ผู้นำระดับสูงของกลุ่มฮะมาสเคลื่อนไหว โดยให้สัมภาษณ์สำนักข่าว BBC ของสหราชอาณาจักรเมื่อ 7 พ.ย.66 ว่า กลุ่มฮะมาสไม่โจมตีพลเรือนในอิสราเอล โดยเฉพาะเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ รวมทั้งย้ำว่ากลุ่มฮะมาสจะปล่อยตัวประกัน (คาดว่ามีประมาณ 240 คน) ต่อเมื่อกองทัพอิสราเอลยุติการต่อสู้ และกลุ่มฮะมาสจะปล่อยตัวประกันผ่านคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross)
อิสราเอลส่งสัญญาณว่า อาจยุติการโจมตีชั่วคราว ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อเปิดทางให้นานาชาติดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หลังยกระดับการโจมตีทั้งพื้นที่ตอนเหนือและตอนกลางของฉนวนกาซา รวมทั้งในบริเวณที่เป็นค่ายผู้ลี้ภัย จนทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10,000 รายแล้วในปัจจุบัน (7 พ.ย.66) แต่ยังยืนยันไม่หยุดยิง จนกว่ากลุ่มฮะมาสจะปล่อยตัวประกัน นอกจากนี้ ผู้นำอิสราเอลระบุว่าอิสราเอลจะบริหารจัดการความมั่นคงในฉนวนกาซา หลังสถานการณ์สงคราม ด้านเลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิง สอดคล้องกับท่าทีของผู้แทนจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำสหประชาชาติที่มีถ้อยแถลงร่วมสนับสนุนให้มีการหยุดยิงเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
สำนักข่าว Aljazeera ประเมินสถานการณ์สงครามครั้งนี้จะยืดเยื้อและมีความรุนแรงมากขึ้น พิจารณาจากยุทธวิธีของกลุ่มฮะมาสที่กำลังทำ “สงครามอสมมาตร” หรือ asymmetric warfare ที่หมายถึงการต่อสู้ระหว่างคู่ขัดแย้งที่มีขีดความสามารถทางการทหารไม่เท่าเทียมกัน จึงมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องใช้ยุทธการหรือยุทธวิธีนอกรูปแบบ เช่น ปฏิบัติการแบบกองโจร การซุ่มโจมตี การปฏิบัติการข่าวสาร รวมทั้งการจับตัวประกัน โดยทั่วไป การทำสงครามอสมมาตรจะสร้างความเสียหายมากกว่าสงครามตามแบบ และฝ่ายที่เสียเปรียบด้านขีดความสามารถทางการทหารอาจเอาชนะในสงครามได้ แต่สงครามครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายให้ฉนวนกาซาในระยะยาว
นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศประเมินผลกระทบต่อความมั่นคงโลกในภาพรวมจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮะมาสครั้งนี้ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก เพิ่มความเสี่ยงที่จะมีการโจมตีผลประโยชน์ของประเทศอื่น ๆ มากขึ้น เพิ่มความแตกแยกทางความคิดในสังคมต่าง ๆ มหาอำนาจจะเผชิญความท้าทายในการแข่งขันและสร้างระเบียบโลกมากขึ้น และสุดท้าย สถานการณ์นี้จะกระตุ้นบทบาทของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor) ในความขัดแย้งต่าง ๆ ทั่วโลก
Credit Pic : Israel Defense Forces | Reuters