ภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว สิ่งที่ตามมาคือ ความกังวลว่าที่พักอาศัยหรือสถานที่ทำงาน สถานประกอบการของตนเองมีความปลอดภัยแค่ไหน ในเบื้องต้นเราควรตรวจสอบอะไรบ้าง กรณีโครงสร้างของบ้านพักอาศัย หรืออาคารที่ทำการ ที่ปรากฏรอยร้าว ต้องสังเกตอย่างไร? รอยร้าวประเภทไหนปลอดภัย และประเภทไหนที่อันตราย สรุปสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อประเมินความปลอดภัยอาคารสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย สถานที่ทำการ สถานประกอบการ ฯลฯ ที่เราต้องอยู่อาศัย หรือใช้ในชีวิตประจำวัน ควรดำเนินการดังนี้
- ตรวจสอบความเที่ยงตรง (แนวดิ่ง –แนวฉาก) ของอาคาร โดยตรวจสอบว่า อาคารอยู่ในสภาพแนวดิ่ง แนวฉากปกติ ตามแบบแปลนอาคารหรือไม่
- ตรวจสอบรอยร้าวที่ปรากฏ ทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้าง และในส่วนที่เป็นการตกแต่ง
อาคารโครงสร้างไม้ : เป็นโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบต่ออาคารประเภทนี้น้อยกว่าประเภทอื่น ๆ ความเสียหายของชิ้นส่วนโครงสร้างไม้ส่วนมากจะเกิดขึ้นเฉพาะจุดต่อ (connection) แต่มักจะไม่ปรากฏความเสียหายที่ตัวชิ้นส่วนโครงสร้าง
อาคารโครงสร้างอิฐก่อ : การพังททลายของอาคารโครงสร้างอิฐก่อส่วนใหญ่จะเป็นผลเนื่องมาจาก การเอนออกจากระนาบ (out- of-plane) ของผนังก่ออิฐ ความเสียหายที่ต้องให้ความสนใจ คือ ผนังเกิดการแตกร้าวในแนวทแยง (diagonal cracks) ซึ่งมักมีสาเหตุจากโครงสร้างรับแรงไม่สมดุลหรือฐานรากเคลื่อนตัว
การระบุระดับความเสียหายของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
ระดับที่ 1 ไม่มีความเสียหายหรือเสียหายเพียงเล็กน้อย ความเสียหายในระดับนี้จะพบในชิ้นส่วนโครงสร้างที่มีรอยแตกร้าวขนาดเล็กมาก หรือเรียกว่า รอยแตกแบบเส้นขน (Hairline Cracks) โดยจะตรวจพบว่า เกิดที่ผิวของชิ้นส่วนโครงสร้าง มีขนาดความกว้างของรอยไม่เกิน 1 มิลลิเมตร สาเหตุมักเกิดจาก วัสดุยืด หดตัว หรือได้รับแรงสั่นสะเทือนเล็กน้อย ควรแก้ไขได้ด้วยการฉาบปูนทับ หรือทาสีใหม่
ระดับที่ 2 มีความเสียหายปานกลาง ซึ่งอาจไม่ส่งผลต่อสมรรถนะในการรับน้ำหนักของ
อาคาร เมื่อต้องรองรับแรงแผ่นดินไหว หรือแรงอื่น ๆ ในอนาคต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากการร่วงหล่นของชิ้นส่วนวัสดุ โดยลักษณะของความเสียหายในระดับนี้จะเกิดขึ้นกับชิ้นส่วนโครงสร้างที่เกิดรอยแตกร้าวที่เห็นได้ชัดเจน แต่ยังไม่เกิดความเสียหายจนถึงระดับที่เห็นเหล็กเสริม มีความลึกกว่าชั้นรอยขนเล็กน้อย เป็นลักษณะรอยแตกแนวตั้ง หรือรอยแตกตามแนวฉาบปูน (Vertical Cracks) ระดับความอันตรายถือว่าอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง (แต่หากรอยร้าวกว้างเกิน 5 มิลลิเมตร ควรให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ) สาเหตุเกิดจากโครงสร้างขยายหรือหดตัว หรือได้รับแรงกระแทกเบา ๆ ควรแก้ไขด้วยการอุดรอยแตกและตรวจสอบการขยายของรอยอย่างต่อเนื่อง
ระดับที่ 3 มีความเสียหายรุนแรง ซึ่งผลต่อสมรรถนะในการรับน้ำหนักของอาคารและ
อาคารอาจเกิดการพังถล่มได้เมื่อต้องรองรับแรงแผ่นดินไหวตามหรือแรงอื่นๆ ในอนาคต โดยลักษณะของ ความเสียหายในระดับนี้จะเกิดขึ้นกับชิ้นส่วนโครงสร้างโดยพบรอยแตกร้าวขนาดใหญ่หรือมีการหลุดร่อนของของเนื้อคอนกรีตขนาดใหญ่ ในลักษณะเป็นแบบแนวนอนและแตกเฉียง
ลักษณะรอยแตกแนวนอน (Horizontal Cracks) รอยแตกประเภทนี้มีขนาดกว้างกว่า 2 มิลลิเมตร และมีความลึกที่สามารถมองเห็นเหล็กเสริม ระดับความอันตรายถือว่าอยู่ในระดับสูง ควรให้ผู้เชี่ยวชาญ (วิศวกร) ตรวจสอบ สาเหตุ มักเกิดจากแรงแผ่นดินไหวส่งผลโดยตรงต่อโครงสร้างหลัก
ลักษณะรอยแตกเฉียง (Diagonal Cracks) รอยแตกประเภทนี้พบเป็นแนวเฉียงหรือทแยงมุมโดยทำมุม 30 – 70 องศา ขนาดจะกว้าง มีทั้งมากและน้อย ระดับความอันตรายถือว่าอยู่ในระดับสูงที่สุด ควรให้ผู้เชี่ยวชาญ (วิศวกร) ตรวจสอบ สาเหตุ มักเกิดจากโครงสร้างรับแรงไม่สมดุล หรือฐานรากเคลื่อนตัว
- ตรวจสอบการรั่วไหลของแก๊ส เมื่อมีแก๊สรั่ว เราจะทราบได้จากกลิ่นเหม็นคล้ายสารที่อยู่ในไฟแช็ก หรืออาจได้ยินเสียงดังฟู่ๆ ใกล้ตัวถัง หากสังเกตบนพื้นบริเวณนั้นจะมีคราบสีขาวและฝุ่นละออง ในพื้นที่อาคารหากมีภาชนะบรรจุน้ำ อาจเห็นฟองอากาศขึ้นมา ขณะที่ หากมีต้นไม้ ดอกไม้ สังเกตได้ว่าใบหรือดอกจะเหี่ยว สำหรับบุคคล ผลกระทบจากแก๊สรั่วผู้ที่ได้รับกลิ่นจะมีอาการปวดและวิงเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบากคลื่นไส้ อาเจียน
วิธีแก้ไขเมื่อเกิดแก๊สรั่ว รีบหยุดการรั่วไหลของแก๊ส โดยปิดวาล์วถังแก๊สและเตาแก๊ส เปิดประตู หน้าต่างทุกบาน จากนั้นยกถังแก๊สไปไว้ในที่โล่ง ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก ตรวจสอบรอยรั่วของถังแก๊ส โดยใช้น้ำสบู่ลูบวาล์วถังแก๊ส หัวปรับความดัน ข้อต่อ แกนลูกบิด สายอ่อนนำแก๊ส หากมีแก๊สรั่ว จะเกิดฟองอากาศ กรณีเพลิงไหม้ที่ถังแก๊ส ให้รึบปิดวาล์วถังแก๊ส หากไม่สามารถปิดได้ ให้ใช้ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีฉีดพ่นตรงจุดที่ไฟลุกไหม้จนกว่าจะดับสนิท
ข้อควรระวัง ห้ามเปิด- ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด หรือประกอบกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้เกิดประกายไฟบริเวณที่แก๊สรั่ว เช่น เปิดพัดลม สูบบุหรี่ จุดไม้ขีดไฟ สตาร์ทเครื่องยนต์ เป็นต้น ห้ามใช้พัดลมในการระบายก๊าซออกจากพื้นที่อย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดการระเบิดหรือเพลิงไหม้ได้
- ตรวจสอบงานระบบ โดยเฉพาะที่ติดตั้งในแนวดิ่ง ในส่วนของท่อภายในอาคารว่า มีความเอียง อุปกรณ์ยึดเกาะสมบูรณ์เป็นปกติหรือไม่ ปรากฏท่อแตก เอียง มีคราบน้ำใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อแก้ไขและซ่อมแซมไม่ให้เป็นปัญหาบานปลาย หรือลุกลามไปสร้างความเสียหายกับระบบอื่น ๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบเครือข่ายสารสนเทศ ควรทดสอบด้วยการเปิดน้ำ ไฟ ระบบแอร์ ระบบอินเทอร์เนต เพื่อสังเกตความผิดปกติ
- ตรวจสอบการทำงานของลิฟต์ เนื่องจากเป็นโครงสร้างหลักของอาคาร นอกจากตรวจสอบการทำงานว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ เพื่อทดสอบว่า ปล่องลิฟต์ ไม่ได้รับความเสียหาย (เอียง) หรืออาจมีอุปกรณ์บางอย่างได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
- ตรวจสอบหน้าต่างและระบบผนังกระจก ว่าอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีการแตกร้าว หรือร่วงหล่น สร้างอันตรายให้กับบุคคลที่อยู่ภายในอาคาร โดยอาจใช้การฉีดน้ำทดสอบ
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐควรประสานกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อตรวจสอบอาคารที่ทำการ ขณะที่ ภาคเอกชนและประชาชน สามารถแจ้งประสานขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยกับทุกคน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ด้วยดี