ห้วงเดือนที่ผ่านมากระแสร้อนแรงระหว่างไทยเพื่อนบ้านยังไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลง โดยเฉพาะ ความขัดแย้งที่เกี่ยวพันน่านน้ำหรือเขตแดนทางทะเล ทั้งพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไหล่ทวีปในทะเลอ่าวไทย (Overlapping Claims Area-OCA) หรือล่าสุดอย่างกรณีเรือรบเมียนมายิงเรือประมงของไทย โดยอ้างว่าเรือประมงของไทยรุกล้ำน่านน้ำของเมียนมา เหล่านี้คือตัวอย่างของสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ทำให้ประเด็นน่านน้ำและเส้นเขตแดนทางทะเล (Maritime Boundary) เป็นประเด็นที่ค่อนข้างยุ่งยากและมีความซับซ้อนมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการทำความเข้าใจ อาจจะเป็นเพราะว่าในทะเลไม่มีเส้นเขตแดนที่แบ่งได้อย่างชัดเจนเหมือนเส้นเขตแดนบนบก ขอบเขตน่านน้ำของแต่ละประเทศก็เลยยากที่จะบอกได้ชัดว่าจุดไหนเป็นของใคร ไทยเรามีน่านน้ำที่ติดต่อทั้งพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ทะเลอันดามัน รวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ ซึ่งก็ทำให้ไทยเรามีน่านน้ำที่ติดกับเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งระหว่างปี 2502 จนถึงปี 2538 ประเทศไทยของเราประกาศเขตแดนทางทะเล สอดคล้องตามหลักเกณฑ์กฎหมายทางทะเลเกี่ยวกับทะเลอาณาเขต ซึ่งหลักกฎหมายสากลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ทางทะเลที่ยึดถือกันทั่วโลก ก็คือ “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982” (The United Nations Convention on the Law of the Sea 1982) หรือว่าเรียกสั้น ๆ คุ้นหูกันว่า UNCLOS 1982 ตามหลักกฎหมาย UNCLOS 1982 ทำให้มีการกำหนดเขตน่านน้ำทางทะเลของทุกประเทศ…