การเริ่มต้นปีใหม่ในเดือนมกราคม 2567 ด้วยข่าวแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น อุณหภูมิติดลบมาก ๆ ในหลายพื้นที่แถบเอเชียตะวันออก ต่อด้วยข่าวดินถล่มในโคลอมเบีย รวมทั้งอุทกภัยในหลายจังหวัดทางใต้ของไทย เป็นสิ่งย้ำเตือนชาวโลกอีกครั้งถึงความน่าหวาดหวั่นของภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยที่เกี่ยวเนื่องกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยในช่วงกว่า 10 เดือนที่เหลือของปี 2567 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทั่วโลกจะเผชิญกับภัยดังกล่าวต่อไปทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีระดับความรุนแรงและสร้างความสูญเสียและเสียหายไม่มากก็น้อยแตกต่างกันไป คำถามคือ แล้วจะเอาตัวให้รอดได้อย่างไรจากภัยพิบัติที่ยากจะคาดเดา และพร้อมจะสร้างความพลิกผันให้ชีวิตชาวโลกไม่ต่างจากเทคโนโลยี
คำกล่าวที่ว่า “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” กำลังเกิดขึ้นอีกครั้งสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในห้วงที่ต้องตั้งรับอย่างจริงจังกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเกิดแนวคิด มาตรการ และวิธีการใหม่ ๆ ที่หลายประเทศทั้งภาครัฐ เอกชน หรือแวดวงวิชาการต่างสร้างสรรค์และสรรหามาเป็นหนทางรับมือและเอาตัวรอดจากพิบัติภัยที่จะเกิดขึ้น และหวังจะใช้สร้างโอกาสใหม่ ๆ ไปในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศที่มีความพร้อมเหนือกว่าประเทศอื่นในแง่เศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะเป็นสมรภูมิใหม่ในการแข่งขันระหว่างประเทศ ที่ก็คงจะจำกัดคู่แข่งเฉพาะประเทศชั้นนำทางเทคโนโลยี
ความพยายามหาวิธีการเพื่อให้รอดพ้นจากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่าง ๆ ปรากฏเป็นระยะในหลายรูปแบบทั้งเชิงรับและเชิงรุก เช่น แผนการสร้างเกาะเทียมที่มีชื่อว่า Long Island บริเวณชายฝั่งตะวันออกของสิงคโปร์ เพื่อเป็นกำแพงป้องกันระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนเสี่ยงจะเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลท่วมด้านอินโดนีเซียขยายกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งยาวเกือบ 40 กิโลเมตรครอบคลุมตอนเหนือของเกาะชวา เพื่อเป็นโล่คุ้มกันการรุกคืบของน้ำทะเลที่ทำให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุด พร้อม ๆ กับที่ดำเนินการย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปยังนุสันตารา ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการบรรเทาปัญหาอุทกภัย และความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น นอกเหนือจากเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นผลจากการขยายตัวของเมืองและประชากรในจาการ์ตา
ส่วนในแวดวงวิทยาศาสตร์ ก็มีไอเดียลดโลกร้อนด้วยจินตนาการล้ำ ๆ ที่อาจใกล้เคียงกับวิธีการที่เคยปรากฏ ในภาพยนตร์หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ การดัดแปลงภูมิอากาศให้สะท้อนแสงอาทิตย์ออกจากโลก เพื่อลดอุณหภูมิหรือที่เรียกว่า Solar geoengineering ด้วยการใช้สารประเภทซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เป็นสารหล่อเย็นฉีดพ่นในชั้นบรรยากาศ เพื่อจัดการรังสีจากแสงอาทิตย์ (Solar Radiation Management: SRM) ให้สะท้อนกลับไปสู่อวกาศ
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันและกลุ่มนักสิ่งแวดล้อมถึงประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เนื่องจากแม้เทคโนโลยี SRM จะช่วยลดอุณหภูมิโลกได้จริง แต่ก็ช่วยได้ในเวลาสั้น ๆ ไม่อาจพึ่งพาให้เป็นวิธีการแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน ทั้งยังมีความวิตกกังวลว่า รังสีจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนกลับไปอาจสร้างความเสียหายต่อชั้นบรรยากาศและทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมา ซึ่งอาจได้ไม่คุ้มเสีย
นอกจากใช้วิธีตั้งรับและหวังจะใช้เทคโนโลยีรุกกลับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เป็นมิตรกับมนุษย์แล้ว ทุกประเทศก็จำต้องยอมรับความจริงที่ว่าปัจจุบันและในอนาคต มนุษย์ต้องอยู่กับสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจนยากจะฟื้นฟู และทำได้แค่เพียงจำกัดความเสื่อมโทรมไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ สภาวะดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความจำเป็นหรืออีกนัยหนึ่งคือถูกบังคับให้ต้องหาโอกาสจากวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น การผลิตสินค้า/ผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับและส่งเสริม Low Carbon Economy ที่มุ่งลดการใช้พลังงานฟอสซิลและนำพลังงานหมุนเวียนมาเป็นแหล่งพลังงานหลักทดแทน โดยสินค้าที่สะท้อนการปรับตัวเข้าสู่โลกยุคคาร์บอนต่ำที่ชัดเจนและกำลังเฟื่องฟูสุด ๆ ก็คือ รถยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นตลาดใหม่สำหรับผู้ประกอบการเจ้าเก่าและหน้าใหม่ที่จะมีการแข่งขันอย่างดุเดือดทั้งด้านราคา การออกแบบ และคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นตัวยานยนต์และส่วนควบ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อะไหล่ แบตเตอรี่ สถานีประจุไฟฟ้า และในไม่ช้า รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นนวัตกรรมที่ครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์แทนที่รถยนต์สันดาป ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะหายไปจากท้องตลาดไม่ต่างจากสินค้าหลายประเภทก่อนหน้านี้
…จากที่เป็นผู้ชมหนังภัยพิบัติ วันนี้และวันต่อ ๆ ไป ประชากรโลกจะมีประสบการณ์ร่วมกันในฐานะผู้ประสบภัย ที่ต่างกันเพียงจะเป็นภัยแบบไหนและรุนแรงมากหรือน้อย การเอาตัวรอดให้ได้เมื่อประสบภัยเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่ต้องทำให้ได้แม้อาจไม่รอดทุกคน แต่ในระยะยาวก็ต้องหาวิธีการจำกัดความรุนแรงของภัยที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความสูญเสียและดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยให้มากที่สุด พร้อมกับพยายามสร้างโอกาสจากวิกฤติในทำนองเดียวกับ Startup ที่เริ่มพัฒนาธุรกิจจากความต้องการแก้ไขปัญหา (Pain Point) ซึ่งนำไปสู่การคิดค้นสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหา (Solution) ซึ่งก็คือการเปลี่ยนจาก Pain Point ให้เป็น Gain Point
ขณะที่การทยอยออกใช้มาตรการทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และหวังผลระยะยาวเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ที่จะกลายเป็นทั้งระเบียบการค้าโลกยุคใหม่ และเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าที่ผู้ส่งออกยากจะปฏิเสธ จะเป็นอีกความพลิกผันที่เกิดจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเผชิญ….และจะต้องเหนื่อยยากมากขึ้นในการหาแนวทางสร้างสรรค์เพื่อความอยู่รอด