สถานการณ์การปะทะและสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอล (Israel Defense Forces) กับกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซาและพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลในปัจจุบัน (11 ต.ค.66) ยังคงต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ที่มีปฏิบัติการทางการทหารระหว่างกัน โดยระดับความตึงเครียดเพิ่มขึ้น เนื่องจากอิสราเอลเตรียมความพร้อมจะปฏิบัติการทางการทหารภาคพื้นดิน จากการระดมกำลังเสริมมากกว่า 300,000 นาย เป้าหมายเพื่อปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ (Complete Siege) และทำลายศักยภาพทางการทหารของกลุ่มฮะมาส
เมื่อ 10-11 ต.ค.66 อิสราเอลยังยกระดับการโจมตีทางอากาศและเพิ่มการปิดล้อมฉนวนกาซา ด้วยการปฏิบัติการทางอากาศยิงท่าเรือสำคัญ และเมือง Rafah ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา เพื่อทำลายทางเชื่อมพรมแดนเข้า-ออกกับอียิปต์ และปิดช่องทางหนีภัยของสมาชิกกลุ่มฮะมาสที่อยู่ในฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม การโจมตีเมือง Rafah อาจสร้างความสูญเสียให้พลเรือนชาวปาเลสไตน์ เพราะก่อนที่อิสราเอลจะทำการโจมตี ได้ประกาศให้ชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซาผ่านพรมแดนในเมืองดังกล่าว และการทำลายช่องทางเข้า-ออกระหว่างฉนวนกาซากับคาบสมุทรไซนาย ของอียิปต์ อาจทำให้นานาชาติเผชิญอุปสรรคในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ชาวปาเลสไตน์ ที่กำลังเผชิญวิกฤตด้านความปลอดภัยจากเหตุการณ์นี้
นอกจากนี้ มีรายงานไม่ยืนยันว่า กองทัพอิสราเอลใช้ยุทโธปกรณ์ฟอสฟอรัสขาว หรือ white phosphorus bombs ในพื้นที่พลเรือนด้วย แม้ว่าจะเป็นอาวุธที่ไม่อยู่ในรายการต้องห้ามขององค์กรห้ามอาวุธเคมี (Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons) แต่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนที่ไม่ใช่กองกำลังของกลุ่มฮะมาส
กลุ่มฮะมาสยังมีความมุ่งมั่นในการเดินหน้าปฏิบัติการ Operation Al-Aqsa Flood เพราะเชื่อมั่นว่ามียุทโธปกรณ์มากพอ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์และกองกำลังต่อต้านอิสราเอลสนับสนุนปฏิบัติการของฮะมาส เพื่อยุติการกดขี่และการรุกรานของอิสราเอล ปัจจุบันปฏิบัติการของกลุ่มฮะมาสยังใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบ รวมทั้งการจับตัวประกันทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติที่อยู่ในอิสราเอล ประมาณ 150 คน ยุทธวิธีดังกล่าวทำให้นานาชาติห่วงกังวลและต้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือพลเรือนของตัวเองที่ถูกจับเป็นตัวประกัน โดยเฉพาะเมื่อมีสื่อรายงานว่า กลุ่มฮะมาสควบคุมตัวประกันไว้ในฉนวนกาซา และอาจสังหารตัวประกันหากอิสราเอลโจมตีพลเรือนในฉนวนกาซาโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า
สถานการณ์สู้รบมีความเสี่ยงจะขยายตัว เพราะยังไม่มีสัญญาณการเจรจาเพื่อหยุดยิง รวมทั้งเริ่มมีความเป็นไปได้ที่กองกำลังในประเทศอื่น ๆ และสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มบทบาทในสถานากรณ์นี้ โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอนและอิรัก กลุ่ม Badr Organization ในอิรัก รวมทั้งกลุ่มฮูษีในเยเมน ประกาศสนับสนุนปฏิบัติการของกลุ่มฮะมาส โดยกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอนเริ่มปฏิบัติการโจมตีพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอลแล้วตั้งแต่ 8 ต.ค.66 ส่วนผู้นำกลุ่มฮูษีประกาศเมื่อ 10 ต.ค.66 ว่า หากกองทัพสหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์สู้รบครั้งนี้โดยตรง กลุ่มฮูษีจะเข้าร่วมสนับสนุนกลุ่มฮะมาสทันที
สำหรับกลุ่มฮูษีมีขีดความสามารถทางการทหารค่อนข้างสูง เนื่องจากมียุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ โดรนและขีปนาวุธ ด้านสหรัฐอเมริกายังไม่ส่งกองทัพหรือทหารอเมริกันเข้าไปช่วยเหลืออิสราเอลโดยตรง แต่ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Gerald R. Ford เข้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อสนับสนุนอิสราเอล และป้องปรามความเคลื่อนไหวของกองกำลังอื่น ๆ ที่จะแสวงประโยชน์จากสถานการณ์ครั้งนี้ ปัจจุบัน ผู้นำสหรัฐอเมริกากับอิสราเอลหารือกันอย่างต่อเนื่อง โดยประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนยืนยันสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ ไม่ส่งกองทัพเข้าไปสนับสนุนอิสราเอล สถานการณ์อาจไม่ขยายตัว แต่จะยืดเยื้อมากกว่า 1 สัปดาห์ เพราะคู่ขัดแย้งเตรียมความพร้อมจะโจมตีและปะทะอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ แต่สหรัฐอเมริกาก็ประกาศส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปยังเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว ตั้งแต่ต้น ๆ เกิดเหตุการณ์ปะทะ รวมทั้งประกาศจะส่งกำลังเพิ่มไปยังอิสราเอล
นานาชาติกังวลกับความสูญเสียจากสถานการณ์ครั้งนี้ ขณะที่อียิปต์เสนอการกำหนดเส้นทางอพยพสำหรับพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ควบคู่กับเสนอให้ประเทศในภูมิภาคเจรจากันเพื่อหาแนวทางแก้ไข ปัจจุบันมีรายงานผู้เสียชีวิตในอิสราเอลอย่างน้อย 1,000 คน ในฉนวนกาซา 900 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์และปฏิบัติงานเพื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ของสหประชาชาติเสียชีวิตจากสถานการณ์นี้ด้วย นอกจากนี้ ความรุนแรงครั้งนี้อาจทำให้มีผู้พลัดถิ่นชาวปาเลสไตน์มากกว่า 150,000 คน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าปัจจุบันการรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในฉนวนกาซาอาจมีการเผยแพร่ข่าวปลอม (fake news) และข้อมูลบิดเบือนจำนวนมาก
ไทยมีความคืบหน้าในกระบวนการช่วยเหลือคนไทยที่ต้องการเดินทางออกจากอิสราเอลจำนวนอย่างน้อย 3,200 คน โดยจะสามารถพาคนไทยกลับบ้านได้กลุ่มแรกใน 11 ต.ค.66 นี้ ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 18 คน ได้รับบาดเจ็บ 9 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน พร้อมกับมีรายงานจากสื่ออิสราเอลเมื่อ 10 ต.ค.66ว่า ทหารอิสราเอลได้ช่วยตัวประกันออกมาได้จำนวน 30 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนไทย 14 คน
เครดิตภาพ Reuters/Mohammed Salem
ติดตามข่าวสารได้ที่ https://intsharing.co/catagory/israel-palestine-66/