สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
Arab Republic of Egypt
เมืองหลวง กรุงไคโร
ที่ตั้ง ภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 22-31 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 25-38 องศาตะวันออก โดยตั้งอยู่ทางใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมตะวันออกกลางกับแอฟริกา มีพื้นที่ 1,001,450 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 31 ของโลก และใหญ่กว่าไทย 2 เท่า มีชายแดนทางบกยาว 2,612 กม. และมีชายฝั่งยาว 2,450 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทิศใต้ ติดกับซูดาน (1,276 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ (13 กม.) อิสราเอล (208 กม.) และทะเลแดง
ทิศตะวันตก ติดกับลิเบีย (1,115 กม.)
ภูมิประเทศ เป็นที่ราบสูงและทะเลทรายกว้างใหญ่ มีแม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำสายหลัก ไหลผ่านกลางประเทศและมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น พื้นที่ทางตะวันออกเป็นที่ราบสูง โดยเฉพาะคาบสมุทรไซนาย มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,629 ม. ส่วนทางตะวันตกเป็นทะเลทรายลิเบีย ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 133 ม. โดยบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่เพาะปลูกมีเพียง 2.87%
ภูมิอากาศ แบบทะเลทราย ปริมาณฝนน้อย มีแสงแดดตลอดปี มี 2 ฤดูหลัก คือ ฤดูหนาวระหว่าง พ.ค.-ก.ย. ที่เหลือเป็นฤดูร้อน มีอากาศร้อนจัด ภัยธรรมชาติ ประสบภัยแล้งเป็นบางช่วง มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง น้ำท่วมฉับพลัน แผ่นดินถล่ม พายุลมร้อนที่เรียกว่า Khamsin ในช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน พายุฝุ่น และพายุทราย
ศาสนา อิสลาม 90% (ส่วนใหญ่เป็นซุนนี) คริสต์ 10% (ส่วนใหญ่นับถือนิกายคอปติก ที่เหลือเป็นอาร์เมเนียอโพสทอลิก คาทอลิก มาโรไนต์ ออร์ทอดอกซ์ และแองกลิกัน)
ภาษา ภาษาราชการ คือ ภาษาอาหรับ ส่วนภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษใช้กันโดยทั่วไปในกลุ่มผู้มีการศึกษา
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 73% ระบบการศึกษาแบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี มัธยมปลาย 3 ปี (มีทั้งสายอาชีพและสายสามัญ) และอุดมศึกษา
วันชาติ 23 ก.ค. (Revolution Day เมื่อปี 2495)
นายอับดุลฟัตตาห์ อัซซีซี
Abdel Fattah El Sisi
(ประธานาธิบดีอียิปต์)
ประชากร 110,990,103 คน (ต.ค.2566)
รายละเอียดของประชากร เป็นชาวอียิปต์ 99.7% (ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ คือ Fallaheen, Bedouin และ Nubian) และอื่น ๆ 0.3% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ: วัยเด็ก (0-14 ปี) 33% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน(15-64 ปี) 62% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 5% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวมประมาณ 70 ปี อายุเฉลี่ยเพศชายประมาณ 68 ปี อายุเฉลี่ยเพศหญิงประมาณ 73 ปี อัตราการเกิด 23 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 6 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.6%
การก่อตั้งประเทศ อียิปต์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี ก่อตั้งเป็นอาณาจักรตั้งแต่ 3,200 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะตกอยู่ใต้การปกครองของทั้งกรีก โรมัน และไบแซนไทน์ จนกระทั่งในยุคสมัยใหม่อียิปต์ถูกสหราชอาณาจักรเข้ายึดครองเมื่อ ก.ค.2425 และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 สหราชอาณาจักรประกาศให้อียิปต์เป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวอียิปต์เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช และได้รับเอกราชเมื่อปี 2465 ในระยะแรกที่เป็นเอกราชอียิปต์ปกครองโดยราชวงศ์มุฮัมมัด อะลี ที่สืบเชื้อสายจากสุลต่านแห่งอียิปต์ โดยสุลต่านฟูอาดได้สถาปนาพระองค์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีฟูอาดที่ 1 หลังจากนั้นมีกษัตริย์ปกครองอีกสองพระองค์ คือ สมเด็จพระราชาธิบดีฟารูกที่ 1 และสมเด็จพระราชาธิบดีฟูอาดที่ 2 ก่อนที่ระบอบกษัตริย์จะสิ้นสุด โดยถูกรัฐประหารและเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ตั้งแต่ มิ.ย.2496 จนถึงปัจจุบัน
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และ นรม.เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยการออกเสียงลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 ระหว่าง 19-22 เม.ย.2562 ครอบคลุมการขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากเดิม 4 ปี เป็น 6 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 3 สมัย ส่วน นรม. มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี และเป็นผู้จัดตั้ง ครม. โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ ประธานาธิบดีอับดุลฟัตตาห์ อัซซีซี ผู้ทำรัฐประหาร เมื่อ 3 ก.ค.2556 และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งต่อเนื่อง 3 สมัย ได้แก่ สมัยที่ 1 เมื่อ 8 พ.ค.2557 และสมัยที่ 2 เมื่อ 2 เม.ย.2561 และสมัยที่ 3 เมื่อ 12 ธ.ค.2566 และอยู่ระหว่างประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสองสภา คือ วุฒิสภา (Majlis Al-Shiyoukh) ) ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 300 คน ที่มาจาก 1) การเลือกตั้งระบบแบ่งเขต 100 คน 2) การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และ 3) การแต่งตั้งของประธานาธิบดี 100 คน ทั้งนี้ อียิปต์รื้อฟื้นการมีวุฒิสภาอีกครั้งจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 และได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ มิ.ย.2563 หลังจากยกเลิกเมื่อปี 2555 เนื่องจากเกิดเหตุประท้วงในช่วงอาหรับสปริงโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก เมื่อปี 2554
สภาผู้แทนราษฎร (Majlis al–Nowaab) ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 596 คน มีที่มาจาก 1) การเลือกตั้งระบบแบ่งเขต 448 คน 2) เลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ 120 คน โดยมีการกำหนดที่นั่งสงวนไว้สำหรับสตรี เยาวชน ชาวคริสต์ และแรงงาน และ 3) มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี 28 คน
วาระดำรงตำแหน่งของทั้ง สส. และ สว.คราวละ 5 ปี โดยการเลือกตั้ง สว.ครั้งแรก หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 จัดขึ้นเมื่อ ส.ค.-ก.ย.2563 ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2568 และการเลือกตั้ง สส. ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ ต.ค.-พ.ย.2563
ฝ่ายตุลาการ : ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการศาลทั้งหมดในอียิปต์ อัยการสูงสุด และประธานศาลรัฐธรรมนูญ ศาลที่สำคัญ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด (Supreme Constitutional Court-SCC) ประกอบด้วยประธานศาลและผู้พิพากษา 10 คน มีอำนาจในการชี้ขาดว่ากฎหมายและคำพิพากษาของศาลต่าง ๆ สอดคล้องหรือขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา (Court of Cassation-CC) ประกอบด้วย ประธานศาลและผู้พิพากษา 550 คน โดยการพิจารณาคดีจะประกอบด้วยคณะผู้พิพากษา 5 คน มีอำนาจตัดสินคดีแพ่งและอาญาทั่วไป และศาลปกครองสูงสุด (Supreme Administrative Court-SAC) มีอำนาจในการพิจารณาคดีปกครองต่าง ๆ ส่วนศาลอื่น ๆ ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลครอบครัว และศาลพิเศษ เช่น ศาลทหาร และศาลคดีความมั่นคง
พรรคการเมือง : ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในรัฐสภาอียิปต์ ได้แก่ เช่น พรรค Nation’s Future ซึ่งมี สส.มากที่สุดในรัฐสภาจำนวน 316 คน พรรค Independents พรรค Republican People’s พรรค New Wafd และพรรค Homeland Defenders นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มการเมืองนอกสภาที่สำคัญ คือ พรรค Free Egyptians Party และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม Muslim Brotherhood ซึ่งอียิปต์ประกาศขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายและกลายเป็นกลุ่มนอกกฎหมายเมื่อ ธ.ค.2556 โดยแกนนำกลุ่ม Muslim Brotherhood ซึ่งมีฐานที่มั่นในตุรกีและกาตาร์ยังคงเคลื่อนไหวด้วยการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพและประธานาธิบดีของอียิปต์
เศรษฐกิจ
รัฐบาลอียิปต์เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นแบบตลาดเสรี เมื่อปี 2532 ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงปี 2547-2551 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ยังยากจน ขณะที่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและความไม่สงบภายในประเทศส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยว จึงทำให้รัฐบาล ชุดปัจจุบันต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ และรัฐรอบอ่าวอาหรับ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอียิปต์พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การส่งเงินกลับมาประเทศของชาวอียิปต์ที่ไปทำงานในต่างประเทศ และการเก็บค่าผ่านทางของคลองสุเอซ
เศรษฐกิจของอียิปต์ในปี 2566 เผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อและซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่หลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้อียิปต์ประสบปัญหาเศรษฐกิจหลายด้าน ที่สำคัญดังนี้
1) อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 39.7 เมื่อ ก.ย.66 กระทบโดยตรงต่ออัตราค่าครองชีพของกลุ่มคนรายได้ต่ำ-ปานกลาง และความพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจตามนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เช่น การลดค่าเงินปอนด์อียิปต์ การลดเงินอุดหนุน
2) ภาวะหนี้สาธารณะสูงกว่าร้อยละ 92 ของเศรษฐกิจมวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณของรัฐในการชำระหนี้ ส่งผลให้งบประมาณสำหรับการลงทุนภาครัฐอื่น ๆ ลดน้อยลง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข
3) เศรษฐกิจอียิปต์พึ่งพาแหล่งรายได้จากภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เผชิญผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมาก ประกอบกับบริษัทใหญ่หลายแห่งของอียิปต์เป็นธุรกิจในเครือกองทัพ ทำให้ภาคเศรษฐกิจไม่กระจายสู่ภาคเอกชนมากนัก
4) สกุลเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 50 ภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างรุนแรงจนกระทบต่อการนำเข้าและอุตสาหกรรมในท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ
5) ความล่าช้าในการดำเนินการตามเงื่อนไขเงินกู้ของ IMF มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลงนามเมื่อ ธ.ค.65
รัฐบาลอียิปต์มุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจแบบครอบคลุมรอบด้าน อาทิ การลงทุน นโยบายแข่งขันทางการค้า การขายกิจการรัฐวิสาหกิจ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศเพื่อเพิ่มการส่งออกและลดการนำเข้า การกระตุ้นการจ้างงาน การสนับสนุนภาคเอกชน รวมถึงการพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งต้องติดตามและประเมินผลความสำเร็จของนโยบายในระยะยาว อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลอียิปต์กู้เงินกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นั้นไม่ก่อให้เกิดกำไรในระยะสั้น และบางโครงการยังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ ส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณโดยไม่พิจารณาตามหลักความจำเป็น เพราะภาคส่วนสำคัญอื่น ๆ เช่น การแพทย์ การศึกษา ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ
ขณะที่การก่อสร้างเมืองหลวงบริหารแห่งใหม่ (New Administrative Capital–NAC) ระยะที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 70 เมื่อ มิ.ย.66 โดยหน่วยงานรัฐเริ่มทยอยย้ายที่ตั้งไปยังเขตทำการของรัฐบาลใน NAC แล้วบางส่วน ทั้งนี้ อียิปต์เริ่มก่อสร้างเมือง NAC ตั้งแต่ปี 2559 โดยออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงไคโรประมาณ 50 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 714 ตร.กม. มีเป้าหมายลดความหนาแน่นของประชากรในกรุงไคโร โดยเมือง NAC สามารถรองรับประชากรได้กว่า 6.5 ล้านคน และสร้างตำแหน่งงานกว่า 2 ล้านตำแหน่ง
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ปอนด์อียิปต์ (Egyptian Pound-EGP)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 30.93 EGP
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 0.86 EGP (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2565)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 476,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 6.6%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 4,585.33 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 31,166,284 คน
อัตราการว่างงาน : 6.96%
อัตราเงินเฟ้อ : 13.9%
ผลผลิตการเกษตร : ฝ้าย ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่ว ผลไม้ ผัก และปศุสัตว์
ผลผลิตอุตสาหกรรม : สิ่งทอ อาหารแปรรูป การท่องเที่ยว เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ ไฮโดรคาร์บอน การก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ โลหะ และอุตสาหกรรมเบา
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 10,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 71,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผักและผลไม้ ฝ้าย สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์ และอาหารแปรรูป
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : ตุรกี สเปน อิตาลี ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร อินเดีย เยอรมนี
มูลค่าการนำเข้า : 104,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหาร เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้ และเชื้อเพลิง
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี รัสเซีย
ทรัพยากรธรรมชาติ : ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ แร่เหล็ก ฟอสเฟต แมงกานีส หินปูน แร่ทัลก์ แร่ใยหิน ตะกั่ว แร่หายาก และสังกะสี
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : งบประมาณทางทหารเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 4,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.1% ของ GDPอียิปต์มีขนาดกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา กองทัพอียิปต์ประกอบด้วย ทบ. ทร. ทอ. และหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กำลังพลรวม 438,500 นาย ทบ. 310,000 นาย ทร. 18,500 นาย ทอ. 30,000 นาย หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ 80,000 นาย นอกจากนี้ อียิปต์มีกองกำลังกึ่งทหาร 397,000 นาย และทหารกองหนุน 479,000 นาย (ทบ. 375,000 นาย ทร. 14,000 นาย ทอ. 20,000 นาย และหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ 70,000 นาย)
อียิปต์ส่งกำลังพลเข้าร่วมภารกิจกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ได้แก่ ภารกิจ MINUSCA ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง จำนวน 1,025 นาย ภารกิจ MONUSCO ในคองโก จำนวน 11 นาย ภารกิจ MINUSMA ในมาลี จำนวน 1,052 นาย ภารกิจ UNMISS ในเซาท์ซูดาน จำนวน 5 นาย และภารกิจ MINURSO ใน Western Sahara จำนวน 22 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ
ทบ. ได้แก่ รถถัง (MBT) 2,480 คัน (รุ่น M1A1 Abrams 1,130 คัน รุ่น M60A1 300 คัน รุ่น M60A3 850 คัน และรุ่น T-62 200 คัน) ยานหุ้มเกราะลาดตระเวน (RECCE) 412 คัน (รุ่น BRDM-2 300 คัน และรุ่น Commando Scout 112 คัน) ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ (IFV) 690 คัน (รุ่น YPR-765 25mm 390 คัน และรุ่น BMP-1 300 คัน) ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) มากกว่า 5,244 คัน ยานหุ้มเกราะอเนกประสงค์ (AUV) รุ่น Panthera T6 มากกว่า 173 คัน และรุ่น Sherpa Light Scout 173 คัน) ยานหุ้มเกราะกู้ภัย (ARV) มากกว่า 367 คัน สะพานปล่อยรถหุ้มเกราะ (VLB) รุ่น KMM รุ่น MTU และรุ่นMTU-20 ยานกู้ภัยทุ่นระเบิด (MW) รุ่น Aardvark JFSU Mk4 ปืนใหญ่ 4,468 กระบอก (ปืนใหญ่อัตตาจร (SP) มากกว่า 492 เครื่อง ปืนใหญ่ลากจูง (TOWED) 962 เครื่อง เครื่องยิงลูกระเบิด (MRL) 450 เครื่อง และ MOR 2,564 เครื่อง ขีปนาวุธพื้นสู่พื้นมากกว่า 45 เครื่อง
ทร. ได้แก่ เรือดำน้ำโจมตี (SSK) 8 ลำ (รุ่น Type-033 (PRC Romeo) 4 ลำ และรุ่น Type-209/1400 4 ลำ) เรือฟริเกต 12 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิด 14 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง23 ลำ
ทอ. ได้แก่ เครื่องบิน 509 เครื่อง เช่น เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน และเครื่องบินรวบรวมข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์ เฮลิคอปเตอร์ 308 เครื่อง เช่น เฮลิคอปเตอร์โจมตี รุ่น AH-64D และเฮลิคอปเตอร์รวบรวมข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์รุ่น Commando Mk2E อากาศยานไร้คนขับอย่างน้อย 5 เครื่อง (รุ่น Wing Loong และรุ่น R4E-50 Skyeye) ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ-AAM (เช่น รุ่น R-73 รุ่น R-550 Magic) ขีปนาวุธอากาศสู่พื้น-ASM (เช่น รุ่น AASM รุ่น HOT รุ่น 9M120 Ataka) อาวุธปล่อยนำวิถีร่อนโจมตีภาคพื้นดิน (LACM) รุ่น SCALP EG ขีปนาวุุธต่อต้านเรือ (AShM) รุ่น AGM-84L Harpoon Block II รุ่น AM39 Exocet และรุ่น Kh-35U ขีปนาวุธต่อต้านการแผ่รังสี (ARM) รุ่น Armat และรุ่น Kh-25MP และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์รุ่น GBU-10/12 Paveway II
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ABEDA, AfDB, AFESD, AMF, AU, BSEC (ผู้สังเกตการณ์), CAEU, CD, CICA, COMESA, D-8, EBRD, FAO, G-15, G-24, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (คณะกรรมการแห่งชาติ), ICRM, IDA, IDB, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, LAS, LCBC (ผู้สังเกตการณ์), MIGA, MINURSO, MINUSMA, MONUSCO, NAM, OAPEC, OAS (ผู้สังเกตการณ์), OIC, OIF, OSCE (ประเทศคู่เจรจา), PCA, UN, UNAMID, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, UNISFA, UNMISS, UNOCI, UNRWA, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO และ WTO
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นภารกิจของสำนักวิทยาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วิจัยแห่งชาติตั้งอยู่ในไคโร มีหน้าที่ค้นคว้าความรู้ใหม่ทางวิชาการ และเพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์ อียิปต์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ การชลประทานและการระบายน้ำ โดยเฉพาะการเกษตรที่ใช้ระบบน้ำหยดและโรงเพาะปลูกในระบบปิด การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านสารสนเทศ
การขนส่งและโทรคมนาคม มีท่าอากาศยานพาณิชย์ 20 แห่ง ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 7 แห่ง ท่าเรือ 35 แห่ง มีถนนระยะทาง 65,050 กม. และมีระบบรถไฟใต้ดิน Cairo Metro ทางรถไฟ5,085 กม. เส้นทางสัญจรทางน้ำ 3,500 กม. โดยมีคลองสุเอซเป็นเส้นทางขนส่งทางพาณิชย์ที่สำคัญของอียิปต์และของโลก มีโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการ 11.6 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 103.44 ล้านเลขหมาย รหัสโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ +20 จำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 72% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร รหัสอินเทอร์เน็ต .eg
การเดินทาง สายการบินไทยไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ–ไคโร แต่สายการบิน Egypt Air มีเที่ยวบินตรงมายังกรุงเทพฯ ระยะเวลาในการบินประมาณ 9 ชม. 33 นาที เวลาที่อียิปต์ช้ากว่าไทย 5 ชม. คนไทยที่จะเดินทางเข้าอียิปต์ต้องยื่นขอรับการตรวจลงตรา เว็บไซต์ท่องเที่ยว www.egypt.travel
ความสัมพันธ์ไทย-อียิปต์
ไทยกับอียิปต์สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อ 27 ก.ย.2497 โดยอียิปต์เป็นประเทศแรกในกลุ่มอาหรับที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และมีความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยดีตลอดมา โดยต่างสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ทางการค้า อียิปต์เป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 46 ของไทยเมื่อปี2565 มีมูลค่าการค้า 43,023 ล้านบาท ไทยส่งออกไปอียิปต์มูลค่า 35,680 ล้านบาท และนำเข้าจากอียิปต์มูลค่า 7,343 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 28,336 ล้านบาท และในห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 การค้าระหว่างไทย-อียิปต์มีมูลค่า 18,417 ล้านบาท ไทยส่งออกไปอียิปต์มูลค่า 17,242 ล้านบาท และนำเข้าจากอียิปต์มูลค่า 1,175 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 16,067 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่
มีผู้ที่เดินทางจากอียิปต์มาไทยเมื่อปี 2565 จำนวน 9,919 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 610 คน ส่วนคนไทยอาศัยอยู่ในอียิปต์มีจำนวน 3,309 คน (ก.พ.2565) ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา ทั้งนี้ ไทยมีความร่วมมือด้านการศึกษากับอียิปต์ เฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ที่สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาให้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส อีกทั้งส่งอาจารย์มาช่วยสอนในสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามของไทยมากว่า 20 ปี และสนับสนุนทุนการศึกษาผ่านรัฐบาลไทยปีละ 60-80 ทุน กับทุนของรัฐบาลอียิปต์อีกปีละ 2 ทุน
ปัญหาด้านความมั่นคงและสถานการณ์ที่น่าติดตาม
1) อียิปต์ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีอับดุลฟัตตาห์ อัซซีซี ค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมือง โดยประธานาธิบดีซีซีประสบความสำเร็จในการควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จนับตั้งแต่
การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 ที่ขยายเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนถึงปี 2573 อาทิ การหาเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาและภาคส่วนด้านความมั่นคง การต่อต้าน
การประท้วงและปราบปรามฝ่ายค้านอย่างเข้มงวด และการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำระดับสูงในกองทัพและ
หน่วยข่าวกรอง อย่างไรก็ดี รัฐบาลอียิปต์ชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอัลดุลฟัตตาห์ อัซซีซี จะยังเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อจากปี 2566 โดยรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ต่างไปจากเดิม เช่น การปล่อยค่าเงินปอนด์อียิปต์ลอยตัว การถ่ายโอนกิจการภาครัฐไปสู่เอกชน การปฏิรูปด้านกฎระเบียบ
การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ และการบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวและกลับมาโดดเด่นอีกครั้งในเวทีโลก
2) ความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์กับมหาอำนาจและประเทศในภูมิภาค ตลอดจนบทบาทของอียิปต์ในเวทีระหว่างประเทศ โดยอียิปต์พยายามมีบทบาทนำในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา อาทิ ปัญหาวิกฤตลิเบีย และการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งอียิปต์มีพรมแดนติดกับปาเลสไตน์และมีอำนาจตัดสินใจเปิด-ปิดจุดผ่านแดนราฟาห์ จะมีบทบาทสำคัญต่อการประสานและส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนในฉนวนกาซา ร่วมกับประเทศพันธมิตร เช่น สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) บาห์เรน จอร์แดน คูเวต โอมาน กาตาร์ มาเลเซีย
3) ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างอียิปต์กับรัสเซีย โดยปัจจุบัน ทั้งสองประเทศมุ่งกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนภายใต้กรอบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ในประเด็นการจัดหาและนำเข้าธัญพืชของอียิปต์ การจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมรัสเซียในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษคลองสุเอซ และความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ El Dabaa โดยบริษัท Rosatom ของรัสเซีย ที่กำลังก่อสร้างในเมือง El Dabaa เขต Matrouh ทางชายฝั่งตอนเหนือของอียิปต์
4) อียิปต์ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุก่อการร้ายในประเทศ จากกลุ่ม Islamic State (IS) กลุ่ม Hasm ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่ม Muslim Brotherhood กลุ่มติดอาวุธ Ansar Bait al-Maqdis (ABM) ที่ประกาศให้สัตยาบันว่าภักดีต่อกลุ่ม IS ปัจจุบันรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าWilayah Sinai และกลุ่ม Ajnad Misr (Soldiers of Egypt) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีพื้นที่เคลื่อนไหวใกล้ไคโร พื้นที่เสี่ยงเกิดเหตุก่อการร้าย ที่สำคัญคือ บริเวณทางเหนือและตอนกลางของคาบสมุทรไซนาย บริเวณท่อส่งก๊าซธรรมชาติและคลองสุเอซ
5) ปัญหาข้อพิพาททางน้ำระหว่างอียิปต์ เอธิโอเปีย และซูดาน กรณีเอธิโอเปียสร้างเขื่อน Grand Ethiopian Renaissance Dam (GERD) มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแม่น้ำไนล์ตั้งแต่ปี 2554 (แม่น้ำไนล์ไหลจากเอธิโอเปียผ่านซูดาน และอียิปต์ ก่อนไหลลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) โดยเขื่อน GERD จะเป็นเขื่อนและแหล่งผลิตพลังงานขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแอฟริกา ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 6,000 เมกะวัตต์ โดยอียิปต์พึ่งพาแม่น้ำไนล์ในทางเศรษฐกิจและเป็นประเทศปลายน้ำ จึงห่วงกังวลว่าเอธิโอเปียซึ่งเป็นประเทศ ต้นน้ำจะกักเก็บน้ำจนทำให้อียิปต์ขาดแคลนน้ำใช้ โดยอียิปต์และซูดานเรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับการเติมน้ำในเขื่อนและการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนแต่ปัจจุบันปัญหาข้อพิพาทยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย โดยเอธิโอเปียยังดำเนินการเติมน้ำในเขื่อนอย่างต่อเนื่อง