ภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีอินเดียเป็นประเทศแสดงบทบาทนำของภูมิภาค และยังมีประเทศอื่น ๆ อีก จะมีแนวโน้มอย่างไรบ้างจากการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง ทั้งยังมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐฯ เฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับจีน นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียใต้
จะขอเริ่มจากอินเดียที่เป็นเสาหลักของการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ เพราะมีสิ่งท้าทายร่วมกันในการสกัดกั้นอิทธิพลจีนออกไปจากภูมิภาค ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 น่าจะทำคือผลักดันให้อินเดียเพิ่มบทบาทสำคัญด้านความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการป้องกันและการขยายการฝึกร่วมทางทหาร เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางทะเล การซื้ออาวุธ และการติดตามกิจกรรมของเรือดำน้ำจีนในมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งอินเดียมีแนวโน้มจะต่อรองกับสหรัฐฯ ได้ หากถูกสหรัฐฯ ขู่จะขึ้นภาษีสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ
ปากีสถานกับอัฟกานิสถานจะเป็นประเทศที่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 จับตามองอย่างมาก เฉพาะอย่างยิ่ง ปากีสถานที่ใกล้ชิดจีน และสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่อต้านอินเดีย โดยสหรัฐฯ อาจกดดันปากีสถานให้ลดความร่วมมือกับจีน เช่น ลดการพึ่งพาการลงทุนจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor – CPEC) และเพิ่มความจริงจังในการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาค และเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการลงโทษปากีสถาน เช่น การจำกัดการค้า ขณะที่อัฟกานิสถาน ภายใต้การปกครองของรัฐบาลตอลิบัน มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ ให้จัดตั้งรัฐบาลที่มีส่วนร่วมจากทุกกลุ่มในประเทศ ขณะที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อัฟกานิสถานอาจลดลงตามนโยบาย “America First” อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์อาจไม่ปล่อยให้อัฟกานิสถานตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน
สหรัฐฯ มีแนวโน้มใช้นโยบายที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงแลกเปลี่ยนกับบังกลาเทศและศรีลังกา เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในภูมิภาค และการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง เนื่องจากความไม่มั่นคงภายในประเทศเปิดช่องให้กลุ่มหัวรุนแรง เช่น กลุ่มที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์และกลุ่ม Islamic State ก่อเหตุโจมตีผลประโยชน์ของอินเดียและชาติตะวันตก ขณะที่ในศรีลังกา การจับกุมผู้ต้องสงสัยที่วางแผนโจมตีศูนย์ชาวยิว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับอิหร่าน สะท้อนถึงภัยคุกคามที่ต้องการความร่วมมือจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี แรงงานชาวบังกลาเทศที่ต้องการเดินทางไปทำงานในสหรัฐฯ อาจจะไม่สามารถส่งเงินกลับประเทศได้เท่าก่อน เพราะนโยบายของสหรัฐฯ ที่จำกัดการเข้าประเทศ (สหรัฐฯ เป็นแหล่งรายได้จากเงินส่งกลับอันดับ 3 ของบังกลาเทศ)
การกลับมาของประธานาธิบดีทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อเนปาล ภูฏาน และมัลดีฟส์ในหลายด้าน เนปาล ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนผ่านโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) อาจเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ ให้ลดการพึ่งพาจีน ภูฏาน ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตโดยตรงกับจีน อาจได้รับแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ ผ่านความร่วมมือกับอินเดีย เพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน ส่วนมัลดีฟส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางเดินเรือสำคัญของมหาสมุทรอินเดีย อาจได้รับการสนับสนุนทางทหารจากสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ อาจลดการสนับสนุนด้านงบประมาณหรือการมีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนา (UNDP) หรือการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงการพัฒนาของประเทศดังกล่าว
ผลกระทบจากการกลับมาของประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของประเทศเหล่านี้ในการรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับจีน อินเดีย และสหรัฐฯ หากสามารถรักษาความสมดุลได้ดี ผลกระทบเชิงลบจะลดลง แต่หากพึ่งพามหาอำนาจเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ความเสี่ยงในระยะยาวจะเพิ่มสูงขึ้น