สาธารณรัฐเยเมน
Republic of Yemen
เมืองหลวง ซานา
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างเส้นละติจูดที่ 12-19 องศาเหนือ และระหว่างเส้นลองจิจูดที่ 42-55 องศาตะวันออก ตั้งอยู่ปลายสุดของคาบสมุทรอาระเบีย ติดอ่าวเอเดน ทะเลอาระเบีย/ทะเลอาหรับ ช่องแคบ Bab al-Mandab และทะเลแดง ซึ่งเชื่อมคลองสุเอซ ออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีพื้นที่ 527,970 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 51 ของโลก
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับซาอุดีอาระเบีย (1,307 กม.)
ทิศใต้ ติดทะเลอาระเบีย/ทะเลอาหรับ อ่าวเอเดน โดยมีชายฝั่งยาวประมาณ 1,470 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับโอมาน (294 กม.)
ทิศตะวันตก ติดทะเลแดง โดยมีชายฝั่งยาวประมาณ 730 กม.
ภูมิประเทศ ภาคใต้และภาคตะวันตกเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งติดทะเลแดง ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง เป็นที่ราบสูงสลับหุบเขา และที่ราบทะเลทราย Rub al Khali มีพื้นที่เพาะปลูก 2.2% จุดสูงสุดของประเทศ คือ ภูเขา Jabal an Nabi Shu’ayb ซึ่งสูง 3,760 ม. นอกจากนี้ ยังมีเกาะที่เกิดจากการปะทุ
ของภูเขาไฟใต้ทะเลที่สำคัญ ได้แก่ เกาะ Perim หรือ Mayyun มีขนาดพื้นที่ประมาณ 13 ตร.กม. ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลแดง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยเมน บริเวณช่องแคบ Bab al-Mandab ซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลแดงกับอ่าวเอเดน และหมู่เกาะ Socotra หรือ Soqotra ขนาดพื้นที่ประมาณ 3,665 ตร.กม. ตั้งห่างจากชายฝั่งทางใต้ของเยเมนประมาณ 350 กม. บริเวณทะเลอาระเบีย/ทะเลอาหรับ ใกล้ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก
วันชาติ 22 พ.ค. (วันรวมชาติ เมื่อ 22 พ.ค.2533)
นายอับดุลร็อบบุห์ มันศูร ฮาดี
Abd Rabuh Mansur Hadi
(ประธานาธิบดีเยเมน)
ประชากร 30,399,243 คน (ประมาณการ ก.ค.2564)
รายละเอียดประชากร ส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ ที่เหลือเป็นชาวอาหรับเชื้อสายแอฟริกัน ชาวเอเชียใต้ และยุโรป อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ ได้แก่ วัยเด็ก (0-14 ปี) 39.16% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 58.04% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 2.8% (ประมาณการ ก.ค.2561) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 67.18 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 64.89 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 69.59 ปี อัตราการเกิด 25.21 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 5.69 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.93% (ประมาณการปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ ในอดีตเยเมนถูกแบ่งแยกออกเป็นเยเมนเหนือกับเยเมนใต้ เป็นเวลานานกว่า 200 ปี โดยเยเมนเหนือ อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (จักรวรรดิสุดท้ายของโลกมุสลิม) มาตั้งแต่ปี 2392 หลังจากจักรวรรดิออตโตมันล่มสลายและสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง เยเมนเหนือจึงได้รับเอกราชเมื่อ พ.ย.2461 และกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองระบอบกษัตริย์โดยมีอิหม่ามยะห์ยา ฮะมี ดิดดีน (Yahya Muhammad Hamid ed-Din) เป็นประมุข จนกระทั่งถึงปี 2505 ในรัชสมัยของอิหม่ามมุฮัมมัด อัลบะดัร (Muhammad Al-Badr) พระราชโอรสของอิหม่ามยะห์ยา เกิดการรัฐประหารโค่นล้มอิหม่ามมุฮัมมัด โดยมีพันเอกอับดุลลอฮ์ อัซซะลาล (Abdullah al-Salal) หัวหน้าทหารราชองครักษ์ เป็นแกนนำ จากนั้นจึงมีการประกาศให้เยเมนเหนือปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐ การก่อรัฐประหารดังกล่าวนำไปสู่สงครามกลางเมืองในเยเมนเหนือระหว่างกลุ่มการเมืองที่เป็นฐานอำนาจเก่าของอิหม่ามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย กับรัฐบาลใหม่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอียิปต์ จนกระทั่งมีการเจรจาข้อตกลงสันติภาพระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอียิปต์ ซึ่งต่างเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคที่เข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ในเยเมนเหนือ สงครามยุติลงในปี 2513 โดยมีข้อตกลงสำคัญ
คือ การคงระบอบการปกครองเยเมนเหนือด้วยระบอบสาธารณรัฐ และการเปิดทางให้กลุ่มการเมืองที่เป็นฐานอำนาจเก่าของอิหม่าม สามารถกลับมาแข่งขันตามกลไกการเมืองปกติ
เยเมนใต้ เดิมอยู่ภายใต้การปกครองโดยสุลต่านแห่งราชวงศ์ Abdali ก่อนตกเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษตั้งแต่ปี 2382 ต่อมาเกิดกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (National Liberation Front-NLF) ในเยเมนใต้เมื่อปี 2503 เคลื่อนไหวต่อต้านการยึดครองของอังกฤษ จนกระทั่งเยเมนใต้ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 30 พ.ย.2510 เยเมนใต้ซึ่งขณะนั้นได้รับอิทธิพลจากสหภาพโซเวียต จึงนำแนวคิดมาร์กซิสม์และระบอบสังคมนิยมมาใช้ปกครองประเทศ โดยสถาปนาเยเมนใต้เป็นสาธารณรัฐประชาชนเยเมน และเปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเยเมนเมื่อปี 2513 ทั้งนี้ ความแตกต่างทางการเมือง การปกครอง และภาวะสงครามเย็น เป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเยเมนเหนือกับเยเมนใต้ และนำไปสู่การสู้รบระหว่างสองประเทศอยู่เป็นระยะมาตั้งแต่ปี 2515 จนกระทั่งเมื่อปี 2533 รัฐบาลเยเมนใต้อยู่ในภาวะอ่อนแอ ประธานาธิบดีอะลี อับดุลลอฮ์ ศอลิห์ ของเยเมนเหนือ ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2521 ใช้โอกาสดังกล่าวดำเนินนโยบายสร้างความปรองดองกับเยเมนใต้ จนนำไปสู่การผนวกดินแดนเป็นสาธารณรัฐเยเมน เมื่อ 22 พ.ค.2533 โดยมีประธานาธิบดีศอลิห์เป็นผู้นำประเทศคนแรก
การเมือง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และ นรม.เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายอับดุลร็อบบุห์ มันศูร ฮาดี (อายุ 77 ปี/ปี 2565) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 27 ก.พ.2555 ส่วน นรม.คนปัจจุบัน คือ นายมะอีน อับดุลมาลิก ซะอีด (อายุ 46 ปี/ปี 2565) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 15 ต.ค.2561
หลังจากเกิดการลุกฮือของมวลชนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีศอลิห์เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลุกฮือของมวลชนในโลกอาหรับ หรือ Arab Spring กลุ่มกบฏชาวชีอะฮ์ (แนวทางซัยดียะฮ์) เผ่าฮูษี
ในภาคเหนือของเยเมน มีนายอับดุล มาลิก อัลฮูษี เป็นผู้นำ ไม่พอใจการดำเนินกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของรัฐบาลเยเมนภายใต้การบริหารของประธานาธิดีฮาดี จึงส่งกองกำลังติดอาวุธบุกยึดกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน เมื่อ ก.ย.2557 และขยายการบุกยึดเมืองสำคัญในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก จนถึงภาคใต้ของเยเมน ก่อนประกาศยึดอำนาจประธานาธิบดีฮาดีเมื่อ ก.พ.2558 ส่งผลให้ประธานาธิบดีฮาดีและคณะรัฐมนตรีเยเมน ต้องลี้ภัยไปจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่เมืองเอเดนในภาคใต้ ซึ่งต่อมา ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงชั่วคราว และเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลเยเมนในการสู้รบกับกลุ่มกบฏเผ่าฮูษี ทั้งนี้ ประธานาธิบดีฮาดีร้องขอให้ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรอาหรับ (Arab Coalition) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือรัฐบาลเยเมน สนับสนุนปฏิบัติการทางอากาศโจมตีกลุ่มกบฏเผ่าฮูษีและส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ในเยเมน ตั้งแต่ มี.ค.2558 อย่างไรก็ดี ประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่ยังให้การรับรองรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดีว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของเยเมน ขณะที่รัฐบาลชั่วคราวที่กลุ่มกบฏเผ่าฮูษีประกาศจัดตั้งขึ้นบริหารประเทศเมื่อ ต.ค.2559 ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 7 ปี มีสิทธิดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 2 สมัย ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งรองประธานาธิบดี นรม. และ ครม. การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด เมื่อ 21 ก.พ.2555 โดยเป็นการเลือกตั้งเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองที่มีสาเหตุมาจากการลุกฮือของมวลชนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีอะลี อับดุลลอฮ์ ศอลิห์ เมื่อปี 2554
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ใช้ระบบ 2 สภา ประกอบด้วย 1) สภาที่ปรึกษา (Shura Council หรือ Majlis al Shura) หรือวุฒิสภา มีสมาชิก 111 คน มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (Nuwwab Council หรือ Majlis al Nuwaab) มีสมาชิก 301 คน มาจากการเลือกตั้ง วาระ 6 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 27 เม.ย.2546 ทั้งนี้ วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในเยเมนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและยืดเยื้อเป็นเหตุให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดจัดขึ้นใน เม.ย.2552 ถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น นอกจากนี้ ยังมีศาลที่พิจารณาคดีเป็นการเฉพาะ เช่น ศาลครอบครัว ศาลทหาร สภาตุลาการสูงสุด ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประธาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการระดับสูง 10 คน เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้พิพากษา (หากปฏิบัติหน้าที่เป็นที่น่าพอใจจะได้อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการที่ 63 ปี)
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ 1) พรรค General People’s Congress (GPC) มีอดีตประธานาธิบดีศอลิห์เป็นผู้ก่อตั้งพรรคและเป็นแกนนำคนสำคัญซึ่งเสียชีวิตหลังจากถูกกลุ่มกบฎฮูษีโจมตีเมื่อ 4 ธ.ค.2560 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดจำนวน 301 คน เมื่อ เม.ย.2546 มีผู้แทนพรรค GPC ได้รับเลือกตั้งจำนวน 238 คน อย่างไรก็ดี หลังจากอดีตประธานาธิบดีศอลิห์เสียชีวิต พรรค GPC แตกแยกและแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีฮาดี ฝ่ายสนับสนุนนาย Sadeq Ameen Abu Rass ซึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏเผ่าฮูษี และฝ่ายสนับสนุนพันเอก (พิเศษ) Ahmed Ali Abdullah Saleh al-Ahmar 2) พรรค Yemeni Congregation for Reform หรือ Islah มีนาย Muhammad Al-Yadom เป็นประธานพรรค มีผู้แทนพรรคได้รับเลือกตั้งครั้งล่าสุดจำนวน 46 คน มากเป็นอันดับ 2 รองจากพรรค GPC และ 3) พรรค Yemeni Socialist Party มีนาย Abdulraham Al-Saqqaf เป็นเลขาธิการพรรค และฐานเสียงอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ของเยเมน
เศรษฐกิจ สงครามและความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเยเมนมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทั้งเยเมนเหนือและเยเมนใต้ค้นพบแหล่งน้ำมันดิบ
ในประเทศมาตั้งแต่ปี 2523 และหลังการรวมประเทศเป็นสาธารณรัฐเยเมนเมื่อปี 2533 รัฐบาลเยเมนพยายามปฏิรูปและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมุ่งใช้ทรัพยากรน้ำมันเป็นพื้นฐาน และพัฒนาเมืองเอเดน ซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลอาระเบียทางภาคใต้ของประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม แต่เกิดสงครามกลางเมืองอีกในปี 2537 จนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเยเมนอย่างมาก จนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากประเทศในตะวันออกกลางและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย คูเวต กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก มาโดยตลอด ทั้งนี้ สหประชาชาติ (UN) จัดให้เยเมนอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDC) และเป็นประเทศที่ประสบปัญหาความยากจนมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ
ภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพมากที่สุดของเยเมน คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยรัฐบาลเยเมนเปิดโอกาสให้บริษัทพลังงานต่างชาติ เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรีย จีน และเกาหลีใต้ เข้าร่วมลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศ ทั้งนี้ เยเมนมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและและก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขณะเดียวกัน เยเมนยังต้องพึ่งพารายได้จากภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศประมาณ 20% ของ GDP รองจากน้ำมัน และมีชาวเยเมนกว่า 50% ทำงานในภาคเกษตร ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มีรายได้ประมาณ 10% ของ GDP และมีชาวเยเมนประมาณ 10% ทำงานในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของเยเมนซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในเยเมนหลายครั้ง โดยสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลเยเมนกับกลุ่มกบฏเผ่าฮูษียืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งการสู้รบในพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ เป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ระบบท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้รับความเสียหาย จนต้องระงับการผลิตเกือบทั้งหมด
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ น้ำมันดิบ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาร์เรล (มากเป็นอันดับ 29 ของโลก) กำลังการผลิตเฉลี่ยวันละ 40,000-68,000 บาร์เรล (ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ประมาณวันละ 127,000 บาร์เรล และเมื่อปี 2544 ซึ่งเคยผลิตได้มากที่สุดวันละ 441,000 บาร์เรล) และส่งออกประมาณวันละ 8,990 บาร์เรล (ข้อมูลเมื่อปี 2561) ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้ว 478.5 ล้านล้าน ลบ.ม. (มากเป็นอันดับ 31 ของโลก) กำลังการผลิตประมาณวันละ 600 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูลเมื่อปี 2560)
ผลผลิตทางเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ กาแฟ ฝ้าย ผลไม้ และปศุสัตว์ ส่วนอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ การแปรรูปอาหาร การกลั่นน้ำมัน การผลิตวัสดุก่อสร้าง การผลิตกระดาษ และสิ่งทอ นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญได้แก่ สังกะสี เงิน และตะกั่ว ทองคำ ซัลเฟอร์ เกลือ และยิปซั่ม แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรม
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รียาลเยเมน (Rials/Riyal-YER)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : ประมาณ 250.29 รียาล : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : ประมาณ 0.13 บาท : 1 รียาล (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 19,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2564 ของ IMF)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ : ติดลบ 2%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ติดลบ 1,705 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,830 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 40.7%
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและทองคำ: 245.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2560 ของธนาคารโลก)
แรงงาน : 6.956 ล้านคน (ประมาณการปี 2563 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ)
อัตราการว่างงาน : 13.42%
ดุลการค้าต่างประเทศ : ขาดดุล 6,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2563 ขององค์การการค้าโลก)
มูลค่าการส่งออก : 1,204 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : น้ำมันดิบ กาแฟ ปลาแห้ง ก๊าซธรรมชาติ
ประเทศส่งออกสินค้าสำคัญ : อียิปต์ ตุรกี โอมาน ซูดาน เอทิเรีย
มูลค่าการนำเข้า : 7,399 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : อาหาร สัตว์มีชีวิต เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์
ประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี โอมาน
สินค้านำเข้าสำคัญ : อาหาร สัตว์มีชีวิต เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์
ประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี โอมาน
การทหาร ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีฮาดี เมื่อ ก.พ.2555 มีการปรับโครงสร้างและปฏิรูปกองทัพและกองกำลังรักษาความมั่นคงในเยเมนทั้งหมด โดยมีเป้าหมายจำกัดบทบาทของกองทัพและกองกำลังรักษาความมั่นคง เฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่กองทัพและกองกำลังรักษาความมั่นคงที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีศอลิห์ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังปราบปรามมวลชนที่ลุกฮือขับไล่อดีตประธานาธิบดีศอลิห์เมื่อปี 2554 จึงทำให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดของอดีตประธานาธิบดีศอลิห์ ถูกปลดออกตำแหน่งในกองทัพและกองกำลังรักษาความมั่นคงเกือบทั้งหมด
กองทัพเยเมนหลังการปรับโครงสร้างยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหม
มีประธานาธิดีฮาดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง โครงสร้างกองทัพใหม่ ประกอบด้วย ทบ. มีกำลังพลประมาณ 60,000 นาย ทร. และกองกำลังป้องกันชายฝั่ง (รวมถึงนาวิกโยธิน) มีกำลังพลประมาณ 1,700 นาย ทอ. และกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ มีกำลังพลประมาณ 1,700 นาย กองกำลังป้องกันชายแดน (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนกำลังพล) นอกจากนี้ กองกำลัง Yemeni Republican Guard หรือกองกำลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพันเอก (พิเศษ) Ahmed Ali Abdullah Saleh al-Ahmar บุตรชายคนโตของอดีตประธานาธิบดีศอลิห์ และมีกำลังพลประมาณ 30,000-50,000 นาย ถูกปรับโครงสร้างและจัดตั้งเป็นกองกำลัง Presidential Protective Forces หรือ Presidential Defence Forces อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และขึ้นตรงกับประธานาธิบดีฮาดีเพียงคนเดียว อย่างไรก็ดี การที่กลุ่มกบฏเผ่าฮูษี
บุกยึดกรุงซานา เมืองหลวง เมื่อ ก.ย.2557 และขยายการบุกยึดเมืองสำคัญในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก จนถึงภาคใต้ ก่อนประกาศยึดอำนาจประธานาธิบดีฮาดี เมื่อ ก.พ.2558 ทำให้การบังคับบัญชากองทัพเยเมนอยู่ในภาวะสุญญากาศและไร้เสถียรภาพ จนนำไปสู่การแบ่งฝ่ายเป็นกองกำลังและกลุ่มติดอาวุธที่สำคัญ ได้แก่
กองกำลังติดอาวุธที่ภักดีต่อรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดี ประกอบด้วย กองกำลังบางส่วนของกองทัพเยเมน และกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นในจังหวัดทางภาคใต้และภาคตะวันออกของเยเมน มีสมาชิกรวมประมาณ 40,000 คน มีอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน ได้แก่ รถถังรุ่น M-60A1 รุ่น T-34 รุ่น T-54/55 รุ่น T-62 และรุ่น T-72 ยานยนต์ลาดตระเวนหุ้มเกราะรุ่น BRDM-2 รถหุ้มเกราะทหารราบสายพานรุ่น BMP-2 ยานยนต์หุ้มเกราะล้อยางรุ่น BTR-80A รุ่น Ratel-20 รุ่น BTR-60 รุ่น Streit Cougar และรุ่น Streit Spartan อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถังรุ่น 9K11 Malyutka รุ่น M47 Dragon และรุ่น TOW ปืนใหญ่ต่อต้านรถถัง รุ่น SU-100 ปืนใหญ่อัตตาจรรุ่น 2S1 Gvozdika เครื่องบินปฏิบัติภารกิจรวบรวมข่าวกรอง ตรวจการณ์ และลาดตระเวนรุ่น AT-802 Air Tractor ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานรุ่น ZPU-4 และรุ่น ZU-23-2 นอกจากนี้ พันธมิตรอาหรับ ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นแกนนำ ส่งกองกำลังและยุทโธปกรณ์เข้าไปในเยเมน เพื่อช่วยรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดีปราบปราบกลุ่มกบฏเผ่าฮูษีตั้งแต่ปี 2558 ประกอบด้วย ทหารซาอุดีอาระเบีย จำนวน 2,500 นาย และทหารซูดาน จำนวน 950 นาย
กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มกบฏชาวชีอะฮ์เผ่าฮูษี (Houthi) มีฐานที่มั่นส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือของเยเมน ชำนาญการสู้รบแบบกองโจรและการซุ่มโจมตี มีสมาชิกประมาณ 20,000 คน ได้อาวุธยุทโธปกรณ์จากการบุกยึดฐานทัพหลายแห่งของรัฐบาลเยเมนระหว่าง ก.ย.2557-ก.พ.2558 แต่ไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับจำนวน ได้แก่ รถถังรุ่น T-55 และรุ่น T-72 รถหุ้มเกราะทหารราบสายพานรุ่น BMP-2 ยานยนต์หุ้มเกราะล้อยางรุ่น BTR-80A รุ่น BTR-40 และรุ่น BTR-60 ยานยนต์หุ้มเกราะป้องกันการซุ่มโจมตีรุ่น M-ATV อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถังรุ่น M47 Dragon รุ่น 9K111-1 Konkurs และรุ่น 9K115 Metis ขีปนาวุธทางยุทธวิธีแบบพื้นสู่พื้นรุ่น 9K79 Tochka รุ่น Scud-B/Hwasong-5 รุ่น Borkan-1 และรุ่น Qaher-1 ขีปนาวุธต่อต้านเรือรุ่น C-801/C802 ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานรุ่น M167 Vulcan และรุ่น ZU-23-2
นอกจากนี้ กลุ่มกบฏเผ่าฮูษีอ้างว่าสามารถผลิตและพัฒนาขีปนาวุธ รวมถึงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ขึ้นเองหลายรุ่น เพื่อใช้ในการสู้รบ เช่น จรวดร่อน รุ่น Quds-1 (พิสัยทำการมากกว่า 150 กม.) ขีปนาวุธนำวิถีรุ่น Badir-1 รุ่น Badir-1P และรุ่น Badir-F (พิสัยทำการสูงสุด 160 กม.) UAV รุ่น Qasef-1 (บินได้ไกล 150 กม. และบรรทุกระเบิด/ขีปนาวุธได้หนัก 30-45 กก.) รุ่น Qasef-2K รุ่น Sammad-1 และรุ่น Sammad-3 ทั้งนี้ การที่อดีตประธานาธิบดีศอลิห์หันมาเป็นพันธมิตรกับกลุ่มกบฏเผ่าฮูษี ทำให้กองกำลังติดอาวุธที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีศอลิห์ (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนสมาชิกและอาวุธ) เข้าร่วมกับกลุ่มกบฏเผ่าฮูษี เพื่อสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธที่ภักดีต่อรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดี แต่ภายหลังอดีตประธานาธิบดีศอลิห์แปรพักตร์ จึงถูกกลุ่มกบฏเผ่าฮูษีโจมตีจนเสียชีวิตเมื่อ ธ.ค.2560 ทำให้สมาชิกกองกำลังติดอาวุธที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีศอลิห์ แตกแยกและแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีฮาดี ฝ่ายสนับสนุนกลุ่มกบฏเผ่าฮูษี และฝ่ายสนับสนุนพันเอก (พิเศษ) Ahmed Ali Abdullah Saleh al-Ahmar บุตรชายคนโตของอดีตประธานาธิบศอลิห์
กองกำลังติดอาวุธอาสาสมัครท้องถิ่นในจังหวัดภาคใต้ของเยเมน หรือ Popular Resistance ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรค Yemeni Congregation for Reform หรือ Islah และกองกำลังติดอาวุธแนวร่วมของขบวนการซะละฟี (Salafist) ในเยเมน ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนสมาชิกและอาวุธยุทโธปกรณ์
เป็นพันธมิตรกับกองกำลังติดอาวุธที่ภักดีต่อรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดี จึงได้รับการสนับสนุนยานยนต์หุ้มเกราะ อาวุธเบาและหนักจำนวนหนึ่ง รวมถึงค่าตอบแทน
Security Belt Forces เป็นกองกำลังติดอาวุธของ Southern Transitional Council (STC) ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของเยเมน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 มีนายอัยดะรูส อัลสุบัยดี (Aidarus al-Zoubaidi) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเอเดนเป็นผู้นำ เคลื่อนไหวเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนให้กลับไปปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเยเมน หรือเยเมนใต้ในอดีต มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีศอลิห์จนถึงรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดี ไม่ปรากฏข้อมูลอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ปรากฏรายงานซึ่งไม่ได้รับการยืนยันเป็นทางการเมื่อ ก.ย.2562 ว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรอาหรับที่ให้ความช่วยเหลือด้านการทหารแก่รัฐบาลประธานาธิบดีฮาดี ให้การสนับสนุนด้านการเงินและการทหารแก่ Security Belt Forces ซึ่งคาดว่า
มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 90,000 คน มาตั้งแต่ปี 2559
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มก่อการร้ายสำคัญที่เข้าไปเคลื่อนไหวในเยเมน ได้แก่
กลุ่มอัลกออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาระเบีย (Al Qaida in the Arabian Peninsula-AQAP) เป็นกลุ่มสาขาของอัลกออิดะฮ์ (Al Qaida – AQ) ในเยเมน มีสมาชิกประมาณ 6,000-8,000 คน พื้นที่เคลื่อนไหวและฐานที่มั่นส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทางภาคตะวันออกและพื้นที่บางส่วนในภาคใต้ ไม่ปรากฏข้อมูลอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่รายงานของ Analytical Support and Sanctions Monitoring Team ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มอบหมายให้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Islamic State (IS) ในอิรักและซีเรีย และกลุ่ม AQ เพื่อจัดทำเป็นรายงานประกอบการออกข้อมติของ UNSC เกี่ยวกับกลุ่ม
ก่อการร้ายดังกล่าว เผยแพร่รายงานเมื่อ 27 ก.ค.2561 ระบุว่า กลุ่ม AQAP มีเครื่องยิงจรวดรุ่น BM-21 และรุ่น Grad-P ขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศรุ่น SA-7 และรุ่น SA-9 ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานรุ่น ZU-23
ปืนครก รถหุ้มเกราะทหารราบ และขีปนาวุธต่อต้านรถถังรุ่น TOW ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่ม AQAP ได้อาวุธดังกล่าวจากการบุกยึดฐานทัพและค่ายทหารของกองทัพเยเมนในพื้นที่ทางภาคตะวันออกและภาคใต้
กลุ่ม Islamic State (IS) ในเยเมน มีสมาชิก 250-500 คน ไม่ปรากฏข้อมูลอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่มีการแข่งขันอิทธิพลกับกลุ่ม AQAP แม้ว่ามีโครงสร้างกลุ่มอ่อนแอกว่า เคลื่อนไหวในจังหวัดทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับเขตอิทธิพลของกลุ่ม AQAP
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาด้านความมั่นคงของเยเมน มีสาเหตุสำคัญมาจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่มีความซับซ้อนและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้เยเมนเผชิญภาวะไร้เสถียรภาพอยู่เป็นระยะ เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุมวลชนลุกฮือขับไล่อดีตประธานาธิบดีศอลิห์เมื่อปี 2554 และสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย กับกลุ่มกบฏเผ่าฮูษี ซึ่งเชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านตั้งแต่ ก.ย.2557 นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยังทำให้เยเมนกลายเป็นพื้นที่แข่งขันอิทธิพล หรือสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน และเป็นโอกาสให้กลุ่มอัลกออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาระเบีย (AQAP) ซึ่งเป็นกลุ่มสาขาของอัลกออิดะฮ์ (AQ) ที่ก่อตั้งขึ้นในเยเมนตั้งแต่ปี 2551 ขยายอิทธิพลและฐานปฏิบัติการ โดยใช้เยเมนเป็นศูนย์กลางในการคัดเลือก ฝึก และทางผ่านให้กับสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ การที่กลุ่ม AQAP ก่อเหตุโจมตีในเยเมน และพยายามวางแผนโจมตีสหรัฐฯ รวมถึงประเทศตะวันตก ทำให้รัฐบาลเยเมนต้องร่วมมือกับสหรัฐฯ ปราบปรามกลุ่ม AQAP โดยสหรัฐฯ
ส่ง UAV เข้าไปทิ้งระเบิดโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่ม AQAP ในเยเมนมาตั้งแต่ปี 2554 ส่งผลให้ผู้นำและสมาชิกระดับสูงหลายคนเสียชีวิต
นอกจากนี้ ความไร้เสถียรภาพในเยเมนที่เกิดขึ้นในห้วงปี 2557-2559 ยิ่งเป็นโอกาสให้กลุ่ม AQAP ขยายอิทธิพลในเยเมนมากขึ้น เห็นได้จากการที่กลุ่ม AQAP บุกยึดพื้นที่ในภาคตะวันตกและพยายามขยายพื้นที่ยึดครองไปยังเมืองท่าสำคัญตามชายฝั่งคาบสมุทรอาระเบียในภาคใต้ อาทิ เมืองเอเดน ขณะที่กลุ่ม IS ในอิรักและซีเรียก็แสวงประโยชน์ด้วยการเข้าไปจัดตั้งกลุ่มสาขาของ IS ในเยเมน เมื่อ พ.ย.2557 ส่งผลให้ประธานาธิบดีฮาดีต้องร้องขอการสนับสนุนด้านการทหารจากพันธมิตรอาหรับ ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นแกนนำ เพื่อช่วยปราบปราบกลุ่ม AQAP กลุ่ม IS และกลุ่มกบฏเผ่าฮูษี
ความสัมพันธ์ไทย–เยเมน
ไทยและเยเมนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 5 เม.ย.2526 โดยฝ่ายไทยกำหนดให้สถานเอกอัครราชทูต ณ มัสกัต โอมาน มีเขตอาณาคลุมถึงเยเมน ส่วนฝ่ายเยเมนกำหนดให้สถานเอกอัครราชทูต ณ ปักกิ่ง จีน มีเขตอาณาคลุมถึงไทย อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายต่างเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์
ของแต่ละฝ่าย โดยเยเมนเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เยเมนในไทย และแต่งตั้งนาย Ahmed Salem Ba’Olayan เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์เยเมนประจำไทย เมื่อปี 2540 ส่วนฝ่ายไทยเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในเยเมน และแต่งตั้งนาย Abdul Galil Abdo Thabet เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเยเมน เมื่อปี 2546
ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับเยเมนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี แต่การแลกเปลี่ยนการเยือนยังมีน้อย โดยผู้แทนฝ่ายไทยเยือนเยเมนอย่างเป็นทางการครั้งหลังสุด คือ นายกันตธีร์ ศุภมงคล รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเยเมน เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ครั้งที่ 33 ขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่กรุงซานา เยเมน ระหว่าง 28-30 มิ.ย.2548 ขณะที่ผู้แทนฝ่ายเยเมนเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งหลังสุด คือ นาย Abdulaziz Nasser Al-Komain รัฐมนตรีว่าการกระทรวง Supply and Trade ของเยเมน เดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม UN ว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 12-19 ก.พ.2543
การพบหารืออย่างเป็นทางระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยกับเยเมนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายเคยเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การท่องเที่ยว การประมง และความร่วมมือในประชาคมระหว่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งใน OIC โดยความร่วมมือที่เยเมนให้ความสนใจต่อไทยเป็นพิเศษ คือ ความร่วมมือด้านชลประทานและการทำฝนเทียม ซึ่งเยเมนประสงค์ให้ไทยส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปศึกษาความเป็นไปได้การทำฝนเทียมในเยเมน และประสงค์ส่งเจ้าหน้าที่เยเมนมาดูงานในไทย อย่างไรก็ดี ขณะนั้นไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิบัตรการทำฝนเทียม จึงชะลอความร่วมมือดังกล่าวไว้ นอกจากนี้ สายการบิน Yemenia ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของเยเมน เคยแสดงความประสงค์จะเปิดเส้นทางการบินกรุงเทพฯ-ซานา เพื่อให้บริการชาวเยเมนที่ต้องการเดินทางมาติดต่อธุรกิจ ท่องเที่ยว และรักษาพยาบาลในไทย
ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2562 มีชาวเยเมนเดินทางมาไทย รวม 7,747 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวเยเมนที่ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวจำนวน 6,873 คน อย่างไรก็ดี ห้วงปี 2563 เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ทั่วโลก รวมถึงไทยต้องใช้มาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทำให้มีชาวเยเมนเดินทางมาไทยลดลงอยู่ที่ 967 คน ขณะที่ห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 มีชาวเยเมนเดินทางมาไทย รวม 136 คน สำหรับคนไทยในเยเมน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักศึกษาด้านศาสนา โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2558 มีนักศึกษาไทยพำนักอยู่ในเยเมน รวม 191 คนและเกือบทั้งหมดอพยพกลับไทย เนื่องจากการสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลเยเมนกับกลุ่มกบฏเผ่าฮูษีทวีความรุนแรงจนอาจกระทบต่อความปลอดภัย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีนักเรียนและนักศึกษาไทยเดินทางกลับไปเรียนที่เยเมนอีก คาดว่ามีจำนวนประมาณ 150 คน ส่วนใหญ่พำนักและศึกษาในสถาบัน/โรงเรียนสอนศาสนาในเมืองหลายแห่งทางภาคตะวันออก (มีชายแดนติดกับโอมาน) ของเยเมน ซึ่งไม่มีการสู้รบและอยู่ห่างจากพื้นที่สู้รบที่ส่วนใหญ่มีขึ้นในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และพื้นที่บางส่วนในภาคใต้ของเยเมน
ด้านการค้าเมื่อปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับเยเมน มีมูลค่า 271.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8,448.10 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2562 ที่มีมูลค่า 233.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,212.51ล้านบาท) โดยปี 2563 ไทยส่งออกมูลค่า 225.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,007.20 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 45.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,440.91 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 180.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,566.29 ล้านบาท) ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับเยเมน ห้วง ม.ค.-ต.ค. 2564 มีมูลค่า 658.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (20,952.83 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกมูลค่า 223.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,936.61 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 434.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (14,016.21 ล้านบาท)
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องดื่ม เม็ดพลาสติก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้านำเข้าสำคัญจากเยเมน ได้แก่ น้ำมันดิบ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช กาแฟ ชา เครื่องเทศ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอื่น ๆ
ความตกลงที่สำคัญ : ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ลงนามเมื่อ 28 ก.ค.2543 ที่กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อ มิ.ย.2548 คณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายจัดเจรจาการบินที่กรุงเทพฯ และทำบันทึกความเข้าใจลับ (Confidential Memorandum of Understanding) ว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถทำการบินแบบประจำระหว่างกัน รวมทั้งทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน (Code sharing) ได้ทันทีเมื่อแต่ละฝ่ายมีความพร้อม
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
- สงครามกลางเมืองในเยเมนระหว่างกองกำลังติดอาวุธที่ภักดีต่อรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดี ซึ่งซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนด้านการทหารและปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ กับกลุ่มกบฏชาวชีอะฮ์เผ่าฮูษี ซึ่งเชื่อว่าอิหร่านให้การสนับสนุนด้านการทหารและอาวุธ ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ ก.ย.2557 ยังไม่มีสัญญาณจะคลี่คลาย และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและซับซ้อน จากการที่ซาอุดีอาระเบียใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏเผ่าฮูษีตั้งแต่ มี.ค.2558 และยังร่วมมือกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปสู้รบ และปิดล้อมกลุ่มกบฏเผ่าฮูษีจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ห้วงปี 2564 กลุ่มกบฏฮูษีมุ่งสู้รบเพื่อชิงพื้นที่จังหวัดมะฮ์ริบซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เหลือในภาคเหนือของรัฐบาลเยเมน และเป็นพื้นที่แหล่งน้ำมันและเป็นที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมันสำคัญของประเทศ หวังเพิ่มอำนาจต่อรอง
- การโจมตีข้ามชายแดนเพื่อตอบโต้ซาอุดีอาระเบียของกลุ่มกบฏเผ่าฮูษีในเยเมน อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งการยิงปืนใหญ่และขีปนาวุธข้ามชายแดนเข้าไปโจมตีพื้นที่ทางภาคใต้ จนถึงริยาด
เมืองหลวง ซึ่งตั้งอยู่เกือบใจกลางประเทศ มักกะฮ์และเจดดาห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตก (ห่างจากชายแดนทางภาคเหนือของเยเมนประมาณ 1,000 กม.) ของซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการส่ง UAV ข้ามชายแดนเข้าไปโจมตีเป้าหมายทางทหาร โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ท่าอากาศยาน และแหล่งผลิตน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ กลุ่มกบฏเผ่าฮูษีส่ง UAV เข้าไปทิ้งระเบิดโจมตีสถานีสูบน้ำมันดิบในภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบียเป็นครั้งแรกเมื่อ 14 พ.ค.2562 และครั้งหลังสุดคือ การยิงขีปนาวุธและส่ง UAV เข้าไปโจมตีคลังเก็บน้ำมันของบริษัท Saudi Aramco ในเมือง Ras Tanura ภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 7 มี.ค. 2564 แต่ซาอุดีอาระเบียสามารถยิงสกัดทำลายขีปนาวุธและ UAV ไว้ได้ก่อน - การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดี กับกลุ่มกบฏเผ่าฮูษี ที่สหประชาชาติ (UN) เป็นคนกลางและพยายามผลักดันการเจรจาสันติภาพมาตั้งแต่ปี 2559 แม้ว่า UN ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในเมืองฮุดัยดะฮ์ ทางภาคตะวันตกของเยเมน เมื่อ 13 ธ.ค.2561 แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้มีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพที่นำไปสู่การยุติสงคราม ทั้งนี้ สงครามและความขัดแย้งในเยเมนที่ยืดเยื้อและทวีความซับซ้อน ส่งผลให้เยเมนเผชิญวิกฤตมนุษยธรรมที่ร้ายแรงที่สุดในโลก โดยมีชาวเยเมนมากกว่า 7 ล้านคนเสี่ยงเผชิญภาวะอดอยาก และประมาณ 19 ล้านคน (มากกว่า 80% ของจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 28 ล้านคน) ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ UN ประเมินว่า หากสงครามและความขัดแย้งในเยเมนยืดเยื้อไปจนถึงปี 2565 จะส่งผลให้เยเมนกลายเป็นประเทศยากจนที่สุดในโลก โดยภาวะสงครามที่ยืดเยื้อจะทำให้ชาวเยเมน 79% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดำรงชีวิตโดยมีรายได้เฉลี่ยต่อวันต่อคน ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ที่วันละ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐ
- 4. ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาระเบีย (AQAP) และกลุ่ม IS ในเยเมน ที่อาจแข่งขันอิทธิพลในเยเมนมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งการชักชวนนักรบต่างชาติให้เดินทางไปเข้าร่วมกับกลุ่ม
- ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงเยเมน โดย UN กังวลว่าเยเมนอาจเผชิญการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดของเยเมน เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคและสาธารณสุขของประเทศได้รับความเสียหายจากสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อหลายปี ทั้งนี้ นับตั้งแต่เยเมนพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายแรกในประเทศเมื่อ 10 เม.ย.2563 จนถึง 31 ต.ค.2564
มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเยเมน รวม 9,791 ราย และเสียชีวิต 1,889 ราย (มากเป็นอันดับ 12 ของประเทศตะวันออกกลาง อันดับ 47 ของประเทศเอเชีย และอันดับ 178 ของโลก) อย่างไรก็ดี คาดว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ
ที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ทำให้การตรวจหาผู้ติดเชื้อ
ทำได้ในวงจำกัด