
สมรภูมิไซเบอร์เป็นสมรภูมิด้านความมั่นคงที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในห้วงที่สถานการณ์ระหว่างไทยกับกัมพูชายังตึงเครียด เพราะมีความเสี่ยงเผชิญโจมตีทางไซเบอร์รวมทั้งความท้าทายในการควบคุมการแพร่กระจายของข่าวสาร ข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับเหตุการณ์เป้าหมายของผู้ที่เผยแพร่ข่าวปลอมอาจเพื่อให้ได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกรักชาติจนทำให้เกิดความขัดแย้งและความเกลียดชังในระดับประชาชน จนอาจนำไปสู่การแสดงออกที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อสังคม จากที่มีความขัดแย้งทางการทหารระหว่างกันอยู่แล้วซึ่งจะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น
ตั้งแต่สถานการณ์ไทย-กัมพูชาตึงเครียดเมื่อ พฤษภาคม 2568 มีการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนระหว่างทั้ง 2 ประเทศมากขึ้น หน่วยงานด้านไซเบอร์ของไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พร้อมกับร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องและรับมือกับคุกคามทางไซเบอร์เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชายังไม่ยุติ โดยเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. (National Cyber Security Agency -NCSA) เมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าว อาจทำให้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการให้บริการภาครัฐที่สำคัญ จนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของชาติ และประชาชน
สกมช.ประกาศยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ทุกรูปแบบเพื่อปกป้องประชาชนและโครงสร้างพื้นฐานของไทยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ สกมช.ยังได้เสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางปฏิบัติร่วมกันรวมทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและรับมือตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ThaiCERT) เป็นศูนย์เฝ้าระวังเหตุการณ์ทางไซเบอร์ ติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ภัยคุกคาม เพื่อแจ้งเตือนและตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันพร้อมประชาสัมพันธ์ช่องทางที่จะให้ประชาชนสามารถติดต่อ เพื่อแจ้งเหตุทั้งทางโทรศัพท์ ทางไลน์ และทางเว็บไซต์ ได้แก่ โทร 0-2114-3531 ทางไลน์ @thaicert และอีเมล [email protected]
ความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา ที่ควบคู่มากับความรู้สึกรักชาติ (patriotism) ที่นอกจากเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์และการปฏิบัติการข่าวสาร เพื่อตอบโต้ระหว่างกันรุนแรงระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย ยังพบว่าปัจจุบันมีการรายงานข่าวสาร ควบคู่กับข้อมูลที่บิดเบือนไปด้วย เช่น การเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกบิดเบือน และข่าวปลอมกรณีเครื่องบิน F-16 ของกองทัพอากาศไทยถูกฝ่ายกัมพูชายิงตกขณะปฏิบัติการเมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 ข่าวสารดังกล่าวและการตอบโต้ทางการทหารที่ยืดเยื้อจนถึง 25 กรกฎาคม 2568 ประกอบกับมีการรายงานความเสียหายจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งในโลกไซเบอร์มีโอกาสกลายเป็นความขัดแย้งในเชิงกายภาพมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการรักษาบรรยากาศความมั่นคงในสังคมในช่วงที่สถานการณ์ระหว่างประเทศมีความอ่อนไหว ดังนั้น ผู้ติดตามสถานการณ์ควรพิจารณข้อมูลข่าวสารอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งระมัดระวังการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ที่อาจใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อหลอกลวงผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้ข้อมูล หรือตอบโต้ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน นอกจากนี้มิจฉาชีพอาจใช้เป็นช่องทางหลอกลวงในการขอรับความช่วยเหลือและรับบริจาคในห้วงที่คนไทยต้องการแสดงความรู้สึกรักชาติอย่างมากในขณะนี้
นอกจากนี้ ข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหาร หรือข่าวสารที่ชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ก็อาจเป็นจุดอ่อนในการปกป้องข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง หรือข้อมูลส่วนบุคคลได้เช่นกันซึ่งกองทัพของไทยก็ได้แจ้งให้ประชาชนระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลที่อ่อนไหวด้วยเช่นกัน เช่น กรณีแชร์หรือค้นหาข่าวสารเกี่ยวกับนักบินเครื่องบิน F-16 ของกองทัพอากาศไทยในเชิงลึกก็อาจส่งผลกระทบในประเด็นความเป็นส่วนตัวด้วยเช่นกัน