นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ของสิงคโปร์ ในวัย 72 ปี ได้เริ่มกล่าวอำลาตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อส่งต่ออำนาจการบริหารรัฐบาลให้กับนายลอว์เรน หว่อง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 การส่งต่ออำนาจทางการเมืองนี้เตรียมการมาเป็นอย่างดี ใช้เวลาในการสื่อสารกับคนในประเทศและประชาคมระหว่างประเทศว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนี้ และการที่สิงคโปร์จะเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศที่เป็นระดับ “ตำนาน” คนหนึ่งครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าจดจำ เพราะนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงของสิงคโปร์ อยู่ในตำแหน่งนี้มานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2547 เป็นผู้นำในช่วงที่สิงคโปร์ต้องผ่านเรื่องสำคัญ ๆ มากมาย รวมทั้งมีผลงานทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคมและการพัฒนาที่ทำให้สิงคโปร์เป็น 1 ในประเทศชั้นนำของโลกทุกวันนี้ บทความนี้จึงจะสรุปตำนานของคุณลีเซียนลุง และเล่าถึงความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาสานต่อนโยบายสำคัญ ๆ
นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงเป็นผู้นำประเทศสิงคโปร์คนที่ 3 รับตำแหน่งต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรีโก๊ะ จ๊กตง คุณลีเซียนลุงถือว่าเป็นคนดัง เพราะเป็นบุตรชายคนโตของอดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู ผู้นำรัฐบาลคนแรกของสิงคโปร์ ประวัติการศึกษาของเขาไม่ธรรมดา จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ในสหราชอาณาจักร และด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่สหรัฐอเมริกา
สำหรับผลงานที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในยุคที่สิงคโปร์เผชิญความเปลี่ยนแปลง วิกฤต และการฟื้นตัวหลายครั้ง เหตุการณ์ที่โดดเด่นมาก ๆ คือการพาสิงคโปร์พ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และเป็นผู้นำที่ทำให้สังคมสิงคโปร์มีความเท่าเทียมมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้สูงกับรายได้ต่ำ จากการส่งเสริมโอกาสด้านเศรษฐกิจและการเข้าถึงการให้บริการต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการภาษี กับทั้งยังเป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสิงคโปร์ให้กลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ตลอดจนสร้างความตกลงด้านการค้าและเศรษฐกิจต่าง ๆ มากขึ้นกว่า 20 ฉบับในช่วง 20 ปี นอกจากนี้ ในมิติการเมือง คุณลีเซียนลุงทำให้ภาพลักษณ์การบริหารงานของรัฐบาลสิงคโปร์ดู soft ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่น ๆ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศมากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีลีให้ความสำคัญมาตลอด คือ “สังคมสิงคโปร์” ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะสิงคโปร์เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีคนอยู่ร่วมกันหลายชาติพันธุ์และศาสนา มีการแบ่งกลุ่มที่ชัดเจน จนอาจกลายเป็นความท้าทายของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะสร้างเอกภาพ เรื่องนี้คุณลีเซียนลุงให้ความสำคัญมากขนาดที่เอามาเป็นประเด็นหลักในถ้อยแถลงอำลาตำแหน่งเมื่อวันแรงงานใน 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยนอกจากจะส่งมอบตำแหน่งนี้ให้ผู้นำรุ่นถัดไปแล้ว เขาเน้นย้ำเรื่องเอกลักษณ์ของสังคมสิงคโปร์ ที่เป็นพหุวัฒนธรรม มีหลายเชื้อชาติ ซึ่งควรจะกลมเกลียวและเป็นจุดแข็งในการพัฒนาประเทศ แต่เขาก็เตือนด้วยว่า ปัจจุบันความหลากหลายนี้กำลังเสี่ยง เพราะคนต่างชาติพันธุ์ต่างศาสนา อาจถูกชักจูงหรือเปลี่ยนมุมมองต่อประเทศสิงคโปร์ โดยมีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกแซงทางอ้อม เช่น อิทธิพลของจีน อินเดีย รวมถึงความเคลื่อนไหวและความรู้สึกของชาวมุสลิมทั่วโลก
นายกรัฐมนตรีลีเลยใช้โอกาสนั้นเรียกร้องให้ทุกสังคมและวัฒนธรรมในสิงคโปร์สามัคคีกัน ไม่ขัดแย้งตามการยั่วยุหรือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากภายนอก เพื่อให้สังคมสิงคโปร์อยู่ร่วมกันได้อย่างดีต่อไป เพราะลีเซียนลุงเชื่อว่า ความแตกแยกทางความคิดในสังคมสิงคโปร์ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ขัดขวางการพัฒนาและการเอาตัวรอดของประเทศ ในช่วงที่การเมืองระหว่างประเทศตึงเครียดและแตกแยกกันมากขึ้น
…….นอกจากเรื่องความสามัคคีกลมเกลียวกันในสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีลียังขอให้ประชาชนสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลด้วย เพราะต่อจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ นำโดยพรรค People’s Action Party (PAP) จะเดินหน้าการพัฒนาประเทศต่อไป และยังต้องรับมือกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ ทั้งการแข่งขันของมหาอำนาจ ปัญหาโลกร้อน และภาวะสงครามที่ส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ แม้ว่าสิงคโปร์จะไม่ได้เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งในสงครามก็ตาม
สรุปว่าสิ่งที่คุณลีเซียนลุงเป็นห่วง น่าจะไม่ใช่เรื่องการสืบทอดอำนาจทางการเมือง เพราะน่าจะราบรื่นดี พรรค PAP ยังคงได้รับความไว้วางใจจากประชาชน…… แต่เป็นเรื่อง “สังคม” ที่เสี่ยงถูกชักจูงไปตามสถานการณ์ต่างประเทศ ซึ่งผู้นำคนใหม่ของประเทศ อย่างคุณลอว์เรน หว่อง อายุ 51 ปี หรือผู้นำรุ่นที่ 4 หรือ 4G จะต้องเข้าใจความท้าทายนี้และบริหารประเทศต่อไป ขณะที่คุณลีเซียนลุงจะยังไม่ได้ไปไหน ยังอยู่ในคณะรัฐมนตรีอาวุโสต่อไป …เท่ากับว่า ตำนานของนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงผู้ขับเคลื่อนสิงคโปร์ให้ยิ่งใหญ่ ไม่ได้จะจบลงแค่เท่านี้ เพียงแต่เป็นการส่งต่อให้ผู้นำคนใหม่ดำเนินการต่อไป เพื่อทำให้สิงคโปร์อยู่รอดต่อไปได้ด้วยสามัคคีกัน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว