สถานการณ์การโจมตีและความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาส กองกำลังปกป้องสิทธิเสรีภาพของชาวปาเลสไตน์ระหว่าง 7-9 ต.ค.66 ยังไม่ยุติและมีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายรุนแรงทั้งในพื้นที่อิสราเอลและฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่ปะทะหลัก ๆ ของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มฮะมาสเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการต่อสู้และเฝ้ารอเพื่อที่จะได้มีดินแดนอธิปไตยเป็นของตัวเอง
การปะทะระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮะมาสไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แม้ว่าครั้งนี้จะมีเหตุรุนแรงมากขึ้นเพราะมีการใช้กองกำลังภาคพื้นดินติดอาวุธบุกเข้าไปในพื้นที่พลเรือน อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญล่าสุดระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่สื่อเรียกว่าเป็น “สงคราม 11 วันในเดือนพฤษภาคม” เมื่อปี 2564 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งยังนำไปสู่การที่ทั่วโลกประณามฝ่ายอิสราเอลที่โจมตีพื้นที่ฉนวนกาซาด้วยการระเบิด จนทำให้มีเยาวชนชาวปาเลสไตน์ตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงครั้งดังกล่าวจำนวนมากด้วย
“สงคราม 11 วัน” ถือว่าเป็นความรุนแรงครั้งสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง เกิดขึ้นระหว่าง 10-21 พฤษภาคม 2564 ใกล้เคียงกับห้วงเทศกาลรอมฎอน เป็นเหตุการณ์ที่กองทัพอิสราเอลทิ้งระเบิดในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโต้ที่กลุ่มฮะมาสยิงขีปนาวุธโจมตีกรุงเยรูซาเล็ม อิสราเอล เพราะไม่พอใจที่ตำรวจอิสราเอลปราบปรามผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่มัสยิด Al-Aqsa ที่เป็นสถานที่สำคัญของชาวปาเลสไตน์ การโจมตีและตอบโต้กันตลอด 11 วันดังกล่าวทำให้ต่างฝ่ายต่างเผชิญความสูญเสีย และเหมือนเช่นในเกือบทุกครั้ง ชาวปาเลสไตน์จะเผชิญความสูญเสียมากกว่า อาจเป็นเพราะกองทัพอิสราเอลมียุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า ทั้งในด้านจำนวนและประสิทธิภาพ
“สงคราม 11 วัน” ในครั้งนั้นยุติลงได้ด้วยการที่มีประเทศที่ 3 เข้าไปเป็นตัวกลางในการเจรจาให้กองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮะมาสหยุดยิง (ceasefire) หลังจากที่สถานการณ์เริ่มจะกลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมและเสี่ยงบานปลายจนส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในตอนนั้น จีน นอร์เวย์และตูนีเซีย เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีการประชุมเพื่อลงมติสนับสนุนให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิงและเตรียมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ระหว่างนั้น อียิปต์ กาตาร์และสหประชาชาติพยายามสนับสนุนให้มีการเจรจาสงบศึก แต่ไม่เป็นผล ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนของสหรัฐอเมริกาโทรศัพท์คุยกับผู้นำของอิสราเอลและปาเลสไตน์เมื่อ 16 พ.ค.66 จนกระทั่งฝรั่งเศส อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจอร์แดนผลักดันแผนการให้อิสราเอลและกลุ่มฮะมาสหยุดยิง ก่อนที่ “อียิปต์ กาตาร์และสหประชาชาติ” จะแสดงบทบาทตัวกลางในการประสานงานกับทั้งอิสราเอลและกลุ่มฮะมาส เพื่อให้ยุติการปะทะกัน
บทบาทของอียิปต์ในตอนนั้น ทำให้อิสราเอลและกลุ่มฮะมาสยอมตกลงยุติการปฏิบัติการทางทหารใน 21 พ.ค.66 โดยที่ต่างฝ่ายต่างอ้างชัยชนะจากสงครามครั้งนั้น สำหรับความเสียหายที่เกิดชึ้นอย่างชัดเจน คือ สภาพอาคารและที่อยู่อาศัยในฉนวนกาซาที่พังทลาย และปัญหาผู้พลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายในฉนวนกาซานั่นเอง
สรุปว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮะมาส รอบที่ผ่านมา หรือ “สงคราม 11 วัน” นั้น ระงับลงได้ด้วยบทบาทของประเทศที่ 3 และนานาชาติที่พยายามโน้มน้าวให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรงลงก่อน เพราะผู้ได้รับผลกระทบหลัก ๆ คือพลเมือง และในตอนนั้น นานาชาติมองว่าการตอบโต้ของอิสราเอลค่อนข้างรุนแรงเกินกว่าเหตุ แม้ว่ากลุ่มนักการเมืองสายเหยี่ยวในอิสราเอลจะยังต้องการให้รัฐบาลและกองทัพอิสราเอล เดินหน้าปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มฮะมาสอย่างแข็งกร้าวต่อไปก็ตาม
เมื่อดูจากบทเรียนในอดีต ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบ ต.ค.66 นี้ก็อาจยุติลงได้ หากนานาชาติเพิ่มการโน้มน้าวให้ทั้ง 2 ฝ่ายคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาหากทำสงครามยืดเยื้อ และอาจต้องดูบทบาทและความเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งตัวกลางในการเจรจาอย่างประเทศในภูมิภาคและสหประชาชาติจะยังเป็นกลไก หรือเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ในการหยุดความรุนแรงและความเสียหายในตอนนี้หรือไม่ โดยอาจโน้มน้าวด้วยการแลกเปลี่ยนกับ “ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” ที่จำเป็นต่อการรักษาความมั่นคงของทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์.
ติดตามการอัพเดตสถานการณ์ได้ที่ https://intsharing.co