สื่อต่างประเทศยังคงติดตามสถานการณ์ไทย-กัมพูชาโดยรายงานอ้างท่าทีฝ่ายไทยที่เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาเมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 มีพลเรือนชาวไทยเสียชีวิต 11 ราย และทหารเสียชีวิต 1 รายได้รับบาดเจ็บ 31 ราย ด้านกัมพูชายังไม่เปิดเผยความสูญเสีย แต่ประณามไทยกรณีโจมตีพื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหารซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก พร้อมระบุว่าเป็นการทำอาชญากรรมสงครามที่กัมพูชาไม่สามารถยอมรับได้ เพราะการโจมตีส่งผลกระทบต่ออาคารและพื้นที่โดยรอบ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชามีถ้อยแถลงโน้มน้าวให้ชาวกัมพูชาที่อยู่ในไทยเดินทางกลับประเทศเฉพาะอย่างยิ่งชาวกัมพูชาที่รู้สึกไม่ปลอดภัยหรือเผชิญการเลือกปฏิบัติตลอดจนย้ำให้ชาวกัมพูชารักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรี รวมทั้งประกาศให้ชาวกัมพูชาหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะส่งผลกระทบต่อคนไทยที่อยู่ในกัมพูชา รวมทั้ง สอท.ไทย/กรุงพนมเปญด้วย
สำนักข่าว CNN รายงานอ้างท่าทีของรักษาการนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 ที่ระบุว่าจะไม่มีการเจรจากับกัมพูชา จนกว่าสถานการณ์สู้รบบริเวณจะยุติ ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศภาวะสงคราม และยืนยันว่าความขัดแย้งไม่ลุกลามบานปลายไปยังพื้นที่อื่น ๆ
สำหรับท่าทีของฝ่ายกัมพูชาที่สื่อต่างชาติสนใจรายงาน คือ กรณีสมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตผู้นำกัมพูชาระบุว่าจำเป็นต้องตอบโต้ไทย และย้ำว่าตนเองร่วมบัญชาการทหารกัมพูชาด้วย พร้อมกันนี้ สื่อรายงานความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา ซึ่งวิตกกับความปลอดภัย และแม้ว่าบางส่วนจะเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในลักษณะนี้แล้ว แต่ก็ยังหวังว่าสถานการณ์ความตึงเครียดและการตอบโต้ทางการทหารจะยุติโดยเร็ว
ท่าทีนานาชาติต่อสถานการณ์ไทย-กัมพูชา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายเพราะเป็นประเทศที่สำคัญต่อจีนและอาเซียนโดยจีนมีความพร้อมแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการเจรจาและลดความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ด้านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียส่งหนังสือถึงผู้นำไทยและกัมพูชาเพื่อขอให้ยุติมาตรการทางทหารและหวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะเจรจาสันติภาพเร็ว ๆ นี้ โดยมาเลเซียปัจจุบันเป็นประธานอาเซียน ก่อนหน้านี้เมื่อ มิถุนายน 2568 ผู้นำมาเลเซียเคยแสดงท่าทีเรียกร้องให้ไทยและกัมพูชายับยั้งชั่งใจและลดระดับความตึงเครียดจากเหตุการณ์
เมื่อ พฤษภาคม 2568 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแสดงความกังวลและเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายลดระดับความขัดแย้ง และใช้การเจรจาเพื่อแก้ไขความตึงเครียดระหว่างกัน พร้อมให้ความเห็นว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค
สำหรับประเทศที่ออกคำเตือนให้พลเรือนของตนเองระมัดระวังการเดินทางในพื้นที่ปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชารวมทั้งให้ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และบางประเทศก็ให้ระมัดระวังในการเดินทางไปยังไทยและกัมพูชา เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรออก แคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล และฮ่องกง