ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนประณามอิสราเอลกรณีโจมตีชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์เมื่อ 26 ต.ค.66 และกังวลว่าการโจมตีในพื้นที่ดังกล่าวจะขยายความขัดแย้งและความตึงเครียดในภูมิภาค เนื่องจากการโจมตีในเขตเวสต์แบงก์ที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่อาจสร้างความเสียหายได้มากกว่า ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีไบเดนเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการโจมตี อย่างไรก็ตาม กองทัพอิสราเอลยังไม่มีท่าทีจะยุติปฏิบัติการทางการทหาร ยังมีรายงานการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องทั้งในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ นอกจากนี้ ผู้นำอิสราเอลประกาศว่าการตัดสินใจส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปในฉนวนกาซาจะขึ้นอยู่กับมติของคณะรัฐมนตรีชุดพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการสงคราม และย้ำด้วยว่าปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้น
นานาชาติยังไม่มีความคืบหน้าในการเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งหยุดยิง หรือยุติการโจมตีเป็นการชั่วคราว ทั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และสหภาพยุโรป ขณะที่มีรายงานกระแสความเกลียดชังและต่อต้านชาวยิว รวมทั้งชาวมุสลิม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามเริ่มต้นเมื่อ 7 ต.ค.66 นอกจากนี้ กระแสความขัดแย้งระหว่างสหประชาชาติ และอิสราเอลก็ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งเมื่อ 25 ต.ค.66 เอกอัคราชทูตอิสราเอลประจำ UN ต้องการให้เลขาธิการ UN ลาออก เนื่องจากไม่พอใจกับท่าทีของเลขาธิการ UN ที่กล่าวระหว่างการประชุม UNSC เมื่อ 24 ต.ค.66 ว่า เป็นการสนับสนุนปาเลสไตน์ ประกอบกับสหรัฐฯ ก็ยังเพิ่มแรงสนับสนุนให้กับอิสราเอลโดยจะจัดจะจัดส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ Iron Dome ให้กับอิสราเอลเพิ่มเติมอีก
กลุ่มฮะมาสหารือกับกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ และกลุ่ม Islamic Jihad เมื่อ 25 ต.ค.66 ย้ำความร่วมมือในปฏิบัติการ Al-Aqsa Flood เพื่อเอาชนะอิสราเอล โดยผู้แทนระดับสูงของทั้ง 3 กลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและการปะทะกับอิสราเอลบริเวณพรมแดนเลบานอน ฉนวนกาซา และเขตเวสต์เบงก์ สะท้อนว่าฝ่ายกลุ่มฮะมาสยังไม่มีแนวโน้มจะยุติปฏิบัติการทางการทหารเพื่อตอบโต้อิสราเอล ส่วนประธานาธิบดีตุรกีก็ยังยืนยันเมื่อ 25 ต.ค.66 ว่ากลุ่มฮามาสไม่ใช่กลุ่มก่อการร้าย แต่เป็นกลุ่มมูจาฮีดีน ที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชนและดินแดนปาเลสไตน์จากอิสราเอล พร้อมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในทันที เพื่อที่จะได้ส่งความช่วยเหลือเข้าไปในฉนวนกาซา
ติดตามอัพเดตสถานการณ์ได้ที่ https://intsharing.co/catagory/israel-palestine-66/