ยุทธศาสตร์เครื่องประดับกับความมั่นคงทางทะเลของสองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย
ไม่เพียงต้องแข่งขันกับโลกตะวันตก ….จีนยังต้องต่อสู้กับเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ที่มีพรมแดนติดกัน เช่น อินเดีย ที่มีกรณีพิพาทเขตแดนทางบก และต่างมุ่งขยายอิทธิพลทางทะเล เฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรอินเดีย และยิ่งเข้มข้นขึ้นหลังจีนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Belt & Road Initiative (BRI) ในหลายประเทศและภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงแต่สหรัฐฯ ที่หวั่นไหวกับการรุกออกนอกประเทศของจีน จนเร่งผลักดันความร่วมมือกับพันธมิตรและประเทศน้อยใหญ่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อินเดียก็หวั่นเกรงไม่น้อยกับความพยายามโอบล้อมอินเดียของจีนผ่านโครงการพัฒนาและปรับปรุงท่าเรือให้ประเทศริมชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย แม้ที่ผ่านมาไม่มีการเรียกชื่อยุทธศาสตร์ทางทะเลของจีนในมหาสมุทรอินเดียอย่างเป็นทางการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนคงคุ้นหูด้วยศัพท์บัญญัติของนักวิชาการและสื่อมวลชนตะวันตกว่า…. ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก หรือ String of Pearls เนื่องจากการสนับสนุนการสร้างและพัฒนาท่าเรือให้ประเทศริมชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียกลายเป็นหมุดหมายของจีนในการเคลื่อนไหวทางทะเล ซึ่งกระตุ้นให้อินเดียวิตกกังวลเพิ่มขึ้นทุกทีถึงการขยับเข้าใกล้ของจีน จนนำไปสู่การริเริ่ม……..ยุทธศาสตร์สร้อยเพชร หรือ Necklace of Diamonds ที่มีการเอ่ยอ้างขึ้นครั้งแรกโดยนาย Lalit Mansingh อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเมื่อสิงหาคม 2554 จีนปักหมุดเม็ดไข่มุกตามที่บรรดาชาติตะวันตกเรียก กินพื้นที่ประเทศที่อยู่ริมชายฝั่งตั้งแต่ต้นถึงปลายมหาสมุทรอินเดีย เช่น เมียนมา บังกลาเทศ มัลดีฟส์ ศรีลังกา ปากีสถาน เซเชลล์ และจิบูตี และช่องแคบทางยุทธศาสตร์ ทั้งฮอร์มุซ มะละกา และลอมบอก การรุกขยายความร่วมมือและช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในการพัฒนาท่าเรือและฐานทัพ แม้ทั้งจีนและประเทศผู้รับยืนยันตรงกันว่าเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่ไม่อาจลดความเคลือบแคลงให้ประเทศคู่แข่งขันหรือมีข้อพิพาทกับจีนทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า…..จะไม่มีการเข้าใช้ประโยชน์ด้านการทหาร โดยเฉพาะอินเดียที่เดิมนิ่งนอนใจจนเหมือนจะเฉยชากับการกระชับความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้านที่ล้วนเป็นประเทศริมชายฝั่งเนื่องจากมั่นใจว่าพื้นที่แถบนี้เป็นเขตอิทธิพลของตนเอง…