สื่อมวลชนต่างประเทศเมื่อ 28 กรกฎาคม 2568 ให้ความสนใจติดตามสถานการณ์ไทย-กัมพูชา เฉพาะอย่างยิ่งกรณีผู้นำรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะพบและเจรจากันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาความตึงเครียดบริเวณพรมแดนที่มีการปะทะและตอบโต้กันด้วยมาตรการทางทหารอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีรายงานผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และต้องอพยพออกจากที่พักอาศัยจำนวนมาก สำหรับการเจรจาจะมีขึ้นในเวลา 15.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ผู้นำคณะเจรจาฝ่ายไทย คือ รักษาการนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย ขณะที่ผู้นำคณะเจรจาฝ่ายกัมพูชาคาดว่าจะเป็นสมเด็จฮุน มาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ด้านทางการมาเลเซียยืนยันว่าผู้นำไทยและกัมพูชาจะเยือนมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนและเสนอเป็นตัวกลางแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
การเจรจาครั้งนี้มีขึ้นหลังจากไทย-กัมพูชาตอบโต้และปะทะทางการทหารระหว่างกันบริเวณพรมแดนตั้งแต่ 24 กรกฎาคม 2568 มีรายงานผู้เสียชีวิตของทั้ง 2 ฝ่ายรวมกันมากกว่า 30 คน รวมทั้งพลเรือน และเมื่อ 27 กรกฎาคม 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ Truth Social ว่าได้โน้มน้าวให้ผู้นำไทยและกัมพูชาเจรจาสันติภาพระหว่างกัน พัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สื่อต่างประเทศเชื่อมโยงว่าผู้นำไทยและกัมพูชาเจรจากันตามคำแนะนำของสหรัฐฯ แม้ว่าก่อนหน้านี้ ฝ่ายไทยจะเสนอการเจรจาทวิภาคีกับกัมพูชาไปแล้ว แต่กัมพูชายังไม่ยุติการยิงจรวดใส่พื้นที่ตามแนวชายแดน ชุมชน และโบราณสถานของไทย
สื่อต่างประเทศรายงานว่า การสู้รบและการตอบโต้ในพื้นที่จะยังดำเนินต่อไปหลังจากผู้นำสหรัฐฯ หารือกับผู้นำไทยและกัมพูชา แต่การเจรจาระหว่างผู้นำรัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่ายก็เกิดขึ้นทันที ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เชื่อว่าการเจรจาที่มาเลเซียจะเป็นขั้นตอนสำคัญสู่การลดระดับความขัดแย้ง ส่วนนายมาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ มีความพร้อมจะอำนวยความสะดวกให้เกิดการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป รวมทั้งได้โทรศัพท์หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาแล้ว เพื่อย้ำความหวังของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำข้อตกลงหยุดยิง
ผู้นำกัมพูชาเปิดเผยว่าการเจรจาครั้งนี้มีมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพร่วม และจะมีผู้แทนจากจีนเข้าร่วมการเจรจาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานยืนยันว่ารัฐบาลจีนจะส่งเจ้าหน้าที่ระดับใดเข้าร่วม นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าปัจจุบันสื่อมวลชนจีน เช่น สำนักข่าว Global Times รายงานว่าสื่อมวลชนสหรัฐฯ กำลังพยายามทำให้สถานการณ์ในไทย – กัมพูชาเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) หรือการแข่งขันอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เนื่องจากมีการย้ำว่าไทยเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ส่วนกัมพูชามีความใกล้ชิดกับจีน ซึ่งจีนคัดค้านการนำเสนอมุมมองดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความเข้าใจสถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชา รวมทั้งเสนอว่าประเด็นพรมแดนระหว่างประเทศควรมีพัฒนาการในเชิงความร่วมมือ มากกว่าความขัดแย้ง และประเทศมหาอำนาจไม่ควรเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์
ประเด็นที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจนอกจากการเจรจาระหว่างผู้นำรัฐบาลไทย-กัมพูชา และสถานการณ์ในพื้นที่ปะทะ คือ การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง
โดยเฉพาะประชาชนและพลเรือนที่ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย ปัจจุบันจำนวนรวมมากกว่า 218,000 คน ดังนั้น การให้ความดูแลและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงควรเป็นเป้าหมายสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนของทั้ง 2 ฝ่ายที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงในสังคมรวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประชาชนในประเทศ