รัฐลิเบีย
State of Libya
เมืองหลวง ตริโปลี
ที่ตั้ง ตอนเหนือสุดของทวีปแอฟริกาบนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งอยู่ระหว่างตูนิเซียและแอลจีเรีย กับอียิปต์ ละติจูดที่ 25.0 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 17.00 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 1,759,540 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 18 ของโลก มีชายแดนทางบกยาว 4,339 กม. และมีชายฝั่งยาว 1,770 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (1,770 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับอียิปต์ (1,115 กม.)
ทิศใต้ ติดกับไนเจอร์ (342 กม.) ชาด (1,050 กม.) และซูดาน (382 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับตูนิเซีย (461 กม.) และแอลจีเรีย (989 กม.)
ภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง และเป็นลอนเนินขนาดเล็ก บางส่วนเป็นพื้นที่ราบสูง
วันชาติ 23 ต.ค. (ซึ่งเป็นวันปลดแอกจาก พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่อปี 2554)
Abdul Hamid Dbeibeh
(นรม.รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติลิเบีย)
ประชากร 7,252,573 คน (ปี 2566) แบ่งเป็น ชาวเบอร์เบอร์และอาหรับ 97% และอื่น ๆ 3% (กรีก มอลตา อิตาลี อียิปต์ ปากีสถาน ตุรกี อินเดีย และตูนิเซีย) อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 32.81% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 62.8% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.39% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวมประมาณ 77.42 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชายประมาณ 75.2 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิงประมาณ 79.76 ปี อัตราการเกิด 20.88 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 3.45 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.54%
ศาสนา อิสลาม (ซุนนี) 96.6% คริสต์ 2.7% พุทธ 0.3% ไม่ระบุ 0.2% และอื่น ๆ 0.2% (เช่น ฮินดู ยิว และศาสนาพื้นบ้าน)
ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ แต่ประชากรตามเมืองใหญ่สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ เช่น อิตาลี และอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีภาษาของชาวเบอร์เบอร์ (Nafusi, Ghadamis, Suknah, Awjilah และ Tamasheq)
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 91%
การก่อตั้งประเทศ ลิเบียอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเคยอยู่ภายใต้อาณาจักรกรีก โรมัน ไบแซนไทน์ ออตโตมัน และตั้งแต่ปี 2454 ลิเบียอยู่ภายใต้การปกครองของอิตาลี จนกระทั่งเมื่อ 21 พ.ย.2492 สมัชชาสหประชาชาติมีข้อมติให้ลิเบียได้รับเอกราชจากอิตาลี ทั้งนี้ ซัยยิด อิดรีส อัลมะฮ์ดี อัซซะนูซี เจ้าผู้ครองแคว้น Cyrenaica ซึ่งเป็นผู้นำการต่อต้านการปกครองของอิตาลีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้นำในการเจรจาจนนำไปสู่การประกาศเอกราชเมื่อ 24 ธ.ค.2494 ได้รับการสนับสนุนจาก สหราชอาณาจักรให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีอิดรีสที่ 1 กษัตริย์พระองค์แรกแห่งสหราชอาณาจักร ลิเบีย (ประกอบด้วย Cyrenaica Tripolitania และ Fezzan) โดยมีตริโปลีเป็นเมืองหลวง จนกระทั่งกลุ่มนายทหารที่นำโดย พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี (มูอัมมัร ก๊อษษาฟี) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากสมเด็จพระราชาธิบดีอิดรีส ขณะที่ทรงอยู่ระหว่างการเข้ารับการถวายการรักษาพระองค์ที่ตุรกี เมื่อ 1 ก.ย.2512 และเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐ จนกระทั่งในปี 2553 เกิดกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศกลุ่มอาหรับ (Arab spring) เริ่มต้นขึ้นในตูนิเซีย มีการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองต่าง ๆ ของลิเบียเมื่อปี 2554 ซึ่ง พ.อ.กัดดาฟี ใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงจนขยายวงกว้างเป็นกระแสต่อต้านและเป็นสงครามกลางเมือง และมีการแทรกแซงจาก North Atlantic Treaty Organization (NATO) ที่สนับสนุนกลุ่มกบฏ จนสามารถโค่นล้มรัฐบาลของ พ.อ.กัดดาฟี ได้เมื่อ 23 ต.ค.2554 ซึ่งต่อมากำหนดให้เป็นวันชาติของลิเบีย
การเมือง ลิเบียประสบปัญหาแตกแยกทางการเมือง การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ด้านน้ำมัน นับตั้งแต่การโค่นล้ม พ.อ.กัดดาฟี เมื่อปี 2554 ปัจจุบันลิเบียแบ่งเป็นสองฝ่ายที่สำคัญ คือ 1) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติลิเบีย (Government of National Unity-GNU) มีฐานที่มั่นในกรุงตริโปลีและทางตะวันตกของประเทศ เป็นรัฐบาลที่สหประชาชาติ (UN) ให้การรับรอง อีกทั้งสมาชิกสภาสูงสุด (Presidential Council-PC) และกลุ่ม High State Council (HSC) ให้การสนับสนุนรัฐบาลนี้ และ 2) รัฐบาล Government of National Stability (GNS) มีฐานที่มั่นในเมืองเบงกาซี ทางภาคตะวันออกและทางใต้ของลิเบีย สามารถควบคุมแหล่งน้ำมันที่สำคัญของลิเบีย และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม House of Representatives (HoR) และกลุ่ม Libyan National Army (LNA) ของจอมพล Khalifa Haftar
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายพยายามผลักดันกระบวนการฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ โดยกลุ่ม HoR และกลุ่ม HSC ร่วมจัดตั้งคณะกรรมการ “6+6 Committee” และให้ทั้งสองฝ่ายส่งผู้แทนฝ่ายละ 6 คน เข้าร่วมพิจารณาจัดทำร่างระเบียบจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2566 หลังการเลือกตั้งถูกเลื่อนมาตั้งแต่ 24 ธ.ค.2564 แต่ความร่วมมือดังกล่าวไม่คืบหน้าหลังกลุ่ม HoR อ้างว่า รัฐบาล GNS ไม่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ในวาระการผลักดันจัดการเลือกตั้งทั่วไปของลิเบีย
ฝ่ายบริหาร : การเจรจา Libyan Political Dialogue Forum (LPDF) ซึ่งมี UN เป็นตัวกลางเมื่อ 5 ก.พ.2564 มีมติแต่งตั้งสมาชิกสภาสูงสุด (Presidential Council-PC) จำนวน 3 คน โดยมีนาย Mohammed al-Menfi เป็นประธาน PC และแต่งตั้งนาย Abdul Hamid Dbeibah ให้ดำรงตำแหน่ง นรม.ลิเบีย ตั้งแต่ 15 มี.ค.2564 ทำหน้าที่ชั่วคราวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติลิเบีย แต่ลิเบียไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกำหนดเมื่อ ธ.ค.2564 และยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ลิเบียประสบปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้นจากการมี 2 รัฐบาล และ นรม. 2 คน ได้แก่ นาย Abdul Hamid Mohammed Dbeibah นรม.รัฐบาล GNU และนาย Osama Hammad นรม.รัฐบาล GNS ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 16 พ.ค.2566
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นแบบสภาเดี่ยว คือ House of Representatives (HoR) หรือ Majlis Al Nuwab มีสมาชิก 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ในจำนวนนี้สงวนไว้ให้สตรี 32 คน
ฝ่ายตุลาการ : ระบบตุลาการของลิเบียในปัจจุบันได้รับอิทธิพลมาจากสมุดปกเขียวของ พ.อ.กัดดาฟี แต่ปัจจุบันประสบปัญหาความไม่แน่นอนเนื่องจากผู้พิพากษาถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนร่วมกับระบอบการปกครองของ พ.อ.กัดดาฟี และยังไม่ทราบว่าลิเบียจะใช้ระบบกฎหมายใดในอนาคต ทั้งนี้ ศาลแพ่งและศาลอาญามีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายในทางทฤษฎี ในขณะที่ศาลศาสนาดูแลด้านสถานะส่วนบุคคลตามกฎหมายอิสลามและจารีตประเพณีของชนเผ่า ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมลิเบียหยุดชะงักตั้งแต่ปี 2554 และมีผู้พิพากษาหลายคนถูกลอบสังหาร
เศรษฐกิจ ลิเบียเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของลิเบียเมื่อปี 2565 หดตัวจากปี 2564 เป็นผลจากการขัดขวางการผลิตน้ำมัน เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงผลกระทบจากโรค COVID-19 และวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจลิเบียขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอน แต่คาดว่าเศรษฐกิจลิเบียจะเติบโต 17.9% ในปี 2566 และ 8% ในปี 2567 จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอนและราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับควบคุมที่ 4.5% ในปี 2566 และ 4.6% ในปี 2567 นอกจากนี้ สถาบันการเงินของประเทศและนโยบายทางการเงินจะมีเสถียรภาพขึ้นหลังธนาคารกลางลิเบียในฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่แบ่งเป็นสองฝ่ายตั้งแต่ปี 2557 กลับมาควบรวมเมื่อ 20 ส.ค.2566
สกุลเงิน ตัวย่อสกลุเงิน : ดีนาร์ลิเบีย (Libyan Dinar-LYD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 4.83 LYD
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 0.14 LYD
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 45,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -1.2%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 6,716.1 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 2,318,929 คน
อัตราการว่างงาน : 20.7%
อัตราเงินเฟ้อ : 4.5%
ผลผลิตทางการเกษตร : ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ มะกอก ผลอินทผลัม ต้นไม้จำพวกมะนาวและส้ม ผัก ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และปศุสัตว์
ผลผลิตอุตสาหกรรม : น้ำมันปิโตรเลียม สารที่ได้จากน้ำมันปิโตรเคมี อะลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า อาหาร สิ่งทอ งานฝีมือ และปูนซีเมนต์
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : 14,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 35,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : น้ำมันดิบ น้ำมันกลั่น ทองคำ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เศษเหล็ก
ประเทศส่งออกสำคัญ : อิตาลี เยอรมนี สเปน จีน และฝรั่งเศส
มูลค่าการนำเข้า : 21,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : น้ำมันกลั่น ยาสูบ อุปกรณ์การกระจายเสียง รถยนต์ เครื่องประดับ และข้าวสาลี
ประเทศนำเข้าสำคัญ : ตุรกี กรีก จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอิตาลี
(ข้อมูลส่วนใหญ่จาก World Bank และเว็บไซต์ Statista)
การทหาร กองทัพของลิเบียอยู่ในสภาพการเปลี่ยนผ่านหลังจากการโค่นล้ม พ.อ.กัดดาฟี เมื่อปี 2554 โดยกองทัพเดิมถูกยุบเลิก และแยกตัวไปเข้าร่วมเป็นกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายรัฐบาล Government of National Accord (GNA) ของอดีต นรม. Fayez al-Sarraj ปัจจุบันคือ รัฐบาล GNU กับฝ่าย LNA นำโดยจอมพล Haftar โดยกองกำลังของทั้งสองฝ่ายประกอบด้วยหน่วยกองกำลังกึ่งทหาร ชนเผ่า และพลเรือนติดอาวุธ มีการฝึกอบรมค่อนข้างต่ำ ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนทางทหารจากต่างประเทศ ได้แก่ รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) สนับสนุนฝ่าย LNA ส่วนตุรกี สนับสนุนฝ่าย GNU ทั้งนี้ ลิเบียไม่มีขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธขึ้นเองในประเทศ
ยุทโธปกรณ์สำคัญ ฝ่าย GNU ทบ. ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) รุ่น T-55 และ T-72 ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ (IFV) รุ่น BMP-2 ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) ประเภทต่าง ๆ ยานอรรถประโยชน์หุ้มเกราะ (AUV) รุ่น Lenco Bearcat G3 และรุ่น Nimr Ajban ยานหุ้มเกราะกู้ภัย (ARV) รุ่น Centurion 105 AVRE อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง (MSL) รุ่น 9P157-2 Khrizantema-S ปืนใหญ่อัตตาจร (SP) รุ่น Palmaria และปืนใหญ่ลากจูง (TOWED) รุ่น D-30 ขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานพื้นสู่อากาศ (SAM) รุ่น QW-18 (CH-SA-11) และปืนอัตตาจรต่อต้านอากาศยานรุ่น ZPU-2 และรุ่น ZU-32-2
ทร. ได้แก่ เรือลาดตระเวนชายฝั่ง มากกว่า 3 ลำ เรือยกพลขึ้นบก 1 ลำ เรือส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน 2 ลำ กองกำลังชายฝั่ง ได้แก่ เรือลาดตระเวน และเรือรบชายฝั่ง 10 ลำ
ทอ. ได้แก่ เครื่องบินโจมตีพื้นดิน (FGA) รุ่น MiG-23BN 2 เครื่อง เครื่องบินโจมตี (ATK) รุ่น J-21 Jastrebt 1 เครื่อง เครื่องบินฝึกรบ (TRG) รุ่น G-2 Galeb รุ่น L-39ZO รุ่น SF-260 รวมมากกว่า 10 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี (ATK) รุ่น Mi-24 Hind เฮลิคอปเตอร์ขนส่ง (TPT) รุ่น Mi-17 Hip และขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศ (AAM)
ฝ่าย LNA หรือกองกำลัง Libyan Arab Armed Forces (LAAF) ทบ. ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) รุ่น T-55 T-62 และ T-72 ยานหุ้มเกราะลาดตระเวน (RECCE) รุ่น BRDM-2 และ EE-9 Cascavel ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ (IFV) รุ่น BMP-1 และ Ratel-20 ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) รุ่น M113 รุ่น Al-Mared รุ่น BTR-60PB รุ่น Mbombe-6 รุ่น Nimr Jais รุ่น Puma รุ่น Al-Wahsh รุ่น Caiman รุ่น Streit Spartan และรุ่น Streit Typhoon ยานอรรถประโยชน์หุ้มเกราะ (AUV) รุ่น Panthera T6 และ Panthera F9 อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง (MSL) ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังต่อสู้รถถัง (RCL) ปืนใหญ่อัตตาจร (SP) รุ่น 2S1 Gvodzika และปืนใหญ่ลากจูง (TOWED) รุ่น D-30 ปืนใหญ่ยิงระเบิด (MRL) รุ่น Type-63 และรุ่น BM-21 Grad และเครื่องยิงลูกระเบิด MOR รุ่น M106 ขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ (SAM) และปืนอัตตาจรต่อต้านอากาศ
ทร. ได้แก่ เรือลาดตระเวนชายฝั่ง มากกว่า 7 ลำ เรือส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน 1 ลำ
ทอ. ได้แก่ เครื่องบินขับไล่ (FTR) รุ่น MiG-23 Flogger 14 เครื่อง โจมตีพื้นดิน (FGA) 13 เครื่อง เครื่องบินฝึกรบ (TRG) 19 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี (ATK) รุ่น Mi-24/35 Hind เฮลิคอปเตอร์ขนส่ง (TPT) รุ่น Mi-8/Mi-17 Hip และขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศ (AAM)
ปัญหาด้านความมั่นคงที่น่าติดตาม
1) สถานการณ์ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงของประเทศ หลังจาก
การโค่มล้ม พ.อ.กัดดาฟี ลิเบียเริ่มเกิดการสู้รบรุนแรงมากขึ้นในกรุงตริโปลี เมื่อจอมพล Haftar เคลื่อนกำลังจากฐานที่มั่นทางภาคตะวันออกของลิเบีย รุกโจมตีเพื่อหวังยึดตริโปลีจากฝ่ายรัฐบาลลิเบีย ตั้งแต่ 4 เม.ย.2562
โดยจอมพล Haftar ระบุว่า เพื่อปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มอาชญากรรมที่เชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล Government of National Accord (GNA) ของอดีต นรม.Fayez al-Sarraj (ก่อนเปลี่ยนเป็นรัฐบาล GNU ในปัจจุบัน) ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงหยุดยิงถาวรที่เจนีวา สวิตเซอร์เเลนด์ เมื่อ 23 ต.ค.2563 และมีการจัดประชุม Libyan Political Dialogue Forum (LPDF) เมื่อ 5 ก.พ.2564 มีมติแต่งตั้งสมาชิกสภาสูงสุด (PC) และ นรม.ลิเบียชั่วคราวภายใต้รัฐบาล GNU เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งเมื่อ 24 ธ.ค.2564 แต่ลิเบียไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามกำหนดได้จนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีแนวโน้มว่าปัญหาการเมืองของลิเบียจะคลี่คลาย โดยเฉพาะปัจจุบันที่ลิเบียมี นรม.สองคน และกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมืองหลายกลุ่มดูแลฐานที่มั่นทางตะวันออก (รัฐบาล GNS) และตะวันตก (รัฐบาล GNU)
2) ปัญหาการก่อการร้าย ลิเบียมีกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ เป็นจำนวนมากหลังจากการโค่นล้ม พ.อ.กัดดาฟี อีกทั้งยังมีความพยายามของกลุ่มก่อการร้ายสากลที่อาจอาศัยสภาพไร้กฎหมายในลิเบีย เพื่อเข้ามาแสวงประโยชน์ โดยใช้เป็นแหล่งพักพิง การฝึกอบรม และเป็นฐานที่มั่น โดยเฉพาะกลุ่มก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ และกลุ่ม Islamic State (IS) ที่อาจกลับมายึดลิเบียเป็นฐานที่มั่นในแอฟริกา ก่อนหน้านี้เคยยึดเมือง Sirte เมื่อปี 2558 แต่ถูกขับไล่เมื่อ ธ.ค.2559 โดยกลุ่ม IS มีแนวโน้มก่อเหตุทางตอนกลางและทางใต้ของลิเบีย มุ่งเป้าหมายชาวต่างชาติและผลประโยชน์ของชาวต่างชาติในลิเบีย โดยเฉพาะในเมือง Tripolitania และเมือง Murzuq นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังติดอาวุธที่มุ่งโจมตีภาคส่วนพลังงานในเมือง Sirte และเมือง Murzuq เพื่อควบคุมแหล่งน้ำมัน รวมทั้งแรงงานต่างชาติในบริษัทน้ำมันยังเสี่ยงถูกลักพาตัวสูง ทั้งนี้ การโจมตีแหล่งน้ำมันของลิเบีย จะส่งผลกระทบด้านพลังงานโลกทำให้ปริมาณและราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดความผันผวนและอาจปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากลิเบียเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำมันที่สำคัญของโลก ส่งออกน้ำมันไปยังตลาดยุโรปเป็นหลัก ได้แก่ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
3) ปัญหาการแทรกแซงจากต่างชาติ มหาอำนาจและหลายประเทศในตะวันออกกลางและยุโรปมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการสู้รบระหว่างสองรัฐบาล ผลักดันให้การเลือกตั้งทั่วไปของลิเบียล่าช้า รวมถึงตั้งฐานทัพทหารหลายแห่งในลิเบีย เพื่อแสวงประโยชน์จากกรณีลิเบียเป็นประเทศส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ชาติตะวันตกกังวลต่อการตั้งฐานที่มั่นของกลุ่มวากเนอร์ (Wagner Group) บริษัททหารรับจ้างของรัสเซียในลิเบีย รวมถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างจอมพล Haftar กับรัสเซีย อาจผลักดันการตั้งฐานทัพเรือของรัสเซียในพื้นที่ตะวันออกของลิเบีย
4) ปัญหาผู้อพยพชาวแอฟริกาที่ยังนิยมใช้ลิเบียเป็นทางผ่านข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อต่อไปยังยุโรปในการแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ABEDA, AfDB, AFESD, AMF, AMU, AU, BDEAC, CAEU, COMESA, FAO, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICRM, IDA, IDB, IFAD, IFC, IFRCS, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, LAS, MIGA, NAM, OAPEC, OIC, OPCW, OPEC, PCA, UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UNWTO, UPU, WCO, WFTU, WHO, WIPO และ WMO นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สังเกตการณ์ของ WTO
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลิเบียส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะให้ความสำคัญในด้านการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิศวปิโตรเคมี นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ โดยมีเตาปฏิกรณ์วิจัยนิวเคลียร์ขนาด 10 เมกะวัตต์ที่เมืองตาจญ์รออ์
การขนส่งและโทรคมนาคม ท่าอากาศยานพาณิชย์ 8 แห่ง โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติสำคัญ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติตริโปลี ส่วนท่าเรือ 17 แห่ง ที่สำคัญ ได้แก่ Az Zawiyah, Marsa al Burayqah, Ra’s Lanuf และ Tripoli ท่อส่งน้ำมันที่ Az Zawiyah และ Ra’s Lanuf ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหลวที่ Marsa el Brega ถนนระยะทาง 100,024 กม. ท่อส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมระยะทาง 11,630 กม. การโทรคมนาคม : โทรศัพท์พื้นฐานให้บริการประมาณ 1.58 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 13.90 ล้านเลขหมาย รหัสโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ +218 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคิดเป็น 21.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมด รหัสอินเทอร์เน็ต .ly
การเดินทาง สายการบินลิเบียไม่มีเที่ยวบินตรงมายังกรุงเทพฯ ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปลิเบียต้องต่อเครื่องบินในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ตุรกี หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวลาที่ลิเบียช้ากว่าไทย 5 ชม. นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าลิเบียต้องขอรับการตรวจลงตราที่ สอท.ลิเบียประจำกรุงเทพฯ
ความสัมพันธ์ไทย-ลิเบีย
ลิเบียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยเมื่อ 16 มี.ค.2520 และไทยเปิด สอท. ประจำตริโปลี เมื่อ 5 มี.ค.2552 โดยให้มีเขตอาณาครอบคลุมไนเจอร์ ชาด และตูนิเซีย ต่อมาเมื่อปี 2557 สอท.ไทย ประจำตริโปลี ปิดดำเนินงานชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในลิเบีย ปัจจุบันมอบหมายให้ สอท.ไทย ประจำโรม อิตาลี ดูแลลิเบีย ขณะที่ฝ่ายลิเบียมอบหมายให้ สอท.ลิเบีย ประจำมะนิลา ฟิลิปปินส์ มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย รวมทั้งต้องการเปิด สอท.ลิเบีย ขึ้นในไทย ที่ผ่านมา ลิเบียได้ให้การสนับสนุนมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าของมูลนิธิสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และให้การสนับสนุนการก่อสร้างอาคารลิเบียเป็นที่ทำการของมูลนิธิดังกล่าว และใช้เป็นอาคารเรียนสำหรับเยาวชนไทยมุสลิมด้วย
ด้านเศรษฐกิจ การค้าไทย-ลิเบีย ปี 2565 มีมูลค่า 74,213 ล้านบาท โดยไทยส่งออกมูลค่า 8,159 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 66,054 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า 57,895 ล้านบาท ในช่วง ม.ค.-ต.ค.2566 มูลค่าการค้าอยู่ที่ 43,731 ล้านบาท โดยไทยส่งออกมูลค่า 6,806 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 36,925 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า 30,119 ล้านดอลลาร์บาท
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สินค้ากสิกรรม รองเท้าและชิ้นส่วน ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้านำเข้าสำคัญจากลิเบีย ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลวดและสายเคเบิล (ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)