ราชอาณาจักรโมร็อกโก
(Kingdom of Morocco)
เมืองหลวง ราบัต
ที่ตั้ง แอฟริกาเหนือ พื้นที่ 446,550 ตร.กม. (ไม่รวมดินแดน Western Sahara) มีเขตแดนทางบก 2,362.5 กม. ชายฝั่งทะเล 1,835 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมือง Ceuta (8 กม.) และเมือง Melilla (10.5 กม.) ของสเปน ซึ่งทั้งสองเมืองอยู่ทางทิศเหนือของแอฟริกา
ทิศใต้ ติดกับดินแดน Western Sahara (444 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับแอลจีเรีย (1,900 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก
ภูมิประเทศ ตอนกลางของประเทศเต็มไปด้วยภูเขาและที่ราบสูง พื้นที่โดยรวมล้อมรอบด้วยเขตภูเขาและชายฝั่งทะเลทางทิศเหนือ
วันชาติ 30 ก.ค. (Throne Day) วันขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 (King Mohammed VI) เมื่อปี 2542
สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6
King Mohammed VI
(กษัตริย์หรือสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 3
ของโมร็อกโกที่ปกครองประเทศหลัง
ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2499)
ประชากร 37,965,779 คน (ปี 2565) เป็นชาวอาหรับ-เบอร์เบอร์ 99% อื่น ๆ 1% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 26% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 66% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 8% อายุขัยเฉลี่ยประชากร 73.68 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชายประมาณ 71.98 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิงประมาณ 75.46 ปี อัตราการเกิด 17.42 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 6.6 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.91%
ศาสนา อิสลาม (ซุนนี) 98.7% (ชีอะฮ์ 0.1%) คริสต์ 1.1% และยูดาย 0.2%
ภาษา ภาษาอาหรับและภาษาเบอร์เบอร์ (Tamazight) เป็นภาษาราชการ และใช้ภาษา Tachelhit และ Tarifit ซึ่งเป็นภาษาของชาวเบอร์เบอร์เช่นกัน ส่วนภาษาฝรั่งเศสนิยมใช้ในการทำธุรกิจ ติดต่อราชการ และในแวดวงการทูต
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 73.75% (อายุ 15 ปี ขึ้นไปสามารถอ่านและเขียนได้) (ปี 2561)
การก่อตั้งประเทศ หลังจากชาวอาหรับมีอิทธิพลในแอฟริกาเหนือในช่วงปี 2331 กษัตริย์ของชาวมัวร์
ก็เริ่มปกครองโมร็อกโก จนถึงศตวรรษที่ 16 ราชวงศ์ Sa’adi โดยกษัตริย์ Ahmed AL-MANSUR ขับไล่ผู้รุกรานชาวต่างชาติ และโมร็อกโกได้เข้าสู่ยุคของราชวงศ์ Alaouite (ราชวงศ์ที่ปกครองโมร็อกโกในปัจจุบัน) ขึ้นเป็นสุลต่านปกครองประเทศในศตวรรษที่ 17 เมื่อปี 2403 สเปนเข้ายึดครองภาคเหนือของโมร็อกโกและเปิดยุคแห่งการแข่งขันทางการค้าระหว่างโมร็อกโกกับประเทศยุโรปนานกว่า 50 ปี จนถึงปี 2455 ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองโมร็อกโก และเกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศส เพื่อเรียกร้องเอกราช จนกระทั่งในปี 2499 จึงได้เอกราชจากฝรั่งเศส กษัตริย์ Mohammed V (พระอัยกาของกษัตริย์ Mohammed VI ซึ่งปกครองโมร็อกโกในปัจจุบัน) ตั้งราชอาณาจักรโมร็อกโกขึ้น และเมื่อปี 2500 ก็เริ่มการปกครองในระบอบกษัตริย์ขึ้นอีกครั้ง
การเมือง ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ปัจจุบัน สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 (King Mohammed VI) เป็นประมุขของประเทศ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 30 ก.ค.2542 นาย Aziz Akhannouch ดำรงตำแหน่ง นรม. โดยได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาธิบดีเมื่อ 7 ต.ค.2564 แม้ว่ารัฐธรรมนูญของโมร็อกโก (ปี 2555) จะลดอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีลง แต่ก็ยังคงมีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอน ครม. และยุบสภาได้ โดยยังทรงดำรงตำแหน่งผู้นำกองทัพและศาสนา
หมายเหตุ โมร็อกโกอ้างสิทธิเหนือดินแดน Western Sahara ทำให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มแนวร่วม Polisario Front ซึ่งเป็นชาว Sahrawi ที่ต้องการประกาศอิสรภาพหลังพ้นจากการปกครองของฝรั่งเศส ปัจจุบัน อยู่ในสภาพต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นระบบ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Representatives) มาจากการเลือกตั้ง มีสมาชิก 395 คน โดย 305 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากระบบเขตเดียวหลายที่นั่ง และ 90 คนมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศในระบบเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน มีวาระ 5 ปี และมีการกำหนดที่นั่งในสภาสำหรับผู้หญิง 60 ที่นั่ง และผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี 30 ที่นั่ง และสภาที่ปรึกษา (Chamber of Advisors) มีสมาชิก 120 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ และสหภาพแรงงาน มีวาระ 6 ปี ซึ่งการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 8 ก.ย. 2564 ปรากฏว่า พรรค RNI ชนะการเลือกตั้ง ปัจจุบัน เป็นพรรครัฐบาล โดยมี นรม. Aziz Akhannouch เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาที่ปรึกษาครั้งหน้า จะจัดขึ้นในปี 2569
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Justice and Development พรรค Authenticity and Modernity พรรค Istiqlal (หรือพรรค Independence) พรรค National Rally of Independents พรรค People’s Movement พรรค Socialist Union of Popular Forces และพรรค Constitutional Union
เศรษฐกิจ โมร็อกโกให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ โดยส่งออกธัญพืช และสินค้าประมง อย่างไรก็ดี ผลผลิตภายในประเทศยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายใน จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยระบบเศรษฐกิจของโมร็อกโกได้รับประโยชน์จากค่าแรงต่ำและได้รับความช่วยเหลือจากประเทศในยุโรปในการพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเบา รวมทั้งมีรายได้จากอุตสาหกรรม
การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้มีเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศจำนวนมาก นอกจากนี้ โมร็อกโกยังเป็นประเทศผู้ส่งออกฟอสเฟตสำคัญของโลก ซึ่งสร้างรายได้หลักสำคัญและสร้างความมั่นคง
ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 มีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาค กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคการบิน ยานยนต์ พลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยว และเทคโนโลยีการเกษตร ทำให้โมร็อกโกกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการบริการและอุตสาหกรรม มีการทำความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทำให้โมร็อกโกมีตลาดรองรับผลผลิตภายในประเทศมากขึ้น แต่ปัญหาความยากจน ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนยังเป็นปัญหาสำคัญ ปัจจุบัน โมร็อกโกริเริ่มหลายโครงการเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนกับทั้งยุโรป สหรัฐฯ โลกอาหรับ และเอเชีย
รายได้หลักที่สำคัญของโมร็อกโกยังมาจากภาคการท่องเที่ยวรองจากภาคการเกษตร คิดเป็น 7% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ โดยมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปมากกว่า 75% โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี และสเปน โมร็อกโกหวังจะเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 20 ของโลกภายในปี 2563 และเร่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วยจากการลงนามข้อตกลงให้ชาวจีนสามารถเดินทาง
เข้าโมร็อกโกโดยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางเป็นเวลา 90 วัน เมื่อ มิ.ย.2559 และบริษัท Ctrip ซึ่งเป็นบริษัทจัดการท่องเที่ยวออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ลงนามกับโมร็อกโกเมื่อ 6 ก.ย.2562 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน
เศรษฐกิจของโมร็อกโกเริ่มฟื้นตัวจากปี 2563 โดยขยายตัว 7.4% เมื่อปี 2564 เนื่องจาก การส่งออกของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต แต่เศรษฐกิจในปี 2565 ชะลอตัวลงอีกครั้ง โดยจะเติบโตที่ 1.03% จากปัญหาการเกษตรที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้ตามเป้าหมาย และผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : Moroccan Dirhams (MAD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 1.29 MAD (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท = 0.29 MAD (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 139,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค. 2566)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.0 % (ต.ค. 2566)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,700 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 12,532,590 คน
อัตราการว่างงาน : 11.5 %
อัตราเงินเฟ้อ : 4.6 %
ผลผลิตทางการเกษตร : ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ผลไม้ประเภทส้ม องุ่น ผักสด มะกอก ปศุสัตว์ และไวน์
ผลผลิตอุตสาหกรรม : ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เหมืองและการแปรรูปฟอสเฟต อุตสาหกรรมอวกาศ การแปรรูปอาหาร เครื่องหนัง สิ่งทอ การก่อสร้าง พลังงาน และการท่องเที่ยว
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุลการค้า 12,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 42,331 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้าส่งออก : สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เครื่องรับวิทยุ แร่ดิบ ปุ๋ยเคมีและฟอสเฟต ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลไม้ประเภทส้ม ผัก และปลา
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สเปน 20.3 % ฝรั่งเศส 18.8 % อินเดีย 5.2 % บราซิล 4.92 %
มูลค่าการนำเข้า : 72,833 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้านำเข้า : น้ำมันดิบ เส้นใย อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ข้าวสาลี ก๊าซและไฟฟ้า วงจรวิทยุ และพลาสติก
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : สเปน 14.9% จีน 12.7% ฝรั่งเศส 11.7% สหรัฐฯ 5.9% ตุรกี 5.5% อิตาลี 5.4%
ทรัพยากรธรรมชาติ : ฟอสเฟต แร่เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ปลา และเกลือ
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : กองทัพโมร็อกโก (Royal Armed Force) ประกอบด้วย ทบ. (Royal Morocco Army) ทร. (Royal Morocco Navy) และ ทอ. (Royal Moroccan Air force) งบประมาณทางทหารเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 5,961 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 5.31% ของ GDP ผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 19-25 ปี จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารและประจำการในกองทัพนาน 12 เดือน กำลังพลรวม: 395,800 นาย แยกเป็นกองกำลังประจำการ 195,800 นาย (ทบ. กำลังพล 175,000 นาย ทร. กำลังพล 7,800 นาย ทอ. กำลังพล 13,000 นาย) กองหนุน 150,000 นาย และกองกำลังกึ่งทหาร 50,000 นาย
นอกจากนี้ โมร็อกโกส่งกองกำลังร่วมในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (MINUSCA) ในสาธารณรัฐแอฟริกากลางจำนวน 767 นาย ภารกิจ MONUSCO ในคองโก จำนวน 926 นาย และภารกิจ UNMISS ในเซาท์ซูดาน 2 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ : ทบ. ได้แก่ รถถังหลัก 656 คัน (รุ่น M1A1SA Abrams 222 คัน รุ่น M60A1 Patton 220 คัน รุ่น M60A3 Patton 120 คัน และรุ่น T-72B 40 คัน) รถถังเบา 116 คัน (รุ่น AMX-135 คัน รุ่น SK-105 Kuerassier 111 คัน) รถถังจู่โจมรุ่น AMX-10RC 80 คัน ยานหุ้มเกราะลาดตระเวน 284 คัน ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ 238 คัน ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 1,225 คัน ยานหุ้มเกราะกู้ภัยมากกว่า 48 คัน (รุ่น Greif 10 คัน รุ่น M88A1 18 คัน รุ่น M578 รุ่น VAB-ECH 20 คัน) อาวุธต่อสู้รถถัง (อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังมากกว่า 80 คัน ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังต่อสู้รถถัง M40A1 350 คัน ปืนต่อสู้รถถังมากกว่า 36 คัน) ปืนใหญ่ 2,319 กระบอก (ปืนใหญ่อัตตาจร 357 เครื่อง ปืนใหญ่ลากจูง 118 เครื่อง เครื่องยิงลูกระเบิด 47 เครื่อง และปืนครก 1,797 เครื่อง) อากาศยานไร้คนขับ ISR รุ่น R4E-50 Skyeye เครื่องยิงอาวุธต่อสู้อากาศยาน (จรวดต่อสู้อากาศยานพื้นสู่อากาศ (SAM) มากกว่า 49 ลูก ปืนอัตตาจร 60 กระบอก และปืนลากจูง 330 กระบอก)
ทร. ได้แก่ เรือฟริเกต 3 ลำ เรือลาดตระเวนและเรือรบชายฝั่ง 53 ลำ เรือรบสะเทินน้ำสะเทินบก 5 ลำ เรือสนับสนุน 9 ลำ
ทอ. ได้แก่ เครื่องบินประมาณ 200 เครื่อง เช่น เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน เครื่องบินรวบรวมข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องบินขนส่ง เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์รุ่น SA342L Gazelle 19 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ขนส่ง 76 เครื่อง ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ (AAM) เช่น รุ่น R-550 Magic ขีปนาวุธอากาศสู่พื้นผิว (ASM) รุ่น AASM รุ่น AGM-65 Maverick รุ่น HOT ขีปนาวุธต่อต้านเรดาห์รุ่น AGM-88B HARM ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์รุ่น Paveway II และรุ่น GBU-54 Laser JDAM ระเบิดระบบนำร่องด้วยแรงเฉื่อย (INS) /GPS รุ่น GBU-31 JDAM
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ABEDA, ACCT (associate), AfDB, AFESD, AL, AMF, AMU, EBRD, ECA, FAO, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICCt, ICFTU, ICRM, IDA, IDB, IFAD, IFC, IFRCS, IHO (pending member), ILO, IMF, IMO, Intelsat, Interpol, IOC, IOM, ISO, ITF, ITU, NAM, OAS (observer), OIC, OPCW, OSCE (partner), UN, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, UPU, WCO, WHO, WIPO, WMO, WToO, WTrO.
การขนส่งและโทรคมนาคม ท่าอากาศยาน 62 แห่ง (ท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ 19 แห่ง) ท่าอากาศยานนานาชาติที่สำคัญ คือ ท่าอากาศยาน Mohammed V International Airport ในคาซาบลังกา ทางรถไฟระยะทาง
2,067 กม. ถนนระยะทาง 57,300 กม. และท่าเรือ 13 แห่ง ได้แก่ คาซาบลังกา, Jorf Lasfar, Port Nador, Safi, Tan Tan, Al Hoceima, Agadir, Essaouira, Kenitra, Larache, Mohammedia, Tangier และ Tanger-Mediterranean การโทรคมนาคม : โทรศัพท์พื้นฐานให้บริการ 2.39 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 48.6 ล้านเลขหมาย รหัสโทรศัพท์ +212 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 31.59 ล้านคน รหัสอินเทอร์เน็ต .ma เว็บไซต์การท่องเที่ยว :http://www.morocco-travel.com/, http://www.morocco.com/
การเดินทาง ไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-ราบัต หรือคาซาบลังกา ต้องต่อเที่ยวบินที่ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส หรืออิตาลี ซึ่งใช้เวลาเดินทางระหว่าง 16-30 ชม. (ขึ้นอยู่กับจุดต่อเครื่อง) เวลาในโมร็อกโกช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 6 ชม. การเดินทางเข้าโมร็อกโกต้องขอรับการตรวจลงตราโดยติดต่อที่ สอท.โมร็อกโก ณ กรุงเทพฯ
ความสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับโมร็อกโกเมื่อ 4 ต.ค.2528 โดยเมื่อ มี.ค.2537 ไทยเปิด สอท. ประจำราบัต ส่วนโมร็อกโกเปิด สอท. ณ กรุงเทพฯ เมื่อ ส.ค.2537 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโมร็อกโกเป็นไปอย่างราบรื่น และมีความพยายามที่จะพัฒนาสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ และมีกลไกเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคี เช่น การประชุม Political Consultations ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย สภาธุรกิจไทย-โมร็อกโก และกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-โมร็อกโก นอกจากนี้ โมร็อกโกเคยให้การสนับสนุนไทยในเวที OIC และแสดงความเข้าใจในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนไทยในการส่งเสริมอิสลามศึกษาตามแนวทางสายกลาง เพื่อต่อสู้กับแนวคิดของกลุ่มสุดโต่ง โดยโมร็อกโกให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีแก่นักศึกษาไทย จำนวน 15 ทุน เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2537 โดยนักศึกษาไทยส่วนใหญ่เรียนด้านอิสลามศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย Cadi Ayyad และมหาวิทยาลัย Mohammed V เป็นต้น
ปัจจุบัน โมร็อกโกต้องการขยายความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น รวมทั้งไทย ด้วยการเพิ่มความร่วมมือหลากหลายกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ให้ความสำคัญกับบทบาทการเป็นหุ้นส่วนทวิภาคีของอาเซียนกับโมร็อกโกในลักษณะเป็นความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation-SSC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจและวิชาการ ทั้งนี้ โมร็อกโกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia-TAC) เมื่อ 6 ก.ย.2559 โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคแอฟริกาและอาหรับที่เข้าร่วมในสนธิสัญญาดังกล่าว การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) และการสมัครเป็นคู่เจรจาเฉพาะสาขาของอาเซียน (Sectoral Dialogue Partner-SDP) เมื่อ 29 พ.ย.2559 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงความเกี่ยวพันระหว่างกัน ทั้งนี้ นโยบายต่างประเทศของโมร็อกโกต่อประเทศสมาชิกอาเซียนมีพัฒนาการที่ดีมาโดยตลอด โมร็อกโกมีความคืบหน้าในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างดี เฉพาะอย่างยิ่งกับมาเลเซีย เวียดนาม และไทย
การค้าระหว่างไทยกับโมร็อกโก เมื่อปี 2566 มีมูลค่า 122.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังโมร็อกโกมูลค่า 63.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 28.27%) และนำเข้าจากโมร็อกโกมูลค่า 59.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 36.22%) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า สินค้าที่ไทยนำเข้าจากโมร็อกโกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน ส่วนสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม,ปศุสัตว์) และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยในปี 2565 รัฐบาลมีแนวโน้มจะเผชิญปัญหาการก่อเหตุประท้วงของประชาชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวโมร็อกโกไม่พอใจการบริหารประเทศและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ โมร็อกโกยังเผชิญวิกฤตภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก เนื่องจากมีชาวโมร็อกโกอยู่ในภาคการเกษตรเกือบ 40% ของประชากรทั้งหมด
2) ปัญหาการก่อการร้าย โมร็อกโกเผชิญปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่ม Islamic State (IS) และกลุ่ม AQIM (Al-Qaida in the Islamic Maghreb) ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ โดยเป็นนักรบญิฮาดที่เป็นกลุ่มเล็กและเคลื่อนไหวอย่างอิสระ มีแกนนำที่มีความสามารถจึงอาจดึงดูดนักรบญิฮาดที่กลับจากอิรักและซีเรียมาเข้าร่วม และอาจชักชวนชายหนุ่มชาวต่างชาติ เฉพาะอย่างยิ่งจากยุโรป เพื่อเข้าร่วมกลุ่มและปฏิบัติการในต่างประเทศ โดยเมื่อปี 2564 ไม่ปรากฏเหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ แต่มีความพยายามสกัดกั้นแผนการก่อการร้ายและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม IS จำนวน 15 คน เมื่อ พ.ย.2564
3) ปัญหาข้อพิพาทดินแดนซาฮาราตะวันตก (Western Sahara) ระหว่างโมร็อกโกกับกลุ่ม Polisario Front ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันเพื่ออ้างสิทธิ์เหนือดินแดน Western Sahara ระหว่างปี 2518-2541 โดย UN เข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดทำข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 2541 และให้มีกองกำลัง UN ประจำ Western Sahara (United Nations Mission for the Referendum in Western Sahara-MINURSO) แต่ยังคงมีการปะทะกันบริเวณพรมแดนอยู่เป็นระยะจนถึงปัจจุบัน โดยโมร็อกโกต้องการแสวงประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอุดมไปด้วยฟอสเฟต แหล่งประมง และคาดว่ามีแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งด้วย และเป็นเส้นทางเดียวที่โมร็อกโกใช้เดินทางไปยังประเทศอื่นในแอฟริกา เนื่องจากมีการปิดพรมแดนติดกับแอลจีเรีย โดยต้องการให้ Western Sahara เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตน และให้เพียงอำนาจปกครองตนเองแก่ชาวซาห์ราวี (ชนดั้งเดิมที่อยู่ใน Western Sahara) เท่านั้น ในขณะที่กลุ่ม Polisario Front เรียกร้องให้มีการจัดการลงประชามติกำหนดใจตนเองเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากโมร็อกโก ปัจจุบันกระบวนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดินแดนซาฮาราตะวันตกยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายในอนาคตอันใกล้ แม้ว่านาย Staffan de Mistura ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติในประเด็นข้อพิพาทดินแดนซาฮาราตะวันตก เดินทางเยือนกรุงแอลเจียร์ ค่ายผู้ลี้ภัยของชาว Sahrawi ที่เมือง Tindouf แอลจีเรีย และกรุงนูแอกชอต มอริเตเนีย ในห้วงต้น ก.ย.2565 เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่การหารือยังไม่มีความคืบหน้า
4) ปัญหาผู้อพยพ โมร็อกโกประสบปัญหาผู้ลักลอบอพยพไปยังยุโรปทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เฉพาะอย่างยิ่งสเปน โดย EU ประเมินว่า มีผู้ลักลอบอพยพจากโมร็อกโกไปยุโรปประมาณปีละ 120,000 คน และมีผู้ถูกจับกุมและเสียชีวิตระหว่างเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกหลายพันคน นอกจากนี้ ในห้วงปี 2564-2565 ยังพบว่าผู้อพยพชาวแอฟริกันพยายามข้ามพรมแดนโมร็อกโกไปยังเมือง Ceuta และเมือง Melilla ของสเปนมากขึ้น ทั้งนี้ ยุโรปให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวแอฟริกา เนื่องจากกังวลกับปัญหาการก่อการร้าย