สำนักข่าว BBC รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนางซูเอลลา เบรเวอร์แมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสหราชอาณาจักร เมื่อ 29 ส.ค.66 ว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะพิจารณาการใช้วิธีการทุกรูปแบบเพื่อควบคุมผู้ขอลี้ภัยซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ขอลี้ภัยไม่ให้หลบหนีหายไป ซึ่งรวมถึงการนำระบบแท็กติดตามตัว (GPS) มาใช้ หรือให้ผู้ขอลี้ภัยต้องมารายงานตัวเป็นประจําที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อรับการสนับสนุนเช่นที่พักหรือความช่วยเหลือทางการเงิน โดยมาตรการต่าง ๆ จะถูกนำไปใช้ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่ว่าด้วยการควบคุมผู้อพยพผิดกฎหมาย (The Illegal Migration Bill) อย่างไรก็ตาม การจะนำระบบแท็กติดตามตัวมาใช้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชน
รัฐบาลสหราชอาณาจักรประสบปัญหามีผู้ขอลี้ภัยจำนวนมาก โดยเมื่อ มิ.ย.66 มีผู้ขอลี้ภัยที่ตกค้างและรอคำตัดสินจากศาลว่าจะได้รับการลี้ภัยหรือไม่ ประมาณ 175,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 44 ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการถูกศาลตัดสินระงับโครงการส่งผู้ขอลี้ภัยไปรวันดา เนื่องจากเกรงว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงที่ผู้ขอลี้ภัยอาจถูกบังคับให้กลับไปยังประเทศที่หลบหนีมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะพยายามผลักดันโครงการดังกล่าวให้ดำเนินการต่อ และกำลังพิจารณาว่าต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights-ECHR) ซึ่งดูแลกฎที่นําไปสู่การตัดสินนโยบายรวันดาหรือไม่