ก่อนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใน 20 มกราคม 2568 วาทกรรมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ร้อนแรงทีเดียวในห้วงส่งท้ายปี 2567 โดยประกาศจะยึดแคนาดา ยึดคลองปานามา และยึดเกาะกรีนแลนด์ แต่วาทกรรมของนายทรัมป์ ที่เป็นจะเป็นประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ไม่ใช่วาทกรรมข่มขู่ และต่อรองเพียงอย่างเดียว แต่มีนัยแอบแฝงในเชิงยุทธศาสตร์อยู่ด้วย ได้แก่
เมื่อ 18 ธันวาคม 2567 ประกาศจะยึดแคนาดา เป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ โดยว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์ลงใน Truth Social ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียของตนเองว่า ชาวแคนาดาจำนวนมากต้องการให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เพราะว่าไม่ต้องการถูกเก็บภาษีสินค้าในราคาสูง และต้องการได้รับการคุ้มครองทางทหาร ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีกหลายครั้ง แม้กับนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรี
แม้การที่แคนาดาจะเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เป็นไปได้น้อยมาก แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณจากว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ไปถึงรัฐบาลแคนาดาว่า สหรัฐฯ มีอิทธิพลเหนือกว่า แม้จะต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากแคนาดามากเป็นอันดับ 1 และแคนาดายังมีทรัพยากรและแร่ธาตุหายากที่สหรัฐฯ ต้องการเป็นจำนวนมากที่นำไปใช้ในภาคการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งระยะหลังจีนห้ามไม่ให้มีการส่งออกไปสหรัฐฯ
เมื่อ 22 ธันวาคม 2567 ประกาศจะยึดคลองปานามาจากปานามา กลับมาเป็นของสหรัฐฯ หากไม่พิจารณาค่าธรรมเนียมที่เรือสหรัฐฯ ถูกเก็บค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ สหรัฐฯ เคยบริหารการจัดการคลองปานามา แต่อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ลงนามในข้อตกลงให้ปานามาเป็นผู้บริหารจัดการคลองดังกล่าวเมื่อปี 2520 บรรลุผลสมบูรณ์เมื่อปี 2542 และในปัจจุบัน สหรัฐฯ ก็ใช้เส้นทางนี้ขนส่งสินค้าและยุทโธปกรณ์
การจุดประเด็นจะยึดคลองปานามาของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ แม้เริ่มด้วยการต่อรองเรื่องเศรษฐกิจ แต่มีนัยเชื่อมโยงกับจีนที่สหรัฐฯ เห็นว่า กำลังมีอิทธิพลเหนือบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นหลังบ้านของสหรัฐฯ และจีนก็เป็นผู้ใช้เส้นทางนี้มากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ขณะที่ปานามาก็เลือกจะมีความสัมพันธ์กับจีน ด้วยการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน เมื่อปี 2560 นอกจากนี้ นาย Robert O’Brien อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยแรกยังชี้ให้เห็นว่าจีนสามารถทำจารกรรมสหรัฐฯ หรือปิดคลองปานามาได้โดยไม่ใช้กำลังทหาร แต่ใช้บริษัทฮ่องกงที่ทำกิจการท่าเรือที่คลองปานามา และเมื่อพฤษภาคม 2567 ส.ส.พรรคเดโมแครตรัฐอิลลินอยส์ที่ชื่อ Raja Krishnamoorthi ได้ชี้ให้เห็นพฤติกรรมของจีนว่า บริษัท Hutchison Ports PPC ซึ่งเป็นสาขาของบริษัท CK Hutchison Holdings ที่ฮ่องกงคุมท่าเรือในคลองปานามาตั้งแต่ปี 2540 ได้บริหารจัดการท่าเรือหลายแห่งที่คลองปานามา ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ และจีนอาจขัดขวางเส้นทางขนส่งทั้งยุทโธปกรณ์ และสินค้าทั่ว ๆ ไปของสหรัฐฯ ได้ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ หากขัดแย้งกันประเด็นไต้หวัน
เมื่อ 22 ธันวาคม 2567 ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย Truth Social ว่า สหรัฐ ฯ ต้องการเป็นเจ้าของเกาะกรีนแลนด์ (ดินแดนปกครองตนเองของเดนมมาร์ก) ด้วยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง และเสรีภาพของโลก พร้อมกับกล่าวว่า ออท.สหรัฐฯ ที่จะไปประจำโคเปนเฮเกน จะต้องทำมีภารกิจนี้ ทั้งนี้ สหรัฐฯ พยายามขอซื้อเกาะกรีนแลนด์อย่างน้อย 3 ครั้ง และล่าสุด เมื่อปี 2562 ซึ่งอยู่ในสมัยนายทรัมป์ดำรงตำแหน่งในสมัยแรก แต่เดนมาร์กปฏิเสธทุกครั้ง เหตุผลที่สหรัฐฯ ต้องการเกาะกรีนแลนด์คือ ไม่ต้องการให้รัสเซีย และจีนมีอิทธิพล หรือครอบครองเกาะกรีนแลนด์มากเกินไป จนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ แม้สหรัฐฯ ก็มีฐานทัพ ขีปนาวุธเตือนภัยขั้นต้น และการลาดตระเวนในอวกาศที่เกาะกรีนแลนด์ เป็นต้น
เกาะกรีนแลนด์เป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัสเซียด้วยเช่นกัน และมีการวางกำลังบริเวณอาร์ติกเพิ่มขึ้น พร้อมกับขยายอิทธิพลทางทหารด้วยการฟื้นฟูฐานทัพ เพิ่มการซ้อมรบ และประจำการระบบขีปนาวุธ เป็นต้น รวมทั้งยังซ้อมรบร่วมกับจีนใกล้บริเวณอาร์กติกด้วย ขณะที่จีนก็ประกาศเมื่อปี 2561 ให้ความสำคัญว่าจีน เป็น “near-Arctic state” และมีโครงการ “Polar Silk Road’ เพื่อลงทุนด้านทรัพยกรธรรมชาติ และสร้างเส้นทางขนส่ง ทั้งนี้ เกาะกรีนแลนด์มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น แร่หายาก (ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก หากเข้าไปทำการพัฒนา) อัญมณี ถ่านหิน กราไฟท์ และยูเรเนียม เป็นต้น
ในช่วง 4 ปี ในการบริหารประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ สมัยที่ 2 (2568-2571) จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้วาทกรรมข่มขู่ เพื่อต่อรองผลประโยชน์ ขณะเดียวกันก็มีนัยแอบแฝงในเชิงยุทธศาสตร์อยู่เสมอ เฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันอิทธิพลกับจีนและรัสเซียที่ทำการท้าทายสหรัฐฯ ในทุกมิติ