4 ข้อแนะนำในการทำเกษตรเมื่อน้ำเค็มรุกพื้นที่
ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตรกรรม…อาจดูไกลตัวหากเราไม่ใช่เกษตรกรหรือมีอาชีพที่ต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ถ้าบอกว่า ปัญหาน้ำเค็มรุกอาจทำให้ปริมาณข้าว พืชผัก และผลไม้ขาดแคลน อีกทั้งส่งผลต่อการขยับให้ราคาในตลาดเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลต้องช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็อาจต้องเตือนให้ประชาชนประหยัดน้ำ เพราะน้ำประปากำลังจะกลายเป็นน้ำเค็มที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคไม่ได้ และปัญหาดังกล่าวก็เชื่อมโยงกับสภาวะโลกร้อน (Global warming) อย่างแยกไม่ได้ ก็อาจทำให้เราควรทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าวมากขึ้นอีกสักนิด เพื่อเรียนรู้ที่จะแก้ไขและอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างสมดุล “น้ำเค็มรุก” คือปัญหาที่มาจากระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ส่งผลต่อแหล่งน้ำหรือแม่น้ำในหลาย ๆ เมือง และส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำหลายรูปแบบ ทั้งภาคเกษตรกรรมและการใช้น้ำในรูปแบบอื่น ๆ เพราะโรงกรองน้ำและโรงผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคต้องเผชิญกับน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มที่ไม่สามารถนำมาใช้กรองให้กับประชาชนได้ เช่น กรณีน้ำเค็มรุกคืบไปถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำหลักให้กับเมือง ทำให้ต้องมีการพิจารณาย้ายสถานีไปที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแทน “ปัญหาดินเค็ม” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นดั้งเดิมในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลและบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลทั้งจากการไหลหนุนของน้ำทะเลในแหล่งน้ำผิวดิน และการซึมของน้ำเค็มใต้ดิน นอกจากนี้ พื้นที่ที่เคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อน ก็เป็นอีกแหล่งที่ได้เผชิญปัญหาดินเค็ม เช่น นครนายก ระยอง จันทบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา และสกลนคร พื้นที่เหล่านี้ต้องเผชิญกับสภาพดังกล่าวมาเป็นเวลานาน แม้บางพื้นที่จะมีปริมาณน้ำฝนตกชุก 1,600 – 2,800 มิลลิเมตรต่อปีโดยเฉลี่ย จนมีศักยภาพสูงในการทำเกษตรกรรม แต่เมื่อน้ำเค็มหนุนสูงขึ้น พื้นที่นาและสวนผลไม้หลายแห่งที่ไม่สามารถผลิตพืชผลได้ จึงกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจให้เกษตรกร…