ลำเลียง (TPT) ขนาดกลางและขนาดเบา จำนวน 3 เครื่อง
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) การหลั่งไหลของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยจิบูตีมีภูมิรัฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ทำให้จิบูตีกลายเป็นประเทศทางผ่านของผู้อพยพไปยังภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งยังต้องรองรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 30,000 คน (คิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 30 ของจำนวนประชากรจิบูตี) ส่วนใหญ่มาจากโซมาเลียและเอธิโอเปีย บางส่วนมาจากเอริเทรียและเยเมน ขณะเดียวกันมีผู้อพยพย้ายถิ่นที่เข้ามาอาศัยในจิบูตีอีกกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่มาจากเอธิโอเปีย
2) ปัญหาความยากจน ประชากรของจิบูตีประมาณ 16% เมื่อปี 2565 อยู่ในภาวะยากจน เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท
3) จิบูตีอาจติดกับดักหนี้ของจีน เนื่องจากเผชิญผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ภาวะเงินเฟ้อ และความแห้งแล้งภายในประเทศ ซึ่งทำให้จิบูตีต้องชะลอการชำระหนี้กับจีน
ซึ่งจิบูตีมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วนถึง 43% ของ GDP ในปี 2565
4) การรักษาดุลความสัมพันธ์ของประเทศต่าง ๆ ที่สร้างฐานทัพในจิบูตี เช่น สหรัฐฯ จีน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ยูกันดา สเปน และซาอุดีอาระเบีย รวมถึงประเทศที่พยายามจะสร้างฐานทัพในจิบูตี เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้สำคัญทางหนึ่งของจิบูตี
ความสัมพันธ์ไทย-จิบูตี
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยกับจิบูตีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 1 เม.ย.2529 โดยไทยมอบหมายให้ สอท. ณ กรุงไคโร อียิปต์ มีเขตอาณาครอบคลุมจิบูตี ขณะที่จิบูตีมอบหมายให้ สอท.จิบูตี ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตจิบูตีประจำประเทศไทยคนปัจจุบันชื่อ นายอาห์เมด อาเรตา อาลี (Ahmed Araita Ali) โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงโตเกียว และได้แต่งตั้งให้นายฮงฑ์ทัย แซ่ตัน เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐจิบูตีประจำประเทศไทย
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
การค้าระหว่างไทย-จิบูตีเมื่อปี 2565 มีมูลค่า 37.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกให้จิบูตี 37.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากจิบูตี 0.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าจิบูตี 37.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2566 การค้าไทย-จิบูตี มีมูลค่า 27.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออก 27.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าที่ไทยส่งออกไปจิบูตี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เซรามิก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป แก้วและกระจก ข้าว ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง
สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งพิมพ์
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเพื่อให้จิบูตีเป็นศูนย์กลางการค้า การขนส่ง และด้านดิจิทัลของภูมิภาค