นึกย้อนกลับไปเมื่อราว ๆ 14 ปีที่แล้ว ภาพสนามกีฬารังนก และพิธีเปิดที่อลังการด้วยนักแสดงจำนวนมหาศาล คือภาพความยิ่งใหญ่ที่จีนถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลก จนชาวโลกจำนวนมากประกาศยอมแพ้ล่วงหน้า ว่าจีนสร้างมาตรฐานไว้สูงมากจนคงไม่มีเจ้าภาพชาติไหนทำได้เท่านี้อีกแล้ว ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 (พ.ศ.2551) ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือการเป็นสัญญะที่มองเห็นเป็นรูปธรรมของ “จีนที่ยิ่งใหญ่” จีนใช้สื่อมวลชนต่างประเทศให้เป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดภาพดังกล่าวสู่สายตาชาวโลก จนกีฬาโอลิมปิกครั้งนั้นถูกกำหนดเป็นหมุดหมายแห่งการผงาดอีกครั้งของจีน หลังจากก้มหน้าก้มตาพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ทำตัวโดดเด่นตามแนวทาง “keeping a low profile policy” ของท่านผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง รวมทั้งบาดเจ็บหนักจากการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตกหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 ความยิ่งใหญ่ที่จีนแสดงต่อชาวโลก ยังเป็นคุณูปการต่อมิติภายในประเทศ ภาพความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของกีฬาโอลิมปิกครั้งนั้น ปลุกกระแสรักชาติและความภาคภูมิใจในชาติจีนของชาวจีน มรดกจากกระแสรักชาติเข้มข้นในระยะนั้น สอดรับกันได้ดีกับแนวทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนปี 2555) ที่ชูแนวคิด “ฟื้นฟูความยิ่งใหญ่” ให้จีน พร้อมด้วยสารพัดสารพันแนวทางเร้าอารมณ์รักชาติมาจนถึงปัจจุบัน 14 ปีถัดมา กรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกอีกครั้ง คราวนี้เป็นกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เป็นครั้งแรกที่จีนชนะการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เช่นเดียวกับเมื่อปี 2551 ที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งแรก (ไทยคือหนึ่งในประเทศที่เสนอตัวและแพ้จีนไปในครั้งนั้น) ความแตกต่างคือ จีนในตอนนั้นกับจีนในตอนนี้ไม่เหมือนกันแล้ว ในตอนนั้นจีนเป็นประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาตัวเอง โน้มตัวเข้าหาชาวโลกเพื่อแสวงหาการยอมรับ ขณะที่ประเทศตะวันตกในตอนนั้นก็เชื่อว่า การรับเอาจีนเข้าสู่ประชาคมโลก…