การโจมตีทางไซเบอร์ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนอิสราเอลกับกลุ่มที่สนับสนุนปาเลสไตน์เกิดขึ้นพร้อมกับสงครามทางกายภาพที่มีการตอบโต้ด้วยอาวุธกันไป-มาในฉวนกาซาระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮะมาสที่เริ่มตั้งแต่ 7 ต.ค.66 จนถึงขณะนี้ (27 ต.ค.66) ยังไม่ยุติอย่างสิ้นเชิงทั้งสองสมรภูมิ ขณะที่ยอดการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเป้าหมายอิสราเอลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ผลกระทบยังอยู่ในระดับต่ำ (low impact) โดยบริษัทด้านไซเบอร์ของอิสราเอลเปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ว่า อิสราเอลถูกแฮ็กเกอร์โจมตีเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ตั้งแต่ 7 ต.ค.66 ซึ่งอิสราเอลอ้างว่า แฮ็กเกอร์ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและรัสเซีย รวมทั้งยังเชื่อว่าฐานการปฏิบัติการของแฮ็กเกอร์อยู่นอกพื้นที่ฉนวนกาซา เนื่องจากระบบการเชื่อมต่อเครือข่ายในฉนวนกาซามีประสิทธิภาพต่ำมาก
แฮ็กเกอร์ที่สนับสนุนปาเลสไตน์โจมตีเป้าหมายของอิสราเอลขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เข้าไปโจมตีแอปพลิเคชันของระบบการแจ้งการเตือนภัยของอิสราเอล จนทำให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดการสับสนตั้งแต่ช่วงต้นของสงคราม รวมทั้งมีการเข้าไปโจมตีระบบของโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานของรัฐ สื่อมวลชน และที่เห็นข่าวกันชัดเจนก็เมื่อ 21 ต.ค.66 ที่รุกเข้าไปโจมตีระบบสาธารณสุข ได้แก่ Sheba Medical Center ทำให้หน่วยงานด้านไซเบอร์แห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล ต้องประกาศยุติการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตของโรงพยาบาลที่มีสาขาทั่วประเทศ
แม้การโจมตีทางไซเบอร์ไม่ได้มีเป้าหมายโดยตรงต่อสหรัฐอเมริกา แต่ในฐานะที่เป็นพันธมิตร มีการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีกันอย่างใกล้ชิด และมีศัตรูร่วมกัน ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องออกมามีท่าทีเรื่องนี้ โดยคณะกรรมาธิการด้านการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรเชื่อว่าแฮ็กเกอร์ที่โจมตีอิสราเอลมาจากผู้สนับสนุนกลุ่มฮะมาส ปาเลสไตน์ อิหร่าน และรัสเซีย นอกจากนี้ เมื่อกลาง ต.ค.66 หน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ของสหรัฐอเมริกา 4 หน่วยงาน ประกาศจะร่วมมือเชิงรุกกับหน่วยงานทางไซเบอร์ของอิสราเอลและกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศ เพื่อช่วยอิสราเอลในการป้องกันความเสียหายที่สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลจะได้รับจากการถูกแฮ็กเกอร์โจมตี รวมทั้งผู้ก่อการร้ายอาจแสวงประโยชน์ด้วยการใช้ช่องทางไซเบอร์ ก่อการร้ายในดินแดนของสหรัฐอเมริกา
สำหรับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ของสหรัฐอเมริกาข้างต้น ได้แก่ CISA ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สำนักงานสืบสวนกลาง หรือ FBI และศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย หรือ NCTC อย่างไรก็ดี ความร่วมมือด้านไซเบอร์ระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นมานานแล้ว เช่น การซ้อมป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ การวิจัยร่วมกันในการทำโครงการปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็นต้น