เป็นที่รู้ ๆ กันว่าชาวอเมริกันเชื้อสายยิวในสหรัฐอเมริกา มีอิทธิพลทางการเมือง และเศรษฐกิจมากพอตัวทีเดียว ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวในสหรัฐอเมริกามีประมาณร้อยละ 2.4 หรือ 7.5 ล้านคน ของประชากรทั้งหมดที่มีกว่า 300 ล้านคน ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ที่อพยพไปสหรัฐอเมริกา และสืบเชื้อสายมีประมาณ 170,000 ราย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์การสู้รบและการปะทะระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสครั้งใหญ่เมื่อ 7 ต.ค.66 และยังต่อเนื่องอยู่จนถึงขณะนี้ (11 ต.ค.66) ทำให้ชาวอเมริกันที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาทั้งสองฝ่ายเกิดความขัดแย้ง และเป็นประเด็นการเมืองภายในของสหรัฐอเมริกา
การชุมนุมประท้วงของฝ่ายสนับสนุนฝ่ายปาเลสไตน์ (pro-Palestinian supporters) และฝ่ายสนับสนุนอิสราเอล (pro-Israel supporters) กระจายไปหลายเมืองของสหรัฐอเมริกา เมื่อ 8 ต.ค.66 ทั้งในเมืองหลวง คือ วอชิงตัน ดี.ซี. (รวมทั้งหน้าทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) นครนิวยอร์ก แอตแลนตา ชิคาโก ฟลอริดา และลอสแองเจลลิส เป็นต้น โดยออกไปชุมนุมประท้วงสถานที่สำคัญ ๆ เช่น หน้าสถานกงสุลอิสราเอล อย่างไรก็ดี จุดสำคัญของการชุมนุมประท้วงที่เป็นที่สนใจไปทั่วโลก คือที่มหานครนิวยอร์กในบริเวณย่านไทม์ส สแควร์ ที่ทั้งสองฝ่ายประจัญหน้ากันคนละฝั่ง เพื่อแสดงจุดยืน และแสดงสัญญลักษณ์ของฝ่ายตนเอง เพื่อส่งสัญญาณว่าฝ่ายตนเองได้ทำถูกต้องแล้ว แม้จะมีการปะทะกันบ้าง แต่ จนท.ก็สามารถยับยั้ง ไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายได้ และเมื่อ 10 ต.ค.66 ก็ยังมีการเผชิญหน้ากันที่หน้าสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ
การชุมนุมเพื่อแสดงความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติในสหรัฐอเมริกาที่ทุกคนเชื่อมั่นในหลักการเสรีภาพของการแสดงออก แต่ครั้งนี้รัฐบาลวอชิงตันภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน และพรรคเดโมแครต แสดงออกชัดเจนว่า สนับสนุนฝ่ายอิสราเอลอย่างเต็มที่ จากที่เห็นในภาพข่าว คือ สถานที่สำคัญ ๆ ของมหานครนิวยอร์กยามค่ำคืน ส่องไฟเป็นสีฟ้าขาว ซึ่งเป็นสีของธงชาติอิสราเอล เช่น ที่ตึก World Trade Center และอาคาร Moynihan Train Statin นอกจากนี้ ระดับผู้ว่าการรัฐ นายกเทศมนตรี และวุฒิสมาชิกของมหานครนิวยอร์กก็ให้การสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล ทั้งนี้ มีรายงานถึงจำนวนชาวยิวในมหานครนิวยอร์ก และบริเวณใกล้เคียงมีประมาณ 2 ล้าน คน ซึ่งน่าจะเป็นจำนวนมากที่สุดในจำนวนชาวยิวในต่างประเทศ
กลุ่มใหญ่ ๆ ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนฝ่ายปาเลสไตน์ที่จัดการการประท้วงที่มหานครนิวยอร์กดำเนินการต่อเนื่อง จนถึง10 ต.ค.66 ได้แก่ กลุ่ม Democratic Socialists of America (DSA) ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มีทั้งนักศึกษา ประชาชน ส.ส. และ สว.ของสหรัฐอเมริกาด้วย ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ที่สนับสนุนฝ่ายปาเลสไตน์ แม้จะะมีไม่มากเท่ากับกลุ่มสนับสนุนอิสราเอล แต่ก็มีการชุมนุมประท้วงกันทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของกลุ่มที่สนับสนุนฝ่ายปาเลสไตน์ในสหรัฐอเมริกาชัดเจน เช่น กลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าจากมหาวิทยาลัย City University of New York (CUNY) ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม กลุ่ม DSA กลุ่ม The Answer Coalition Party for Socialism and Liberation กลุ่ม Palestinian Youth Movement group กลุ่ม Jewish Voice for Peace และกลุ่ม If Not Now เป็นต้น
การปะทะระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสทำให้สังคมชาวอเมริกันที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาทั้งสองฝ่ายเกิดความขัดแย้งกันมากขึ้น และต่างฝ่ายก็ออกมาแสดงความคิดความเห็นโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ เป็นประเด็นการเมืองภายในของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน เนื่องจากแต่ละฝ่ายก็มีนักการเมืองระดับประเทศ เช่น สว.และ ส.ส. ให้การสนับสนุน ตามฐานเสียงที่เป็นผลประโยชน์ของพรรคการเมืองฝ่ายตน ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปในสหรัฐอเมริกาในปี 2567
————————-
เครดิตภาพ kaarsten